Tony Wu อยู่อย่างคนโง่

-

ด้วยทรัพยากรสังคมโลกที่มีอย่างจำกัด ความเหลื่อมล้ำของชนชั้นคือปัญหาที่รู้แต่ไม่มีปัญญาแก้ แถมยังให้ค่าและตัดสินกันด้วยวัตถุที่ครอบครอง สร้างแรงผลักดันให้เราอยากได้อยากมี ต้องแข่งขัน แย่งชิง ฟาดฟัน เพื่อบรรลุในสิ่งที่พึงปรารถนา บ่มเพาะให้คนคิดถึงแต่ตัวเองเป็นสำคัญ การกระทำใดที่ทำแล้วเสียเปรียบ ไม่ได้ผลประโยชน์ คือการกระทำของคนไม่ฉลาด เสมือนลาโง่ที่ไม่เฉลียว ถึงกระนั้นก็มีสุภาพบุรุษชาวไต้หวันนาม Tony Wu ตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะอยู่อย่างคนโง่ไม่ได้ ในทางกลับกันเขายังเสนอแนวคิดที่ว่า หากทุกคนในสังคมอยู่อย่างคนโง่ สังคมโลกน่าจะปรองดองและน่าอยู่ขึ้น

Tony Wu (อู จงหลิน) ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวไต้หวัน สำนักงานกรุงเทพฯ ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ต้องเดินทางไปหลายประเทศ ได้เห็นสภาพสังคมต่างๆ เขาจึงเกิดแนวคิด “อยู่อย่างคนโง่” ขึ้น เขามองว่าคนฉลาด คือคนที่สามารถคิดวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสีย มองเห็นว่าสิ่งใดทำแล้วเกิดผลประโยชน์ ไม่มีการลงแรงที่สูญเปล่าโดยไม่ได้สิ่งตอบแทน จึงอาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบได้ ส่วนคนโง่คือคนที่รู้ไม่เท่าทัน กระทำโดยคาดไม่ถึงว่าจะเกิดประโยชน์หรือเสียประโยชน์ใดบ้าง และอาจตกเป็นผู้เสียเปรียบได้ แนวคิดคนโง่จึงหมายถึง การที่คนกระทำสิ่งใดโดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ ทำโดยไม่หวังผล แม้อาจเสียเปรียบบ้างก็ไม่เป็นไร เช่น อาสาสมัครต่างๆ ที่คอยทำงานช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพียงเพราะอยากจะทำ อยากจะให้ด้วยใจบริสุทธิ์

เขายังยกตัวอย่างสมัยที่ทำงานในฮ่องกง มีการจัดติวหนังสือ อาจารย์ที่เลิกงานและมีเวลาว่างจะมาช่วยสอนหนังสือให้เด็กโดยไม่ได้รับค่าแรง เป็นงานจิตอาสา เขาเรียกกลุ่มจิตอาสานี้ว่าผู้ที่มีแนวคิดอย่างคนโง่ ทำโดยไม่ได้กำไร แต่ก็ยังอยากทำ ทั้งนี้รวมไปถึงกลุ่ม NGOs และ Social Enterprise Tony Wu ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนาสังคมในปัจจุบันทำให้ผู้คนมีแนวคิดการใช้ชีวิตที่บิดเบือนไป มักคิดถึงผลตอบแทน คิดถึงเรื่องเงินก่อนอื่น แนวคิดคนโง่จึงเป็นเหมือนดวงไฟที่ช่วยส่องสว่างท่ามกลางสังคมที่มืดมิด

และแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดเชิงบวก ย่อมดึงดูดคนที่มีพลังบวกเข้าหากัน ทำสิ่งดีๆ ให้แก่กัน เชื่อว่าประโยชน์ของแนวคิดนี้จะช่วยทำให้สังคมอบอุ่น และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากคนที่มีทรัพย์สินมากรู้จักแบ่งปัน ตอบแทนสังคม ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส ความเหลื่อมล้ำในสังคมย่อมลดลงได้อย่างแน่นอน

สิ่งที่เขากังวลที่สุดในการเสนอแนะแนวคิดนี้คือ ความไม่เข้าใจในจุดประสงค์อย่างแท้จริง เขาเล่าว่าสมัยที่ทำงานในฮ่องกงมีโครงการพาผู้สูงอายุไปไต้หวัน โดยให้ผู้มีฐานะในฮ่องกงช่วยสนับสนุน มีบางคนไม่เข้าใจ หรือตัวอย่างคนที่เขารู้จักที่ฮ่องกง ตกกลางคืนเขาจะตระเวนขออาหารที่เหลือจากโรงแรม เพื่อนำไปแจกบ้านพักคนชราและบ้านเด็กกำพร้า แถมมีคนที่สงสัยว่าเขานำไปขายต่อรึเปล่า แต่เขาก็ยืนยันจะทำต่อไป จนปัจจุบันเขามีรถหลายคันวิ่งรอบฮ่องกงเพื่อขออาหารเหลือจากโรงแรมต่างๆ คัดแยกไว้แล้วนำไปแจกจ่ายต่อ

การส่งต่อแนวคิดนี้ให้แพร่หลาย Tony Wu อยากเริ่มต้นที่เยาวชน ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่ามีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอยู่ เมื่อเขาโตขึ้นและมีกำลังมากพอ เขาอาจเผยแพร่แนวคิดนี้สู่โลกต่อไปเรื่อยๆ และโลกของเราคงเต็มไปด้วยความเมตตา มีแต่การให้ไม่สิ้นสุด สำหรับความร่วมมือกับประเทศไทยนั้น เขาอยากสนับสนุนโดยพานักศึกษาไทยไปเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรของไต้หวัน เพื่อนำกลับมาพัฒนาการเกษตรของไทยต่อไป รวมทั้งศึกษาระบบประกันสุขภาพของไต้หวันซึ่งขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพอันดับต้นๆ ของโลก

 

โปรย

“แนวคิดของคนโง่ คือการกระทำที่แม้ไม่มีกำไร แม้ทำแล้วขาดทุน แต่ก็ยังทำ เพราะอยากให้สังคมดีขึ้น”


คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!