ในแต่ละวันที่เราต้องเจอปัญหาล้านแปด คนท็อกซิกในที่ทำงาน ความคาดหวังจากพ่อแม่และตัวเอง การไม่สามารถเป็นคนคิดบวกอย่างใครเขา และการไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรัก สารพัดสารพันปัญหาจนใจเหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิต คงจะดีหากมีหนังสือหรือถ้อยคำที่ให้กำลังใจ แบ่งปันความเจ็บปวด และเตือนสติในวันที่จิตตกได้ “วันนี้เจอนั่น” คือชื่อเพจเฟซบุ๊กที่สื่อสารด้วยโควทคำสั้นๆ หรือบทความยาวพอประมาณ เพื่อบอกกับแฟนเพจว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ เราไม่จำเป็นต้องทำได้ดีไปเสียทุกอย่าง เราเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาที่สุขบ้างเศร้าบ้าง เก่งบ้างห่วยบ้างก็ได้ ‘ทิง’ ภูมิกิติ วันชาญเวช สื่อสารผ่านเพจวันนี้เจอนั่นมานาน 5-6 ปี และส่งต่อข้อความของเขาสู่โลกหนังสือจนเกิดเป็นผลงาน 3 เล่ม ได้แก่ ดีไม่ดีอยู่ที่เรามอง แค่โตไปเป็นคนธรรมดา แค่หยุดวิ่งตามใครๆ ก็ได้ตัวเรากลับมา
เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพจ “วันนี้เจอนั่น”
ผมเริ่มต้นด้วยอาชีพนักข่าว เพราะความฝันคือการรายงานข่าวในพื้นที่ที่ท้าทาย เช่น มีระเบิด มีภัยร้าย ทว่าพอทำงานไปสักพักก็ค้นพบว่าอาชีพนี้มีทั้งด้านที่ใช่และไม่ใช่ เลยเปลี่ยนมาทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ที่เข้าทางดีมาก เราทำจนคล่องเหมือนหลับตาทำยังได้ และรู้สึกว่าตัวเองกำลังหยุดพัฒนา จึงมองหางานอื่นที่ได้ใช้ทักษะการการคิดการเขียน พอดีมีพี่ชักชวนให้ลองทำงานโฆษณา เป็นครีเอทีฟ เลยเปลี่ยนสายงานอีกครั้ง พอทำไปสักพักเกิดความคิดอยากทำอะไรสนุกๆ ของตัวเอง ผมเคยร่วมงานกับคุณ ‘ยิปโซ’ อริย์กันตา เขาชอบวาดรูป ผมก็นั่งมองเขาวาดระหว่างคุยโพรเจกต์กัน ดูเขามีความสุขจัง เราอยากสัมผัสความสุขแบบนั้นบ้าง เราก็วาดรูปได้ เขียนได้นะ เลยไปซื้อปากกาไอโฟนและเริ่มทำเพจนับจากนั้น
เพจ “วันนี้เจอนั่น” เป็นแบบไหน
ตอนแรกวางแผนอยากวาดภาพเองแล้วเขียนข้อความสั้นๆ ผมทำงานด้านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ก็พอรู้ว่าทำแบบไหนแล้วจะดัง ต้องเขียนแบบนี้ พาดหัวประมาณนี้นะ แต่พอทำไปกลับไม่เวิร์กอย่างที่คิด ตอนนั้นเรามีความเข้าใจว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด ยิ่งทำงานโฆษณาก็ยิ่งฝังหัวว่าเป็นแบบนั้น ข้อความที่ยาวมากโดนตัดออกหมด จึงพยายามเขียนแต่อะไรสั้นๆ ทำอยู่เกือบปี คนกดไลก์มีอยู่แค่ 5-6 คน จนปล่อยวาง ช่างมัน ทำสิ่งที่เป็นตัวเองแล้วกัน คราวนี้อยากเขียนยาวเป็นย่อหน้าก็เขียนเลย ผมเขียนเรื่องศีลเสมอกันในมุมมองวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่อ่านเจอแล้วนำมาแชร์ คนกดไลก์เยอะมาก จากนั้นเพจก็เป็นที่รู้จัก เลยค้นพบแนวทางว่า การเขียนเรื่องราวในแบบของเรา มีสตอรี่ มีอธิบาย เอ็นเกจเมนต์ดีกว่าการโควตคำจากหนังสืออย่างที่สำนักพิมพ์แนะนำ ผมทำแล้วผลตอบรับไม่ดีเลย แสดงว่าคนไทยยังอ่านหนังสือ เพียงแค่เลือกเฉพาะสิ่งที่สนใจ
แต่ละบทความมีแรงบันดาลใจจากอะไร
หลายครั้งมาจากความรู้สึกเหนื่อยล้า หมดไฟ ซึ่งความเหนื่อยยากไม่ใช่แรงบันดาลใจด้วยซ้ำ แต่เป็นจุดเริ่มต้น ทุกครั้งที่เขียนจะเริ่มจากเราเจออะไรมา เรารู้สึกอะไรอยู่ เชื่อว่าคนทำงานทุกคนย่อมเจอปัญหาที่กระทบความรู้สึกเหมือนกัน จึงโดนใจคนอ่านเพราะทุกคนก็เจอมาคล้ายๆ กัน
จากโพสต์ในเพจดังสู่การเป็นหนังสือ
สำนักพิมพ์ Springbooks ในเครืออมรินทร์ เขามองหานักเขียนจากโซเชียลมีเดียซึ่งมีฐานแฟน จึงติดต่อเข้ามาชักชวนให้ทำหนังสือกัน ถือเป็นโอกาสที่ได้ท้าทายตัวเอง หนังสือเล่มแรก ดีไม่ดีอยู่ที่เรามอง กับเล่มที่สาม แค่หยุดวิ่งตามใครๆ ก็ได้ตัวเรากลับมา ออกกับ Springbooks ส่วนเล่มที่สอง แค่โตไปเป็นคนธรรมดา อยากลองทำเองขายเอง
เรียกหนังสือของ “วันนี้เจอนั่น” ว่าเป็นแนวไหน
เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เวลาไปต่างประเทศแล้วเพื่อนถามว่าเขียนหนังสือแนวไหน ผมอธิบายยากมาก ถ้าบอกว่าเป็น how-to ก็จะดูเป็นกูรูเกินไป ถ้าจัดหมวดเป็นทางการเราก็คือแนวพัฒนาตนเอง (self-help) แหละ แต่ถ้าให้ผมนิยามก็ขอเรียกว่าแนว life-experience
แนะนำหนังสือของ “วันนี้เจอนั่น” ทั้งสามเล่มหน่อย
เล่มแรกเป็นเรื่องของมุมมอง ตรงตามชื่อหนังสือเลย ดีไม่ดีอยู่ที่เรามอง ทุกอย่างมีวิธีการมองอีกแบบเสมอ
เล่มที่สอง แค่โตไปเป็นคนธรรมดา เล่มนี้ตรงกับคอนเซปต์ของเพจสูง ผมรู้สึกว่าเราไม่ต้องพยายามโตไปเป็นซูเปอร์แมน เป็นคนพิเศษ ผมคิดว่ายุคสมัยนี้เราหมกมุ่นกับการมุ่งแต่จะเป็นคนที่ทำอะไรได้มากกว่า ประสบความสำเร็จกว่าชาวบ้าน จนลืมไปว่าแค่การเป็นคนธรรมดาเดินกลับบ้านก็พอแล้ว ถ้าเราเป็นคนธรรมดา เราก็คิดแบบคนธรรมดา มันจะโยงไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การคิดบวกตลอดเวลา คนธรรมดาทำได้จริงเหรอ หรือทำไม่ได้ก็ต้องตอบว่าทำได้ไว้ก่อน แม้แต่ความรัก เราเป็นคนธรรมดาย่อมมีข้อบกพร่อง แต่กลับอยากได้คนที่สมบูรณ์พร้อมเป็นคู่ คุณกำลังมองเขาเป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนคุณรึเปล่าล่ะ เล่มนี้ประทับใจที่สุดเพราะทำเอง ดูแลเองทุกขั้นตอน และคอนเทนต์ตรงกับสิ่งที่เราสื่อสารผ่านเพจตลอดหลายปี
เล่มที่สาม แค่หยุดวิ่งตามใครๆ ก็ได้ตัวเรากลับมา เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จนไม่มีความสุข โลกหมุนไป คนวิ่งกันไวเกิน เราจำเป็นต้องทำแบบนั้นด้วยไหม รวมถึงประเด็นความรัก การสร้างตัว การประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์เล่ม
โควตคำหรือบทความสั้นๆ ในเพจหรือหนังสือนั้น ใช้เวลาเขียนนานไหมกว่าจะแล้วเสร็จ
นานมาก (ลากเสียง) นานจนบางครั้งโกรธคนที่ก๊อบปี้ไป แม้แต่ข้อความสั้นๆ ที่เราทำเป็นเหมือนทวีตในทวิตเตอร์ แค่ไม่กี่ประโยคนั้นผมใช้เวลา 2-3 วันในการเขียน แก้แล้วแก้อีก ตัดแล้วตัดอีก เพื่อให้มั่นใจว่าอ่านรู้เรื่องและไม่ไบแอส ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากว่างานของเราต้องไม่ครอบงำความคิดใคร หรือชักจูงให้คิดบวกหรือลบหรือคิดแบบเดียวกับเรา ยากนะในการจะสื่อสารอย่างเป็นกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่คลุมเครือจนไม่โดนใจคน แค่สามสี่ประโยคที่เห็นนั้นใช้เวลาคิดนานมาก
ส่วนพาร์ตที่เป็นบทความผมใช้เวลาถึงสัปดาห์ เพราะต้องพิถีพิถันเรื่องการเรียบเรียงและตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งหาได้ยากในโลกโซเชียล และสมัยนี้อะไรนิดอะไรหน่อยก็เป็นประเด็นดราม่าได้ ถ้าเขียนโดยไม่กลั่นกรองให้ดีแล้วคนอ่านไปทำตาม แล้วชีวิตเขาแย่ลง ผมไม่พร้อมรับผลแบบนั้น จึงซีเรียสมากกับทุกตัวอักษรและทุกสารที่สื่อ อันที่จริงยิ่งเขียนสั้นยิ่งยากนะ เพราะเราต้องทำให้สั้น แต่ใจความครบถ้วน แม้คนจะอ่านหนังสือมากกว่า 8 บรรทัด แต่เราก็ต้องช่วยเขาประหยัดเวลา
ทำเพจมา 6 ปี แนวทางการเขียนของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตัวตนยังเหมือนเดิม วิธีการนำเสนอไม่เปลี่ยนมาก สิ่งที่เปลี่ยนคือเรื่องราวซึ่งไปพบเจอแล้วนำมาเขียน ผมพยายามให้ตัวเองเป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ ผิดแล้วก็ขอโทษ เรื่องไหนที่เมื่อก่อนเคยเข้าใจอย่างหนึ่ง วันนี้เปลี่ยนไป ก็ขอโทษด้วยนะ วันนี้เราเข้าใจอีกแบบแล้ว ช่วงแรกที่ทำจะเกร็งว่าภาพลักษณ์ดูค่อนไปทางไหน เขียนยังไงไม่ให้เกิดดราม่า แต่ตอนนี้พยายามเป็นตัวเอง มองโลกตามความเป็นจริง
มีคำถามที่ส่งเข้ามาปรึกษาเราไหม
มีเยอะมาก จนต้องขอโทษด้วยที่ตอบไม่หมดจริงๆ คำถามส่วนใหญ่แบ่งเป็นสองประเภท คำถามจากบทความที่เราโพสต์ เขาส่งมาถามว่าไม่เข้าใจท่อนนี้หรือประโยคนี้ ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม ทำไมถึงเลือกใช้คำนี้ ทำไมสรุปแบบนี้ ช่วยยกตัวอย่างเพิ่มได้ไหม เขาอยากเข้าใจจริงๆ เพราะคิดว่าข้อความนี้น่าจะมีประโยชน์แก่เขาและอยากนำไปใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประหลาดใจมาก คำถามอีกประเภทคือปรึกษาปัญหาชีวิต รักกุ๊กกิ๊ก ครอบครัว ความสัมพันธ์ เคสที่จำได้ไม่ลืมคือ แฟนเพจเป็นโรคซึมเศร้าและคิดจะจบชีวิต อยู่โรงพยาบาลมีสายน้ำเกลือแล้ว ถ่ายรูปเข้ามาขอกำลังใจ ขอคำปรึกษาหน่อย ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว และก็มีเคสส่งข้อความมาว่า เพื่อนของผมติดตามเพจพี่ ผมเห็นเขาแชร์โพสต์พี่เสมอ ตอนนี้เพื่อนจบชีวิตตัวเองแล้ว เลยมาบอกเผื่อพี่อยากทราบ นี่แหละครับจึงเป็นสาเหตุให้ผมใช้เวลาเขียนแต่ละข้อความ แต่ละบทความนานอย่างที่เล่า เพราะเราไม่รู้เลยว่าประโยคไหน คำไหน จะไปส่งผลกระทบแก่ใครบ้าง
การรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ตลอดนั้น สร้างความหนักใจแก่เราบ้างไหม
หนักนะ เพราะเราไม่สามารถตอบทุกคำถามด้วยสติสัมปชัญญะเต็มร้อยเสมอ สมมติวันนี้เพื่อนมาปรึกษา แกๆ เราเครียดมากเลย ทั้งที่ตัวเราก็มีปัญหาชีวิตหนักอกอยู่แล้ว เลยไม่รู้ว่าต้องบาลานซ์ยังไง ต้องทุ่มเทขนาดไหน ผมเคยปรึกษาจิตแพทย์ ได้รับคำแนะนำว่าไม่ต้องแบก ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เราไม่ใช่ฮีโร่มาร์เวลที่สามารถปัดเป่าปัญหาของทุกคนได้ พูดตามตรงช่วงที่ให้คำปรึกษามากๆ ผมเครียดหนัก และกลัวว่าถ้าตอบไม่ดีหรือไม่ตอบเลยจะเกิดอะไรร้ายๆ ขึ้น ผมจึงค่อนข้างระวังในการตอบ ผมอ่านแล้วก็จะขอเวลาตอบสองสามวัน เราจริงจัง เราจะไม่ยอมตอบส่งเดช
ถ้ามีคนขอคำปรึกษาว่าวันนี้ไม่เจอความสุข ความหวัง ความฝันเลย “วันนี้เจอนั่น” จะกล่าวอะไรแก่เขา
จริงๆ ตัวผมเองก็ประสบภาวะนี้อยู่นะ มีเป็นช่วงๆ ผมอยากบอกว่าไม่มีชีวิตใครที่สุขได้ตลอด เผลอๆ เราเจอความทุกข์มากว่าสุขด้วยซ้ำ การใช้ชีวิตมันก็ยากแบบนี้แหละ ถ้าวันนี้เราไม่เจอความสุข ความหวัง แรงบันดาลใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ช่วยผลักดันเรา ไม่ต้องตกใจนั่นคือเรื่องธรรมดา คนเราโดยมากเวลาไม่มีความสุขมักมองหาความผิดปกติ เกิดอะไรขึ้นกับเรา ฉันพลาดตรงไหน อย่าโทษตัวเอง ให้มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเหนื่อยมาก หรือไม่ไหวแล้ว ไม่รู้จะใช้ชีวิตต่อไปยังไง ก็แค่ใช้ชีวิตวันต่อวัน ไม่ต้องมองไกลถึงห้าปี สิบปี หรือวางแผนอะไรทั้งนั้น ค่อยๆ ประคับประคองชีวิตวันต่อวันก่อน พรุ่งนี้ตื่นมา ฉันหายใจ ความรู้สึกเป็นยังไง เต็มสิบได้เท่าไหร่ แล้วไปทำงาน ค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นและผ่านไปทีละนิด สิ่งที่เราทำได้คือพยายามเล่นไพ่เท่าที่มีอยู่ในมือก่อน จะแพ้หรือชนะไม่รู้ แต่ในเมื่อเรามีไพ่แค่นี้ ก็เล่นให้สุดความสามารถ แน่นอนว่าไพ่ดีๆ จะเวียนมา และไพ่แย่ๆ ก็เช่นกัน การใช้ชีวิตก็เป็นแบบนี้
ฝากถึงคนที่ติดตามและอ่านผลงานของ “วันนี้เจอนั่น”
อยากให้คนที่อ่านเพจหรือหนังสือของผมคิดต่อ อย่าเชื่อผม อย่าเชื่อเพียงแค่ผมเอาโควตคำคมสวยๆ มาเผยแพร่ แต่อยากให้คิดต่อด้วยว่ามันถูกต้องไหม มันจริงไหม แล้วปรับใช้กับชีวิตคุณได้ไหม แน่นอนว่าบางอย่างอาจไม่จริงก็ได้ ไม่เพียงแค่เพจผม แต่รวมถึงเพจอื่นๆ ที่คุณติดตามด้วย
3 เล่มในดวงใจของ “วันนี้เจอนั่น”
- The Gifts of Imperfection
โดย Brené Brown
- I Thought It Was Just Me (but it isn’t)
โดย Brené Brown
- คินสึงิ (Kintsugi) ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต
โดย Tomas Navarro
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม