หากผมบอกว่ามูลค่าของเงินในกระเป๋าคุณเปลี่ยนไปทุกวัน คุณจะเชื่อไหม
คาดว่าคุณคงเชื่อสักห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือสี่สิบเปอร์เซ็นต์อาจเริ่มระแวงว่าผมเป็นขโมย และอีกสิบเปอร์เซ็นต์อาจเอะใจอะไรบางอย่าง ระหว่างที่คุณกำลังสับสน ผมจึงหาจังหวะชี้แจงว่า มูลค่าของเงินที่เปลี่ยนไป ไม่ได้หมายถึงตัวเลขจำนวนเงิน แต่หมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่างหาก ร้อยบาทวันนี้กับร้อยบาทในวันพรุ่งนี้อาจมีมูลค่าไม่เท่ากันก็ได้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ทฤษฎีที่ว่าด้วยมูลค่าเงินย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลามีชื่อว่า “Time Value of Money” หรือ TVOM ซึ่งนักการเงินทุกคนจะถูกบังคับเรียนเป็นเรื่องแรก ๆ ในชีวิตนิสิตนักศึกษา
มูลค่าของเงินสามารถผันแปรไปได้ด้วยหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ (1) ความต้องการใช้เงินเมื่อเทียบกับเวลา (2) ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงิน และ (3) ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อ
ความต้องการใช้เงินเมื่อเทียบกับเวลา หมายถึง คนเรามักมีความต้องการใช้เงินในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต กล่าวคือใช้เงินตอนนี้ก็มีความสุขเลยตอนนี้ ไม่ชอบรอ เหมือนมีคนบอกจะให้เงินไปกินข้าววันนี้ กับอีกคนบอกว่าจะให้เงินไปกินข้าวในอีกสิบปีข้างหน้า ร้อยทั้งร้อยก็คงเลือกวันนี้เพราะอยากใช้เงินเลย
ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงิน หมายถึง ช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีผลและเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการจะไม่ได้รับเงินด้วย ดังเช่นตัวอย่างที่แล้ว หลายคนเลือกรับเงินวันนี้เพราะคิดว่าถ้ารออีกสิบปีข้างหน้าอาจไม่ได้เงิน กลายเป็นการรอฟรี แบบนี้แปลว่าเรากำลังคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงกันอยู่
ภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของเงินเปลี่ยนไปตามเวลา โดยทั่วไปเศรษฐกิจมักมีภาวะเป็นเงินเฟ้ออ่อน ๆ เพราะสัญญาจ้างส่วนใหญ่กำหนดให้ต้องมีการขึ้นค่าแรงงานทุกปี ค่าแรงที่ขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่ทำให้ค่าสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจแพงขึ้นจนกลายเป็นเงินเฟ้อนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อมีความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการชดเชยความเสี่ยงด้วย
หากมีคนเสนอว่าจะให้เงินคุณวันนี้ 100 บาทกับให้เงินคุณปีหน้า 100 บาท คุณจะเลือกตัวเลือกไหน ร้อยทั้งร้อยก็คงเลือกวันนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจคว้าน้ำเหลว แต่ถ้าคนเสนอต้องการให้ปีหน้าจริง ๆ คุณก็อาจต่อรองขอสิ่งชดเชยความเสี่ยง เช่น เขาต้องยอมจ่ายเพิ่มเป็น 105 บาทถ้าจะจ่ายปีหน้า และ 5 บาทที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คือ “ผลตอบแทน” ซึ่งไปช่วยชดเชยความเสี่ยงไว้นั่นเอง
หลักการคิดมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่หลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะการวางแผนการเงินในกรอบระยะเวลานาน 5 ปี 10 ปี หรือจนเกษียณ TVOM จะมีผลมาก
คิดง่าย ๆ เช่น ถ้าคุณวางแผนไว้ว่าจะเกษียณด้วยเงินเก็บเดือนละ 20,000 บาท แต่กว่าจะเกษียณก็อีก 35 ปี เมื่อถึงเวลานั้นคุณจะยังใช้เงิน 20,000 บาทต่อเดือนได้เพียงพออยู่หรือเปล่า
สูตร TVOM: มูลค่าเงินในอนาคต = มูลค่าเงินในปัจจุบัน x ( 1 + ผลตอบแทน )ปี
จากตัวอย่างข้างต้น คุณวางแผนไว้ว่าจะมีเงินใช้ตอนเกษียณเดือนละ 20,000 บาท แต่กว่าจะเกษียณจริงก็อีก 35 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเสี่ยง (อีกด้านของผลตอบแทน) ในที่นี้น่าจะต้องหมายถึงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผมจะลองใช้เลขตัวอย่างที่ 1.75% ต่อปี แทนค่า
มูลค่าเงินในอนาคต = 20,000 x ( 1 + 0.0175 )35 = 36,705.80 บาท
น่าสังเกตว่าคุณภาพชีวิตเดือนละ 20,000 บาทในวันนี้จะมีค่าเท่ากับคุณภาพชีวิตเดือนละ 36,705.80 ในอีก 35 ปีข้างหน้า ดังนั้น หากเราไม่มีความรู้เรื่องมูลค่าเงินตามเวลาเลย เราก้มหน้าก้มตาเก็บเงินเท่าที่วางแผนไว้ สุดท้ายเราอาจค้นพบว่าเรามีเงินไม่พอใช้ก็ได้
ฟังดูเหมือน TVOM จะเป็นตัวร้าย แต่ในความจริง หลักคิดนี้ก็ให้ผลอีกด้านอย่างมหาศาล
เรากำลังพูดถึงการนำเงินที่มีอยู่แล้วมาวางตั้ง และปล่อยให้เงินเฟ้อกัดกินไปเรื่อย ๆ มูลค่าจึงค่อยๆ ลดลงๆ แต่ถ้าเราคิดตรงข้ามกันล่ะ เรานำเงินก้อนนั้นไปลงทุนสินทรัพย์และสร้างผลตอบแทนให้เติบโตในอนาคต มูลค่าของเงินก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเลย
ตัวอย่าง คุณนำเงิน 20,000 บาทไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% และถือครองไว้จนถึงเวลาเกษียณ หรืออีก 35 ปีข้างหน้า
มูลค่าเงินในอนาคต = 20,000 x ( 1 + 0.10 )35 = 562,048.74 บาท
จากสองหมื่นบาทจะกลายเป็นห้าแสนกว่า ยอดเงินจำนวนนี้มากกว่าเงินตั้งต้นถึง 28 เท่า!
หลักการเรื่องมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นทฤษฎีที่มหัศจรรย์มาก เพราะเป็นการเปิดเผยสุดยอดพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น หากเรานำหลักนี้ไปใช้กับตัวเลขผลตอบแทนที่เป็นลบ เช่น เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินของเราก็จะลดคุณค่าลงอย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกัน หากเรานำหลักนี้ไปใช้กับตัวเลขผลตอบแทนที่เป็นบวก เช่น นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เงินของเราก็จะเพิ่มคุณค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่สิ่งสำคัญที่สุด น่าสังเกตว่าตัวแปรเดียวในสมการที่อยู่ในเลขยกกำลังคือ “ปี” หรือเวลา นั่นจึงเป็นการบอกอย่างชัดเจนว่าความรู้เรื่องการเงินนั้น ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบ เพราะถ้าคุณยิ่งลงทุนเร็ว ผลตอบแทนของคุณก็ยิ่ง “ยกกำลัง” เป็นเงาตามตัว
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน เรื่อง: ลงทุนศาสตร์