แกเบรียล เซวิน (Gabrielle Zevin) เป็นนักเขียนสาวชาวอเมริกัน นวนิยายของเธอพิมพ์ขายครั้งละหลายล้านเล่มและแปลแล้วมากกว่า 30 ภาษา นวนิยายเรื่อง The Storied Life of A.J. Fikry ผลงานอันดับ 8 ของเธอได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดยอภิญญา ธโนปจัย ผู้แปลให้ชื่อเรื่องว่า หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ
นวนิยายเรื่องนี้เล่าถึง ฟิกรี้ ชายผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ บนเกาะเล็กๆ กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการประสบความทุกข์แสนสาหัส เพราะภรรยายอดดวงใจตายจากไปด้วยอุบัติเหตุ และร้านหนังสือที่รักของเขาอยู่ในภาวะย่ำแย่เพราะยอดขายตกลงมาก อีกทั้งหนังสือรวมบทกวีฉบับพิมพ์ครั้งแรกของเอ็ดการ์ อัลลัน โพ ซึ่งเก่าล้ำค่าหายากและราคาสูงถึงสี่แสนดอลล่าร์ถูกขโมยไป ชายสันโดษผู้มีชีวิตเงียบสงบอยู่กับหนังสือกลายเป็นชายอารมณ์ร้าย ใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย เกลียดตัวเอง เริ่มเกลียดงานที่ทำ และรู้สึกว่า “การอยู่ตรงนี้ตลอดไปมันยากเหลือเกิน”
แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตที่เหงาหงอยของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเมื่อมีหญิงสาววัยรุ่นนำลูกสาววัย 2 ขวบมาทิ้งไว้ในร้านหนังสือของเขา จากนั้นเธอก็เดินลงทะเลฆ่าตัวตาย ฟิกรี้จำต้องเลี้ยงเธอไว้โดยหาความรู้จากกูเกิล แล้วเขาก็หลงรักเธอจนขอรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม เด็กน้อยทำให้ฟิกรี้กลับมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น เช่น นายตำรวจ พี่สาวภรรยา และเซลล์ขายหนังสือ ซึ่งแม้ว่าแรกรู้จักเธอเขาจะเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเย็นชา แต่ในอีกหลายปีต่อมา ก็พัฒนาไปสู่ความรักและการแต่งงานอย่างมีความสุข เพราะทั้งสองคนมีรสนิยมเหมือนกันคือรักการอ่านหนังสือ
เมื่อถึงจุดนี้ชีวิตของฟิกรี้น่าจะประสบความสุขสมบูรณ์ เพราะมีภรรยาคู่ใจและมีลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน แต่โลกก็เล่นตลกเมื่อเขาเกิดเป็นมะเร็งในสมองชนิดรักษาได้ยาก ฟิกรี้ต้องตัดสินใจว่าจะเอาเงินค่าจำนองบ้านและร้านหนังสือไปจ่ายค่ารักษามะเร็งซึ่งอาจต่อชีวิตของเขาไปอีกสัก 2 ปี หรือว่าจะเก็บเงินก้อนนี้สำหรับส่งลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัยและให้ภรรยามีชีวิตสุขสบายตามอัตภาพ โชคดีที่ในที่สุดแล้วเขาได้รับหนังสือบทกวีหายากเล่มที่ถูกขโมยไปกลับคืนมา เงินจากค่าขายหนังสือช่วยรักษามะเร็งได้ แต่เขาก็มีชีวิตอยู่ไม่นานนัก
หลังเขาตายจากไป ภรรยาและลูกสาวไม่อาจดูแลร้านหนังสือต่อไปได้ จำต้องบอกขายหรือปิดกิจการถาวร แต่แล้วชีวิตของร้านหนังสือไอแลนด์บุ๊กส์ก็ยังไม่สิ้นลมหายใจ นายตำรวจนักอ่านตัวยงซึ่งแต่งงานกับพี่สาวของอดีตภรรยาของฟิกรี้ตัดสินใจทำร้านหนังสือแทนการเดินทางออกจากเกาะอลิซไปใช้ชีวิตตามหมู่เกาะชายทะเลให้สบายหลังเกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุผลเพราะ “ร้านหนังสือดึงดูดคนเฉพาะกลุ่มจริงๆ คนดีๆ อย่าง เอ.เจ. และเอมิเลีย และผมชอบการคุยเรื่องหนังสือกับคนที่ชอบการคุยเรื่องหนังสือด้วยกัน ผมชอบกระดาษ ผมชอบสัมผัสของมัน ผมชอบสัมผัสของหนังสือที่ผมยัดไว้ในกระเป๋ากางเกงข้างหลัง ผมชอบกลิ่นหนังสือใหม่ด้วย” (หน้า 213) และ “สถานที่จะไม่ใช่สถานที่หากไม่มีร้านหนังสือ” (หน้า 214)
เรื่องราวชีวิตรันทดของฟิกรี้อาจจะดูคล้ายๆ นิยายดราม่าอีกหลายสิบเรื่อง แต่ความแตกต่างอยู่ที่นวนิยายเรื่องนี้เล่าถึงหนังสือต่างๆ แทรกอยู่ตลอดเวลา อาจจะนับ 100 เรื่อง ฟิกรี้คนขายหนังสือพูดถึงชื่อตัวละคร คำพูดของตัวละคร เล่าเรื่องย่อ หรือกล่าวถึงฉากในนวนิยายหรือเรื่องสั้นที่กล่าวอ้างถึง ดังนั้น การที่ผู้แปลทำเชิงอรรถไว้ให้จึงเป็นประโยชน์มาก ผู้แปลจะให้ข้อมูลว่าชื่อตัวละครนั้นเป็นใคร อยู่ในนวนิยายเรื่องใด ชื่อเรื่องภาษาไทยดังกล่าวมาจากนวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องใด แต่งโดยใคร บางเรื่องผู้แปลใช้ชื่อหนังสือภาษาไทยตามที่มีการแปลมาแล้วเพราะผู้อ่านคนไทยอาจจะรู้จักดี แต่บางเรื่องผู้แปลตั้งชื่อภาษาไทยตามคอนเซ็ปต์ของเรื่องเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องทำนองใด ผู้ที่เคยอ่านหนังสือที่กล่าวถึงในเรื่องมาแล้วคงเชื่อมโยงกับเรื่องราวในนวนิยายได้ดี ส่วนคนที่ไม่เคยอ่านก็อาจถูกกระตุ้นความสนใจให้อยากหาอ่านในโอกาสต่อไป นอกจากนี้แล้ว เมื่อเริ่มบทใหม่ทุกบท จะมีหน้าล้อมกรอบกล่าวถึงชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง และคำวิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนั้นของ เอ.เจ. ฟิกรี้ ทำนองบันทึกที่พ่อมอบให้มายาลูกสาวสุดที่รักนักอ่านหนังสือตัวยงของเขา นวนิยายเรื่องนี้จึงอวลไปด้วยบรรยากาศของการอ่านและการวิจารณ์วรรณกรรมตลอดทั้งเล่ม
อ่านหนังสือแปลเล่มนี้แล้วคิดถึงคุณมกุฏ อรฤดี ที่รณรงค์เรื่องการอ่านและการจัดการหนังสือให้เป็นระบบมายาวนาน และให้ความสำคัญแก่ร้านหนังสือเล็กๆ ว่าเป็นแหล่งตั้งต้นของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านและวัฒนธรรมหนังสือของชาติ ร้านไอแลนด์บุ๊กส์ทำให้เราเห็นภาพของร้านหนังสือที่เป็นศูนย์กลางของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในชุมชน เจ้าของร้านหนังสือไม่ใช่เป็นเพียงคนขายหนังสือ แต่เป็นนักอ่านผู้มีประสบการณ์สูง สามารถแนะนำหนังสือตามจริตของผู้ซื้อได้ และช่วยสร้างนักอ่านให้เพิ่มขึ้นด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เปิดตัวหนังสือ สนทนาเรื่องหนังสือ อ่านวรรณกรรม ฯลฯ ในประเทศไทยหรือในโซนเอเชีย การขายหนังสือไม่มีฤดูกาล แต่ในต่างประเทศ หนังสือมีฤดูกาลเหมือนเสื้อผ้า เซลล์ขายหนังสือจึงนำเสนอรายการหนังสือประจำฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ร่วง แก่ร้านขายหนังสือให้เหมาะสม เซลล์ขายหนังสือก็ต้องเป็นนักอ่านตัวยงเช่นกัน และมักจะจบปริญญาด้านวรรณคดี
ในแง่การทำธุรกิจหนังสือ แม้ว่าสำนักพิมพ์และร้านหนังสือจะต้องการกำไร แต่ไม่ใช่กำไรแบบสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ธุรกิจหนังสือสร้างกำไรที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้ นั่นคือการสร้างรสนิยมศิลปะ การเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ และอาจจะเป็นอย่างที่ ฟรานซิส เบคอนว่าไว้คือ หนังสือทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ความรู้เรื่องขนบการพิมพ์หนังสือของตะวันตกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือปกอ่อน ปกแข็ง หนังสือทดลองอ่าน หนังสือปรู๊ฟ การจัดประเภทหนังสือตามลักษณะการเขียนเป็นนวนิยาย นวนิยายขนาดสั้น เรื่องสั้น การจัดประเภทหนังสือตามกลุ่มผู้อ่าน เช่น YA หรือ Young Adult สำหรับกลุ่มผู้อ่านที่กำลังเติบโตจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ Chick Lit นวนิยายที่ตัวเอกเป็นผู้หญิงและกล่าวถึงปัญหาของผู้หญิง การแยกใช้คำ วรรณกรรม กับ นิยาย ที่บ่งบอกคุณภาพและลักษณะของงานเขียน การกล่าวถึงคตินิยมสมัยใหม่ในการแต่งวรรณกรรม เช่น Postmodernism, Fantasy, Magic Realism ฯลฯ ล้วนมีคำอธิบายสั้นๆ ในตัวเรื่องและในเชิงอรรถ
นวนิยายเรื่องนี้จึงอ่านสนุกในแง่เป็นนิยายโรแมนซ์ที่ซ่อนปมลึกลับหน่อยๆ ว่า มายา คือใคร เกี่ยวพันอย่างไรกับครอบครัวของฟิกรี้ ใครขโมยหนังสือบทกวีล้ำค่าหายากของโพ ใครนำมาคืน พร้อมกับสาระจากเกร็ดความรู้ข้อมูลเรื่องวรรณกรรมและธุรกิจหนังสือ
นอกจากนวนิยายจะนำเสนอความผูกพันของคนกับหนังสือ สิ่งที่สร้างความประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือความผูกพันใกล้ชิดของคนในชุมชนบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ หลังฟิกรี้รับเลี้ยงมายาเป็นลูกสาว บรรดาแม่ๆ แห่งเกาะอลิซก็เวียนกันมาให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงเด็กและนำข้าวของเครื่องใช้อาหารมาให้ นายตำรวจผู้อารีแวะมาเล่นกับเธอเป็นประจำ พวกผู้หญิงแวะมาอ่านหนังสือออกเสียงให้มายาหนอนหนังสือวัยสองขวบฟัง บรรดาแม่ๆ และนายตำรวจช่วยกันแนะนำเรื่องการจัดกิจกรรมการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ ตั้งชมรมนักอ่านและตั้งวงสนทนาเรื่องหนังสืออย่างสม่ำเสมอ นวนิยายแปลเรื่องนี้ยังแตะประเด็นเรื่องสีผิวซึ่งเป็นปัญหาลึกในสังคมอเมริกัน เพราะมายาเป็นเด็กผิวสีที่เติบโตท่ามกลางคนผิวขาว ในนวนิยายมีชาวบ้านน้อยคนมากที่ตั้งข้อสังเกตหรือขัดข้องใจในเรื่องนี้ แทบทุกคนมองข้ามความเป็นเด็กผิวสีของเธอ เห็นแต่ความน่ารัก ฉลาด และเป็นเด็กดี
นวนิยายยังกล่าวถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ การสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ ฯลฯ ที่อาจจะลดทอนบทบาทของร้านหนังสือลงไปบ้าง แต่ก็ไม่อาจทำลายเสน่ห์ล้ำลึกของการสัมผัสหนังสือ การเข้าร้านหนังสือ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องหนังสือกับผู้ขายหรือนักอ่านคนอื่นๆ ได้
กล่าวโดยสรุป นวนิยายเรื่องนี้มีเรื่องชวนคิดแทรกอยู่ตรงนั้นตรงนี้มากมายไปหมด เหมาะแก่คนรักหนังสือ และมีความสุขกับการอ่านหนังสือา
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์