ที่ผ่านมา เรามักเห็นสกู๊ปข่าวนำเสนอเรื่องราวความพิการในมุมมองน่าสงสาร พึ่งพาตัวเองไม่ได้ จนเป็นภาพจำ แล้วสร้างเส้นแบ่งที่มองไม่เห็นเพื่อแยกคนพิการและไม่พิการออกจากกัน เกิดเป็นความรู้สึกประดักประเดิดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนพิการ และอาจเผลอปฏิบัติต่อคนพิการผิดแผกไปโดยไม่รู้ตัว ภาพที่นำเสนอเช่นนั้นเป็นมุมมองเพียงด้านเดียว ในปัจจุบันมีพื้นที่สื่อซึ่งนำเสนอเรื่องราวคนพิการในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น ผู้ที่มาพูดคุยกับออล แม็กกาซีนในวันนี้คือ หนู-นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Thisable.me สื่อกลางที่มุ่งหวังให้คนพิการและไม่พิการได้เข้าใจซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น
เมื่อจบการศึกษามาหมาดๆ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์เอกจิตรกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นลัทพรกำลังอยู่ในช่วงหางาน และได้พบค่ายเขียนข่าวสิทธิคนพิการ จัดโดยสำนักข่าวประชาไท นลัทพรซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง spinal muscular atrophy (SMA) มีความพิการทางการเคลื่อนไหว เห็นว่าค่ายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเธอโดยตรง จึงสนใจสมัครเข้าร่วม แม้เธอจะเรียนด้านศิลปกรรมและไม่มีทักษะการเขียนข่าวมาก่อน แต่ค่ายนั้นทำให้นลัทพรพบว่า “งานศิลปะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด (ภาพวาด ภาพถ่าย หรือตัวอักษร) ต่างก็เป็นสิ่งที่บุคคลต้องการสื่อสารเรื่องราวบางอย่างออกไปเหมือนกัน” ต่อมารุ่นพี่ในค่ายเห็นแววในตัวนลัทพร จึงชักชวนให้เธอฝึกงานต่อจนเกิดค่ายครั้งที่ 2 ขึ้น
จากประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมค่ายครั้งแรกมาก่อน นลัทพรจึงเล็งเห็นจุดที่ยังขาดว่า หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายไม่มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน ก็จะเสียโอกาสพัฒนาทักษะที่ได้เรียนรู้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้นมาเพื่อนำเสนอประเด็นความพิการ นั่นคือเว็บไซต์ Thisable.me ซึ่งนิยามตัวเองว่า “เพจสื่อสารประเด็นคนพิการที่เฟี้ยวฟ้าวที่สุด”
เมื่อถามว่าทำไมถึงให้คำนิยามเช่นนั้น นลัทพรตอบว่า “เราเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งคำถามต่อสังคม เช่น เวลาพูดถึงคนพิการ คนมักคาดหวังความเรียบร้อย ปฏิบัติตัวเป็นคนดี เรียนให้เก่งเพื่อทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป เราให้คำตอบไม่ได้ว่าทำไมคนจึงคาดหวังเช่นนั้น คนพิการก็เป็นคนที่มีทุกเฉดสีตั้งแต่ขาวถึงดำ ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนหนึ่งจะมาตัดสินได้ว่าเขาเป็นคนยังไงจากความพิการ คอนเทนต์ของเราจึงนำเสนอการดำเนินชีวิตของคนพิการในทุกรูปแบบ การใส่คำว่าเฟี้ยวฟ้าวไป เพราะเรามองตัวเองแบบนี้” นลัทพรยังเล่าต่ออีกว่า ครั้งหนึ่งเว็บไซต์เคยนำเสนอคอนเทนต์สัมภาษณ์สาวไซด์ไลน์ที่ให้บริการทางเพศแก่คนพิการ มีผู้คนสนใจเข้ามาอ่านเป็นจำนวนมากจนเว็บล่ม
เห็นได้ว่าสิ่งที่ Thisable.me ต้องการนำเสนอ คือมุมมองชีวิตหลายๆ ด้านของคนพิการ โดยไม่ถูกกดให้ด้อยหรือทำให้เก่งเกินจริง จุดประสงค์ของเว็บไซต์คือต้องการสร้างพื้นที่ให้คนพิการได้ส่งเสียงของตัวเอง มองคนพิการด้วยความเท่าเทียม ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่าตามหน้าสื่อต่างๆ ข่าวของคนพิการมักเป็นส่วนน้อย และยังนำเสนอเฉพาะด้านน่าเห็นใจหรือไม่ก็ด้านน่าชื่นชมเท่านั้น แต่ความชื่นชมนั้นกลับแอบแฝงไปด้วยการแบ่งแยก เช่น ข่าวคนพิการสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ การนำเสนอเฉพาะความสำเร็จของคนพิการ ก็เหมือนกับการตั้งต้นตัดสินว่าคนพิการด้อยกว่า การจบปริญญาตรีได้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรชื่นชม นั่นคือการแบ่งแยกพวกเขาให้แตกต่างโดยไม่รู้ตัว ผลักให้พวกเขาอยู่แต่ในสังคมคนพิการ และหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วทุกคนไม่ว่าในสถานภาพใดล้วนเป็น “คน” ที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน
ในประเทศไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับความพิการที่ฝังใจจำมาเนิ่นนาน ยกตัวอย่าง ความเชื่อว่าความพิการคือเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน ทั้งที่ในปัจจุบันสามารถอธิบายด้วยหลักการแพทย์ได้ แต่ความเชื่อดังกล่าวครอบงำให้คนพิการก้มหน้ายอมรับโชคชะตาและมีชีวิตเพื่อชดใช้กรรมเก่า ลิดรอนโอกาสไม่ให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ส่วนคนพิการที่ทำมาค้าขาย การซื้อสินค้าของพวกเขาเรากลับมองว่าเป็นการทำบุญสงเคราะห์ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนซื้อขายในระบบปกติ
คนพิการก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างคนทั่วไป การดำเนินชีวิตของคนพิการและคนไม่พิการจึงเหมือนๆ กันเฉกเช่นโลกคู่ขนาน เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างไม่ทราบว่าอีกฝ่ายใช้ชีวิตอย่างไร Thisable.me ไม่ใช่เว็บไซต์ที่นำเสนอเฉพาะข่าวเท่านั้น แต่อยากเป็นพื้นที่ตรงกลางที่เชื่อมโลกทั้งสองไว้ด้วยกัน เพื่อให้คนพิการได้รู้ชีวิตของคนไม่พิการ ทั้งยังช่วยให้คนไม่พิการได้เรียนรู้ชีวิตหรือแง่มุมอื่นๆ ของคนพิการ การเรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจะทำให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine มีนาคม 2563