คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ : เรื่องสั้นสะท้อนชีวิตที่ฉีกขนบการเล่าเรื่อง

-

คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ เป็นผลงานในนามปากกา “เจด็จ กำจรเดช” เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2554 จากเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ผลงานคืนปีเสือฯ ของเขานั้นได้รวมเรื่องสั้นไว้ 11 เรื่อง ถ่ายทอดให้เห็นภาพของวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร และชีวิตที่ถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่ครอบงำ จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือการเล่าเรื่องที่ท้าทายขนบการเขียนเรื่องสั้น คำนิยมของคณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2564 ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

“โดยตั้งต้นด้วยเรื่องเล็กๆ แต่เกี่ยวพันหรือยึดโยงไปสู่เรื่องใหญ่หรือเรื่องหลักของประเทศ หรือแม้กระทั่งของโลก บางครั้งแสดงความรู้ด้านตำนาน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม ฯลฯ มากจนอาจกล่าวได้ว่า แหวกขนบของเรื่องสั้น…

            “…รวมทั้งการเล่นกับโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการจนแยกไม่ออกจากโลกภายนอก และอาศัยความเหลื่อมกันของสองโลกนี้เป็นตัวทำให้เกิดความคลุมเครือได้อย่างงดงามและกระแทกใจ เป็นเรื่องสั้นที่มีความสมัยใหม่ มีเสน่ห์สมยุคสมสมัย”

ด้วยคุณค่าและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ จึงได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2563 และรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 หนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2564 ประเภทเรื่องสั้น

เส้นทางการอ่านหนังสือของคุณจเด็จเริ่มต้นได้อย่างไร

ผมอยู่กับพ่อที่อ่านหนังสือบางกอก และพี่ชายที่อ่านการ์ตูน ตอนเด็กแย่งหนังสือบางกอกกับพี่ชาย พ่อซื้อมาแล้วต้องรอแกอ่านจบก่อน จากนั้นเราพี่น้องก็เอามาแกะแม็กซ์เพื่อแบ่งเนื้อในอ่านกันคนละเรื่อง เพราะรอให้อ่านจบทีละคนไม่ไหว มีช่วงหนึ่งพี่ชายผ่าตัดขา ไปไหนไม่ได้ แกก็ซื้อหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มหนาๆ มาเยอะเลย เราก็อ่านของแกด้วย เป็นภาพจำแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนมัธยมผมยืมหนังสือจากห้องสมุดไปฝากพี่ชาย แต่พอโตขึ้นมาหน่อยพี่ชายก็อ่านน้อยลง อ่านเมื่อเจอ ตอนที่ออกหนังสือเล่มแรกพ่อไม่อยู่แล้ว ที่จริงพ่อกังวลตลอดว่าผมจะไปทำอาชีพอะไร ถ้าบอกว่าเป็นนักเขียนแกน่าจะรู้จักว่านักเขียนคืออะไร หนังสือเล่มแรกจึงอุทิศให้พ่อ

มีนักเขียนที่ชื่นชอบไหม

เยอะแยะ

 

เริ่มเขียนจริงจังได้ยังไง

สำหรับผมนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาที่คนวาดรูปหรือทำงานศิลปะจะเขียนหนังสือหรือร้องเพลง เป็นเรื่องปกติที่เราสนใจอะไรมากๆ แล้วจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า ผมเขียนการ์ตูนโดยลักษณะงานแล้วก็ต้องอ่านหนังสือ ต้องแต่งเรื่อง ต้องใช้คำอยู่แล้ว เอาเป็นว่าเป็นธรรมดาที่คนอ่านหนังสือแล้วนึกอยากเขียน และในรุ่นผมคนทำงานศิลปะเขียนอ่านกันเป็นปกติ นั่นเป็นคำตอบที่พอจะบอกได้เพียงผิวเผิน

แต่ถ้าจะลองหาคำตอบลึกๆ ซึ่งผมเพิ่งมาพบเมื่อไม่กี่วันก่อน หลังจากผมพยายามจะกลับไปเขียนการ์ตูนอีกครั้ง ผมพบว่าการ์ตูนช่วยให้ผมสื่อสารออกไปโดยไม่ต้องพูด หมายถึงไม่ต้องเขียนยืดยาว ผมเหนื่อยที่จะเขียนยาวๆ อย่างการตอบคำถาม ผมอยากจะพูดมากขึ้นกว่าเดิม สมัยก่อนผมพูดน้อยแต่อยากสื่อสารกับคนอื่นก็เลยเขียน แต่ตอนนี้ผมขี้เกียจเขียน เบื่อกระบวนการคิดแล้วเขียน การพูดบางครั้งมันสื่อสารได้เร็ว แต่ไมใช่หรอก ผมแค่เหนื่อยที่ทุกวันนี้เราทุกคนเอาแต่พูดๆ เขียนๆ แต่ไม่มีใครฟังกันเลย คนอ่านที่เราเขียนก็น้อยเต็มที ผมวาดรูปแล้วพบว่า บางทีไม่ต้องเขียนอะไรเลย วาดรูปแล้วโพสต์ไป ก็สื่อสารได้แล้ว พอใจกับมันแล้ว ผมเลยมองย้อนไปก่อนหน้านี้ ผมชอบวาดรูปที่เป็นลักษณะเล่าเรื่อง เหมือนนิทาน บางทีผมรู้สึกว่ารูปที่วาดไม่สื่อ หรือยังมีอะไรค้างอยู่ในหัวเยอะ ยังสื่อสิ่งที่จะบอกได้ไม่หมด จึงเลือกจะเขียน แต่อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อนนะ ก็แค่วาดน้อยลงและเริ่มจดบันทึกมากขึ้น และสุดท้ายก็หาทางทำให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้ผมอยากกลับไปวาดรูปอีกครั้ง การใช้ตัวหนังสือมากๆ ทำให้ผมเหนื่อย

 

เสน่ห์ของวรรณศิลป์ในมุมมองของคุณคืออะไร

เมื่อก่อนไม่เคยรู้เหมือนกัน เคยเสพหนังสือเหมือนเสพหนัง เอาแค่เนื้อหา มีความงามของภาษาอีกเล็กน้อยแต่ก็ผิวเผิน รู้แค่ว่าต้องเล่นกับภาษาอย่างไรบ้าง ตอนเขียนใหม่ๆ ผมก็เลยให้ความสำคัญแก่พล๊อตเรื่อง เวลาเขียนเรื่องสั้นจึงตัดฉากเหมือนหนัง แต่ตอนหลังพบว่าวรรณกรรมแตกต่างอย่างชัดเจนจริงๆ หนังนั้นขึ้นจอได้ทีละเฟรม แต่วรรณกรรมเหมือนความคิดของเราเลย วินาทีหนึ่งมีภาพขึ้นมาเป็นสิบ มีภาพใหญ่ในใจสักภาพ แต่ถ้าเราเท่าทันความคิดเราจะพบว่ามีภาพซ้อนขึ้นมาอีกเยอะ จิตทำงานไวกว่าแสง วรรณกรรมก็แสดงภาพคล้ายๆกัน เราเขียนฉากแฟลชแบ็กได้ตลอดเวลา พูดเรื่องนี้แล้วโยงไปเรื่องโน้นได้เรื่อยๆ ตัวหนังสือก็เลยมีหลายเลเยอร์ทับซ้อน หลังจากค้นพบเรื่องนี้ หนังก็ดูแห้งแล้งไปเลย และแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มีหลายสิ่งที่หนังสือทำแบบหนังไม่ได้ แต่ก็มีหลายอย่างอีกเหมือนกันที่หนังทำแบบหนังสือไม่ได้ ถ้าให้เลือก ผมชอบสิ่งที่วรรณกรรมทำได้มากกว่า

วรรณศิลป์เป็นเรื่องยาก แม้บางทีมองแล้วดูเหมือนง่าย ผมเคยวิเคราะห์ตัวเองว่าผมทำอย่างไหนได้ดีกว่าระหว่างวาดรูปกับเขียนหนังสือ ถ้าผมเขียนหนังสือพูดถึงสถานีรถไฟ ผมแค่เขียนว่าสถานีรถไฟ แล้วใช้การรับรู้ของคนอ่านสร้างภาพเอาเอง แต่เวลาวาด ผมต้องวาดหมดทุกรายละเอียด น็อตเหล็กสนิม ผู้คน ฝุ่นควัน แต่นั่นเป็นคนที่เขียนไม่เก่งมากกว่า อันที่จริงที่บอกว่าง่ายหมายถึงทำได้ง่าย ตัวหนังสือกับวาด ตัวหนังสือง่ายกว่า แต่ยากที่จะทำให้ดี คนเขียนหนังสือเก่งๆ มีวิธีบรรยายสถานีรถไฟมากกว่าคำว่าสถานีรถไฟแน่นอน แถมยังมีหลายวิธี เสน่ห์ของมันอีกอย่างก็คือเราไม่มีทางเก่ง ไม่มีวันเก่ง อะไรที่เราคิดว่าเราได้แล้ว ทำได้แล้ว ไม่เคยเป็นจริง เรามีแต่ต้องค้นคว้าค้นพบอยู่เรื่อยไป สิ่งที่เราคิดว่ารู้ เราแทบไม่เคยรู้จริง

คุณจเด็จหาแนวการเขียนและมีวิธีฝึกยังไงบ้าง เพราะมีลีลาการเขียนเป็นเอกลักษณ์

ไม่ได้ฝึกเลย แต่ครุ่นคิดถึงอยู่ตลอด และอันที่จริงก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเอกลักษณ์ หรือถ้าถามว่าเอกลักษณ์งานเขียนของผมคืออะไรก็ไม่รู้ แต่ผมมองตัวเองออก ย้อนกลับไปมีช่วงแรกๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำไหน ประโยคแบบไหน แต่ผมใช้วิธีที่ใช้กับการวาดรูป เขียนไปตามจริต อยากใช้คำแบบไหน ประโยคแบบไหน อยากเล่าแบบไหนก็ทำไปเลย เวลาวาดรูปบางทีเรามีภาพในหัวอีกแบบ นั่นเป็นตอนที่เราไม่รู้ตัวเอง พอวาดแล้วไม่สวย เพราะไม่ตรงกับภาพที่เราคิด เป็นภาพเลียนแบบของใครก็ไม่รู้ แต่ถ้าสิ่งที่เราทำออกมาเป็นตัวเรา ทำไปตามจริต สีสันและสัดส่วนอาจผิดเพี้ยน สิ่งที่ทำไปตามจริตไม่ปรุงแต่งย่อมสวยทั้งนั้น เช่นรูปวาดของเด็กๆ ลายเส้นบิดเบี้ยวแต่ลากด้วยความมั่นใจ แต่อย่ามาถามนะว่าทำอย่างไร

ผลงานรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีคอนเซ็ปต์อะไร

เกิดจากการเที่ยวไปโน่นไปนี่ในช่วงสี่ห้าปีหลัง จึงเกิดเรื่องเล่าที่ใกล้เคียงกันเพราะประสบการณ์คล้ายกัน และเป็นช่วงที่เบื่อกับงานเก่าของตัวเอง ผมเริ่มคล้อยตามคนที่ไม่ชอบงานผม แล้วงานมันดูไม่จริง เหมือนเรื่องแปล แต่ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าวรรณศิลป์ทำได้มากกว่าการอธิบาย ผมอยากเขียนเรื่องที่เล่าถึงคนที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมลึกลับ เรื่องที่เป็นเรื่องเล่าไม่ใช่เรื่องแต่ง และหวนนึกถึงคำวิจารณ์ที่บางคนบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่รู้เรื่องนะ ต้องเขียนแบบไหนจึงจะอ่านรู้เรื่อง อยากเอาใจคนที่อ่านไม่รู้เรื่อง แต่สุดท้ายเวลาเขียนก็ตามใจตัวเองอยู่ดี

ส่วนคอนเซปต์นั้น ไม่ทราบเหมือนกัน มันมีด้วยเหรอ มันอาจจะเกิดตอนบรรณาธิการรวบรวมก็ได้ เป็นหน้าที่ของบก. แต่โดยปกติงานที่ทำในเวลาไล่เลี่ยกัน มันเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกัน แต่คิดก่อนนะ ไม่หรอก มีงานที่เขียนพร้อมๆ กันแต่เป็นคนละคอนเซ็ปต์ ทั้งเนื้อหาและวิธีการเขียน งั้นคงเป็นเพราะวัตถุดิบ เรื่องมันเลือกคอนเซ็ปต์ของมันเอง ฟังเหมือนทำไปโดยไม่ได้วางแผนใช่ไหม ที่จริงแล้ววางแผนแค่ว่าจะให้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวแปดเรื่อง และมีบรรยากาศแบบนั้น แบบที่ปรากฏในคืนปีเสือฯนั่นแหละ แค่นั้นเอง

 

ทำไมถึงเลือกคืนปีเสือฯ เป็นชื่อหนังสือ

ตอนแรกตั้งชื่อ ‘ข่าวว่านกจะมา’ แต่ฟังแล้วคืนปีเสือฯ น่าจะเป็นชื่อเล่มที่แข็งแรงมากกว่า และเป็นชื่อที่มาก่อนเรื่อง ตอนนั้นสนใจเรื่องเสือ อยู่ๆ เรื่องเสือก็หลั่งไหลเข้ามา ไปทางไหนก็เจอ เลยคิดชื่อเรื่องได้ก่อนเรื่องสั้นในเล่มบางเรื่องเคยลงในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ มีวิธีคัดเลือกเพื่อมารวมในเล่มนี้ยังไง

เวลาเขียนมีแนวคิดครบแล้ว จดเป็นหัวข้อแล้วว่ามีเรื่องอะไรบ้าง มีเรื่องที่จดไว้แต่เขียนไม่สำเร็จอีกสองสามเรื่อง เขียนในช่วงเวลาสองสามปี ไม่ได้ตั้งใจส่ง ยกเว้นว่าเขียนเสร็จแล้วมีโอกาสและสถานที่อำนวยเหมาะสม ก็ส่งไปลง บางเรื่องเป็นช่วงที่เพื่อนๆ พี่ๆ ขอต้นฉบับไปรวมกับนักเขียนคนอื่น บางเรื่องเกิดเพราะรับปากว่าจะเขียนให้ คือเรามีเรื่องที่กำลังจะเขียน แต่มีแรงกระตุ้นให้เขียนจนจบจากเดดไลน์ วิธีการรวบรวมผมก็พูดคุยกับบก.ตลอดเวลา กระทั่งวันหนึ่งผมกลับจากมาเลเซีย ผมก็บอกบก.ว่าไปได้ข้อมูลที่น่าจะทำให้เรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายจบลงได้ และถ้าเรื่องนี้จบได้ เรื่องสั้นชุดนี้ก็พร้อมพิมพ์ หมายถึงพร้อมส่งให้บก.พิจารณา ใช้เวลาอีกเกือบปี ปรับแก้

 

ผลงานเล่มนี้แตกต่างหรือเติบโตกว่าเล่มก่อนยังไงบ้าง

คนอ่านจะบอกได้ว่าแตกต่างกันยังไง ผมรู้แค่ว่ามันเกิดหลังจากที่ผมสูญเสียลูกชายและผมเศร้ามาก จึงไม่ค่อยมีเรื่องรักเรื่องใคร่มากนัก และเพื่อให้ตัวเองมีแรงมีชีวิตต่อ ผมเลยเบ่งสุดพลัง ถ้ามันจะยาวก็ยาวไปจนสุด ถ้ามันวุ่นวายก็วุ่นวายไปให้เต็มที่ ความจริงหนังสือน่าจะหนากว่านี้แต่บก.ตัดออกไปเรื่องหนึ่ง ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้แตกต่างหรือเติบโตไปไหนเลย ลองอ่านดู

 

มีเรื่องไหนในเล่มที่ชอบที่สุด

บูรงแมน ชอบเพราะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขียนจบ ทั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานชุดนี้ ผมไปนั่งกับเพื่อนที่เป็นเซียนพระในตลาดพระทุกอาทิตย์เป็นเวลาสองปีกว่า ไปนั่งเพราะเพื่อนเล่าให้ฟังเรื่องคนขายกระต่ายขูดมะพร้าว เขาเล่าว่าเป็นกระต่ายขูดมะพร้าวที่ลูกศิษย์วัดเขาอ้อเสกให้มันขวิดกัน แค่ได้ยินผมก็ตามเขาไปด้วย และไปทุกที่ที่มีตลาดพระ จนไปเจอเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ใช้เวลานานรับฟังข้อมูล และที่ชอบเพราะผมไม่ได้ค้นคว้าซอกแซกเลย มันพาไปเอง ค่อยๆ พาไปเจอนั่นเจอนี่ ผมมีหน้าที่ลำดับเรียบเรียงเรื่องราว มันยากตรงวิธีการเล่านั่นแหละ ไม่รู้จะเล่ายังไง แต่ในที่สุดก็เขียนจบ ที่ชอบเพราะเขียนจนจบนี่แหละ หมายความว่าเราได้ข้อมูล คิดเรื่องได้ และก็เอามันออกมาได้ หมดแรงพอดี

 

มีเรื่องราวประทับใจหรือมีอุปสรรคในการทำงานอะไร

มันเป็นช่วงที่ดี ได้ไปเที่ยวไปรู้จักคนหลากหลาย ไปต่างโลก ไปเจอตัวละครลับ อุปสรรคไม่ถือว่ามี

 

สารที่อยากสื่อผ่านหนังสือเล่มนี้

เดิมทีผมสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเล่าในภูมิภาคนี้ เรื่องคนกลายเป็นสัตว์ อย่างเช่นเรื่อง Lelaki Harimau ของ Eka Kurniawan (สมิงสำแดง) ของไทยเรามีเรื่องเสือสมิง มีเรื่องคนกลายร่างเป็นสัตว์ในทุกพื้นที่ของโลก แต่ข้อสงสัยของผมมาได้รับการไขให้กระจ่างชัดหลังจากเรื่องสั้นหลายเรื่องของตัวเองเขียนจบแล้ว ในเรื่องสั้นของผมต้องมีใครสักคนกลายร่างเป็นสัตว์ หรืออะไรสักอย่าง บางทีการกลายเป็นสัตว์ในเรื่องเล่าอาจเป็นความปรารถนาด้านใดด้านหนึ่ง อาจเป็นการคืนสู่สัญชาตญาณเดิมในแง่ความดิบเถื่อนและโหดร้าย ซึ่งนั่นมีคำตอบให้เฉพาะสัตว์อย่างเสือ จระเข้ งู แต่กับสัตว์ชนิดอื่นล่ะ ถึงตรงนี้ก็สงสัยต่อว่า เรามีเรื่องเล่าคนกลายเป็นสัตว์ชนิดอื่นๆ อะไรบ้าง เป็นลิง เป็นนก เป็นกวาง เป็นช้าง เป็นอะไรสักอย่าง แต่ผมก็ไม่คิดหาคำตอบหรอก นั่นเป็นเรื่องของคนอ่านที่จะคิดต่อเอาเอง เพราะถึงที่สุด เรื่องเล่าของผมไม่ได้หาคำตอบตรงนั้น

และแม้ผมจะสนใจว่าทำไมเราจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนกลายเป็นสัตว์ แต่เรื่องพวกนั้นก็เป็นเรื่องรอง เรื่องที่ผมพบในเวลาต่อมาเป็นเรื่องวิศวกรรมทางสังคม เรื่องผู้อพยพอาจเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่มนุษย์เป็นผู้อพยพโดยดีเอ็นเอ มนุษย์ยุคแรกอพยพมาจากแอฟริกา ผิวสีดำและดวงตาค่อยๆ เปลี่ยนสีเมื่อย้ายมาอยู่ในตะวันออกกลางและยุโรป สมัยก่อนเราอพยพเพราะภัยธรรมชาติ เพราะอาหารขาดแคลน แต่ปัจจุบันเราอพยพเพราะสงคราม และหลายคนกลายเป็นผู้อพยพเพราะการเมือง การตั้งคำถามเรื่องเราเป็นใครมาจากไหนก็น่าสนใจ ในเรื่องคืนปีเสือฯ มีคนบางกลุ่มที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันเป็นคนที่นั่น เป็นคนพื้นถิ่นนั้น เป็นคนในดินแดนนั้นและผู้ที่มาใหม่คือผู้บุกรุก เราจะมองเรื่องนี้อย่างไร เราจะสืบเสาะทางด้านไหนว่าพื้นที่นั้นเราอยู่เป็นกลุ่มแรก ในอดีตบรรพบุรุษของเราไม่ได้อพยพมาและไล่ผู้อยู่ก่อนใช่ไหม ถ้าเราไม่ลืมว่ามนุษย์นั้นมีดีเอ็นเอของผู้อพยพ เราก็ย่อมไม่ลืมว่าเราไม่อาจเป็นเจ้าของดินแดนไหนโดยบริสุทธิ์ ต่อให้เราเจาะตรวจดีเอ็นเอ เราอาจพบความประหลาดใจว่าในร่างกายเรามีส่วนประกอบที่ผสมกันจนนึกไม่ถึง เมื่อนั้นแหละ เราอาจตระหนักว่าเราเป็นสัตว์ผสม เป็นสัตว์หิมพานต์ เป็นสัตว์ประหลาด และเราไม่ต้องไปชี้ด่าใครว่าพวกแกไม่มีความเป็นมนุษย์อีกเลย เราเป็นสัตว์ ยังเป็นและยังคงเป็น

 

คุณผ่านการส่งประกวดมาหลายเวที รางวัลสำคัญต่ออาชีพนักเขียนยังไง

นอกจากได้เงินรางวัลแล้ว มันทำให้มีคนรักและเกลียด และก็สร้างความสับสนในชีวิตของผมมาก สิ่งนี้ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ผมไม่รู้แล้วละว่ารางวัลทำให้ชีวิตผมแย่ขึ้นหรือดีลง แต่ถ้าถามว่าสำคัญต่ออาชีพผมอย่างไร ผมคิดว่าผมโง่และไร้ความสามารถที่ไม่อาจฉกฉวยช่วงเวลานี้ทำให้อาชีพนักเขียนของผมดีขึ้น ผมอยากไปเขียนการ์ตูนใบ้และอยากทำอย่างอื่น โอเค มองในแง่ดี ก็ดีขึ้น มันทำให้ผมมองหาทางสร้างสรรค์งานใหม่ แต่ผมรักวรรณกรรมนะ รักสุดชีวิตเลย นั่นก็เลยทำให้ผมสับสนและร้องไห้ทุกทีที่คิดว่าผมจะไม่เขียนหนังสืออีกแล้ว อย่างแย่สุดคือผมอาจจะเขียนนิยายอีกแบบ ใช้นามปากกาอื่น ให้ผมได้อยู่กับงานเขียน

 

การเขียนให้อะไรแก่คุณบ้าง

การเขียนทำให้ผมไม่เป็นบ้า ไม่บ้าชนิดต้องกินยา หรือเข้าโรงพยาบาลบ้า มีคนอ่านสิ่งที่เขียน แต่ทุกอย่างมาพร้อมกัน ดีกับร้าย ผมไม่สามารถเอาเรื่องดีใส่กระเป๋าแล้วเอาเรื่องร้ายทิ้ง ใส่ไว้ทั้งสองกระเป๋าก็ไม่ได้เหมือนกัน คุณกำลังพูดกับคนที่ยิ้มด้วยใบหน้าซีกซ้ายและร้องไห้ด้วยใบหน้าอีกซีกนะ


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: จเด็จ กำจรเดช

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!