เชื่อว่าหนอนหนังสือทุกคนต้องเคยผ่านการอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนมาบ้าง และคงมีผลงานในดวงใจจากปลายปากกานักเขียนชื่อก้องโลกไม่มากก็น้อย เราอยากให้คุณเก็บผลงานอมตะเหล่านั้นไว้ก่อน แล้วลองเปิดใจรู้จักนักเขียนไทยฝีมือไม่ธรรมดา ยืนหยัดผลิตนิยายสืบสวนสอบสวนมานานถึงสิบปี นักเขียนที่เราจะแนะนำคนนี้ใช้หลายนามปากกา แต่ที่คุ้นหูที่สุด ก็คือ “ทอม สิริ” และ “ลุงทอม”
แม้ชื่อ “ทอม สิริ” จะเป็นนามปากกาที่คนรู้จักมากกว่า แต่เจ้าตัวมักเรียกตัวเองว่าลุงทอม เราจึงผสมโรงเรียกลุงทอมตามบ้าง แม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การพบปะสนทนาโดยตรงเป็นเรื่องยาก แต่การสื่อสารผ่านการใช้เทคโนโลยีก็ช่วยเราได้คำตอบซึ่งถ่ายทอดภาษาและตัวตนของลุงทอมได้ชัดเจนไม่แพ้การเจอกันซึ่งหน้า
ความสนใจในการอ่าน-เขียนของลุงทอมเริ่มตั้งแต่ตอนไหน
ย้อนไป 30 กว่าปีก่อน ย้อนไกลเลย (ฮ่า) ช่วงทำงานได้สองสามปีแรกหลังจากเรียนจบ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอด เป็นแนวซัสเพนส์ (suspense-ระทึกใจ) ทริลเลอร์ (thriller-ตื่นเต้นเร้าใจ) อ่านแล้วติดใจถึงกับสมัครเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์วรรณวิภา พอเวลาผ่านไปงานเยอะขึ้นเวลาอ่านน้อยลงก็ไม่ได้อ่านอีกเลย มาเริ่มอ่านอีกครั้งเมื่อใกล้เกษียณ เรายังคงชอบอ่านพวกแนวดีเท็คทีฟ ซัสเพนส์ ทริลเลอร์ เหมือนเดิม
ลุงทอมทำงานมาหลากหลายอาชีพ ทั้งงานบริษัทโฆษณา โพรดักชั่นเฮ้าส์ นักแต่งเพลง นักแสดง อาชีพหลังสุดทำงานกราฟิกอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่งก่อนจะลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ช่วงนั้นได้เจอเว็บไซต์ forwriter.com จั่วหัวเว็บไว้ว่า “เพื่อนักเขียนใหม่และคนอยากเขียน” บ๊ะ! ตรงใจ ลุงทอมจึงอ่านเว็บไซต์ forwriter.com อย่างเอาเป็นเอาตาย ความรู้สึกเหมือนพลัดหลงเข้าไปในขุมคลังความรู้ที่ยิ่งอ่านยิ่งได้ และเริ่มมั่นใจว่าเราเขียนนิยายได้ ฮึกเหิมขนาดลองเขียนเรื่องยาวเป็นครั้งแรกในการแข่งแรลลี่ประจำปีของเว็บไซต์แห่งนี้ด้วย แน่นอนว่างานที่เขียนก็เป็นแนวสืบสวนสอบสวนที่ชอบอ่านนั่นละ แล้วก็ได้จนเป็นนิยายชุดนักสืบกานต์พิชชา ตีพิมพ์ถึง 6 เรื่อง
แต่ละนามปากกานั้นใช้แตกต่างกันอย่างไร
เมื่อได้ลองเขียนนิยายแนวสืบสวนออกมาพอประมาณแล้ว ก็มีความสงสัยว่าตัวเองเขียนแนวอื่นๆ ได้อีกไหม เลยลองเขียนแนวซัสเพนส์ แนวสืบสวนโรแมนซ์ แนวอีโรติคย้อนยุค แนวสยองขวัญ ก็เขียนได้นะ แต่บางแนวเขียนได้ไหลลื่น บางแนวก็เหนื่อยหืดขึ้นคอเหมือนกัน และใช้นามปากกาในการเขียนแต่ละแนว ได้แก่ “ลุงทอม”-แนวเรื่องสั้น “ทอม สิริ”-แนวสืบสวน ซัสเพนส์ “ธมนตรา”-แนวสืบสวนโรมานส์ “ยายทอง”-แนวสยองขวัญ “อำแดงกลีบ”-แนวอีโรติคย้อนยุค
แนวสืบสวนสอบสวนเขามีแบ่งรูปแบบไหม แล้วสไตล์ของลุงทอมเป็นอย่างไร
เรื่องของแนวทางคงจะมีปะปนกัน นอกจากสืบสวนเต็มๆ แล้ว นิยายรัก สยองขวัญ แฟนตาซี หรือแนวอื่นๆ ก็สามารถมีกลิ่นอายของสืบสวนผสมอยู่ด้วย ไม่มีอะไรตายตัว อยู่ที่นักเขียนอยากเขียนยังไงให้สนุกมากกว่า สไตล์ของ “ทอม สิริ” มักเอาสืบสวนเป็นแกนหลัก ผสมเข้ากับเรื่องราวอื่น
ลุงทอมศึกษางานจากไหนบ้าง
ลุงทอมได้ความรู้เบื้องต้นจากเว็บ forwriter.com ของ “ฟีลิปดา” ได้ข้อสังเกตดีๆ จาก “อาริตา” และล่าสุดที่น่าสนใจมากคือการเข้าอบรมกับโครงการเขียนอย่างไรให้เหมาะทำละคร ช่องวันร่วมกับเว็บไซต์อ่านเอา นอกจากนั้นก็มีศึกษาจากนักเขียนนักแปลที่ลุงทอมชื่นชอบ ได้แก่ ฮาลาน โคเบน, สตีเฟน คิง, สุวิทย์ ขาวปลอด, วรรธนา วงษ์ฉัตร
ทำอย่างไรจึงจะแต่งนิยายสืบสวนสอบสวนให้โดดเด่นชวนติดตาม
ความแตกต่างเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้งานเขียนสนุก แต่ไม่เสมอไป ถึงพล็อตจะธรรมดา ไม่มีอะไรหวือหวาแตกต่าง ทว่าตัวละครสามารถสะกดตรึงใจคนอ่านได้ นั่นก็ประสบความสำเร็จแล้ว
บางครั้งนักเขียนแค่วางโครงคร่าวๆ แล้วปล่อยให้การเขียนรื่นไหลไปเอง งานสืบสวนสอบสวนสามารถทำอย่างนั้นได้ไหม
ลุงทอมต้องวางให้เป๊ะก่อน ไม่งั้นเป๋
ลุงทอมหาข้อมูลอย่างไรในการเขียน
อากู๋ (google) เป็นที่พึ่งจ้ะ
การเขียนซีรีส์ยาวมีความยาก-ง่ายกว่าการเขียนเล่มเดียวจบหรือไม่
ยากกว่าตรงต้องจำแคแรกเตอร์และเรื่องราวในเรื่องก่อนๆ ให้แม่น และต้องวางพล็อตใหญ่ร้อยทุกเรื่องไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ซีรีส์แต่ละชุดมีจุดเด่นแตกต่างกันอย่างไร
“ทอม สิริ” ตอนนี้ที่เป็นซีรี่ส์มีอยู่ 3 ชุดคือ
ชุดนักสืบกานต์พิชชา ซีซัน 1 มีหกเรื่องคือ จัดฉากฆ่า, ด้านมืด, เพลงฆาต, เกาะปีศาจ, วิปลาส, เงื่อนมายา
ชุดนักสืบกานต์พิชชา ซีซัน 2 ตอนนี้เรื่องแรกของชุดวางขายแล้วคือ คู่เข้มคดีคฤหาสน์
จุดเด่นของชุดนักสืบกานต์พิชชาทั้ง 2 ซีซัน คือเป็นสืบสวนเข้มข้น มีกลิ่นดราม่าของตัวละคร
ชุดอาชญนิยายของนายตั้งต้น มี 3 เรื่องคือ รัก-เล่ห์-เสน่ห์-แค้น, ซ่อน-รัก-ลวง-ฆ่า, พล็อต-รัก-พิษ-แค้น จุดเด่นของชุดอาชญนิยายของนายตั้งต้น คือการหาวิธีฆ่า วิธีไขคดีที่แปลกออกไป
ส่วน สาปเคหาสน์ กับ บ่วงพราย นั้นขายหมดเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ลงในนิตยสารออนไลน์อ่านเอา และได้ขายที่บูธสำนักพิมพ์กรู๊ฟในงานหนังสือด้วย คนเลยเห็นและรู้จักกันเยอะ ส่วนเรื่องอื่นก็ขายได้เรื่อยๆ บางเล่มได้พิมพ์ซ้ำ เช่น ชุดอาชญนิยายของนายตั้งต้น, เถ้ารักสีกุหลาบ, สืบโหดคืนสยอง
มีเล่มที่ประทับใจที่สุดหรือเขียนยากที่สุดไหมคะ
ชอบทุกเรื่อง และเขียนยากทุกเรื่อง
มองตลาดนิยายสืบสวนสอบสวนในไทยเป็นอย่างไร
นิยายสืบสวนสอบสวนกำลังได้รับความนิยมนะ แต่งานเราจะขายได้หรือไม่ บางทีก็อยู่ที่นักอ่านกับนักเขียนจะหากันเจอไหมด้วย เพราะนักเขียนมีเยอะมาก
ทำไมถึงเลือกทำสำนักพิมพ์และพิมพ์งานด้วยตัวเอง
ที่เลือกพิมพ์เองเพราะบางทีงานเราไม่ตรงใจสำนักพิมพ์ก็จะไม่ผ่าน และการออกหนังสือกับสำนักพิมพ์อื่น แต่ละเล่มใช้เวลานาน ลุงทอมเลี้ยงชีพด้วยการเขียนนิยายอย่างเดียว จำเป็นต้องออกงานต่อเนื่องเลยรอไม่ไหว ต้องวางขายเอง ใช้การโปรโมทในเฟซบุ๊ก และลงตัวอย่างผลงานในเว็บไซต์นิยายออนไลน์ทั่วไป ข้อดีของการทำสำนักพิมพ์เองคือ เรามีงานออกมาต่อเนื่อง ควบคุมจังหวะและเวลาได้ ส่วนข้อเสียคือเหนื่อยมากจ้ะ
เราจะหาหนังสือของลุงทอมได้ที่ไหน
สั่งซื้อหนังสือได้ที่เฟซบุ๊ก Tom Siri หรือ ทอม สิริ และมีอีบุ๊กดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ mebmarket.com ในชื่อของ ทอม สิริ และ ลุงทอม
แฟนส่วนใหญ่ของลุงทอมนิยมอ่านจากหนังสือเล่มหรืออีบุ๊กมากกว่ากัน
นักอ่านของลุงนิยมเล่มฮะ แต่ในภาวะแบบนี้มีแนวโน้มจะขยับขยายไปทางอีบุ๊กมากอยู่เหมือนกัน
มีการคาดการณ์ว่าอีบุ๊กจะได้รับความนิยมและเข้ามาแทนที่หนังสือเล่ม ลุงทอมมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ
เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจ้ะ
มีผลงานแบบไหนอีกไหมที่ลุงทอมอยากเขียนในอนาคต
ไม่มีแล้วครับ มีคนเคยบอกลุงทอมว่า เขียนสืบสวนไปเถอะ อย่าเปลี่ยนเล้ย
เสน่ห์ของนิยายสืบสวนสอบสวนที่จับใจลุงทอมคืออะไร
เรื่องไหนอ่านแล้วตื่นเต้นหายใจไม่ออกนี่ชอบมากฮะ (ฮ่า)
10 ปีบนเส้นทางนักเขียนให้อะไรแก่ลุงทอมบ้างคะ
ความสุขจ้ะ
3 เล่มในดวงใจของ “ทอม สิริ”
- บันทึกร้อยวัน… ฉันจะเขียนนวนิยายให้จบ โดย “ฟีลิปดา”
หนังสือที่อ่านแล้วทำให้ตัดสินใจเป็นนักเขียน
- ไฟรักไฟพยาบาท (The Other Side of Midnight) ของ “Sidney Sheldon” แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
เป็นเรื่องที่สนุกมากมาย
- คนโหดเกมอำมหิต (scavenger) ของ “David Morrell” แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
อ่านแล้วตื่นเต้นจนแทบหายใจไม่ออก