The Power of the Dog คุกคาม เคลือบแคลง ซ่อนเร้น

-

ฟิล เบอร์แบงค์ กับ จอร์จ เบอร์แบงค์ เป็นพี่น้องกัน แต่ทั้งสองคนมีบุคลิกและรูปแบบชีวิตต่างกันคนละขั้ว วัยเด็กเติบโตมาท่ามกลางความยากแค้น ปากกัดตีนถีบจนเป็นเจ้าของฟาร์มทำงานต้อนวัวเป็นกิจวัตร ฟิลเป็นคนดิบๆ ชอบโชว์แมน ในความหมายของการห้าวห่ามต่อหน้าผู้คน ใช้คำพูดเชิงเหยียดล้อเลียนคนอื่นให้ดูเป็นตัวตลก ไม่นิยมอาบน้ำแล้วชอบอวดภาพลักษณ์เนื้อตัวเลอะคราบไคลจากการทำงานแบบชาวไร่ ส่วนจอร์จเป็นคนอ่อนโยน มีความเจ้าสำอางมากกว่า เวลาอาบน้ำก็นอนแช่อ่างในบ้าน มักแต่งตัวแบบเรียบร้อยผู้ดีเสมอ เวลานอนก็เปลี่ยนเป็นชุดนอนอย่างดี

จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อแม่ม่ายชื่อโรสกับลูกชายชื่อปีเตอร์เข้ามาแทรกในความสัมพันธ์ของทั้งคู่

โรสทำงานร้านอาหาร ส่วนปีเตอร์ช่วยงานแม่เป็นครั้งคราวและมีแผนจะเรียนต่อหมอ ทั้งคู่มีโอกาสต้อนรับฟิลกับจอร์จที่พาลูกน้องไปฉลองในร้านอาหาร แล้วฟิลพูดจาไม่ดีมีท่าทีล้อเลียนปีเตอร์ผู้ซึ่งบุคลิกเรียบร้อย มีงานอดิเรกคือทำดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษ ดูนิ่มนวลและมีจริตแบบผู้หญิง

หลังจากจอร์จบอกฟิลว่าเขาหลงรักโรส ความตึงเครียด (tension) ก็เริ่มต้น ฟิลดูไม่พอใจ และเมื่อทั้งคู่แอบไปแต่งงานกัน แล้วจอร์จพาโรสเข้าบ้าน ความตึงเครียดยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อฟิลมีท่าทีคุกคามด้วยการแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับโรสอย่างชัดเจน  แม้ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายแต่ก็เป็นการคุกคาม (emotional abuse) คล้ายสงครามประสาท จนอีกฝ่ายหวาดกลัวและอับอายตลอดเวลาที่ย้ายมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกันจะว่าไปปฏิกิริยาที่ฟิลมีต่อโรสก็คล้ายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง (ฟิล-จอร์จ) ซึ่งหนังถ่ายทอดให้เห็นได้อย่างไม่ต้องใช้คำอธิบาย

นี่คือความสัมพันธ์ที่มีภาวะ emotional abuse ดำรงอยู่มาโดยตลอด มีการคุกคามครอบงำความเคารพ เราสัมผัสได้ว่าจอร์จมีท่าทียำเกรงฟิลแบบหวาดกลัว ไม่ได้รู้สึกสนิทหรือสบายใจเมื่ออยู่ใกล้พี่ชาย คำที่ฟิลเรียกจอร์จก็เป็นการล้อเลียนรูปร่างให้น่าอาย (ไอ้อ้วน,หมู) แล้วหลายครั้งจอร์จก็อึกอักมีท่าทีอึดอัดกับการแสดงออกของฟิลแต่ไม่กล้าบอกตรงๆ (เช่น เวลาที่ฟิลล้อเลียนคนอื่นหรือเอ่ยถึงบรองโก้ เฮนรี่)

===

ท่ามกลางความสัมพันธ์อันตึงเครียดและคุกคาม คนสำคัญที่มีส่วนอธิบายความเป็นไปและคลี่คลายข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดฟิลจึงเป็นเช่นนั้น คือ ปีเตอร์ ลูกชายของโรส และชายที่ฟิลเอ่ยนามเสมอ บรองโก้ เฮนรี่

หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงพูดของปีเตอร์ ซึ่งเมื่อดูหนังจบเราจะเข้าใจความหมายในคำพูดนี้อย่างแจ่มแจ้ง

“หลังจากพ่อตาย ผมไม่ต้องการอะไรนอกจากอยากให้แม่ความสุข ผมจะเป็นผู้ชายแบบไหนกัน ถ้าไม่สามารถช่วยแม่ได้”

ปีเตอร์อยู่ท่ามกลางตัวละครที่มีคุณลักษณะแบบอวดโอ่ความเป็นชาย โดยมีหัวโจกอย่างฟิลที่น่าจะเข้าข่าย toxic masculinity ซึ่งคุกคามปีเตอร์จนเขาใจเสียตอนต้นเรื่อง ในฉากร้านอาหารที่ฟิลพูดจาเหยียดหยามและเผาดอกไม้กระดาษที่ปีเตอร์บรรจงทำมาประดับร้านอาหารของแม่ (นัยซ่อนเร้นในดอกไม้กระดาษ คือการที่เราสังเกตว่าเมื่อแรกเห็นดอกไม้กระดาษ ฟิลชอบงานศิลปะที่ปีเตอร์ทำมาผ่านภาพที่กล้องถ่ายนิ้วมือของฟิลบรรจงไล่สัมผัสดอกไม้ด้วยความชื่นชม แต่สุดท้ายเพื่ออวดความแมนเขาก็เลือกเผาทิ้งต่อหน้าลูกน้อง ใช้มันเป็นตัวจุดบุหรี่)

แล้วเราก็จะเห็นตัวตนของปีเตอร์ชัดเจนมากขึ้นว่าแม้จะเริ่มต้นแบบใจเสีย แต่เขาไม่เคยพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดูแมนขึ้น (ในนิยามของสังคมใกล้ตัว) เพื่อให้คนรอบข้างยอมรับ เขาไม่ปกปิดความสนใจส่วนตัวที่สังคมแสดงท่าทีแปลกแยก (การผ่าสัตว์ ฯลฯ)

ตรงข้ามกับฟิล ที่เมื่อความลับทั้งหลายเริ่มแย้มพราย ก็ชวนให้สงสัยว่าภาวะอวดโอ่ความเป็นลูกผู้ชายของฟิลกับความหงุดหงิดเมื่อเห็นคนใกล้ตัวที่เป็นชายแต่แสดงออกแบบเรียบร้อย (จอร์จ) หรือมีจริตแบบหญิง (ปีเตอร์) อาจจะเป็นความพยายามปกปิด “ตัวตน” ซึ่งเป็นเกย์ แล้วต้องไปมีพื้นที่ลับๆ ในป่าเพื่อปลดปล่อยความปรารถนาและตัวตนที่แท้จริง

การปกปิด ซ่อนเร้น จึงไม่ใช่แค่ในความหมายของเพศสภาพตัวละคร แต่หนังยังรวมถึงความปรารถนาที่จะผูกสัมพันธ์ (ฟิลที่ลึกๆ แล้วอาจจะอยากเป็นบรองโก้ เฮนรี่ ให้ปีเตอร์ทั้งในแง่ผู้สอนความเป็นลูกผู้ชายและถ่ายทอดความรู้สึกทางเพศ) เช่นเดียวกับความปรารถนาที่จะทำลายล้างอีกฝ่ายให้หายไป ดั่งคำพูดของปีเตอร์ในตอนต้น ซึ่งเงื่อนงำทั้งหลายนั้นถูกซ่อนเร้นไว้ในรายละเอียดระหว่างทางของหนัง

==

The Power of the Dog เป็นหนังที่เรียกได้ว่าถึงพร้อมระดับล่ารางวัลในหลายสาขา งานกำกับของเจน แคมเปียน ประณีต แฝงความหมาย เล่าเรื่องเชื่องช้าแต่ไม่น่าเบื่อเลย การดัดแปลงนิวซีแลนด์ให้เป็นมอนทานาในปี 1925 คืองานภาพที่สวยบาดตา ในขณะเดียวกันทุกนาทีก็แฝงความหมายไปกับการจับจ้องและคนดูจะรู้ความหมายในภายหลังว่ากล้องจงใจถ่ายเพื่อสื่อถึงอะไร (เช่น การโคลสอัพไปยังมือของฟิลที่มีแผลอยู่ในน้ำขณะถักเปียหนังวัวซึ่งปีเตอร์หามาให้)

จะไม่น่าแปลกใจถ้านักแสดงนำในหนังพากันเข้าชิงรางวัล เบเนดิคต์ คัมเบอร์แบตช์ แสดงได้แนบเนียนดี แล้วดูเหมาะมากกับบทในหนังเรื่องนี้ การแสดงออกทางสายตาของเขายอดเยี่ยม เช่น แววตาตอนเล่าถึงบรองโก้ เฮนรี่ สายตาของเขาที่แปลกใจตอนปีเตอร์ฆ่ากระต่ายหรือสายตาชื่นชมดอกไม้กระดาษ ซึ่งมันบ่งบอกเรื่องราวกับสื่อความหมายในตัวเองโดยไม่ต้องใช้คำพูด เช่นเดียวกับการแสดงของ โคดี้ สมิท-แมคฟี ซึ่งน่าจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขานับตั้งแต่ฉายแววฝีมือการแสดงฝีมือดีในหนัง Let Me in อันดัดแปลงมาจากต้นฉบับ Let the Right One In (เสียดายที่หนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่เขาแสดงได้ดีควรถูกพูดถึงมากกว่านี้)


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ / เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

(www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!