‘ลิ้นตวัดถึงใบหู’ เชียวนะ

-

ฉบับนี้เป็นฉบับส่งท้ายปี พ.ศ.2566 ผู้เขียนจึงจะเขียนถึงสำนวนส่งท้ายที่น่าสนใจเกี่ยวกับอวัยวะสำคัญคือลิ้น  ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสำนวนอยู่หลายสำนวน  เช่น   ลิ้นตวัดถึงใบหู,    ลิ้นกระดาษทราย น้ำลายเชลแล็ก,  อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่   เป็นต้น

 

ลิ้นตวัดถึงใบหู

คำว่า ‘ตวัด’ แปลว่าม้วนเข้าหาโดยเร็ว ดังนั้นลิ้นตวัดถึงใบหูคือการม้วนลิ้นโดยเร็วได้ไกลไปถึงใบหู แต่โดยปกติลิ้นคนจะไม่ยาวพอที่จะม้วนไปแตะใบหูของตนเองได้  ดังนั้นเมื่อนำ ‘ลิ้นตวัดถึงใบหู’  มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจึงหมายถึงการพูดตลบตะแลงซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง  เป็นไปไม่ได้  แต่พยายามพูดพลิกแพลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้  เช่น  ชิดพูดกับสุนัยเรื่องที่มีชัยรับปากว่าจะช่วยเร่งงานก่อสร้างสะพานข้ามคลองให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนว่า  “โธ่! เชื่อใครไม่เชื่อ  ไปเชื่อเจ้าชัย  อย่าฝันเฟื่องเลย มันก็พูดไปอย่างนั้นแหละ เจ้านี่มันลิ้นตวัดถึงใบหู”

สำนวน ‘ลิ้นตวัดถึงใบหู’  ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในความหมายด้านลบทั้งสิ้นซึ่งแตกต่างจากอดีตตั้งแตสมัยพุทธกาลมาก  ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้มีบทพรรณนาถึงลักษณะพระชิวหาของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งประสูติว่า  มีพระลักษณะแห่งมหาบุรุษ 32 ประการอันเป็นมงคลยิ่ง 1 ใน 32 ประการนั้นได้แก่ “พระราชกุมารนี้มีพระชิวหาอันอ่อนแลกว้างยาวยิ่งกว่าชนทั้งปวง  โดยยาวนั้นอาจลูบช่องพระนาสิกทั้งสอง แลเลี้ยวกระหวัดถึงพระกรรณทั้งสองข้างได้ โดยกว้างนั้นอาจแลบแผ่ปกปริมณฑลพระนลาฏได้ทั่วทั้งสิ้น  อันนี้จัดเป็นพระมหาบุรุษลักษณะคำรบ 27”

 

ลิ้นกระดาษทราย  น้ำลายเชลแล็ก

‘กระดาษทราย’ เป็นกระดาษที่มีผิวด้านหนึ่งหยาบเป็นเม็ดๆ เหมือนอย่างทราย ใช้สำหรับขัดไม้ให้เรียบลื่น ฯลฯ ส่วนคำว่า ‘เชลแล็ก’ เป็นวัสดุเคลือบผิวเพื่อป้องกันน้ำยาในเนื้อไม้ซึมออกมา และมิให้แมลงเข้าไปทำลายกัดกินเนื้อไม้  ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มอายุการใช้งานได้ยาวนาน  ส่วนมากจะเป็นเกล็ด ขายเป็นกิโลกรัม  มีสีน้ำตาล แดงและเหลือง  ซึ่งจะต้องนำมาผสมน้ำมันแอลกอฮอล์ให้ละลายเป็นน้ำเหลวก่อนใช้  เมื่อนำมาทาเคลือบผิวไม้จะทำให้มีสีเปลี่ยนไปจากธรรมชาติบ้าง แต่จะดูเงางามสดใสโชว์ลายไม้ชัดเจน  

เมื่อนำ ‘ลิ้นกระดาษทราย น้ำลายเชลแล็ก’ มาใช้รวมกันจะเป็นสำนวนที่มีความหมายว่า  คำพูดที่ชัดเจนลื่นเรียบน่าเชื่อถือเข้าทำนองประจบสอพลอ  ผู้ฟังจะรู้สึกปลื้มเพราะไม่รู้เจตนาหรือจุดประสงค์ที่แฝงอยู่ของผู้พูด  เช่น  นิพนธ์เตือนสมบัติเพื่อนรักตอนหนึ่งว่า “เวลาวรพจน์มาพูดเกลี้ยกล่อมให้ร่วมลงทุนอะไรละก็  ให้ฟังหูไว้หู  อย่าหลงลมปากมันซะทีเดียว  มันพูดเก่งฟังแล้วเคลิ้ม  เคยได้ยินสำนวน ‘ลิ้นกระดาษทราย น้ำลายเชลแล็ก’ รึเปล่าล่ะ  นี่เตือนด้วยความหวังดีนะ”

 

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่

คำว่า ‘ลิ้นไก่’ ในที่นี้หมายถึงติ่งเนื้ออ่อนยาวรีในลำคอที่ยื่นจากตรงกลางเพดานสำหรับปิดช่องขึ้นรูจมูกเมื่อเวลากลืนอาหาร นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ช่วยในการออกเสียงและการหายใจ ถ้าใครอ้าปากกว้างๆ คนที่อยู่ตรงหน้าก็จะมองลอดเข้าไปเห็นลิ้นไก่ได้

สำนวน ‘อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่’ ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่า ปกติเมื่อผู้พูดเอ่ยคำพูดใดออกมา  คนฟังก็จะเข้าใจตามที่ได้ยิน  แต่สำหรับบางคนได้ยินคำพูดของอีกฝ่ายก็เข้าใจได้ลึกซึ้งว่าโดยแท้จริงแล้วคำพูดนั้นๆ สื่อความหมายใด เช่น เมื่อสมบัติถูกต่อว่าจากวินัยเพื่อนร่วมชั้นเรียนว่าเอาโทรศัพท์มือถือของตนไปใช้หลายครั้งแล้วโดยไม่ได้ขออนุญาต ถามทีไรก็ขอโทษ อ้างว่าจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มาครั้งล่าสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก พอวินัยถามสมบัติก็อ้าปากจะพูด วินัยบอกว่า  “หยุดๆ ไม่ต้องพูด อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ถ้าทำอีกจะฟ้องคุณครู ไม่เชื่อก็ลองดู”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!