ปีนต้นงิ้ว

-

“กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี …” เป็นศีลข้อ 3 ที่ชาวเราเชื่อกันว่าผู้ใดล่วงละเมิดศีลข้อนี้ ชาติหน้าจะต้องรับกรรมไปปีนต้นงิ้วใน “สิมพลีนรก” อย่างมิพักต้องสงสัย

“สิมพลี” แปลว่า ต้นงิ้ว ดังนั้น สิมพลีนรกจึงหมายถึงนรกต้นงิ้วนั่นเอง กระผมเคยตั้งข้อกังขาว่า ต้นงิ้วมาเกี่ยวอะไรกับการผิดศีลข้อ 3 ด้วย ในเรื่องกากี พญาครุฑขโมยเมียเพื่อนไปไว้ที่วิมานสิมพลี ซึ่งวิมานดังกล่าวก็อยู่บนต้นงิ้วที่แดนสวรรค์ฟากฟ้าป่าหิมพานต์อันไกลโพ้น ถ้าว่ากันตามกฎแห่งกรรมแล้ว พญาครุฑซึ่งตามเรื่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์ “ประพฤติผิดในกาม” อย่างฉกาจฉกรรจ์ จะต้องได้รับผลกรรมไปปีนต้นงิ้วกับนางกากีในสิมพลีนรก พลิกดูในชาดกก็ไม่เห็นว่ามีเรื่องใดที่บอกว่า พระโพธิสัตว์ต้องไปลงนรก หรือว่าท่านได้ผ่านวิมานต้นงิ้วเมืองสวรรค์มาแล้ว เป็นการชดเชยไม่ต้องปีนต้นงิ้วเมืองนรกเพราะแทนกันได้กระนั้นหรือ

นรกต้นงิ้วหรือสิมพลีนรกนั้น ปรากฏอยู่ในไตรภูมิหลายฉบับ เช่น ไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท ที่เชื่อกันว่าเรียบเรียงขึ้นตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ไตรโลกวินิจฉยกถา หรือไตรภูมิฉบับหลวงซึ่งนักปราชญ์เรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ไตรภูมิทั้งสองฉบับดังกล่าวมักมีการอ้างอิงในวงวิชาการอยู่เสมอ แต่กระผมคิดว่า ชาวบ้านอย่างเราๆ เข้าไม่ถึง เพราะต้นฉบับคัมภีร์ใบลานทั้งหมดจารด้วยอักษรขอม ทั้งยังเก็บไว้ในหอพระไตรปิฎก น่าจะเป็นของลับลี้ลึกลับ ชาววัดเท่านั้นที่ได้อ่านได้ศึกษา ชาวบ้านครั้งโบราณมีสักกี่คนที่อ่านออกเขียนได้ แถมเนื้อหาในไตรภูมิยังเต็มไปด้วยศัพท์แสงชั้นสูง เพิ่งมีการปริวรรตจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยและพิมพ์เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้

ถ้าเป็นดังนั้น ชาวบ้านครั้งกระโน้นเอาความรู้เรื่องนรกสวรรค์จากไหนมาเล่าสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น เรื่องยมทูต กระทะทองแดง อีกาปากเหล็ก ปีนต้นงิ้ว เป็นต้น กระผมเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้มาจากการที่พระเทศน์หรือสวดให้ชาวบ้านฟัง และเรื่องที่ชาวบ้านคุ้นเคยมากน่าจะได้แก่ พระมาไลย ซึ่งเป็นหนังสือสวดที่แพร่หลายที่สุดในภาคกลาง ใช้สวดทั้งในงานมงคลและอวมงคล

 

 

กลับมาว่ากันต่อถึงผลกรรมที่ผู้ผิดศีลข้อ 3 เมื่อต้องไปชดใช้ในสิมพลีนรกคือ “ปีนต้นงิ้ว” เล่าขานกันมาว่า ต้นงิ้วเมืองนรกนั้นสูงต้นละโยชน์หรือประมาณ 16 กิโลเมตร แต่ละต้นมีหนามแหลม ยาวหนามละ 16 องคุลี หรือประมาณฟุตกว่า น่าจะใช้ป่ายปีนขึ้นไปได้ไม่ลำบากนัก แต่ว่าหนามนั้นคมเป็นกรด สัตว์นรกต้องปีนป่ายตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายยอด มีนายนิรยบาลถือหอกที่ควบคุมโดยระบบจิตสัมผัสจึงสั้นยาวได้ตามใจปรารถนา คอยทิ่มแทงบังคับให้ปีนขึ้นไป หอกจะค่อยๆ ยาวถึงตัวสัตว์พอดิบพอดี  ระยะเหมาะมือที่นายนิริยบาลจะแทง สิมพลีนรกนี้ในพระมาไลยกลอนสวดท่านบรรยายว่า

ผู้ใดใครทั้งหลาย                 เปนผู้ชายอันโสภา

มักมากด้วยตัณหา               อันมากล้นพ้นประมาณ

เมียท่านหน้าแช่มช้อย          หน้าแน่งน้อยงามนงคราญ

ใจร้ายไปเบียนผลาญ           ยุยงเอาด้วยเล่ห์กล

ผู้นั้นครั้นไปล่ปลิด               สิ้นชีวิตจากเมืองคน

ไปขึ้นงิ้วบัดดล                   นไม้งิ้วกว่าพันปี

หนามงิ้วคมยิ่งกรด              โดยโสฬสสิบหกองคุลี

มักเมียท่านมันว่าดี              หนามงิ้วยอกทั่วทั้งตน

ความเชื่อเรื่องงิ้วนรกน่าจะฝังแน่นในกระแสสำนึกของคนไทยมานานหลายร้อยปี กวีคนสำคัญๆ เมื่อท่านเดินทางผ่านสถานที่ที่เกี่ยวกับ “งิ้ว” ก็มักประหวัดไปถึงงิ้วในสิมพลีนรก เช่น เมื่อท่านสุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทอง ผ่าน “บ้านงิ้ว” ซึ่งอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานี ท่านพรรณนาว่า

งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม                         ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว

ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย                        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง

เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว                        ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง

ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง                          เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไร

พิจารณาจากตอนท้ายของกลอน ชะรอยว่าท่านสุนทรภู่คงจะ “ผิดทำนอง” ในวัยชรา จนอาจต้องปีนต้นงิ้ว เท็จจริงอย่างไรเป็นเรื่องของกวี

ต่อมาเมื่อหลวงจักรปาณี หรือมหาฤกษ์ กวีฝีปากคมแต่งนิราศพระปฐม คราวไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เดินทางด้วยเรือไปตามลำคลองมหาสวัสดิ์ ถึงบ้านงิ้วรายท่านบรรยายความในใจที่อาจจะต้องเผชิญงิ้วนรกว่า

ถึงงิ้วรายหมายงิ้วที่งอกหนาม                   ไม่ฦๅนามฟุ้งเฟื่องเหมือนเมืองผี

งิ้วนรกสิบหกองคุลี                                 คมเหมือนตรีกรดกริบระริบริ้ว

ใครสร้างกรรมทำชู้ด้วยคู่เขา                     ให้ร้อนเร่าร้างโรยอยู่โหยหิว

ครั้นชีวันบรรลัยก็ไปล่ปลิว                        ไปขึ้นงิ้วยมบาลประหารแทง

น่าพรึงกลัวตัวฉันให้พรั่นจิต                      แต่นั่งชิดเมียใครยังใจแสยง

ทุกวันนี้ดูใครเขาไม่ระแวง                        กลับพลิกแพลงพูดเล่นเย็นเย็นใจ

ว่าเมียเขาเรารักทำควักค้อน                     ขึ้นงิ้วอ่อนมือตีนปีนไม่ไหว

แม้สมัครรักเราไม่เป็นไร                           จะปีนได้ทุกวันไม่ครั่นคร้าม

ด้วยหนามงิ้วเดี๋ยวนี้ไม่มีมาก                    เราคอยถากอยู่ทุกวันอย่าหวั่นหวาม

จะทำบุญเสียด้วยขวานตระหง่านงาม         ไปถากหนามงิ้วบาดให้ขาดระยำ

ยมบาลนั้นเหนอเกลอกับพี่                       เธอปรานีว่าจะชุบอุปถัมภ์

ถ้าแม้นหญิงยิงยอมให้คร่อมทำ                 ที่บาปกรรมนั้นไม่มีดีสุดใจ

มหาฤกษ์ท่านบวชหลายพรรษาจนได้เป็นมหาเปรียญ รู้วิธีแก้เผ็ดยมบาล ถึงขั้นจะล้างผลาญงิ้วนรกด้วยกุศโลบายอันแยบยล นั่นเป็นอารมณ์ขันของกวีนะครับ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!