น้ำเสียงอาจสำคัญกว่าคำสุภาพ
รู้กันดีในหมู่เพื่อนสนิทผู้ชายด้วยกันว่า คำว่า ‘มึง’ ‘กู’ ‘ไอ้เหี้ย’ ‘ไอ้สัตว์’ อาจมิใช่คำหยาบหรือคำด่า มันอาจใช้เป็นคำทักทาย คำแทนความสนิทสนม
ทำไมเป็นเช่นนั้น?
ก็เพราะคำที่สังคมว่า ‘หยาบ’ เหล่านี้ ในบางบริบทและสถานการณ์ มีกติกาหรือค่านิยมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่ใช่คำหยาบ
และจุดสำคัญที่สุดซึ่งทำให้มันไม่ใช่คำหยาบก็คือน้ำเสียงที่ใช้ถ้อยคำเหล่านั้น
เพื่อนสนิทกันมักเอ่ยคำว่า ‘ไอ้เหี้ย’ ‘ไอ้สัตว์’ ด้วยรอยยิ้ม หรือเสียงกลั้วหัวเราะ มันส่งสัญญาณถึงอีกฝ่ายว่าไม่หยาบนะ เปลี่ยนความหยาบตามมาตรฐานทั่วไปเป็นความสนิทสนมทันที
น้ำเสียงหรือโทนเสียงจึงสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสาร อาจสำคัญกว่าความสุภาพด้วยซ้ำ
ในการพูดจากับใครก็ตาม ระดับเสียง หางเสียง น้ำหนักเสียง จังหวะ ล้วนมีรหัสบ่งบอกว่าคนพูดมีอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน
บางคนพูด “ครับๆ” “ค่ะๆ” ทุกประโยค แต่ผู้ฟังรู้สึกสัมผัส ความหยาบคายได้จากน้ำเสียงนั้น เพราะน้ำเสียงอาจกระแทกกระทั้น เป็นมะนาวไม่มีน้ำ
ถึงพูดคำสุภาพจากปาก น้ำเสียงก็สามารถฟ้องหมดว่าหัวใจรู้สึกอย่างไร
ดังนั้นหากสังเกตหรือตั้งใจฟังสักหน่อย เราอาจสามารถอ่านใจของคนอื่นได้จากน้ำเสียงที่เขาหรือเธอเอ่ย รู้สึกเลยว่าคนพูดรู้สึกอย่างไร อารมณ์เป็นอย่างไร เพราะน้ำเสียงเป็นสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นยาก
ตั้งแต่เด็กเราได้รับการสั่งสอนว่าให้พูดจาสุภาพ คำว่า ‘สุภาพ’ หมายถึงไม่ใช้คำหยาบ ตามด้วย “ครับ” “ค่ะ” แต่เราไม่ค่อยสอนเด็กว่า มีอีกวิธีหนึ่งที่อาจทรงพลังกว่าคำสุภาพ นั่นคือโทนเสียง
“สวัสดีครับ” ที่มีโทนเสียงแข็งกระด้าง จะบ่งบอกลึกๆ ว่าคนพูดไม่จริงใจ สวัสดีไปอย่างนั้นเอง
ประโยคที่พูดโดยไม่มีครับ/ค่ะ แต่มาพร้อมน้ำหนักเสียงอ่อนโยนพร้อมรอยยิ้ม มีค่ามากกว่าประโยคสุภาพ แต่เสียงเหมือนมะนาวไม่มีน้ำ
“ไปไหนมา?” กับ “ไปไหนมา?” อาจให้ผลต่างกัน ขึ้นกับน้ำเสียง
“เป็นไง?” กับ “เป็นไง?” อาจให้ผลต่างกัน ขึ้นกับระดับเสียง
บางครั้งเราบอกลูกน้องว่า “ไอ้เวร” แต่ลูกน้องไม่โกรธ เพราะน้ำเสียงที่เปล่งออกมาไม่ใช่โทนด่า อ่านออกว่าในคำ “ไอ้เวร” เจือความห่วงใยและการสั่งสอน
เราดูออกว่าใครบางคนแคร์หรือไม่จากการกระทำของเขา
คนบางคนเวลาโกหก สีหน้าแววตาจะเผยหมดว่าโกหก เพราะเขาไม่มีความสามารถในการโกหก ขณะที่บางคนก็สามารถโกหกหน้าตาย
แต่คนที่โกหกเก่งก็ยากที่จะปกปิดน้ำเสียงที่สื่อความรู้สึก
เรารู้ว่าหากจะจับโกหกใคร ให้มองที่ดวงตาของคนนั้น เพราะดวงตามักปกปิดความรู้สึกในใจไม่มิด จึงมีคำกล่าวว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ
น้ำเสียงก็เป็นหน้าต่างของหัวใจเช่นกัน มันเป็นดีเอนเอของหัวใจ
น้ำเสียงที่ห่วงใยทรงพลังกว่าคำพูดใดๆ
หากเราสามารถใช้น้ำเสียงห่วงใย จริงใจ บวกคำพูดสุภาพด้วย ก็เท่ากับมธุรสวาจาที่ชื่นใจ
ดังนั้นเวลาพูดกับใคร โดยเฉพาะคนที่เรารักและห่วงใย นอกจากภาษาที่ควรใช้อย่างระวังแล้ว ยังควรสังเกตน้ำเสียงของตนเองเวลาพูดด้วย
และเมื่อผสมภาษาสุภาพ และน้ำเสียงจริงใจ ใครๆ ก็อยากใกล้ชิดสนิทสนม
วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
คอลัมน์ : ลมหายใจ เรื่องและภาพ : วินทร์ เลียววาริณ
All Magazine ตุลาคม 2565 ตอน 54