ปาฏิหาริย์แห่งการผ่าตัด

-

ต้นปี 2016 นางมาร์กาเร็ต โบเมอร์ (Margaret Boemer) คุณแม่ลูกสองซึ่งกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สามได้ 19 สัปดาห์ เข้าไปอัลตร้าซาวด์เด็กตามที่คุณหมอนัดหมาย

มาร์กาเร็ตใจหาย เมื่อหมอชี้ให้ดูสิ่งผิดปกติที่เห็นในจอภาพ

ตัวอ่อนมีร่างกายสมบูรณ์ มีอวัยวะมือขาครบถ้วน แต่ใต้ก้นของตัวอ่อนกลับมีวัตถุทรงกลมคล้ายลูกโป่งติดอยู่ ขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวอ่อนเด็ก

หมอบอกว่ามันคือเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ออกมาจากก้นกบและมีโอกาสเกิดแค่ 1 ใน 35,000 คน

อันตรายของเนื้องอกนี้คือมันก็ต้องการเลือดเข้ามาหล่อเลี้ยงให้เติบโต นั่นหมายความว่าหัวใจของตัวอ่อนต้องทำงานหนักกว่าปกติ และมีแนวโน้มสูงมากที่หัวใจจะล้มเหลว

หมอหลายคนแนะนำให้ทำแท้งเสีย ไม่อย่างนั้นจะเป็นอันตรายแก่แม่และลูก

ระหว่างที่มาร์กาเร็ตกำลังกลุ้มใจอยู่นั้น หมออีกท่านหนึ่งก็เสนอทางเลือกที่เธอไม่เคยคาดไว้

นั่นก็คือการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากตัวอ่อน

เวลาสำหรับการตัดสินใจมีไม่มาก เพราะหัวใจของทารกที่ยังไม่เกิดนั้นอ่อนแอลงทุกวัน และแม้ผ่าตัดสำเร็จ โอกาสที่ทารกจะรอดก็ยังต่ำอยู่ดี

แต่ด้วยหัวใจอันเด็ดเดี่ยวของแม่ เธอจึงตัดสินใจรับการผ่าตัด ณ วันที่เธอมีอายุครรภ์ได้ 23 สัปดาห์ 5 วัน (เกือบ 6 เดือน)

โรงพยาบาลเด็กเท็กซัสต้องระดมทีมผ่าตัดถึง 21 คน ใช้มีดผ่าท้องของมาร์กาเร็ต จากนั้นก็ผ่ามดลูกของเธอเพื่อดึงทารกออกมา เนื้องอกตรงก้นกบของเด็กมีขนาดเกือบเท่าลูกฟุตบอลขนาดย่อม หมอรีบตัดเนื้องอกทิ้งเท่าที่จะทำได้ แล้วนำเด็กใส่กลับเข้าไปในมดลูก ก่อนจะเย็บมดลูกอย่างพิถีพิถันและรัดกุมยิ่ง เพราะหากแผลที่มดลูกปิดไม่สนิท และทารกตัวโตขึ้น ก็ย่อมมีความเสี่ยงอย่างมากที่แผลมดลูกจะเปิดและส่งผลอันเลวร้าย

ที่มา : https://editiion.cnn.com/2016/10/20/health/baby-born-twice-fetal-surgey/index.html

การผ่าตัดใช้เวลา 5 ชั่วโมงเต็ม ทั้งแม่และเด็กปลอดภัย ตัวมาร์กาเร็ตเองต้องนอนติดเตียงอยู่เฉยๆ อีก 13 สัปดาห์เต็มจนครบ 36 สัปดาห์ก่อนจะคลอดด้วยการผ่าท้องในวันที่ 6 มิถุนายน 2016

เด็กคนนี้มีชื่อว่า LynLee Hope ซึ่งเป็นชื่อที่เอามาจากทั้งคุณย่าและคุณยายของเด็ก

เมื่ออายุได้ 8 วัน ลินลี่ก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกส่วนที่เหลือออก ลินลี่ต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลต่ออีกหลายสัปดาห์ก่อนที่หมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

ที่มา : https://editiion.cnn.com/2016/10/20/health/baby-born-twice-fetal-surgey/index.html

การผ่าตัดทารกที่ยังไม่เกิดนี้ได้สร้างความฮือฮาให้แก่วงการแพทย์เป็นอย่างมาก ผู้ที่เป็นหัวหอกในการผ่าตัดครั้งนี้มีนามว่า ดร.แดร์เรลล์ แคสส์ (Darrell Cass) ผู้อำนวยการศูนย์ทารกในครรภ์ และ ดร.โอลูยินกา โอลูโตเย (Oluyinka Olutoye) คุณหมอเชื้อสายไนจีเรีย

ต้องขอบคุณวิทยาการทางการแพทย์ที่ทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ด้วยสองมือมนุษย์ครับ


เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ LINE MAN Wongnai


คอลัมน์: มุมละไม

เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์

All free magazine กุมภาพันธ์ 2564

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!