เดอะสตาร์ (The Star) ค้นฟ้าคว้าดาว รายการเรียลลิตี้ชื่อดังซึ่งเอ่ยชื่อแล้วน้อยคนจะไม่รู้จัก เพราะเป็นเวทีสร้างนักร้องคุณภาพให้แก่วงการเพลงไทยมาหลายสิบคน อาทิ ‘บี้’ สุกฤษฎิ์, ‘นิว-จิ๋ว’, ‘แก้ม’ วิชญาณี และ ‘กัน’ นภัทร เดอะสตาร์ออกอากาศครั้งแรกในปี 2546 และดำเนินรายการต่อเนื่องจนถึงปีที่ 12 2559 ก็หายจากหน้าจอทีวีไป จนกระทั่งปี 2564 ได้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง พร้อมชื่อรายการที่เปลี่ยนไปเป็น เดอะสตาร์ ไอดอล (The Star Idol) ซึ่งมุ่งเฟ้นหาผู้เข้าแข่งขันที่หล่อ สวย เสียงได้ เต้นเป็น แสดงสมจริง เป็นเลือดใหม่ของวงการที่ครบเครื่องสมกับคำว่าไอดอล และสองหนุ่มที่เรากำลังจะได้สนทนาด้วยนั้นคือแชมป์ปีที่ 13 ‘บูม’ สหรัฐ เทียมปาน และรองชนะเลิศอันดับ 1 ‘ภูมิ’ พงศ์รชตะ ไชยศิวามงคล ซึ่งจะมาเล่าถึงเส้นทางการไต่บันไดฝัน ไต่บันไดดาว ของพวกเขา
บูม The Star Idol
เราเริ่มต้นด้วยการสนทนากับแชมป์ เดอะสตาร์ ไอดอล วัย 17 ปี ในช่วงแรกของการสนทนาบูมยังออกอาการประหม่าอยู่บ้าง เพราะการทำงานวงการบันเทิงยังเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับเขา แต่เมื่อบทสนทนาดำเนินไปสักพักเราก็สัมผัสได้ถึงตัวตนขี้เล่นร่าเริงสมวัยซึ่งครองใจแฟนๆ ได้ไม่ยาก บูมเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟังว่า “แม่ผมเป็นคนนครสวรรค์ พ่อเป็นคนราชบุรี เขาสองคนมาพบรักกันได้ยังไงผมไม่รู้ แต่ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ
“จุดเริ่มต้นการร้องเพลงของผมคือ ตอนอายุประมาณ 4 ขวบครึ่ง แม่ซื้อนมผง แล้วฉลากนมมีส่วนลดโรงเรียนสอนร้องเพลง แม่ก็ถามผมว่าอยากร้องเพลงไหม ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกร้องเพลงคืออะไร แต่แม่บอกว่าไปเรียนแล้วจะมีคนรู้จักเยอะ และมีเงิน ผมก็ตกลงเลย จึงเป็นก้าวแรกของการเรียนร้องเพลง”
บูมชอบการร้องเพลงตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่า เราถามเขา “ผมเหมือนเรียนด้วยความไม่รู้ในตอนแรก แต่สักพักก็รู้สึกสนุกดี การเรียนการสอนมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ผมได้เจอเพื่อน ได้เล่นกับเพื่อน อีกทั้งเรียนเสร็จพ่อก็พาไปซื้อของเล่น ซึ่งเป็นแรงจูงใจของผมอย่างหนึ่งด้วย ผมเลยเรียนมาเรื่อยๆ จนอายุ 13-14 ปีก็เลิกเรียน เพราะเงินหมด ครอบครัวผมฐานะกลางๆ ไม่ถึงกับดีมาก แต่พ่อแม่พยายามส่งเสียผมทุกอย่าง ส่งไปเรียนร้องเพลง เรียนเต้น เรียนการแสดง แต่เรียนนิดหน่อยไม่นานเท่าร้องเพลง ก็เลยไม่ค่อยดีแบบนี้ (หัวเราะ) ทว่าถึงจะหยุดเรียนผมก็ยังร้องเพลงต่อ ไม่ได้หยุดไปเลย
“ตอนที่รู้สึกอยากจริงจังกับการร้องเพลงคือช่วงประมาณม.2 ผมมีศิลปินในดวงใจคือ ‘พี่โต’ ซิลลี่ฟูลส์ (Silly Fools) ผมนั่งร้องเพลงของเขาทั้งวัน อันที่จริงปีที่ผมเกิดพี่โตก็ออกจากวงเลิกร้องเพลงแล้ว ผมได้แต่ดูย้อนหลังในยูทูบ ประทับใจมาก ฝันอยากเห็นพี่เขาแสดงสดสักครั้ง แต่คงเป็นไปไม่ได้ ช่วงนี้ผมจึงอุดหนุนร้านอาหารของเขาแทน (หัวเราะ)”
แล้วสมัครเวทีเดอะสตาร์ ไอดอล ได้อย่างไร เราถาม “ผมเห็นประกาศทางทีวี แล้วแม่ก็เห็นด้วย และถามผมว่าลองสมัครเล่นๆ ไหม เลยลองดูละกัน” เวที เดอะสตาร์ ไอดอล ไม่ใช่เวทีการประกวดแรกของบูม เขาเคยผ่านการประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่โรงเรียนสอนร้องเพลง จากนั้นก็มีงานโรงเรียนบ้าง รายการทีวีบ้าง และเคยขึ้นคอนเสิร์ตกับพี่ ‘เบิร์ด’ ธงไชย เมื่อครั้งเขายังเด็กด้วย
“ผมไม่คาดหวังว่าตัวเองจะชนะจนเป็นแชมป์เลย ผมมาด้วยความรู้สึกแค่อยากหาโอกาสให้ตัวเอง แล้วปีนี้ชื่อรายการมีคำว่า ‘ไอดอล’ ด้วย ผมแอบกังวลว่าจะเหมาะกับตัวเองรึเปล่า เพราะที่ผ่านมารายการเน้นเสียงร้อง แต่ปีนี้เขาพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ทุกครั้งผมคิดแค่ว่าขอชนะอีกสักรอบก็พอ เมื่อผ่านเข้ารอบไปได้ก็คิดแค่ขออีกสักรอบเถอะ ผมบอกแม่ทุกครั้งเลยนะว่า รอบนี้บูมคงไม่ผ่านหรอก ผมเผื่อใจตกรอบตลอด ผมรู้สึกจริงๆ ว่ามีแต่คนเก่ง”
เวทีนี้ต่างจากที่เคยประกวดยังไง “ที่ผ่านมาเน้นเสียงร้อง แต่เดอะสตาร์ ไอดอล เน้นทุกอย่าง ร้อง เต้น การเพอร์ฟอร์ม เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างเหมือนเข้าโรงเรียนเดอะสตาร์ แต่ปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ ตรงเราไม่ได้เข้าบ้าน ที่ผ่านมาผู้เข้าประกวดอยู่ด้วยกันในบ้านเดอะสตาร์ ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามใช้โซเชียลมีเดีย แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงงดตรงนั้นไป แต่ทุกคนก็มาเข้าคลาสด้วยกัน ซ้อมด้วยกันจนเช้า แค่นอนบ้านใครบ้านมัน และใช้โทรศัพท์ได้ เพราะเราซ้อมด้วยกันก็สนิทกันดี ไม่ได้มีอุปสรรคอะไร แต่ถ้าได้เข้าบ้านก็อาจสนุกกว่าครับ ทีมงานสามารถถ่ายทำชีวิตประจำวันเราด้วย ก็น่าสนุกดี”
สมมติถ้าพลาดจากเวทีเดอะสตาร์ ไอดอลนี้ บูมจะทำอะไรต่อ “ผมก็ยังร้องเพลงเหมือนเดิมครับ ผมมีความฝันอยากเป็นศิลปิน มีซิงเกิลของตัวเอง ยังไงเสียก็ต้องหาเวทีที่จะได้ร้องเพลงให้คนอื่นฟัง แต่ตอนนี้มีฝันเล็กๆ อีกอย่างคืออยากเล่นละครด้วย แต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะเหมาะกับบทอะไร แต่ถ้ามีใครจ้างก็อยากลองครับ (หัวเราะ)”
เราชวนบูมเล่าถึงประสบการณ์การขึ้นเวทีครั้งแรก “เวทีประกวดแรกของผมคือตอน 5 ขวบ โรงเรียนสอนร้องเพลงเขามีจัดประกวดทุกปี คุณครูก็ชวนให้ผมไปประกวด ตอนนั้นตื่นเต้นจนมือเย็นเฉียบ แม่ต้องเข้ามากอด แต่แม่ก็ล่อด้วยการบอกว่าถ้าร้องแล้วได้รางวัลจะซื้อเกมบอยให้ ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญของผม (หัวเราะ) ผมร้องเพลง แอบเหงา ของเสนาหอย และได้ที่ 2 เลยได้เกมบอยครับ ถามว่าผมชอบการประกวดไหม ไม่ได้ชอบ มันเครียด แต่ชอบการโชว์เฉยๆ มากกว่า การร้องโดยไม่ต้องประกวด มันอิสระ และผมชอบทุกครั้งที่ได้อยู่บนเวที”
เคยรู้สึกอยากชนะให้ได้บ้างไหม เราถาม “ชนะการประกวดร้องเพลงนี่ไม่เคยเลย ผมอยากเล่นเกมชนะมากกว่า (หัวเราะ) ผมแค่รู้สึกอยากเข้ารอบ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่เคยคิดว่าต้องเอาที่หนึ่งให้ได้ ทำด้วยความสนุกก็พอ” แล้วเวลาแพ้ มีวิธีปลอบใจตัวเองยังไง เราถามเขาต่อ “ทุกครั้งที่ประกวดผมมักบอกตัวเองว่านี่เป็นการโชว์ ผลจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ผมได้โชว์สิ่งที่เตรียมไว้ก็พอ ต่อให้ตกรอบผมก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิม ร้องเพลงเหมือนเดิม หาอะไรกินแก้เครียด ผมเป็นคนที่แก้เครียดด้วยของอร่อยๆ ช่วยให้จิตใจสดชื่นขึ้น สมมติถ้าผมไม่ชนะการแข่งขัน สิ่งแรกที่ทำคือกลับบ้าน แล้วสั่งของกิน นั่งดูหนัง กินไปดูไป กินเสร็จก็เล่นกีตาร์ ร้องเพลง แล้วหาเวทีประกวดใหม่ครับ
“ผมแพ้มาเยอะก็จริง แต่ไม่มีเวทีไหนที่ทำให้ผมเจ็บใจ เจ็บปวดขนาดนั้น ไม่เคยรู้สึกโคตรผิดหวังเลย แพ้ก็เริ่มใหม่ ผมเจ็บใจกับการจีบสาวไม่ติดมากกว่าอีก (หัวเราะ) จนเอาไปแต่งเพลงครับ เพลงของผมได้แรงบันดาลใจจากความรัก วันหนึ่งผมอยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง แล้วก็อยากได้ยินคนร้องเพลงที่ผมเขียนด้วย”
แชมป์คนล่าสุดมีวิธีจัดการความกดดันบนเวทีด้วยการมองไปยังผู้ฟัง “ผมมักตื่นเต้นมือเย็น แต่พอผมขึ้นเวที ได้เห็นคนข้างหน้ามองมาที่ผม ผมกลับสบายใจขึ้น กลายเป็นว่าเวลาอยู่ข้างล่างก่อนขึ้นเวทีผมตื่นเต้นกว่าเวลาอยู่บนเวที แต่พอได้แสดงออกไปก็ทำให้สบายใจขึ้น”
เบื้องหลังความสำเร็จบูมซ้อมหนักแค่ไหน เราสงสัย “ก่อนแข่งผมซ้อมทุกวัน ตอนเช้ากับตอนเย็น แต่เวลาซ้อมจะไม่ให้พ่อแม่เข้ามาดูนะครับ ผมเขิน เลยซ้อมคนเดียว ตอนจะแข่งเดอะสตาร์ ไอดอล ด้วยความที่เป็นไอดอลก็น่าจะต้องเต้นด้วย ผมเลยไปลงเรียนเต้น ครั้งแรกของผมนี่เหมือนเต้นแอโรบิก ร่างกายแข็งทื่อไปหมด ผมเอามือแตะปลายเท้าตัวเองไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้แต่ดีขึ้น ถ้าจะให้เต้นก็ต้องมีคนสอน และขอเวลาสัก 2-3 วัน หรืออาทิตย์หนึ่งก็ได้ครับ”
มีโชว์ไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษ “โชว์ในรายการเดอะสตาร์ ไอดอล ผมชอบเกือบทุกรอบเลยครับ ไม่มีที่ชอบที่สุด แต่มีโชว์ที่ผมไม่ชอบคือเพลงแรงโน้มถ่วง ผมร้องแล้วเสียงขาด เสียงหลบเราทำได้ไม่ดี ไม่คิดจะกลับไปดูซ้ำ เขิน แค่เข้าไปอ่านคอมเมนต์ว่ามีใครด่าผมรึเปล่า แต่ถ้าเห็นก็แค่รับรู้ อาจเคืองนิดหน่อย แต่ก็ไม่เก็บไปเครียด”
หนุ่มวัย 17 ที่หวังแค่ผ่านไปได้ทีละรอบ เมื่อต้องยืนชิงชัยเป็นสองคนสุดท้ายลุ้นแชมป์ของการประกวด เขารู้สึกอย่างไร “เกินคาดมาก จำตอนที่มาออดิชั่นที่ตึกแกรมมี่ ผมอยากกลับบ้านเลย เพราะคนเยอะ มองซ้ายมองขวาก็มีแต่คนที่พร้อมกว่าเราทั้งนั้น ผมพยายามโฟกัสแค่สิ่งที่เราเตรียมมาแสดงกับที่ครูบอกให้เรายิ้มเยอะๆ พอเข้าห้องออดิชั่นผมก็ยิ้มลูกเดียว (หัวเราะ) แต่กรรมการดูเหมือนจะพลอยยิ้มตามผม แล้วบรรยากาศในห้องก็เปลี่ยนไป จนถึงวันที่มายืนเป็นสองคนสุดท้าย ใจก็ตื่นเต้นนะครับ แต่ผลจะเป็นยังไงคือไม่ซีเรียส เป็นใครก็ได้ เหมือนกัน เป็นพี่ภูมิก็ได้ เพราะอย่างที่บอกสำหรับผมนั้นเกินที่หวังไปมาก
“สำหรับบูมแล้วการร้องเพลงทำให้ได้รู้ว่า ตัวผมก็มีอะไรดีเหมือนกัน เพราะผมไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง เล่นกีฬาดี การร้องเพลงคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว พอเห็นคนชอบเวลาที่เราร้องเพลง ก็รู้สึกเท่มากครับ (หัวเราะ) และการเข้าประกวดเวทีเดอร์สตาร์ ไอดอล เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และเป็นโอกาสที่ทำให้เราสานฝันในการเป็นศิลปินได้สำเร็จ”
เราถามหนุ่มบูมถึงการเตรียมตัวทำงานวงการบันเทิงต่อจากนี้ “ซ้อมครับ ซ้อมให้มาก พัฒนาตัวเองตลอด พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วก็ไม่ไปทำงานสาย” ส่วนความใฝ่ฝันในอนาคตอันใกล้ คือหากหน้าตัวเองได้ปรากฏบนบิลบอร์ดสักแห่งในประเทศไทย ก็คงรู้สึกดีไม่น้อยเลย
ภูมิ The Star Idol
มาต่อกับหนุ่มภูมิ รองชนะเลิศอันดับ 1 หนุ่มอีสานวัย 19 ปี ที่ใช้เสียงเพลงส่งเสียตัวเองและครอบครัว
“ภูมิเรียกตัวเองว่าเป็นเด็กกาฬสินธุ์ เพราะแต่เราโตที่กาฬสินธุ์ แต่จริงๆ แล้วเกิดที่อุดรธานี แม่เป็นครู พ่อตอนแรกเป็นครูอัตราจ้าง แต่ฐานะครอบครัวไม่ค่อยดี พ่อเลยอยากหางานใหม่ๆ ที่ได้เงิน เปลี่ยนหลายอาชีพเหมือนกัน เคยเป็นเซลส์แมนขายรถ ทำตู้เติมเงิน ต้องไปติดต่อตามอำเภอ หมู่บ้านเล็กๆ แล้วก็เลี้ยงไก่ไข่ แรกๆ มีลูกค้าซื้อทีละไม่มาก ขายคนแถวบ้าน แต่สักพักก็มีคนติดต่อขอซื้อมากขึ้น เศรษฐกิจในบ้านเลยดีขึ้นหน่อย แต่เกิดจุดเปลี่ยนตอนที่พ่อเสียด้วยอุบัติเหตุ เสียหลักพักหนึ่งเลย แม่กลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงลูกชาย 3 คน ภูมิเป็นพี่คนโต ผมยังเป็นนักเรียนจึงไม่สามารถหาเงินเลี้ยงดูแม่ได้ แต่อยากหาช่องทางแบ่งเบาภาระ ภูมิเลยร้องเพลงตั้งแต่เด็ก แต่ถ้านับช่วงเริ่มหาเงินด้วยตัวเองก็ช่วงม. 1 ตอนนั้นภูมิเป็นวีเจอยู่ค่ายหนึ่ง เป็นวีเจสายร้องเพลงเล่นกีตาร์นี่แหละครับ แต่ทำอยู่ไม่กี่เดือน ช่วงม.ต้น ภูมิเป็นนักร้องของโรงเรียน เดินสายประกวดตามรายการต่างๆ ตอนนั้นร้องเพลงลูกกรุง ได้แชมป์ด้วยครับ จากนั้นพอขึ้นม.ปลายก็เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ครอบครัวแม้ไม่ได้มีเงินมาก แต่คุณแม่ก็พยายามสนับสนุน ผมจะมากรุงเทพฯ ก็ต้องหาสตางค์ แม่กับญาติๆ ก็พยายามซัพพอร์ตอย่างเต็มที่
“ผมอยากเข้ากรุงเทพฯ มาเจอพี่ๆ วงสล็อตแมชชีน (Slot Machine) ผมพกซีดีวงพี่เขาด้วย เผื่อวันไหนเจอจะได้ให้เซ็น แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เจอ (หัวเราะ) แล้วผมมีฝันอยากเป็นศิลปิน อยากมาเรียน และเล่นดนตรีกลางคืน ผมเป็นคนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องหาอะไรทำ แล้วสิ่งที่ชอบที่สุดก็คือการร้องเพลง แรกๆ ภูมิร้องที่ร้านได้คืนละ 300 บาท แต่ภูมิไม่ได้สนเรื่องเงินนัก ผมแค่อยากร้องเพลงให้คนได้เห็น หรือรู้จักบ้าง เผื่อสักวันถ้าคนรู้จักผมมากขึ้นแล้วผมปล่อยเพลงตัวเอง น่าจะมีคนที่สนับสนุนบ้าง”
ภูมิเคยเรียนร้องเพลงไหม หรือฝึกฝนยังไง “ส่วนมากผมฝึกฝนด้วยตนเองครับ เคยลงเรียนครั้งหนึ่ง ภูมิเข้าไปเรียนแค่สองชั่วโมงก็ไม่ไปอีกแล้ว (หัวเราะ) ไม่ชอบสไตล์การสอน เหมือนภูมิฝึกด้วยตัวเองจนไต่มาถึงระดับ 5-6 แล้ว แต่ชั้นเรียนเพิ่งสอนระดับที่หนึ่ง เลยเลิก กลับมาฝึกเองดีกว่า ภูมิใช้วิธีฝึกจากยูทูบ ฟังศิลปินที่ชอบแล้วแกะเทคนิคเขา ทั้งไทยและสากล แล้วผมฟังเพลงเยอะ บางเพลงคนก็ไม่ค่อยฟังกัน แต่ได้เทคนิคแปลกๆ ศิลปินไทยที่ชอบมี ‘พี่โอ๊ต’ ปราโมทย์, ‘พี่อ๊อฟ’ ปองศักดิ์, ‘พี่เติร์ด’ ทิลลี่เบิร์ด แล้วก็ ‘พี่นนท์’ ธนนท์ ผมชอบพี่นนท์มาตั้งนาน ดูคอนเสิร์ตพี่เขาเป็นชั่วโมง แต่พอคนทักว่าผมหน้าเหมือนพี่นนท์ ผมก็เขินๆ ไม่ค่อยพูดออกไป ถ้าต่างประเทศชอบเคนตัน เฉิน ลูกเล่นเทคนิคแพรวพราว
“ที่จริงภูมิไม่ใช่คนซ้อมเยอะ แต่เตรียมตัวตลอด ก่อนประกวดเดอะสตาร์ภูมิก็เตรียมพร้อมตัวเอง ฝึกร้องอยู่เสมอ เช่นวันที่มีเวลาทั้งวัน ช่วงเช้าตื่นมาฟังเพลง หาไอเดียจากเพลง กินข้าว อาบน้ำ ทำนั่นทำนี่ ช่วงบ่ายคือช่วงที่เริ่มซ้อมสักบ่าย 2-3 แล้วก็พักออกกำลังกาย คาร์ดิโออยู่ที่บ้าน พอ 5-6 โมงก็ออกไปวิ่ง กินข้าว ซ้อมทวนนิดหน่อย แล้วก็นอน เป็นกิจวัตรแบบนี้ครับ”
เวทีแรกของภูมินั้นเริ่มต้นเมื่อเขาอยู่ชั้นประถมห้า สมัยเรียนที่กาฬสินธุ์ เป็นการประกวดร้องเพลงลูกกรุงซึ่งเจ้าตัวไม่ถนัด “ผมอยากร้องเพลงป๊อบ เพลงสตริง แต่ไม่มีประเภทนั้นให้ลงแข่ง ถ้าอยากร้องก็ต้องเพลงสากล ซึ่งตอนนั้นภูมิยังไม่เปิดใจร้องเพลงสากล ถ้าอย่างนั้นจะร้องเพลงไทยแนวไหนดี ตอนแรกจะเลือกเพลงลูกทุ่ง แต่สำเนียงไม่ได้ ครูเลยแนะให้ร้องเพลงลูกกรุง ก็พอไปได้ ผมไปแข่งถึงระดับภาคเลยครับ หลังจากนั้นช่วงม.ปลายมีฟอร์มวงกับเพื่อนไปประกวด ที่จริงภูมิเป็นชาวร็อคนะ นอกจากนั้นก็มีออกรายการทีวีบ้าง ผมขวนขวายหาเวทีร้องเพลง อยากส่งพลังให้แก่คนฟัง แล้วผมก็ได้รับพลังนั้นกลับจากคนดูด้วย เป็นสิ่งที่ปรารถนาที่จะทำ”
แล้วมาเดอะสตาร์ ไอดอลได้อย่างไร เราถาม “ภูมิเห็นประกาศรับสมัครแต่ไม่ได้ส่ง ทว่าตอนนั้นบูมไปแคสต์ละครเวทีที่รัชดาลัย เธียเตอร์ แล้วรอบไฟนอลได้เจอ ‘พี่บอย’ ถลกเกียรติ พี่บอยก็ชวนให้ไปประกวดเดอะสตาร์ดูสิ แล้วประจวบกับตอนนั้นภูมิอธิษฐานต่อพระเจ้า ภูมิเป็นคริสเตียนครับ ช่วงนั้นก็ลำบากเพราะเจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีงาน เลยอธิษฐานขอให้มีงาน ขอให้ได้ร้องเพลง เช้าวันรุ่งขึ้นภูมิตื่นขึ้นใช้ชีวิตตามปกติ แม่โทร.มาบอกว่ามีพี่ทีมงานจากเดอะสตาร์ติดต่อเข้ามา เขาชวนให้ลองไปออดิชั่นดู คิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดี เพราะผมก็เคยดูเดอะสตาร์ เห็นว่าพี่ๆ เขาอนาคตดีทุกคน”
เวทีเดอะสตาร์ ไอดอล ต่างจากที่เคยประกวดอย่างไร “ภูมิรู้สึกว่าที่นี่คือมิตรภาพจริงๆ ระหว่างผู้เข้าแข่งขัน ทีมงาน กรรมการ เหมือนเป็นครอบครัวเลย ต่อให้เราไม่ได้เข้าบ้านเดอะสตาร์เหมือนซีซั่นก่อนๆ แต่เราเจอกันตั้งแต่เช้า ซ้อมเสร็จสี่ห้าทุ่ม บางวันมีนัดเช้ากว่าเดิม และเคยไปนอนด้วยกัน มีพี่โอ พี่กรณ์ ภูมิ บูม ทั้งซ้อมและเล่นด้วยกัน เหนียวแน่นครับ”
เราถามถึงความกดดันบนเวที ที่คนดูอย่างเราไม่อาจรับรู้ได้ “เวทีเดอะสตาร์ ไอดอล บางรอบไม่ใช่แค่การร้อง แต่ต้องแสดงด้วย แล้วภูมิไม่เคยทำแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าจะแอคติ้งยังไง ที่ทำอยู่ดีแล้วรึเปล่า เป็นความกังวล ที่จริงภูมิเป็นคนขี้กังวล ชอบคิดวนเวียนจนบางครั้งเสียโฟกัส ก็พยายามเรียนรู้ปรับตัว พอโชว์เริ่มผมก็วางสิ่งที่คิดลง แล้วขึ้นเวทีด้วยใจที่ว่างเปล่า เป็นความว่างเปล่าที่มีพลังครับ สุดท้ายก็ค่อนข้างพึงพอใจในโชว์ตัวเอง”
สำหรับภูมิก็เช่นเดียวกับบูม หากพลาดจากเวทีเดอร์สตาร์ ไอดอล เจ้าตัวก็จะเดินหน้าหาเวทีประกวดอื่นต่อไป “ผมไม่หยุดแน่นอน จะหาโอกาส เพื่อได้เจอคนใหม่ๆ ทำงานกับคนใหม่ๆ ผมชอบเข้าหาผู้คนใหม่ๆ เหมือนเราได้ทำงานกับผู้คนที่หลากหลายก็ได้ประสบการณ์เพิ่ม ผมชอบเรียนรู้ครับ”
มีเวทีไหนที่อยากเอาชนะแบบสุดๆ ไหม เราถาม “ไม่มีเลยครับ ผมแค่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง อยากพาตัวเองไปที่ที่ดีกว่า หวังว่าการประกวดจะเป็นสะพานไปสู่โอกาสที่ดีขึ้น ผมคิดแค่นั้น จึงทำเต็มที่มาตลอด”
วันที่ผิดหวังภูมิทำอย่างไร เราถามนักร้องหนุ่ม “ผมไม่มีวิธีรับมือ แค่จัดการตัวเอง ถ้ายังคิดว่าไปต่อได้ก็พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น แต่ผมไม่เจ็บใจหรือผิดหวังกับตัวเอง ไม่มีคำว่าแพ้หรือล้มเหลวสำหรับภูมิ เพราะถึงไม่ได้ไปต่อ แต่ผมทำเต็มที่ทุกครั้ง แค่กลับมาพัฒนาตัวเองเพิ่ม ผมมองทุกอย่างเป็นสีสันชีวิต คนเราไม่สามารถล้มเหลวได้ทุกวันหรอก และก็สำเร็จทุกวันไม่ได้เหมือนกัน” สำหรับบูมสิ่งเยียวยาใจคือของอร่อย แล้วสำหรับภูมิล่ะ “ผมแค่ได้สูดอากาศข้างนอก ก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ครับ”
เราถามภูมิต่อ เคยมีใครบอกให้เราเลิกล้มความฝันไหม “มีครับ มีคำสบประมาท คำพูดถากถางที่บอกว่าอย่างผมไปไม่รอดหรอก…ก็เยอะ ผมแค่มองเขา แล้วคิดในใจว่าสักวันจะทำให้ดู เราไม่ตอบโต้เยอะ แต่รอดูผลงานดีกว่า”
เด็กหนุ่มได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการเข้ารอบเป็นสองคนสุดท้ายบนเวทีเดอะสตาร์ ถึงกระนั้นเจ้าตัวก็ไม่คาดคิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ “ผมแค่เคยคิดเล่นๆ ก่อนไปออดิชั่นเวทีเดอะสตาร์ว่า ลองไปดีกว่า เผื่อได้แชมป์ แต่เอาเข้าจริงแค่ 8 คนสุดท้ายก็พอใจแล้วครับ ที่จริงพอใจตั้งแต่ได้ร้องเพลงออกทีวีแล้ว เพราะสำหรับผมการได้ร้องเพลงคือความสุข ผมมีความสุขเวลาร้อง และยังได้ส่งต่อความสุขนั้นแก่ผู้ฟังอีกด้วย ผมไม่มีทางรู้เลยว่าเสียงเพลงของผมจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร หรือช่วยชีวิตใครได้บ้าง ผมจึงตั้งใจเต็มที่กับทุกโชว์ ให้สมกับที่คนฟังตั้งใจดูผม นอกจากนั้นคนฟังยังเป็นกำลังใจ เป็นแรงกระตุ้นให้ผมอยากพัฒนาตัวเอง ยิ่งเวทีใหญ่ขึ้นตัวผมยิ่งต้องเก่งขึ้นตาม”
สำหรับการเตรียมตัวทำงานวงการบันเทิงของภูมิต่อจากนี้นั้น เขาได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ในวงการมากมาย “ส่วนใหญ่มักบอกว่าที่ตรงนี้เข้ามาไม่ยาก แต่อยู่ให้นานนั้นยาก ต้องรู้จักวางตัว รู้จักใช้ชีวิต และก็แนะนำให้พักผ่อนเยอะๆ ครับ”ส่วนความใฝ่ฝันในอนาคตอันใกล้ คือการมีวงดนตรีและได้ไปทัวร์คอนเสิร์ต “ภูมิไม่ชอบเป็นนักร้องเดี่ยว ชอบการทำงานเป็นทีม ถ้าผู้ใหญ่ให้ทำวงดนตรีก็อยากชวนเพื่อนๆ มาเล่นด้วยกันครับ”
สุดท้ายนี้เราถามนักร้องหนุ่มว่าสิ่งที่ผลักดันให้เขามาถึงตรงนี้ได้คืออะไร “แรงปรารถนาอย่างแรงกล้า ถ้าตั้งใจอยากได้อะไร ผมจะพาตัวเองไปสู่สิ่งนั้น โอกาสอยู่รอบตัวนี่แหละครับ แค่ต้องทำตัวให้พร้อมรับโอกาสที่จะเข้ามาอยู่เสมอ” และนั่นคือบูมและภูมิ เด็กรุ่นใหม่ที่พร้อมกระโจนเข้าหาทุกโอกาสที่จะนำไปสู่เส้นทางความฝันของตน
คอลัมน์: เรื่องจากปก