เส้นทางชีวิตที่ยาวไกล ไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป มีคดโค้ง มีอ้อม และมีขึ้นบันได กว่าจะถึงจุดหมาย ต้อง ใช้ความอดทนฟันฝ่า กว่าจะได้ ไม่ง่ายเลย
ใครที่บอกว่า เดี๋ยวนี้ชีวิตมันอยู่ยาก ผมว่า มันยากมาตั้งนานแล้ว ไม่มีอะไรได้อย่างใจเราไปหมดทุกอย่าง แน่นอน
บางอย่างคิดว่า ต้องได้แน่ๆ กลับไม่ได้ บางอย่างคิดว่าง่ายๆ กลับกลายเป็นยาก เขาถึงบอกว่า ความแน่นอนที่สุดในโลกใบนี้ คือความไม่แน่นอน
แต่เราก็ต้องต่อสู้ฟันฝ่ากันต่อไป ไม่ใช่พอรู้ว่ายากก็เลยไม่อยากทำ
ก็ขนาดทำทุ่มเท สุดตัวสุดใจ ยังไม่ค่อยจะได้ แล้วคิดว่า ถ้าไม่ทำอะไร แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการมาง่ายๆ อย่าได้หวัง
และ เมื่อได้ความสำเร็จ สมปรารถนา สิ่งที่ควรทำ คือ แสวงหา ความสำเร็จ ที่ยิ่งกว่า ต่อไป
โลกถึงจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ เพราะถ้าหยุดเมื่อไร ก็เท่ากับไม่พัฒนา
อย่างเช่นการเดินทางสมัยโบราณ เราก็ใช้การเดินเท้า แล้วก็มาพัฒนา มาเป็นเกวียน หรือใช้ ช้างม้าเป็นพาหนะ จนกระทั่งเราเริ่มผลิตรถยนต์ รถไฟไอน้ำจนในปัจจุบัน ก็บินข้ามทวีป ด้วยเครื่องบิน แล้วก็บินไปนอกโลก
ถ้ามนุษย์หยุดพัฒนา ใช้การเดินทางเพียงแค่การใช้เกวียน หรือใช้ม้า คิดดูว่า ป่านนี้เราจะมีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร
เปรียบเช่นเดียวกับเส้นทางเดินของชีวิต จะเห็นได้ชัดว่าจะมีปรากฏการณ์ต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ ที่ยาวไกล
ถ้าเป็นวงจรคร่าวๆ ที่ทุกคนก็รู้กันดีอยู่แล้ว ก็เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย
หรือไม่ก็ เกิด เริ่มเติบโตขึ้นมา ก็เรียนหนังสือ พอเรียนจบ ก็หางานทำ เลี้ยงตัวเอง แล้วก็แต่งงานมีครอบครัวมีลูก ก็เลี้ยงลูกต่อไป สร้างฐานะให้เติบใหญ่ แล้วก็แก่ เจ็บป่วย สุดท้าย คือ ตาย
ชีวิตของทุกคนก็จะวนลูป คล้ายๆ เช่นนี้ อาจจะมีรายละเอียด แตกต่างกันไปบ้างบางบุคคล
บางเหตุการณ์ของชีวิตก็ขาดจากกันเป็นช่วงๆ เช่น พอหมดวัยเรียน บางคนก็ไม่เรียนอีกเลย แต่บางคนก็ยังให้ปรากฏการณ์ช่วงเรียน ต่อเนื่องไปทั้งชีวิต เช่น เรียนต่อ ศึกษาหาความรู้ไปไม่สิ้นสุด
แต่บางอย่าง บางปรากฏการณ์ของชีวิต จะให้ต่อเนื่องกันไปทั้งหมดก็ไม่ได้
เมื่อสุดทางเดิม ก็ต้องเริ่มทางใหม่
เหมือนเราเดินขึ้นภูเขา หรือไต่เขาจนกระทั่งไปถึง ยอดเขาลูกหนึ่งได้ แต่การจะไปให้ถึงภูเขายอดใหม่เราก็ต้องไต่จากตีนเขา เพื่อให้ถึงยอดเขาใหม่ ให้ได้
ตัวอย่าง เช่น เมื่อเราพากเพียรเรียนจนจบปริญญาตรี หมายถึง เราได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของ ยอดเขาปริญญาตรี ได้แล้ว ปักธง ยืนอย่างงามสง่า ให้สมกับที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย
แต่พอคิดจะออกไปทำงาน ก็เหมือนภูเขา อีกลูกหนึ่งที่ชื่อว่า ภูเขาการทำงาน
เราก็ต้องไต่ตั้งแต่ตีนเขา ของภูเขาลูกนั้นขึ้นไปใหม่ เพราะระหว่างยอดภูเขาการเรียนกับการทำงานไม่ได้มีสะพานเชื่อมต่อกัน จะได้เดินผ่านสะพาน ไปถึงยอดเขาการทำงานได้เลย
แต่สำหรับคนที่ มีพ่อแม่ที่มีงาน มีธุรกิจให้ทำอยู่แล้ว หลังเรียนจบ เขาก็อาจจะสบายหน่อย เพราะอาจไม่ต้องเริ่มต้นจากตีนเขา เหมือนคนที่ไม่มีต้นทุนใดๆ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีธุรกิจการงานของพ่อแม่สนับสนุนอยู่แล้ว จะต้องไต่ขึ้นไปยืนบนยอดเขา การทำงานได้ทุกคน
ถ้าจะเปรียบเทียบ เรื่องภูเขาคนละลูกให้เห็นชัดๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องความสำเร็จ ในชีวิตการทำงานกับความสำเร็จในด้านของการมีครอบครัว
คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ต้องมีครอบครัวที่สมบูรณ์
และมีความสุขเพราะภูเขาที่ชื่อว่าครอบครัว ใครอยากจะขึ้นไปปักธงให้ภูมิใจก็ต้องเริ่มไต่มาจากข้างล่าง ค่อยๆ สร้างมาเหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดภารกิจ พิชิตเป้าหมายใดในชีวิตได้ ไม่ใช่หมายถึง ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป
เพราะยังมีภารกิจใหม่ๆ ท้าทายให้เราทำ
เมื่อเดินสุดถนนที่เคยมี ให้ลงมือสร้างถนนดีๆ ขึ้นมาใหม่
เพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้มีทางเดินก้าวต่อไป
เป็นความภาคภูมิใจที่คงไว้เหนือกาลเวลา
คอลัมน์: ก้าวไกลไปข้างหน้า เรื่อง: จตุพล ชมภูนิช ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์