มหันตภัยสงครามนิวเคลียร์

-

แม้ว่าเราจะหลุดพ้นจากความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจในสมัยสงครามเย็น (cold war) เมื่อทศวรรษ 1980 มาแล้ว แต่มนุษยชาติก็ยังคงมีการทะเลาะเบาะแว้ง รบราฆ่าฟัน แย่งชิงดินแดนกันอยู่อย่างไม่ละลด และอาวุธนิวเคลียร์ก็ถูกนำมาใช้ข่มขู่กันอยู่เรื่อยๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเริ่มเข้าตาจนในการสงคราม และพร้อมที่จะกดปุ่มฆ่าตัวตาย

ถึงจะไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักฟิสิกส์ระดับอัจฉริยะของโลก ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เคยกล่าวประโยคอันมีชื่อเสียงนี้จริง (ตามเรื่องเล่ากันว่า เมื่อไอสไตน์ถูกถามถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 ว่าจะมีการสู้รบกันอย่างไร เขาตอบว่า “ผมไม่รู้ ผมรู้แต่เพียงว่า สงครามโลกครั้งที่ 4 จะสู้รบกันด้วยไม้และก้อนหิน”) แต่ประโยคอันแหลมคมนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความน่ากลัวของมหันตภัยในอนาคต

การใช้อาวุธนิวเคลียร์เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดปรมาณู ลงไปที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิของประเทศญี่ปุ่น  แล้วหลังจากนั้น เหล่าประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือ ประเทศรัสเซีย) จีน อินเดีย ฯลฯ ได้พัฒนาวิจัย และสะสมหัวรบนิวเคลียร์ไว้ รวมนับพันนับหมื่นลูก ถ้ามีการใช้อาวุธนี้เมื่อใด ก็คงลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 โลกของเราคงแทบจะสูญสิ้น และถ้ามนุษย์ยังเหลือรอด ก็ย้อนยุคกลับไปเป็นมนุษย์ถ้ำ ที่ใช้เพียงแค่ไม้และก้อนหินสู้กันเท่านั้น

เมื่อเกิดการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ จะมีแสงสว่างจ้าวาบขึ้น ตามมาด้วยลูกไฟ (fireball) ความร้อนสูง ที่ทำให้สิ่งต่างๆ โดยรอบ ลุกไหม้ระเหิดเป็นไอ ลูกไฟนี้จะขยายตัวกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศที่ขยายตัวตาม เกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) อันทรงพลัง ทำลายล้างสิ่งที่ขวางหน้า ขณะที่มีส่วนหนึ่งลอยตัวสูงขึ้น เห็นคล้ายเมฆรูปดอกเห็ด อันเป็นลักษณะเฉพาะของการระเบิดจากอาวุธนิวเคลียร์ ฝุ่นผงของสารกัมมันตรังสีจะลอยเข้าไปในเมฆรูปดอกเห็ดนั้น และตกลงมาในภายหลัง (เรียกว่า fallout) เป็นบริเวณกว้างขวางขึ้น ตามกระแสลมที่พัดพาออกห่างไปจากจุดที่ระเบิดอีก

อันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นองค์ประกอบรวมกันของ 3 สิ่ง คือ แรงดันจากการระเบิด ความร้อน และรังสีที่แผ่ออกมา ซึ่งหลักๆ แล้วจะมากหรือน้อยย่อมแปรผันตามขนาดของลูกระเบิด ว่ามีขนาดกี่กิโลตันหรือกี่เมกะตัน และระดับความสูงของการระเบิด ว่าระเบิดที่พื้นดินหรือระเบิดกลางอากาศในระดับสูงขึ้นไป รวมถึงบริเวณที่ระเบิดด้วย ว่ามีผู้คนอยู่หนาแน่นเพียงใด ตึกอาคารมีความแข็งแกร่งแค่ไหน โครงสร้างของพื้นที่รับแรงระเบิดได้หรือไม่

ลองจินตนาการดูง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้าเกิดมีระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 10 เมกะตัน ปะทุขึ้นที่ประเทศไทยเราซักลูกหนึ่ง มันจะเกิดพลังทำลายล้างอันมหาศาลจากการระเบิด ด้วยแรงดันกว่า 2 เท่าของความดันบรรยากาศทั่วไป แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพมหานครทั้งหมดในคราวเดียว ประชาชนกว่า 1.3 ล้านคนจะเสียชีวิตทันทีด้วยแรง

ระเบิด มีความร้อนสูงและรังสีเข้มข้นแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว อาคารบ้านเรือนตึกสูงน้อยใหญ่จะถูกทำลายพังพินาศ ฝุ่นผงสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ทำให้ผู้คนที่ยังรอดชีวิตและหายใจหรือสัมผัสสาร เจ็บป่วยล้มตายในเวลาต่อมาไม่นาน

หรือแม้ว่าเราจะอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่เกิดการระเบิด ฝุ่นผงกัมมันตรังสีที่แผ่กระจายขึ้นไปถึงก้อนเมฆ ก็สามารถล่องลอยไปตามกระแสลม และตกลงมาพร้อมสายฝน ไปสะสมในสิ่งแวดล้อม ในดิน ในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนจะถูกดูดซึมไปสะสมไว้ในพืชพรรณธัญญาหารที่เรารับประทาน ในเนื้อสัตว์ที่กินพืชเหล่านั้นเข้าไป รวมทั้งในน้ำดื่ม

ผู้ที่ป่วยจากการรับรังสีเข้าไปนั้น จะมีทั้งแบบแสดงอาการอย่างรวดเร็ว ได้แก่ เป็นไข้ ท้องร่วง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ฯลฯ และแบบค่อยๆ แสดงอาการ เช่น จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง ผมเริ่มร่วง มีเลือดไหลซึมจากผิวหนังและปาก เกิดภาวะโลหิตจาง ระดับเม็ดเลือดแดงต่ำ ติดเชื้อโรคได้ง่าย เกิดโรคมะเร็ง โรคลิวคีเมียของเม็ดเลือดขาว จนถึงเสียชีวิตได้ในที่สุด

การเอาชีวิตรอดจากระเบิดนิวเคลียร์นั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก ถ้าอยู่ในจุดที่เกิดการระเบิดขึ้น และถึงรอดชีวิต ก็ต้องเผชิญกัมมันตภาพรังสีรอบข้างอยู่อีกนานนับสิบปี แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็ไม่ควรวางเฉยกับมหันตภัยนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรให้ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนเพื่อเตรียมการรับมือเรื่องที่ไม่คาดคิด

วิธีการหนึ่งที่รัฐบาลจะทำได้ เพื่อให้ประชาชนหลบหลีกความรุนแรงของการระเบิด คือ การสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพสูง อยู่ในทำเลที่สามารถเข้าไปได้ไม่ยาก และอยู่ได้เป็นเวลานานเพียงพอ พร้อมเสบียงอาหาร ในขณะที่การอพยพประชาชนออกจากเขตยุทธศาสตร์ จากพื้นที่เป้าหมายในการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เสียก่อน (เช่น ฐานทัพ กองบัญชาการ ย่านอุตสาหกรรม สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ) ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันตัวจากการโจมตีได้

สำหรับประชาชนทั่วไป ถ้าได้รับการเตือนภัยว่าจะถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ควรรีบหาหลุมหลบภัย หรืออาคารที่มีชั้นใต้ดิน เพื่อใช้เป็นที่หลบเลี่ยงจากแรงระเบิดและฝุ่นกัมมันตรังสี ให้เสริมความแข็งแรงของห้องหลบภัยนั้นด้วยสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและแข็งแรง เช่น โต๊ะ เตียง ตู้ ถ้าเตรียมการได้ทัน ให้นำเสบียงอาหาร น้ำดื่ม เครื่องใช้จำเป็น ยารักษาโรคติดตัวไปด้วย จากนั้นจึงภาวนาร่วมกันขอให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป แม้จะเพียงไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม

 

ภาพประกอบ 1 กลุ่มเมฆรูปเห็ดจากระเบิดปรมาณู สูงกว่า 18 กิโลเมตร ที่เมืองนางาซากิ ในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพประกอบ 2 จรวดมิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถยิงไปถึงกรุงมอสโก ประเทศรัสเซียได้

ภาพประกอบ 3 ขีปนาวุธนิวเคลียร์ถูกติดตั้งไว้ในเรือดำน้ำ และสามารถยิงจากใต้ท้องทะเลไปยังเป้าหมายได้

A montage of seven views showing parts of the launching of a Trident I C-4 missile from the submerged nuclear-powered strategic missile submarine USS FRANCIS SCOTT KEY (SSBN-657) and the Trident’s re-entry bodies as they plunge into the earth’s atmosphere and then into the Atlantic Ocean.

คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!