‘ทอง’ บางสะพาน

-

๏ บางสะพานสะพาดพื้น                          ทองปาง  ก่อนแฮ

รอยชะแลงชระลุราง                               ร่อนกลุ้ม

รฦกโฉมแม่แบบบาง                               บัวมาศ  กูเอย

ควรแผ่แผ่นทองหุ้ม                                ห่อไว้หวังสงวน ฯ

โคลงจากนิราศนรินทร์ที่กระผมยกมาข้างต้น นายนรินทร์ธิเบศ มหาดเล็กวังหน้า แต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2352 คราวที่กวีผู้แต่งต้องตามเสด็จเจ้านายไปรับหน้าศึกพม่าที่ยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อผ่านบางสะพานได้เห็นร่องรอยการขุดร่อนทองคำธรรมชาติก็นำมาเปรียบกับการจากร้างห่างลาตามลีลาของโคลงนิราศ

ทองคำเป็นแร่โลหธาตุที่ทุกชาติทุกภาษายอมรับในคุณค่าและคุณสมบัติมานานนับพันปี ทองคำบริสุทธิ์ที่เรียกว่า ทองเนื้อเก้า ทองนพคุณ นพคุณเก้าน้ำ หรือทองชมพูนุท มีตำนานกำเนิดเล่าขานไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิว่า เป็นขุมทรัพย์คู่กับชมพูทวีปมาแต่ครั้งบรมสมกัปแรกตั้งแผ่นดิน

ก็แลแดนมนุษย์ชมพูทวีปอันเป็นที่ชาวเราได้อาศัยทุกวันนี้ มีต้นชมพูหรือต้นหว้าเป็นไม้หลัก ประธานของแผ่นดิน แผ่นดินแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ชมพูทวีป ไม้หว้าประธานแห่งแผ่นดินต้นนี้มีขนาดและคุณสมบัติพิลึกอัศจรรย์เหลือที่จะกล่าว ผลที่ตกและฝังจมลงในแผ่นดินสลายกลายสภาพเป็นทองคำแทรกอยู่ในแผ่นดิน เป็นที่มาของชื่อโลหธาตุที่เกิดจากผลของชมพูพฤกษ์ว่า “ทองชมพูนุท”

แหล่งแร่ทองโบราณท่านเรียกว่า “ขุมทอง” ซึ่งจะอุบัติให้มนุษย์ได้พบเห็นและนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระกฤษดาภินิหารเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิราชาธิราช ดังนั้นหากมีการพบขุมทองในรัชกาลใดก็แสดงว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นมีพระบารมีเป็นที่ประจักษ์

“ครั้นอยู่มา ผู้รั้งเมืองกุยบุรีบอกหนังสือส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึงเข้ามาถวาย ว่าตำบลบางสะพานเกิดที่ร่อนทองขึ้น ครั้นถึงเดือน 12 ปีเถาะนพศก (จ.ศ. 1109 พ.ศ. 2290) ให้เกณฑ์ไพร่ 2000 ยกออกไปตั้งร่อน ณ บางสะพาน ครั้นสิ้นเดือน 5 ปีมะโรงสัมฤทธิศก (จ.ศ. 1110 พ.ศ. 2291) ได้ทองเข้ามาถวาย 90 ชั่งเศษ”

ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธบาท สระบุรีเป็นอย่างยิ่ง โปรดฯ ให้นำทองบางสะพานที่ขุดร่อนมาได้ไปแผ่หุ้มเครื่องบนมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งปัจจุบันยังมีตัวอย่างทองหุ้มฝีมือช่างราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาท

ต่อมาได้ยกฐานะบางสะพานเป็นเมืองกำเนิดนพคุณ และคงมีการขุดร่อนทองสืบต่อมา เมื่อนายนรินทร์ธิเบศตามเสด็จเดินทัพผ่านไปนั้นเป็นเวลาหลังจากการพบครั้งแรก 62 ปี จึงได้เห็นเพียง “รอยชะแลงชระลุราง  ร่อนกลุ้ม” ไม่มีคนของทางราชการออกไปตั้งกองร่อนทอง

การกำหนดเนื้อทองว่าบริสุทธิ์มากน้อยเป็นทองเนื้อแปด ทองเนื้อเก้านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า เป็นธรรมเนียมของชาวแคว้นเชียงแสนโบราณกำหนดค่าทองโดยเทียบกับเงินบริสุทธิ์ กล่าวคือ ทองบริสุทธิ์น้ำหนัก 1 บาท แลกเปลี่ยนกับเงินบริสุทธิ์น้ำหนัก 9 บาท ก็เรียกทองนั้นว่า ทองเนื้อ 9 หรือนพคุณเก้าน้ำ ทองที่มีความบริสุทธิ์รองลงมาแลกเปลี่ยนกับเงินบริสุทธิ์น้ำหนัก 8 บาท ก็เรียกทองนั้นว่า ทองเนื้อ 8 ไล่เรียงลงมาตามลำดับจนถึงเนื้อต่ำสุดคือ ทองเนื้อ 4 ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทองเนื้อริน” หรือทองสีดอกบวบ (คือมีสีเหลืองอ่อนเหมือนสีดอกบวบ) หากมีส่วนเกินแต่ไม่ถึงบาทก็เรียกเป็นขา เช่น ทองเนื้อ 6 น้ำ 2 ขา หมายถึงเนื้อทองที่มีส่วนผสมธาตุอื่นน้ำหนัก 1 บาท แลกเปลี่ยนกับเงินบริสุทธิ์น้ำหนัก 6 บาท 2 สลึง

พิกัดน้ำหนักมาตราชั่งทองของไทยโบราณ มีดังนี้

2  เมล็ดข้าว                 เป็น  1  กล่อม         2  กล่อม       เป็น  1  กล่ำ

2  กล่ำ                       เป็น  1  ไพ            4  ไพ           เป็น  1  เฟื้อง

2  เฟื้อง                      เป็น  1  สลึง           4  สลึง         เป็น  1  บาท

4  บาท                       เป็น  1  ตำลึง         20  ตำลึง      เป็น  1  ชั่ง

20  ชั่ง                       เป็น  1  ดุล            20  ดุล         เป็น  1  ภารา

เมล็ดข้าว หมายถึง น้ำหนักของเมล็ดข้าวสาร 1 เมล็ด

กล่ำ หมายถึง น้ำหนักของเมล็ดมะกล่ำ 1 เมล็ด

การชั่งน้ำหนักทองคำและอัญมณีมีค่าตามธรรมเนียมโบราณ มีเมล็ดมะกล่ำซึ่งเป็นพฤกษ์พรรณด้อยค่าเป็นตัวดุลยภาค จึงเกิดสำนวนเปรียบเทียบเชิงน้อยใจในวาสนาว่าทองบริสุทธิ์สูงค่าผ่านอุปสรรคได้สารพัดแต่เจ็บตรงที่ท่านเทียบพิกัดน้ำหนักด้วยเมล็ดกล่ำดังโคลงโลกนิติบทหนึ่งว่า

๏ นพคุณใส่เบ้าสููบ                     แสนที

ค้อนเหล็กรุมรันตี                       ห่อนม้วย

บ่เจ็บเท่าธุลี                            สักหยาด

เจ็บแต่ท่านชั่งด้วย                     กล่ำน้อยหัวดำ ฯ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!