ผัก ‘ตบชวา’ วัสดุกันกระแทกลดโลกร้อน

-

“ตบชวา” คือวัชพืชน้ำที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและสร้างปัญหามากมายให้แก่แม่น้ำลำคลอง ทั้งขัดขวางการไหลเวียนของน้ำจนทำให้น้ำเน่าเสีย กีดขวางการคมนาคมและระบบชลประทานจนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดน้ำท่วม ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนจนต้องเร่งจำกัดทิ้งด้วยวิธีการต่างๆ คนบางกลุ่มจึงเกิดไอเดียนำวัชพืชชนิดนี้มาก่อประโยชน์ เช่น นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน กระเป๋า กรอบรูป และอื่นๆ “สินค้าเด่นไอเดียเด็ด” ฉบับนี้ ขอพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งไอเดียใหม่ที่นำผักตบชวามาสร้างผลิตภัณฑ์เป็น “ผักตบชวากันกระแทก” (TOB-CHAWA) ที่นอกจากจะช่วยลดมลภาวะทางน้ำแล้วยังช่วยลดปัญหาการใช้พลาสติกในยุคการขายของออนไลน์เฟื่องฟูได้อีกด้วย

‘เจ’ วศการ ทัพศาสตร์ ผู้ก่อตั้ง TOB-CHAWA


‘เจ’ วศการ ทัพศาสตร์
ผู้ก่อตั้ง TOB-CHAWA เป็นกัปตันอยู่สายการบินเอกชนแห่งหนึ่งและมีอาชีพเสริมคือการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อสั่งของเข้ามาที่ออฟฟิศมากๆ เข้า เจก็พบว่ามีพวกเม็ดโฟม บับเบิ้ล หรือวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการกันกระแทกส่งมาพร้อมกันด้วยจนเกิดปัญหาขยะล้นออฟฟิศ ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเขาได้เห็นข่าวว่ารัฐบาลกำลังต้องการกำจัดวัชพืชอย่าง “ผักตบชวา” จึงสอดคล้องกับความคิดของเขาที่ต้องการหาวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนการใช้พลาสติกบับเบิ้ลหรือเม็ดโฟมพอดี

เจเล่าว่า “ตอนนั้นเราอยากจะทำอะไรสักอย่างกับผักตบชวา จึงไปค้นหาข้อมูลว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง และพบว่าชุมชนตามริมแม่น้ำลำคลองต่างๆ บ้างก็นำมาแปรรูปเป็นเครื่องจักสาน กระเป๋า หมวก บางที่นำมาเป็นจานก็มี จนเราได้ไปเห็นที่หนึ่งนำผักตบชวามาตัดเป็นปล้องๆ แม้จะไม่ทราบว่าเขานำไปทำอะไร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดไอเดียเพื่อนำมาพัฒนาเป็นวัสดุกันกระแทกต่อ” การนำผักตบชวาไปตากแห้งแล้วตัดเป็นปล้องๆ ทำให้เจได้เห็นเส้นใยที่อยู่ข้างในผักตบชวา เมื่อลองกดบีบดูก็พบว่ามันมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับสารต่างๆ ทั้งยังสามารถดูดซับแรงกระแทกได้อีกด้วย เขาต้องใช้เวลาในการลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ กว่าจะออกมาเป็นสินค้าที่ใช้งานได้อย่างทุกวันนี้

วัชพืชน้ำที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและสร้างปัญหามากมายให้แก่แม่น้ำลำคลอง

ตบชวากันกระแทกสามารถนำไปแพ็คสินค้าได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว งานเซรามิก แก้วน้ำ เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ฯลฯ สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก 2-3 ครั้ง แต่จำนวนครั้งที่นำมาใช้ใหม่อาจต้องดูปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย เช่น ประเภทของพัสดุและการขนส่ง อีกทั้งหลังจากใช้งานในฐานะวัสดุกันกระแทกแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้ เช่น นำไปคลุมหน้าดิน เนื่องจากมีคุณสมบัติใยฟองน้ำดูดซับกักเก็บน้ำไว้ได้ วัสดุตบชวากันกระแทกนี้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยการกลบและฝัง ใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือนขึ้นอยู่กับแต่ละกรรมวิธี

สอนกรรมวิธีการผลิตและรับซื้อสินค้าต่อจากชาวบ้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์แล้ว เจยังมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจคือ บริษัทไม่มีการจ้างพนักงานภายในเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าเอง แต่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนตามริมแม่น้ำลำคลอง สอนกรรมวิธีการผลิตและรับซื้อสินค้าต่อจากชาวบ้าน ซึ่งมีหลายชุมชนที่เข้าร่วมกับเขา

บริษัทเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนตามริมแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการกระจายรายได้จากคนซื้อสู่ชุมชน

เจเล่าถึงการทำงานส่วนนี้ว่า “เราอยากเข้าไปคุยกับชุมชนต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ว่าเราเป็นตัวแทน พร้อมให้ความรู้ว่ามีขั้นตอนอย่างไรจึงจะผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานแล้วส่งขายให้เราได้ เพื่อเป็นการกระจายรายได้จากคนซื้อสู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนประสบปัญหาขาดรายได้ จึงอยากนำความรู้ไปช่วยต่อยอดเป็นรายได้แก่ชุมชน การทำเช่นนี้ ธุรกิจมันก็ดำเนินไปได้ด้วยส่วนต่างของราคารับซื้อและราคาขาย แม้จะได้กำไรไม่มากนัก แต่ผมมองว่าต่อไปในอนาคตตลาด e-commerce กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากตบชวากันกระแทกเป็นที่รู้จัก และสามารถเข้าไปทดแทนการใช้พลาสติกได้ ธุรกิจเราก็จะเติบโตและมีกำไรมากขึ้นด้วย”

ด้วยความแปลกใหม่ในตลาดวัสดุกันกระแทก เจจึงต้องดำเนินแผนโปรโมตสินค้าอย่างหนักเพื่อให้ “ตบชวา กันกระแทก” เป็นที่รู้จัก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องยาก เขาจึงไม่สามารถทำเพียงปล่อยภาพโฆษณาเฉยๆ ได้ เขาต้องเปลี่ยนแผนโปรโมตเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจว่าตบชวากันกระแทกคืออะไร ทำคลิปทดสอบการใช้สินค้าจริง และเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการทดสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ประจักษ์ จนได้รับใบรับรองมาตรฐาน International Safe Transit Association (ISTA) ประเภท 1A จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดสอบแรงกระแทกจากการตกกระทบ เมื่อคนที่ได้ลองใช้งานจริงเห็นถึงคุณภาพและมีความเชื่อมั่นแล้ว ก็กลับมาเป็นลูกค้าประจำต่อไป
ทางด้านราคา เราลองสอบถามว่าสูงหรือต่ำกว่าการใช้พลาสติกประเภทบับเบิ้ลหรือเม็ดโฟมอย่างไร เจตอบว่า “ผลิตภัณฑ์ตบชวากันกระแทกผลิตด้วยแรงงานคนไม่ได้ใช้เครื่องจักร ราคาจึงสูงกว่าพลาสติก แต่เมื่อเปรียบเทียบออกมาแล้ว ก็ไม่ได้แพงกว่ากันมาก เพิ่มขึ้นกว่าการใช้พลาสติกประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สมมติเราเคยจ่ายค่าวัสดุกันกระแทกแบบพลาสติกเดือนละ 100 บาท ตบชวากันกระแทกก็อยู่ที่ประมาณ 102-103 บาท”

ลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับแรงกระแทกได้

ช่องทางการจำหน่ายปัจจุบันของตบชวากันกระแทกเน้นออนไลน์เป็นหลัก และมีฝากขายแบบออฟไลน์บ้าง สามารถติดตามช่องทางการขายต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ในอนาคตหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เจก็วางแผนเอาไว้ว่าอยากจะออกบูธตามงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ตบชวากันกระกระแทกเป็นทางเลือกใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่เริ่มหันมาทำธุรกิจ e-commerce หรือขายสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งช่วยกำจัดวัชพืชลดมลภาวะทางน้ำ ลดการใช้พลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน แล้วยังเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

 


สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เฟซบุ๊ก: ตบชวา ผักตบชวากันกระแทก (@tobchawa)
เว็บไซต์: http://www.tobchawa.com/


คอลัมน์: สินค้าเด่นไอเดียเด็ด
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: ตบชวา ผักตบชวากันกระแทก
All Magazine กรกฎาคม 2564

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!