โศกนาฏกรรม เด็กติดในรถจนเสียชีวิต
สังคมไทยเรามีเรื่องสลดใจเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างกรณีที่มีเด็กนักเรียนเสียชีวิตเพราะติดอยู่ในรถตู้รับส่งนักเรียน ก็ให้เห็น ล่าสุดก็เกิดเหตุขึ้นที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เด็กที่เสียชีวิตนั้นมีอายุเพียงแค่ 7 ปี เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และติดในรถที่จอดไว้ตรงลานจอดรถ ตั้งแต่เช้าจนถึงสี่โมงเย็น ถึงได้มีคนมาพบ สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้แก่พ่อแม่ รวมถึงคนอื่นๆ ที่รับทราบข่าวนี้
แทบไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์เด็กถูกลืมทิ้งไว้ให้อยู่ในรถตามลำพังนั้น มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย โดยถ้านับตั้งแต่ พ.ศ 2557 ถึง พ.ศ. 2563 พบว่ามีถึง 129 เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ (78.3%) เป็นเด็กเล็กในวัยเพียงแค่ 1 ถึง 3 ขวบ และเกือบทั้งหมด (96.0%) นั้นเป็นเหตุที่เกิดในรถยนต์ส่วนบุคคล
ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ ในจำนวนกว่า 130 เคส มีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ตามลำพังในรถจนเสียชีวิตถึง 6 คน (ยังไม่รวมรายล่าสุด) และอยู่ในวัย 2 ขวบถึง 6 ขวบ เป็นเพศชาย 3 คนและเพศหญิง 3 คน แทบทุกคนเกิดเหตุขึ้นในรถรับส่งนักเรียน (มี 1 คันที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) เนื่องด้วยเด็กนอนหลับอยู่ในรถ และหลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จแล้ว รถได้ถูกนำไปจอดทิ้งไว้เป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนจะทราบกันว่าเด็กติดในรถและเสียชีวิต
จุดผิดพลาดที่นำไปสู่การลืมเด็กไว้ในรถตามลำพังนั้น มักเกิดจากการที่ครูของโรงเรียนไม่ได้นับจำนวนเด็กนักเรียนเทียบกันระหว่างจำนวนเด็กที่ขึ้นรถกับจำนวนหลังจากลงรถ ส่วนพนักงานขับรถก็ไม่ตรวจตราดูให้ทั่วรถก่อนล็อกประตูรถ รวมถึงกรณีที่ผู้ปกครองประมาท ทิ้งเด็กไว้ในรถยนต์ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ
เมื่อเกิดเหตุสูญเสียเช่นนี้ขึ้น เรามักเห็นสื่อมวลชนรายงานข่าวว่า เนื่องจากเด็กติดอยู่ในรถที่ปิดประตูหน้าต่างจนสนิท เด็กเลยเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่นั่นเป็นความเชื่อซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดๆ เพราะอากาศที่เก็บอยู่ในรถยนต์หรือรถตู้นั้น มีปริมาณออกซิเจนมากพอให้หายใจได้นานหลายชั่วโมง และอันที่จริงแล้ว ตัวถังของรถเองก็มีช่องเล็กช่องน้อย ซึ่งอากาศยังสามารถผ่านเข้าออกไปยังห้องโดยสารด้านในได้
สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากภาวะฮีตสโตรก (heat stroke) ซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิภายในสูงกว่าปรกติ (37 องศาเซลเซียส) จนเกิดอันตรายขึ้น พบได้มากทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ดีเท่ากับวัยหนุ่มสาว ดังนั้นเมื่อเด็กถูกทิ้งไว้ในรถที่มีความร้อนสูง แม้ว่าร่างกายจะพยายามขับความร้อนออกไปในรูปของเหงื่อ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายย่อมไม่อาจทำได้ไหว เพราะอากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงกว่าภายในร่างกายมาก จึงเกิดอาการฮีตสโตรกขึ้น ตัวแดง ผิวแห้ง เซลล์ของอวัยวะต่างๆ เริ่มไม่ทำงาน เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อกหมดสติ ตัวซีด มีอาการสมองบวมและกดศูนย์ควบคุมการหายใจที่ก้านสมอง จนหยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน
ส่วนรถยนต์ที่จอดทิ้งตากแดดไว้ แม้อุณหภูมิของอากาศภายนอกรถจะประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิภายในรถที่จอดไว้กลางแจ้งช่วงกลางวัน อาจสูงถึงเกือบ 60 องศา แถมอุณหภูมิยังสูงขึ้นรวดเร็วอีกด้วย เพียงแค่ 5 นาที อุณหภูมิในรถก็พุ่งสูงถึงกว่า 75% ของอุณหภูมิสูงสุด เกิดความรู้สึกรับรู้ได้ว่าไม่ควรนั่งอยู่ต่อไปในรถ และภายใน 15 นาที อุณหภูมิก็ขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ซึ่งทำให้สภาพร่างกายแย่ลง ดังนั้นถ้าปล่อยให้เด็กติดอยู่ในรถที่จอดตากแดดไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เด็กก็อาจเสียชีวิตได้ และแม้ว่ามีการแง้มหน้าต่างเอาไว้สัก 1-2 นิ้ว เพื่อป้องกันการขาดอากาศหายใจ (ตามที่เชื่อกันผิดๆ) อุณหภูมิภายในรถก็ยังจะเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นอันตรายได้อยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกหลานนั่งรถยนต์ส่วนตัวมาด้วย และมีธุระต้องลงไปทำนอกรถ ก็ไม่ควรประมาททิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้งช่วงกลางวันเด็ดขาด แม้ว่าเป็นเวลาชั่วครู่ ก็ควรนำเด็กลงไปด้วยทุกครั้ง การเปิดหน้าต่างรถแง้มเอาไว้นั้น ไม่อาจรับประกันได้ว่าเด็กจะปลอดภัย หรือแม้แต่การจอดรถไว้ในที่ร่ม เด็กก็อาจเกิดอันตรายจากความร้อนสั่งสมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้อยู่ดี เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นชั่วโมง
ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนดมาตรฐานขั้นสูงของรถโรงเรียนเอาไว้ รถที่ใช้นั้นเป็นรถโดยสารที่ออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่างๆ มาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่มักทาสีเหลืองให้มองเห็นเด่นชัด มีเข็มขัดนิรภัยและทางออกฉุกเฉิน ควบคุมความเร็วของรถไม่ให้วิ่งเร็วเกินไป แต่ในประเทศไทยเรา กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้นำรถตู้หรือรถสองแถวมาดัดแปลงเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนได้ และกำหนดมาตรฐานไว้เช่นกันว่าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ใดเพิ่ม (แต่มักพบว่ามีการละเลย ไม่ปฏิบัติตาม) ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้พัฒนาระบบ Smart School Bus ที่ระบบติดตามเส้นทางของรถ มีปุ่มฉุกเฉินให้เด็กกดขอความช่วยเหลือ และจะติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวและความร้อนของเด็กนักเรียนที่อาจถูกลืมไว้ในรถ แล้วแจ้งเตือนผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ รวมถึงระบบจดจำใบหน้าเด็กนักเรียน เพื่อช่วยเช็กชื่อโดยอัตโนมัติอีกที
แต่อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ไฮเทคอะไรนัก เพื่อป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน เพราะเพียงแค่พนักงานคนขับและครูผู้ดูแลประจำรถ คอยเช็กชื่อเด็กที่ขึ้นมาบนรถ และนับจำนวนเด็กขณะลงจากรถว่าครบถ้วนทุกคนหรือไม่ รวมทั้งเดินตรวจตราภายในรถให้ดีก่อนเอาไปจอด ไม่ต้องรีบร้อน เหตุน่าสลดใจเช่นนี้ก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
All Magazine ตุลาคม 2565