The Lost Daughter – มนุษย์แม่

-

ตั้งแต่เกิดจนตายมนุษย์มีหลายบทบาท(role)ในหนึ่งช่วงชีวิต

ทั้งบทบาทภาคบังคับที่ไม่มีสิทธิเลือกเป็น เช่น การเป็น ‘ลูก’ เราไม่มีสิทธิเลือกว่าจะเกิดมาเป็นลูกของใคร

และบทบาทส่วนใหญ่หลังจากถือกำเนิดคือบทบาทชีวิตที่เราเลือกได้ เช่น บทบาทเป็นเพื่อนหรือแฟนของใครบางคน เมื่อเข้าโรงเรียนเราก็มีบทบาทเป็นนักเรียน เมื่อทำงานมีบทบาทเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง  ฯลฯ รวมถึงการเป็น ‘พ่อแม่’ ก็เป็นสิ่งที่เราเลือกได้เช่นกัน

ในเวลาเดียวกันเราอาจมีหลายบทบาท เช่น คนคนหนึ่งเป็นครูของนักเรียนและเป็นภรรยาของสามีพร้อมกับเป็นแม่ของลูกๆ รวมถึงเป็นหญิงสาวที่อยากเดินตามความฝัน ฯลฯ ดังนั้นการใช้ชีวิตจึงเป็นการจัดสรรดุลยภาพของแต่ละบทบาท ถ้าเราหาจุดลงตัวได้ เราก็จะพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่

The Lost Daughter คือเรื่องราวชีวิตที่หญิงสาวคนหนึ่งหาจุดสมดุลในชีวิตไม่ได้ และบทบาทของการเป็น ‘แม่’ กำลังทำลายจิตวิญญาณของเธอ

“ลูกคือความรับผิดชอบอันหนักหน่วง (Children are a crushing responsibility)”

 

 

การมีลูกย่อมตามมาด้วยความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และต้องแบ่งความรับผิดชอบจากงานหรือสิ่งที่รักเพื่อไปดูแลชีวิตใหม่ซึ่งยังไม่พร้อมอยู่ด้วยตัวเอง แต่การพูดถึงลูกว่าเป็นความรับผิดชอบอันหนักหน่วง (crushing responsibility)เป็นคำขยายที่ดูจะถ่ายทอดความรู้สึกของคนพูดได้ชัดเจนว่ารู้สึกหมดพลังไปมากแค่ไหน

เลด้า คารูโซ่ อายุ 48 ปี เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคนพูดประโยคข้างต้น ประกอบกับภาพในความทรงจำที่จะทำให้เราเข้าใจการระบายคำนี้ของเธอออกมา

เลด้ามาพักร้อนคนเดียวที่หมู่เกาะเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศกรีซ

โดยบุคลิกเลด้าเป็นคนรักการพักผ่อนแบบสันโดษและสงบ  เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัวใหญ่มาใช้พื้นที่เดียวกัน เธอจะชักสีหน้าไม่พอใจทันที

เลด้าเป็นคนอ่อนไหวต่อความวุ่นวาย ในสายตาคนอื่นมองว่าบางเรื่องนั้นเธอน่าจะทนได้หรือยอมยืดหยุ่นปรับตัว แต่เธอกลับไม่ยอมอ่อนข้อ  เธอเป็นคนประเภท assertive คือปกป้องสิทธิของตัวเองที่จะถูกละเมิด เช่นกรณีในโรงหนังที่วัยรุ่นเสียงดัง เธอจะไม่ทนเหมือนผู้ชมคนอื่นๆ หรือกรณียืนยันจะไม่ย้ายที่นั่งบนพื้นริมหาดให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันแม้ว่าแค่ขยับที่นั่งไปไม่ไกล เพียงเพราะพอใจกับตำแหน่งของตัวเองอยู่แล้ว

และเธอก็เป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูง บางการกระทำหรือความต้องการในใจดูจะขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในใจได้ง่าย เช่น ตอนหนุ่มใหญ่มีท่าทีคล้ายจะจีบเธอในบาร์ของโรงแรม เธอไม่ต่อความยาวสาวความยืดด้วย แล้วตัดบทสนทนาขอกินข้าวต่อให้หมด แต่พอเขากลับไปวงเพื่อนที่โต๊ะอาหาร เหมือนเธอคิดอะไรได้ ขยับเสื้อผ้าใหม่ให้ดูเซ็กซี่มากขึ้น เดินกลับไปกระซิบข้างหูเขาแต่พูดเสร็จก็รู้สึกอายแล้วรีบเดินออกจากบาร์

ตัวตนของเธอเช่นนี้แหละเป็นปมใหญ่ในใจในเรื่องการเป็นแม่คนด้วย

 

 

เลด้าในวัยสาวคือคนเก่ง การนำเสนอผลงานวิชาการด้านวรรณกรรมของเธอเป็นที่ยกย่องของคนในวงการเดียวกัน มีศักยภาพที่จะเติบโตในสายวิชาการได้ไกลกว่านี้ แต่ในเวลานั้นเธอมีลูกสาวสองคนที่ต้องรับผิดชอบดูแล  สามีของเธอก็เป็นนักวิชาการคนเก่งเช่นกัน ทว่าแนวทางของครอบครัวนี้ดูเหมือนจะมอบหมายงาน ‘พ่อแม่’ ให้เลด้ารับผิดชอบเลี้ยงลูกเป็นหลัก

ตอนเหนื่อยมากๆอยากพัก ลูกก็กวน กวนในที่นี้ไมใช่กวนแบบน่ารักแต่กวนแบบที่ทำให้เลด้าเจ็บ หงุดหงิด รำคาญ เช่น ใช้หวีมาสางผมแรงๆ ตอนเธอหลับ หรือการที่ลูกสาวเข้าไปตบหน้าเลด้าไม่หยุด เลด้าเลยอารมณ์เสียมากขึ้นเรื่อยๆ

เราเห็นความล้าเหลือทนของเลด้าตอนลูกได้แผลที่นิ้ว ร้องไห้เสียงดัง เลด้าไปทำแผลให้ในขณะที่เธอกำลังยุ่งกับงาน แต่ลูกอยากให้แม่จูบที่แผล ร้องไห้ขอร้อง แต่เลด้าเหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไรนอกเหนือจากหน้าที่พื้นฐาน (ทำแผล) เธอกุมขมับ แยกไปอยู่มุมห้อง ปล่อยให้ลูกร้อง ทั้งสองคนกำลังรู้สึกแย่ไปคนละแบบ (ลูกโหยหาการทะนุถนอมจากแม่ แม่โหยหาเวลาสงบสุขที่จะได้พักเพื่อฟื้นฟูตัวเอง)

ภาพที่หนังฉายล้วนมาจากความทรงจำของเลด้า คือในบทบาทแม่ส่วนใหญ่ ล้วนเป็นความเหนื่อย ความน่าหงุดหงิด การถูกดูดพลังชีวิต การสูญเสียบทบาทส่วนตัวที่อยากจะเป็น

แต่นั่นเป็น ‘ภาพความทรงจำ’ เราไม่รู้ว่าความเป็นแม่ทั้งหมดเป็นเช่นนั้นจริง หรือเป็น perception ของเลด้าซึ่งความเหนื่อยล้าสั่งสมแล้วท่วมท้นจนสมองไม่จดจำช่วงเวลาดีๆได้เท่าช่วงเวลาที่แย่

คำพูดของเลด้าที่ส่งสัญญาณเตือนว่า ‘บทบาทแม่’ กำลังทำให้เธอแบกรับไม่ไหวคือ ตอนที่สามีโบ้ยให้เธอไปดูลูกที่กำลังร้องไห้เพราะเขากำลังติดพันงานสำคัญ ทั้งที่ควรเป็นคิวของเขาดูแลลูกตามข้อตกลง เลด้าต้องยอมผละงานส่วนตัวไปดูลูกแล้วตอบกลับไปว่า

“ฉันกำลังจะขาดใจตาย(suffocating)”

 

 

ในตอนหนึ่งที่ถูกถามว่า ขณะทิ้งลูกไปเธอรู้สึกอย่างไร แล้วเลด้าตอบว่า “ยอดเยี่ยม(amazing)” คือคำตอบที่เราจะเข้าใจคนคนหนึ่งก็ต่อเมื่อย้อนมองชีวิตและการแสดงออกที่ผ่านมา

การเป็นพ่อแม่คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นมาซึ่งเราทุกคนเลือกเมื่อเติบโต เป็นบทบาทที่เราไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ว่าจะรับไหวแค่ไหน ทุกคนล้วนเรียนรู้การเป็นพ่อแม่เมื่อมีลูก ดังนั้น ‘ระดับความพึงพอใจ’ ในชีวิตระหว่างการเป็นพ่อแม่ของแต่ละคนก็ย่อมต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมดุลชีวิตที่ถูกแบ่งไปจากเดิม ความเหนื่อยที่แปรผันตามความยาก-ง่ายของเด็กที่ต้องเลี้ยง หรือสภาพแวดล้อมกับเศรษฐกิจที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ

คนเป็นพ่อหรือเป็นแม่บางคนอาจมีความสุขกับการได้ทุ่มเท 100%ของชีวิตในแต่ละวันให้แก่การเลี้ยงลูก แต่บางคนไม่ได้มีความสุขกับ 100% ในชีวิตที่อุทิศให้ในบทบาทพ่อแม่ หลายคนต้องการแบ่งชีวิตเป็น % ของความเป็นส่วนตัว, %ของบทบาททางการงาน, %ของการเป็นคู่รัก ฯลฯ

และก็ไม่ได้แปลว่า ‘การอุทิศบทบาทพ่อแม่ 100%’ จะดีกว่าพ่อแม่คนอื่นๆที่แบ่ง %ให้บทบาทอื่นในชีวิต

เลด้าอาจพูดโผงผางว่าเธอรู้สึกยอดเยี่ยมตอนทิ้งลูกไป แต่หลายๆอย่างที่เหมือนตะกอนติดค้างมาจนวัย 48 ปี บวกกับบุคลิกประจำตัวจากที่เห็นมาก็ฟ้องว่าเธอน่าจะรู้สึกผิดตอนทิ้งลูกด้วยเช่นกัน

เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นเธอไม่พบทางเลือกอื่น

เลด้าจึงเป็นตัวแทนของแม่หลายคนที่เราเห็นภาพความสุขของการได้เป็นแม่ มีความยินดีในการอุทิศชีวิตให้แก่ลูก แต่ก็ต้องการมีชีวิตของตัวเอง มีความเหนื่อยล้าสิ่งสมที่อยากให้คนมาช่วยแบ่งเบาแต่ไร้คนเข้าใจ สามีของเธออาจเป็นสามีที่ดี แต่เมื่อเขาไม่สามารถเข้าถึงความเหนื่อย ไม่ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือจากในใจของเลด้า ไม่พยายามหาทางแบ่งเบาความหนักอึ้งที่กดทับภายในใจภรรยา

สุดท้ายเลด้าก็ตัดสินใจที่จะช่วยให้ตัวเองพ้นจากภาวะ “ฉันกำลังจะขาดใจตาย(suffocating)”


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!