“นิ้วกลม” เขียนหนังสือแนวประวัติชีวิตเป็นชุดสองเล่ม ประกอบด้วย สิ่งสำคัญของชีวิต เป็นเรื่องราวปรัชญาการทำงานและการใช้ชีวิตของคุณมานิต อุดมคุณธรรม นักธุรกิจใหญ่มีทรัพย์สินหลายพันล้าน อีกเล่มคือ สิ่งสำคัญของหัวใจ เป็นเรื่องราววิถีปรัชญาและชีวิตด้านในของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
ชื่อของคุณมานิต อุดมคุณธรรม คงไม่คุ้นหูนักสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจ เพราะคุณมานิตเองก็ทำตัวโลว์โปรไฟล์ แต่เมื่อกล่าวถึงผลงานความสำเร็จทางธุรกิจที่ได้ทำมาในอดีต คนวัย 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ก็จะจำกันได้ดี อย่างเช่นกางเกงยี่ห้อ พี.เจ.ยีนส์ ห้างโรบินสัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้างโรบินสัน ราชดำริ ส่วนผลงานในปัจจุบันคือประธานคณะกรรมการบริหารโฮมโปร คุณมานิตประสบเคราะห์เช่นเดียวกับนักธุรกิจใหญ่อีกหลายคน คือ ธุรกิจในเครือล่มหมดจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และการล้มป่วยด้วยเส้นโลหิตแตก แต่ก็สามารถลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ ผ่านพ้นมาทั้งปัญหาธุรกิจและปัญหาสุขภาพ การทำงานหนักและสัมผัสงานด้วยตนเองทุกขึ้นตอน อันเป็นประสบการณ์สั่งสมมาถึงวัย 70 กว่าปีคุณมานิตจึงรู้เคล็ดลับแห่งการทำงานและการใช้ชีวิต และพร้อมถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง
ในที่นี้จะกล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือ สิ่งสำคัญของชีวิต เพียงบางบทที่น่าสนใจมาก คือ บทที่กล่าวถึง 20/80 ผู้อ่านจะประจักษ์ถึงความจริงที่มักมองข้ามไป นั่นคือการเสียเวลา เสียหัวคิดกับเรื่องไร้สาระต่างๆ ในชีวิตถึง 80% จนทำให้ไม่อาจบริหารจัดการกับ 20% อันเป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็น และมีสาระได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างชัดเจน การประชุมที่เอาแต่พูดจาบ้าน้ำลาย อ้อมค้อม ไม่ตรงประเด็น การรอบรู้แบบครอบจักรวาลแต่ไม่แม่นยำสักอย่าง หรือแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องใช้ที่ล้นเกินอยู่ในตู้ เพราะเอาเข้าจริงก็ใช้เพียงบางส่วน ความคิดเรื่องการรู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นประเด็น อะไรไม่ใช่ประเด็น อะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น ไม่ได้ใช้ในทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน จะทำให้มีการวางแผน ใช้พลังงานและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์เต็มที่
อีกบทหนึ่งกล่าวถึงคำ 3 คำ คือ easy, simple, no condition คำ 3 คำนี้เป็นวิถีของคนติดดินที่สามารถสลัด “เปลือกหุ้ม” ทั้งหมดออกไปไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม อำนาจ หน้าตา ภาพลักษณ์ เหลือเพียงตัวตนแท้ๆ ที่คิด พูด และทำ อย่างเป็นธรรมชาติด้วยความสุจริตใจและบริสุทธิ์ใจ easy คือ ทำตัวง่ายๆ ไม่เรื่องมาก ไม่สร้างความอึดอัดลำบากใจแก่คนอื่น simple คือ ธรรมดา สามัญ เรียบง่าย และ no condition คือ ไม่มีเงื่อนไข ข้อจำกัด ให้ชีวิตรุงรัง สามเรื่องนี้ทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องยอมทิ้ง “เกราะ” กำบังกาย ต้องเป็นคนที่ไม่ติดยึดกับเปลือกนอก ประการสำคัญต้องเป็นคนที่ “รู้จัก” ตัวเองดี มีความเชื่อมั่น ไม่ต้องการคำยืนยันจากสิ่งอื่นหรือผู้อื่นมาสร้างความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม คนที่จะทำตัว easy, simple, no condition ก็ต้องเป็นผู้มี “บารมี” สูงเป็นที่ยอมรับอยู่พอควรแล้ว เพราะหากบารมีไม่พอ ก็ต้องเตรียมรับมือกับคนที่พร้อมจะเอาเปรียบการทำตัวง่ายๆ ของเราด้วย
ส่วนเล่ม สิ่งสำคัญของหัวใจ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของแผนที่การเดินทางยังโลกภายในอันจะทำให้มีชีวิตที่สว่าง สงบ และเป็นสุขอย่างแท้จริง มีเรื่องราวมากมายที่ถ่ายทอดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ต่อเนื่องเป็นสายธารแห่งปัญญา มีข้อความบางตอนที่ชวนคิด ดังจะยกมาเป็นตัวอย่าง
“คนจำนวนมากเจ็บปวดเพราะตัวเองมีความรู้สึกว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็น object […] เมื่อต้องการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ไปเรียกร้องจากผู้อื่น เพราะตัวเองไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำจึงเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงการกระทำของเขา” (หน้า 38)
ความคิดเช่นนี้มีอยู่มากหลาย คนส่วนใหญ่จึงเจ็บปวดและเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่อาจเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงได้ แท้ที่จริงในขณะที่เราเป็นผู้กระทำ เราก็เป็นผู้ถูกกระทำ ในขณะที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ เราก็เป็นผู้กระทำด้วย อาจารย์ประมวลกล่าวว่าหากเราสลายพื้นที่ส่วนตัวในใจของเรา เปิดใจกว้าง จะขจัดความกลัว ความหวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจอีกฝ่ายหนึ่ง เราก็จะไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำ จะเหลือแต่ความจริงใจ
“ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของการแลกเปลี่ยน ความรักเป็นมิติภายในใจ พื้นที่ภายในใจเรา พื้นที่ภายในใจเขา จึงต้องสร้างกันขึ้นมา พื้นที่นี้พอสร้างมาได้ตรงกันแล้วมันจะเชื่อมโยง และทำลายกำแพงของความเป็นอื่น” (121)
อาจารย์ประมวลพูดถึงชีวิตคู่ แต่แนวคิดดังกล่าวก็น่าจะนำไปใช้ได้ทั้งกับคู่รัก คู่ครอง และเพื่อนรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมีศรัทธาซึ่งกันและกัน การเปิดเปลือยความรู้สึกต่อกันเพื่อสลายความเป็นอื่น จะทำให้คนสองคนมีพื้นที่ร่วมกัน มีโลกเดียวกัน ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปนิสัยหรือรสนิยมเดียวกัน ดังนั้นคู่ชีวิตที่แย่งชิงความเป็น subject/object กันอยู่ตลอดเวลา จะไม่อาจครองชีวิตร่วมกันได้ยืดยาว
“ผมมิต้องการจะสร้างภาพแห่งความคิดอะไรขึ้นมาอีกแล้ว ผมมีความเชื่อว่าความคิดของคนแต่ละคนเพียงพอแล้ว ล้นด้วยซ้ำไป ปัญหาที่เรากำลังขาดแคลนตอนนี้คือความรู้ที่มาจากสภาวะจิตภายในของเราเอง” (152)
คำกล่าวข้างต้นของอาจารย์ประมวลกระตุกใจให้คิดต่อว่า เรามักจะให้ความสำคัญแก่ “ความรู้สึกนึกคิด” เพราะจิตใจละเอียดอ่อน รู้ร้อนรู้หนาว มีจินตนาการและมีความคิดความเห็นต่อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านพบ เป็นสิ่งแสดงถึงพลังของความเป็นมนุษย์ แต่แท้ที่จริงแล้วพื้นฐานที่ดีของความรู้สึกนึกคิดมาจาก “ความรู้” เพราะความรู้เป็นเครื่องกำกับทิศทางไม่ให้เรารู้สึกฟูมฟายกับสิ่งที่ไม่เป็นจริง ไม่ให้เรา “มโน” อย่างเลื่อนลอย และไม่ให้เราคิดเองเออเองโดยไม่รู้จริง ในสังคมปัจจุบันที่ข่าวสารท่วมท้น เราจะเห็นได้ว่าผู้คนมักแสดงความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องต่างๆ แบบทันทีทันควันโดยไม่คิดถึงข้อเท็จจริง กว่าจะพบว่าเป็น “ข่าวลวง” ก็หลงทิศหลงทางไปไกลจนถึงกับสร้างความเสียหายแก่คนอื่น อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่กล่าวนี้ยังเป็นความรู้ในระดับข้อเท็จจริง (fact) ซึ่งเกิดประโยชน์ในการพิจารณาตัดสินเรื่องต่างๆ ส่วนความรู้ที่อาจารย์ประมวลอยากให้เราไปถึงคือความรู้ระดับความจริงแท้หรือสัจธรรม (truth) ซึ่งเป็นความรู้อันเกิดจาก
สภาวะจิตภายในของเราแต่ละคน และที่สำคัญความจริงแท้จะพบได้ก็โดยการลงมือค้นหาและค้นพบด้วยตนเอง
ระหว่างนักธุรกิจพันล้านกับอาจารย์ผู้เดินทางสู่อิสรภาพแห่งชีวิต มีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกัน ภายนอกคือความสมถะ ละทิ้งเปลือกชีวิต ภายในคือความเมตตากรุณา ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา การให้อภัย สิ่งที่อาจารย์ประมวลเน้นย้ำคือเปิดพื้นที่ของความรักในหัวใจ เพราะพลังของความรักจะแผ่ขยายไปสู่ทุกสิ่ง อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้คือ “ขอให้พวกเราได้โปรดเห็นค่าของเวลาที่อยู่ ณ ปัจจุบัน ว่าเราเกิดมาเพื่อจะเป็นอย่างนี้แหละ เกิดมาเพื่อจะพบคนตรงหน้านี้ เกิดมาเพื่อจะอยู่ในเหตุการณ์นี้ เกิดมาเพื่อจะเป็นเหมือนกับทุก ๆ สิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้” (หน้า 362) ดังนั้น อย่ามัวมุ่งแสวงหาความหมายของชีวิตหรือตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม แต่ควรอยู่กับปัจจุบันและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของชีวิต
ข้อดีของหนังสือประวัติชีวิตก็คือคนอ่านได้เรียนรู้ “ทางลัด” ที่นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตโดยไม่เสียเวลาหลงทาง แต่เรียนรู้จากการอ่านก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยจนมีประสบการณ์ตรง
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์