เป็นเสือนอนกินสบายแฮ

-

ฉบับที่แล้วได้เขียนถึงสำนวนที่เกี่ยวกับการนอน ทำให้คิดถึงสำนวน “เสือนอนกิน” และเมื่อพูดถึงเสือแล้วก็คิดต่อเนื่องไปถึงสำนวนที่เกี่ยวกับเสืออีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งมักจะได้ยินคนพูดหรือเขียนถึงยามเกิดภาวะวิกฤติของผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรสำคัญๆ ได้แก่สำนวน “ลงจากหลังเสือ”

เสือนอนกิน

“เสือนอนกิน” เดิมเป็นสำนวนที่ใช้สื่อความหมายไปในด้านลบ เพราะขึ้นชื่อว่าเสือแล้ว โดยธรรมชาติเป็นสัตว์กินเนื้อประเภทสัตว์กีบ แต่กว่าที่จะได้นอนกินเหยื่อ มันก็ต้องวางแผนและออกแรงล่าจนเหนื่อยจึงได้เหยื่อมา บางครั้งก็บาดเจ็บจากเหยื่อนั้นๆ ถ้าเหยื่อฮึดสู้ เช่น พวกวัวแดง วัวกระทิงจะใช้เขาขวิดสู้ ปกติเสือจะล่าเหยื่อเมื่อหิว มันจะไม่ให้เหยื่อรู้ตัว เมื่อเห็นเป็นจังหวะเหมาะก็ค่อยๆ คลานเข้าหาแล้วจู่โจมกัดบริเวณต้นคอใกล้ปากของเหยื่อ เพราะจะทำให้มันปลอดภัยจากการสู้ของเหยื่อ พอเหยื่อล้มมันก็จะกัดคอหอยจนสิ้นใจ แล้วจึงนอนกิน ดังนั้นแม้ว่าเสือสัตว์ดุร้ายจะเป็นนักล่าลือชื่อ แต่ก็ไม่ได้เหยื่อมานอนกินง่ายๆ อย่างที่ใครๆ คิด

เดิมที “เสือนอนกิน” เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงคนที่มีเล่ห์เหลี่ยม คิดวางแผนต่างๆ นานาจนงานสำเร็จและได้ผลประโยชน์ตามต้องการ เช่น คิดโครงการให้ลูกน้องไปปล่อยเงินกู้กับคนจนโดยคิดดอกเบี้ยแพงๆ แล้วให้นำดอกเบี้ยมาส่งตนตามกำหนดเวลา ถ้าลูกหนี้ไม่ทำตามสัญญาก็จะให้ลูกน้องใช้วิธีดำเนินการต่างๆ เพื่อมิให้ตนต้องเสียผลประโยชน์

ในปัจจุบัน “เสือนอนกิน” ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนไทยที่มีความหมายเปลี่ยนไป คือใช้เปรียบกับคนทั่วไปบางคนที่มิได้เป็นคนร้ายกาจอะไร แต่โชคดีที่ไม่ได้ลงทุนลงแรงหรือออกความคิดใดๆ แต่ได้รับผลประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง เช่น นาวีพูดกับภรรยาถึงพันเทพว่า “ตอนนี้เจ้าพันมันเป็นเสือนอนกินสบายๆ ไปทั้งชีวิต เพราะเมียแก่แม่ม่ายของมันที่เพิ่งอยู่ด้วยกันไม่ถึงปีตายทิ้งสมบัติไว้ให้มหาศาล”

ลงจากหลังเสือ

ในแวดวงการเมืองของไทย เรามักจะได้ยินคนพูดถึงผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรสำคัญๆว่าเขากำลัง “ขี่หลังเสือ” ซึ่งเดิมสื่อความตรงตามตัวอักษรถึงผู้ขี่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์ดุร้ายเช่นเสือย่อมเป็นการเสี่ยงที่จะเข้าใกล้ ถ้าพลาดพลั้งก็อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ขี่หลังมันอยู่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะการลงหรือพลัดตกจากหลังเสือ อาจถูกมันขย้ำเอาได้ ดังนั้นก่อนจะลงจากหลังเสือ ผู้ขี่จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบและดูจังหวะให้ดีเพื่อความปลอดภัย

ต่อมา “ลงจากหลังเสือ” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ที่คิดจะลาออกจากตำแหน่งย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น เพราะหลังจากได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้ทำงานแล้วพบกับอุปสรรคสำคัญ แต่ก็จะเป็นไปได้ยากเพราะถูกสถานการณ์บีบบังคับ คือถูกผู้มีอำนาจหรือเจ้านายยื่นคำขาดให้ทำงานต่อไปจนถึงที่สุด จึงไม่สามารถหยุดดำเนินการกลางคันได้ ถ้าขืนดึงดันจะวางมือให้ได้ก็อาจประสบเหตุเภทภัยที่คาดไม่ถึง จึงสรุปได้ว่าบางครั้งการขี่หลังเสือว่าทำได้ยากแล้ว การลงจากหลังเสือยากเสียยิ่งกว่า เช่น เมื่อนิคมผู้อำนวยการขององค์กรหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนแต่งตั้งมาจากผู้มีอำนาจและมีบารมี แต่เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง เขาก็ต้องอยู่ในภาวะหวานอมขมกลืน เพราะตอนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่คิดว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนักหน่วงในเรื่องไม่ชอบมาพากล แต่ก็ต้องยอมทำงานไปตามคำบัญชาของผู้มีอำนาจนั้น เมื่อจะขอย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อเขาเล่าระบายความอึดอัดใจให้เพื่อนรักที่สนิทกันมาเป็นสิบๆ ปีฟัง เพื่อนก็ได้แต่เห็นใจปลอบว่า “ทนๆ ไปอีกหน่อย เมื่อถึงเวลาทุกอย่างก็จะคลี่คลาย พยายามใช้สติปัญญารักษาเนื้อรักษาตัวไว้ จงทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าให้พลาด นี่ไงที่โบราณเขาว่าลงจากหลังเสือมันยากนักหนา จำไว้ ข้าขอให้เอ็งโชคดี คนดีผีคุ้ม เชื่อเหอะ”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!