เวลาภาษาลาว

-

การบอกเวลาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน ภาษาที่ใช้บอกเวลาของแต่ละชาติอาจสะท้อนลักษณะนิสัยและการทำงานได้ ภาษาไทยกับภาษาลาวใช้คำบอกเวลาเป็นคำโดดคล้ายคลึงกัน คำบอกเวลาบางคำของลาวเป็นศัพท์เก่าของไทยที่เลิกใช้ไปแล้ว ใช้อยู่ในวรรณคดี หรือบางคำยังใช้ร่วมกันอยู่แต่สะกดหรือออกเสียงต่างกัน หรือมีความหมายผิดแผกกัน วิธีการนับบอกเวลาก็มีความแตกต่างเช่นกัน

ໂມງ โมง หมายถึง นาฬิกา การนับเวลาแบบลาวนั้นแยกเป็น ໂມງເຊົ້າ โมงเซ้า กับ ໂມງແລງ โมงแลง เทียบกับภาษาอังกฤษคือ AM และ PM โดยนับ หนึ่งโมงเซ้า คือหนึ่งนาฬิกาหลังเที่ยงคืน เท่ากับตีหนึ่งไทย หนึ่งโมงแลง คือหนึ่งนาฬิกาหลังเที่ยงวัน เท่ากับบ่ายโมงไทย การนับนี้ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสสมัยลาวเป็นรัฐในอารักขา คนไทยคนลาวเวลาข้ามแดนมาจึงเรียกเวลากันสับสนพอสมควร อนึ่ง คำว่า โมง ซึ่งหมายถึงนาฬิกานี้ ยังหมายถึงนาฬิกาที่เป็นคำนามเรียกสิ่งของเครื่องมือบอกเวลาอีกด้วย เช่น โมงแขน คือ นาฬิกาข้อมือ 

ງາຍ งาย หมายถึง เวลาเช้าตรู่ รุ่งเช้า ประมาณตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นศัพท์ที่ภาษาไทยเคยใช้ในอดีต ปรากฏในวรรณคดีไทยเช่น ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย แต่ในภาษาลาวยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน คำนี้อาจแปลว่า มาก่อน มาเร็ว ก็ได้ เช่น ถามว่า มาแต่เหิง คือ มาตั้งแต่เมื่อไร ตอบว่า มาแต่งาย คือ มาเร็ว มาก่อนใครๆ แล้ว ยามพระออกบิณฑบาตตะวันแจ้งเห็นเส้นลายมือก็เรียกว่ายามงาย

ສວາຍ สวาย ออกเสียงเป็น สวย หมายถึง เวลาสาย ประมาณแปดโมงถึงสิบเอ็ดโมงเช้า และยังหมายถึง ล่าช้าไม่ทันการอีกด้วย เช่น เจ้าคึมาสวายแท้ หมายความว่า ทำไมคุณถึงมาช้านัก

ແລງ แลง หมายถึง เวลาเย็น ประมาณห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม และรวมทั้งเวลาบ่ายตะวันคล้อยจดยามพลบค่ำจนมองอะไรไม่เห็น

ຄ່ຳ ค่ำ หมายถึง เวลาค่ำมืดตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินเป็นต้นไป ประมาณหนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่ม

ເດິກ เดิก หมายถึง เวลาดึก เวลานอน ตั้งแต่ห้าทุ่มเป็นต้นไปถึงรุ่งเช้า และยังหมายถึงยามวิกาล ยามต้องห้ามในการสัญจร รวมทั้งการทำอะไรในเวลาก่อนเพื่อน ก่อนผู้อื่น เช่น เพิ่นไปเฮ็ดเวียกแต่เดิก หมายถึง เขาไปทำงานก่อนใครอื่น


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!