ทองประกายแสดเป็นนวนิยายของ ‘สุวรรณี สุคนธา’ ประพันธกรสตรีที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งคนหนึ่งของไทย ผลงานของเธอได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จำนวนมาก หากนับเฉพาะเรื่องทองประกายแสด ในช่วงกึ่งศตวรรษ (พ.ศ.2517–2567) ก็ได้รับการผลิตเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์แล้วถึง 7 ครั้ง และทุกเวอร์ชันก็ได้รับความนิยมจากผู้ชม ภาพจำของทองประกายแสด ผู้เป็นตัวละครเอกฝ่ายหญิงจึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอด
สุวรรณีได้นำสำนวน ‘หญิงกินผัว’ มาผูกเป็นเรื่องราว โดยให้ทองดี หญิงสาวยากจน ปากร้าย ไม่กลัวคน และพร้อมจะเสี่ยงเพื่อเอาชีวิตรอด แต่มีความสวย และมีเสน่ห์ทางเพศยั่วยวนผู้ชายทุกคนที่อยู่ใกล้ให้หลงใหลและอยากได้มาครอบครอง ทองดีเป็นอย่างนี้ก็เพราะไม่เคยรู้จักความรักที่แท้จริง พ่อแม่แท้ๆ คลอดเธอแล้วก็ไม่เลี้ยงดู ไม่มีความผูกพัน ทองดีต้องอาศัยอยู่กับแม่บุญธรรมที่ปากร้าย และใช้ทองดีเยี่ยงทาส ข้าวแต่ละมื้อจึงแลกมากับหยาดเหงื่อของตน เมื่ออายุ 17 ปี เธอได้พบรักกับชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาเปลี่ยนชื่อให้เธอใหม่ว่าทองประกาย แต่ต่อมาไม่นานเขาก็จากเธอไปด้วยอุบัติเหตุ ปฐมบทแห่งชีวิตของ ‘หญิงกินผัว’ ก็เริ่มขึ้น จากนั้นทองดีก็มีชีวิตผกผัน ความงามของเรือนกายได้นำเธอเข้าสู่สังคมแบบใหม่ ท่ามกลางความฟุ้งเฟ้อ กามโลกีย์ ความรัก ความชัง และจบลงด้วยการมีคู่ มีความรัก แล้วเขาก็จากไป ที่เธอมีส่วนในการตายของผู้ชายที่ได้ชื่อว่า ‘สามี’ ทุกคน
ในวัยเด็ก ทองดีถูกบ่มเพาะด้วยความหยาบกระด้าง ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจาจากเตี่ยและแม่บุญธรรม เจ้าของร้านชำ เธอเลยไม่รู้จักความรักที่แท้จริง แม้แต่ความรักตนเอง ทองดีก็ยังไม่รู้จัก เธอจึงไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ดังจะเห็นได้จากการเป็นคนที่ไม่รู้จักอดทนในช่วงแรก แต่เมื่อความหยาบกระด้างครอบงำเธอ ก็ทำให้เธอปรับตัวดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด แล้วแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา
ประเด็น ‘ผู้หญิง’ ซึ่งสุวรรณีนำเสนอไว้ในเรื่องทองประกายแสดนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ในด้านประวัติวรรณกรรม นับว่าสุวรรณีเป็นนักเขียนหญิงชั้นนำที่กล้าเขียนถึงผู้หญิงในแง่ไม่ดี โดยที่ทศวรรษ 2510 นั้น ในท่ามกลางนวนิยายพาฝันที่ยึดครองตลาดบันเทิงคดีไทย ซึ่งมักเสนอนวนิยายตามสูตรสำเร็จ ว่าด้วยความเป็นผู้หญิงดี อดทน อดกลั้น และทำทุกอย่างเพื่อรักษาความดีไว้ให้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพรหมจารี ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้ผู้ชายยอมรับและแต่งงานด้วยในที่สุด การเป็นผู้หญิงที่ยังคงความบริสุทธิ์ไว้สำหรับชายคนรัก เป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งในวรรณกรรมและในสังคม แต่ทองดี นางเอกของสุวรรณีกลับทำทุกอย่างตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
ทองดีไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็น ‘นางเอก’ ในอุดมคติได้เลย ยกเว้นรูปโฉมโนมพรรณอันงดงามที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นคุณสมบัติเดียวที่ทองดีใช้เป็นอาวุธในการก่อร่างสร้างตัว แต่เรื่องกำพืด นิสัยใจคอ และการประพฤติพรหมจรรย์ ทองดีล้วนพร่องในเรื่องเหล่านี้ การสร้างทองดีให้เป็นตัวละครแหวกขนบการประพันธ์ในยุคนั้น จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในบริบทของสังคมไทยแล้ว การที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งปราศจากต้นทุนในชีวิต ยกเว้นความงาม จึงย่อมใช้ความงามให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ไม่ต่างจาก ‘นางเอก’ ซึ่งเป็น ‘ผู้หญิงดี’ ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองจากการเปลี่ยนนามสกุล โดยการแต่งงานกับผู้ชายที่เหมาะสม ร่ำรวย สร้างความสุขสบายให้แก่ตนเองและวงศ์ตระกูลได้ ทองดีก็ใช้อาวุธที่ตนมีอยู่ถากถางสร้างทางแห่งชีวิตด้วยการหาสามีที่พร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เป็นการหาสามีโดยปราศจากความรัก อาจมีความรักอยู่บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วก็เป็นแค่ความพึงใจ แม้ว่าผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตเธอจะเป็นถึงรัฐมนตรี ร่ำรวย เขาหลงรักเธอ โชคชะตาได้เปลี่ยนวาสนาเธอจากเมียน้อย ขึ้นมาเป็นเมียตีทะเบียนสมรส ทว่าเขาก็มาจากไป ทิ้งสมบัติมากมายไว้ให้เธอ แต่สุดท้ายสมบัติเหล่านั้นกลับไม่มีค่าเลย เพราะชีวิตของทองดีก็ยังปราศจากความรัก ความจริงใจจากคนอื่น เธอต้องจมอยู่กับความอ้างว้าง โดดเดี่ยว และทุกข์ทรมานแต่เพียงผู้เดียว
หากพิจารณาจากบริบทสังคมแล้ว สุวรรณีเขียนทองประกายแสดในทศวรรษ 2510 และได้รับความนิยมอย่างมาก เห็นได้จากใน พ.ศ. 2517 ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และทำให้ภาพของทองดีฝังอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอดเวลาห้าทศวรรษ การสร้างตัวละครให้เป็นหญิงกินผัวน่าจะมีนัยสำคัญบางอย่างที่ควรค้นหา
สังคมไทยในทศวรรษ 2510 คือยุคแห่งการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สังคมไทยต้องเผชิญความผันผวนของระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา ในกระแสแห่งการพัฒนานั้น คนชนบทละทิ้งไร่นามาเป็นกรรมกรขายแรงงานในเมืองใหญ่ เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด เกิดสลัมขึ้นหลายแห่งในเมือง คนชั้นกลางเริ่มแยกจากครอบครัวใหญ่ไปใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เกิดเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก คลับบาร์และสถานบันเทิงคาวโลกีย์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อสนองอารมณ์ทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพในเมืองไทยช่วงสงครามอินโดจีน ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการดิ้นรนแสวงหาเพื่อความอยู่รอดของคนไทยระดับล่างจนถึงชนชั้นกลาง
ทองดีก็เป็นหนึ่งในนั้น เธออาจไม่ได้ขายแรงงาน แต่ขายเรือนร่างและความงามที่ โชคชะตาทำให้เธอต้องละทิ้งชนบทเข้ามาเผชิญชีวิตในเมือง ผัวคนแรกตายไปเนื่องจากถูกรถชน จึงเป็นโศกนาฏกรรมแรกที่เธอประสบ ผัวคนต่อๆ มาเป็นคนในแวดวงสถานบันเทิงคาวโลกีย์ คนในวงการบันเทิง นักเลง แมงดา จนถึงรัฐมนตรี ผัวที่เธอ ‘กิน’ จนตายกลายเป็นเรื่องเล่าลือว่าเป็นคนกินผัว ก็คือนัยของการดิ้นรนในแต่ละช่วงของชีวิตนั่นเอง
ในเรื่องทองประกายแสด สุวรรณีได้สะท้อนแง่มุมอ่อนโยนของทองดี ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ทุ่มเทความรักเพื่อเด็กกำพร้าที่เธอเลี้ยงไว้เหมือนลูก ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่และความเป็นผู้หญิง แต่แล้วเด็กก็ถูกพรากไปอีก เธอไม่มีอะไรเหลือแล้ว ครั้นจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด กลับไปผูกสัมพันธ์กับแม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง สุวรรณีจบเรื่องให้ทองดีต้องอยู่กับความอ้างว้าง โดดเดี่ยว รู้สึกมืดแปดด้านเหมือนจนปัญญษไม่รู้จะหาทางออกได้อย่างไร
50 ปีล่วงผ่าน ทองดียังหาตัวตนไม่เจอ ยังคงอ้างว้างโดดเดี่ยว เช่นเดียวกับสังคมไทยที่ยังต้องแสวงหาประกายแสงสว่าง หาทางออกจากความมืดมนอยู่เช่นเดิม
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’
ภาพ: https://www.facebook.com/one31Thailand