The Little Mermaid ว่ายวนในวง woke (และแอนตี้)

-

The Little Mermaid ตกอยู่ในสถานการณ์ดราม่าเช่นเดียวกับหลายเรื่องในช่วงไม่กี่ปีนี้ที่กำเนิดขึ้นระหว่างวัฒนธรรม cancel culture กับการ woke 

หลายผลงานในอดีตตกเป็นประเด็นในปัจจุบัน เช่น หนึ่งในผู้สร้างซีรีส์ Friends ออกมาให้สัมภาษณ์ขอโทษที่ในตอนนั้นแทบไม่ได้คัดนักแสดงผิวสีให้มีบทบาทในซีรีส์ วรรณกรรมเด็กโดยผู้เขียนโรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งวางขายตั้งแต่ 50 ปีก่อน ถูกนำมาพิมพ์ใหม่โดยตัดคำศัพท์ที่มีความหมายส่อไปในเชิงเหยียดหรือแบ่งแยกหรือตีตรา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนยุคใหม่มากยิ่งขึ้น

หลายผลงานซึ่งกำลังสร้างใหม่ก็มีการดัดแปลงที่ฉีกภาพจำเดิมๆ เช่น สารคดี  Queen Cleopatra ซึ่งเลือกนักแสดงผิวสีมารับบทคลีโอพัตรา หรือล่าสุดดราม่าสุดฮอตย่อมไม่พ้น The Little Mermaid ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแอเรียลเป็นเงือกผิวสี แต่ยังมีความหลากหลายของเงือกที่เป็นนักแสดงเอเชียและแม่เลี้ยงผิวสีของเจ้าชายเอริค

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนเป็นตัวละครผิวสี (จากต้นฉบับเป็นผิวขาว) / เปลี่ยนเชื้อชาติตัวละคร (จากอเมริกันหรือยุโรป เป็นอินเดียน เม็กซิกัน เอเชีย ฯลฯ) หรือเปลี่ยนเพศ (จากชายเป็นหญิงหรือเป็น LGBTQ /Trans) จนถึงการเพิ่มบทบาทสตรีเข้าไปมากขึ้น ได้เกิดเป็นกระแสวิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อน

ฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงมีเหตุผลว่า เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็เป็นการดีที่เราจะแก้ไขสิ่งที่เคยสร้างปัญหา (การเหยียด การกีดกัน ฯลฯ) เป็นโอกาสที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ในสื่อ (ความหลากหลาย ฯลฯ) ซึ่งในอดีตเคยละเลย

แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการย้อนไปแก้ไขหรือเซ็นเซอร์ผลงานเก่าๆ ก็มีเหตุผลเช่นกันว่า นั่นคือความต่างของยุคสมัย การตื่นรู้หรือตัดสินคุณค่าทางศีลธรรมเพิ่งเปลี่ยนชัดเจนในยุคนี้ เราควรเคารพการนำเสนอของผู้สร้างสรรค์ผลงานในยุคนั้นซึ่งมีมาตรฐานศีลธรรมที่แตกต่าง เพราะการหยิบผลงานเก่าๆมาดัดแปลงคือการกระทำที่ศิลปินผู้สร้างงานในอดีตไม่ได้อนุญาตหรือรับรู้ 

ส่วนในแง่การสร้างงานชิ้นใหม่ๆ ที่ดัดแปลงจากผลงานในอดีตด้วยการใส่ความหลากหลายก็จะถูกฝ่ายแอนตี้มองว่าเป็นการยัดเยียดจนเกินไป

==================

The Little Mermaid (1)
=================

ถ้าคนทำหนังเปลี่ยนเรื่องราว สัญชาติ หรือสีผิวจาก “เหตุการณ์จริงหรือบุคคลจริง” โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนเลย อาจเรียกได้ว่า “การบิดเบือนประวัติศาสตร์” (แต่การบิดเบือนเพื่อความบันเทิงก็ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป)

แต่ถ้าตัวละครนั้นคือการสมมติ เช่น นางเงือกคือ “เรื่องแต่ง” 

การดัดแปลงให้ฉีกแนวจากของเดิมย่อมมีอิสระมากกว่า แต่ขึ้นกับว่าจะสามารถทำให้คนดูยอมรับได้หรือไม่ ทั้งนั้นการดัดแปลงแล้วเจอเสียงต้านไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลเหมือนกันหมด

– บางคนไม่ได้แอนตี้ด้วยสาเหตุของการเหยียดสีผิว แต่แอนตี้เพราะ “ถูกทำลายภาพจำที่ผูกพัน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่คนดูอยากให้ตัวละครหรือเรื่องราวที่ตัวเองรักได้รับการถ่ายทอดแบบเคารพต้นฉบับเดิม  

– บางคนแอนตี้เพราะความไม่หล่อไม่สวยของตัวละคร อันเนื่องมาจากมาตรฐานความหล่อสวยหรือ beauty standard ที่แต่ละคนมีในใจ

– และต้องยอมรับว่ามีบางคนแอนตี้เพราะในใจมีความเหยียดหรือกีดกันแบ่งแยกอยู่จริงๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาช้านาน

การถกเถียงประเด็นนี้จึงต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าเหตุผลที่จะหยิบยกมาเถียงกันตั้งอยู่บนพื้นฐานใด

แต่ในประเด็นของการยัดเยียดความหลากหลายที่ถูกพูดถึงมากในระยะหลัง หากย้อนไปดูหนัง ละคร หรือการ์ตูนเมื่อหลายสิบปีก่อนซึ่งมีการถ่ายทอดค่านิยม เชิดชูความดีงาม ฮีโร่ ฯลฯ พื้นที่เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเพศชาย ตัวละครผิวขาว จนเป็นความปกติที่คนดูเคยชิน 

ทั้งที่ในโลกปกติเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ บุคคลผู้สร้างความดีงามหรือตัวแทนของฮีโร่มีคนผิวสี คนชายขอบ LGBTQ ฯลฯ มากกว่าที่ปรากฏในสื่อ

การที่สื่อบันเทิงไม่มีพื้นที่ของพวกเขาเหล่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นความไม่ตั้งใจของผู้สร้าง แต่อีกส่วนก็ต้องยอมรับว่าในอดีตคือยุคสมัยของการเหยียดสีผิวรุนแรง ยุคของการเลือกปฏิบัติ ยุคที่ตัดสินว่าเกย์คือความผิดปกติ ฯลฯ ยุคสมัยเหล่านั้นย่อมกีดกัดพวกเขาออกไปจากสื่อบันเทิง

ยุคของการ woke และ cancel culture ซึ่งหลายคนมองว่า “ยัดเยียด” จึงอาจมองในอีกแง่ได้ว่าเป็นการจัดระเบียบสื่อใหม่ที่พยายามสร้าง “ความปกติใหม่” จากอดีตอันไม่เป็นธรรม เพราะไม่เคยให้โอกาสแก่พวกเขาเหล่านั้นในพื้นที่สื่อบันเทิง

ตัวอย่างของ The Little Mermaid คือส่วนหนึ่งในความพยายามรื้อสร้างประวัติศาสตร์บันเทิง ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นเด็กผิวสีที่อ่านนิทานหรือดูหนังมาหลายเรื่อง แต่แทบไม่ได้เห็นคนผิวสีเป็นฮีโร่ การรอสร้างฮีโร่ผิวสีจากการแต่งเรื่องใหม่ย่อมทำได้ แต่ไม่ได้มี impact หรือมีพลังเท่ากับการได้เห็น “หนัง/ละคร/ตัวละครในตำนาน” ที่เป็น “พวกเขา(เธอ)” กำเนิดขึ้นมา หรือหากมองในแง่ธุรกิจก็มองได้ว่า เป็นอีกผลพลอยได้ไว้ขายคนรุ่นใหม่ที่ woke มากขึ้น  

เช่นเดียวกับการให้ตัวละครนำไม่จำเป็นต้องขาวผอมเพรียวหรือหล่อสวยในแบบเก่าๆ ก็คือความพยายามสร้าง beauty standard ใหม่ๆ โดยไม่ต้องบีบให้คนดูต้องพยายามหล่อหรือสวยในกรอบที่คับแคบเดิมๆ

==================

The Little Mermaid (2)

==================

การไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสีผิวตัวละครก็เรื่องหนึ่ง การตัดสินว่าตัวละครไม่หล่อไม่สวยก็เรื่องหนึ่ง แต่จำเป็นต้องแยกว่านั่นคือคนละส่วนกับการตัดสินคุณค่าว่าหนังดีหรือไม่ดี  เพราะหากตัดประเด็นโต้เถียงดังกล่าวทิ้งไปก่อน The Little Mermaid คือหนังดี

ผู้กำกับร็อบ มาร์แชล เคยทำหนังเข้าชิงรางวัลหลายเรื่อง เช่น Chicago, Memoirs of a Geisha และมีผลงานหนังเพลง เช่น Nine, Into the Woods ดังนั้นการเลือกเขามากำกับ The Little Mermaid เวอร์ชันคนแสดงก็เรียกได้ว่าเลือกพ่อครัวมาปรุงอาหารเฉพาะทางได้ถูกคน ฉากเต้นฉากโชว์เทคนิคในหนังแพรวพราวชวนติดตามตลอด

การดัดแปลงเวอร์ชันใหม่นี้ทำให้ตัวละครดูมีเหตุมีผลยิ่งกว่าเดิม ทีมนักแสดงช่วยให้ตัวละครมีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจมากขึ้น  เช่น ฮาเวียร์ บาเด็ม ในบทพ่อของแอเรียลสามารถแสดงออกซึ่งความลึกของตัวละครให้เรารู้สึกคล้อยตามความสัมพันธ์พ่อ-ลูก หรือเมลิซซ่า แมคคาร์ธีย์ ซึ่งรับบทเออร์ซูล่า มีสีสันในมิติที่ต่างไปจากตัวร้ายในแอนิเมชัน  และการให้เสียงตัวละครสกัตเทิลของอควาฟินาก็ทำให้ทุกฉากที่ตัวละครนี้ปรากฏเพิ่มความกระฉับกระเฉงเฮฮาเสมอ 

และเมื่อหนังมีความลึก (ของเรื่องราว/ตัวละคร) เพิ่มขึ้นก็ช่วยกลบจุดด้อยในเวอร์ชันก่อน เช่นการที่แอเรียลตกหลุมรักเจ้าชายเอริคจนพยายามจะไปหานั้นไม่ใช่แค่เรื่องบ้าผู้ชายหล่อ แต่ทั้งคู่ยังมีบางอย่างในใจที่เชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายขึ้น (ความโหยหาอิสรภาพ) 

หนังเวอร์ชั่นนี้ยังเปี่ยมด้วยคุณค่าสำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ควรดูอย่างยิ่ง เพราะสะท้อนปัญหาจากการเลี้ยงเด็กในรูปแบบของการปกป้องมากเกิน (overprotection)หรือควบคุมคล้ายเผด็จการ (authoritarian Style)

อิสระอาจไม่ได้นำมาซึ่งสู่สิ่งที่ถูกเสมอไป แต่อิสระจะช่วยให้คนเติบโต ขอแค่เมื่อผิดยังมีพ่อแม่อยู่รอรับ เมื่อล้มยังกลับมาบ้าน อิสระนั้นก็จะยังอยู่ในครรลองที่พ่อแม่เป็นเสาหลักของลูก แต่หากอิสระไม่ได้เกิดขึ้นจากในบ้านแล้ว ธรรมชาติของเด็กเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะพยายามโหยหาจนต้องลักลอบหนีไปให้พ้นสายตาพ่อแม่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าอาจถูกมิจฉาชีพหรือคนไม่ดีชักจูงแบบเดียวกับที่เออร์ซูลาทำกับแอเรียล


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง:“ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!