ละครโทรทัศน์เรื่องทางเสือผ่าน เมื่อแรกสร้างอาจดูเป็นละครนอกสายตา แต่กลายเป็นว่าม้ามืดตัวนี้เข้าวินชนะละครทุกเรื่อง ทุกช่องที่ฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีเรตติ้งเกิน 6 ซึ่งยากจะหาละครโทรทัศน์เรื่องใดที่มีเรตติ้งสูงระดับนี้ในช่วงเวลาปัจจุบัน
ทางเสือผ่านเป็นผลงานนวนิยายของ “พนมเทียน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2540 ท่านเป็นประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ของบรรณพิภพไทย ผลงานเรื่องเพชรพระอุมา ซึ่งครองอันดับนวนิยายที่มีขนาดยาวที่สุด และเป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ใช้เวลาเขียนยาวนานถึง 26 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2507–2533 ท่านเขียนนวนิยายเรื่องทางเสือผ่านขึ้นในทศวรรษ 2500 และได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา เมื่อ พ.ศ.2510 ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ.2520
ทศวรรษ 2500 นักวิชาการวรรณกรรมเรียกว่าเป็น “ยุคมืดของวรรณกรรมไทย” เนื่องจากสังคมไทยมีการปกครองในระบอบเผด็จการ งานวรรณกรรมที่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองถูกห้ามเผยแพร่ นักเขียนหลายคนเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น หรือไม่ก็เปลี่ยนแนวการเขียน แนวเรื่องของนวนิยายจึงถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่แนว ถ้าเป็นนักเขียนหญิง ก็จะเป็นแนวพาฝันหรือแนวชีวิตครอบครัว ส่วนนักเขียนชายก็จะเขียนแนวบู๊ล้างผลาญ ผจญภัย
ทว่าในช่วงเวลาแห่งความมืดมิดทางปัญญานั้น หากพิจารณาที่ตัวเนื้อหาของนวนิยาย เราจะพบแง่มุมสะท้อนสังคมซ่อนอยู่ในนวนิยายที่ถูกตีตราว่า “น้ำเน่า” ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องชนชั้น ชีวิตและความรักท่ามกลางการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมือง กระแสการต่อต้านอำนาจรัฐ รวมถึงปัญหาของผู้หญิงในสังคมไทยด้วย
เช่นเดียวกับเรื่องทางเสือผ่าน อาจจะดูว่า “พนมเทียน” เขียนนวนิยายบู๊ล้างผลาญในชนบทธรรมดาเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาให้ดี จะเห็นมิติหลายประการในนวนิยายเรื่องนี้
ประการแรก นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายซึ่งสะท้อนชีวิตของสามัญชนในชนบทที่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว สามพี่น้อง อันได้แก่ กาญจน์ เกรียง และไกร ผู้สูญเสียน้องสาวกับพ่อไปอย่างอนาถ หวังพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐในชุมชนก็ไม่อาจพึ่งพาได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังอยู่ในอำนาจของเสือร้าย โจรปล้นฆ่าซึ่งร่วมมือกับเศรษฐีในชุมชน หลังจากปล้นแล้วก็เอาทองไปขายให้เศรษฐี ตัวละครเศรษฐีนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึง “ทุน” ในสังคมชนบทที่ก่อร่างสร้างตนมาจากการค้าขาย หรือร้านค้าที่ถนนตัดไปถึงหมู่บ้าน จนเกิดชุมชนค้าขายขึ้น แต่เศรษฐีในเรื่องนี้เป็น “ร้านทอง” อันเป็นค่านิยมของการสะสมทรัพย์ของคนไทยในชนบท เชื่อว่าซื้อทองเก็บไว้จะได้ราคา และยังเป็นค่านิยมในการ “อวด” กันด้วย วัฒนธรรมใส่ทองเพื่อแสดงความมีหน้ามีตา เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปในสังคมสมัยก่อน สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ “พนมเทียน” สะท้อนให้เห็นว่าชนบทขาดการเหลียวแลจากรัฐ แม้ว่ารัฐจะประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2504 แต่การพัฒนาที่เดินตามก้นสหรัฐอเมริกา ก็สนองตอบการพัฒนาในสังคมเมืองมากกว่าในชนบท
“พนมเทียน” สะท้อนสังคมชนบทว่านอกจากจะแร้นแค้น ขาดการเหลียวแลจากรัฐแล้ว ยังเต็มไปด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชุมโจร หรือเสือปล้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงอำนาจของรัฐที่ถูกท้าทายจากปลายกระบอกปืนของบรรดาเสือปล้นต่างๆ ภาพและเรื่องเล่าประเภทที่ว่าโจรปล้นคนรวย เอาไปแจกคนจน จึงเป็นการแสดงออกอย่างแจ้งชัดว่ารัฐไม่สามารถแก้ไขความยากจนได้ในทศวรรษดังกล่าว
เมื่อรัฐไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ความตายของพ่อและน้องสาวได้ กาญจน์ เกรียง และไกร จึงต้องลุกขึ้นสู้เอง แม้จะสู้กันตามลำพังสามพี่น้องแต่ก็สู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจรัฐ เรื่องบู๊และหนังไทยบู๊ล้างผลาญมักจะสะท้อนภาพตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าชอบมาตอนใกล้จบเรื่องเสมอ แต่การต่อสู้กับความอยุติธรรมในชุมชน ตกเป็นหน้าที่ของสามัญชนที่ไม่ยอมสยบให้แก่ความอยุติธรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยต่อต้านด้วยความรุนแรงเช่นกัน
ประการที่สอง ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องทางเสือผ่าน คือการร่วมมือร่วมใจของสามพี่น้องที่ผนึกกำลังกันต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นเรื่องของความสะเทือนใจในชีวิตลูกผู้ชาย เมื่อนวนิยายเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ จึงมีฉาก “ผู้ชายร้องไห้” ซึ่งเป็นการสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้ผู้เสพเกิดความรู้สึกสงสารและเอาใจช่วยตัวละครให้ทำภารกิจล้างแค้นจนสำเร็จ
หมู่บ้านที่เป็นทางเสือผ่าน จึงถูกปิดและทำลายโดยสามัญชน โดยคนในชุมชน มีหญิงสาวที่คอยต่อสู้ร่วมกับคนรัก น้ำตาลูกผู้ชายและการผนึกกำลังของความรักเพื่อต่อสู้กับความรุนแรงและความอยุติธรรมกลายเป็นเสน่ห์สำคัญของนวนิยายและละครโทรทัศน์เรื่องนี้
ประการที่สาม ความสำเร็จด้านเรตติ้งและเสียงตอบรับที่ดี สอดคล้องกัน น่าจะมาจากบริบทในสังคมปัจจุบันด้วย ที่ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมว่าเป็นเรื่องของคนในระดับรากหญ้าเช่นเดียวกับตน ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นกลางในอีกระดับที่ตนเป็นเพียงผู้เฝ้ามองผ่านจอทีวี และไม่ใช่เรื่องในสังคมจินตนาการที่ตนเองไม่รู้จัก ประกอบกับโลกโซเชียลทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกถึง “อำนาจ” ในมือผ่านสมาร์ทโฟน เชื่อมั่นในพลังของสามัญชน และกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ดังนั้นตัวละครในเรื่องทางเสือผ่าน จึงมีสภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากตนเอง
ประการสุดท้าย ทางเสือผ่านมิใช่ละครโทรทัศน์ที่เน้น “ฮีโร่” ขี่ม้าขาวมาช่วยชุมชน แต่กลับเป็นคนในชุมชนที่รวมพลังกันต่อต้านความอยุติธรรมและความรุนแรง ต่างจากนวนิยายบู๊จำนวนมากที่ฮีโร่มักจะเป็น “พระเอก” ปลอมตัวมาอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อสืบราชการลับ และสามารถชนะใจคนในชุมชนและแก้ปัญหาของชุมชนได้ ทางเสือผ่านจึงมีลักษณะของความสมจริงมากกว่านวนิยายบู๊อีกหลายๆ เรื่อง
ขอย้ำอีกทีว่า ความสำเร็จของทางเสือผ่าน มิได้มาจากความบังเอิญ
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: ch7hd drama society