The Flight Attendant เป็นซีรีส์สืบสวนผสมอารมณ์คอเมดี้จาก HBO
แคสซี่ บาวเดน (รับบทโดยเคลีย์ คูโอโค)เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เธอปิ๊งกับผู้โดยสารชื่อ อเล็กซ์ โซโคลอฟ นักธุรกิจหนุ่มหล่อซึ่งเดินทางคนเดียวไปลงกรุงเทพฯ ที่กรุงเทพฯ ทั้งคู่ออกเดต ตกหลุมรักกัน เมา มีเซ็กส์ รุ่งเช้าตื่นมาแคสซี่เจอว่าอเล็กซ์นอนเป็นศพข้างเธอ
แคสซี่จำอะไรไม่ได้เลย เธอทำอะไรไม่ถูก และถ้าตำรวจมาถึง เธอจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับ 1
แคสซี่จึงกลบเกลื่อนหลักฐานว่าเธอเคยมานอนที่นี่แล้วหนีไปจากจุดเกิดเหตุ แต่ปรากฏว่ากล้องวงจรปิดบันทึกภาพเธอไว้ได้ เอฟบีไอเริ่มเข้ามาสืบสวน แคสซี่จึงตัดสินใจหาคำตอบด้วยตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่เช่นนั้นพยานหลักฐานจะมัดตัวว่าเธอคือฆาตกร
แล้วสมองของแคสซี่ก็เริ่มเล่นตลกให้เธอค่อยๆ เห็นภาพวันเกิดเหตุฆาตกรรมผุดขึ้นเป็นช่วงๆ เป็นฉากสถานที่แล้วมีภาพหลอนของอเล็กซ์โผล่มาพูดคุยด้วย และนี่ก็เป็นลูกเล่นของซีรีส์ตั้งแต่ต้นจนจบ ที่เราจะเห็นอเล็กซ์ซึ่งตายไปแล้วโผล่มาเป็นตัวละครในจินตนาการของแคสซี่ คอยพูดคุยกับแคสซี่ เป็นเสมือนคู่หูช่วยสืบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น
แต่ยิ่งสืบไปก็ยิ่งบานปลาย เมื่อแคสซี่ค้นพบว่าตระกูลของอเล็กซ์เกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายระดับชาติ แถมมีหญิงลึกลับที่กำลังสะกดรอยตามหวังฆ่าเธอทิ้ง นี่ยังไม่นับว่าเพื่อนร่วมงานในสายการบินของเธอก็พัวพันกับจารกรรมความลับระดับชาติ
แคสซี่ซึ่งไม่ได้เก่งกาจอะไร เป็นแค่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แถมมีนิสัยติดเหล้าจนเมาสร้างปัญหาบ่อยๆ มีเพียงเพื่อนทนายคนเดียวที่จะช่วยเหลือให้เอาตัวรอดจากเคราะห์ร้ายครั้งนี้
==
The Flight Attendant ไม่ได้ซับซ้อนนักในแง่สืบสวน แต่ก็มีจุดหักมุมให้คาดไม่ถึงอยู่เป็นระยะ ที่เด็ดจริงๆ คือบทแคสซี่ที่ต้องกลายเป็นนักสืบมือสมัครเล่น
เคลีย์ คูโอโค นักแสดงหญิงที่รับบทนี้แจ้งเกิดในวงกว้างจากซีรีส์ The Big Bang Theory แคแรกเตอร์ของเธอใน The Flight Attendant ก็น่ารักในแบบที่แทบจะถอดการแสดงมาจาก The Big Bang Theory แต่บทของแคสซี่ที่เธอเล่นนั้นเริ่มมีความลึกมากขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่ซีรีส์ได้เฉลยวัยเด็กของแคสซี่
คนดูหลายคนอาจเบื่อนิสัยของแคสซี่ เพราะตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นว่าเธอเป็นเพื่อนที่มีนิสัยไม่น่ารักเท่าไหร่ แล้วหลายครั้งก็สนแต่เรื่องตัวเองจนลืมใส่ใจความรู้สึกของคนใกล้ตัว บวกกับการติดเหล้าจนเสียการเสียงาน สร้างปัญหามากมายหลังจากเมาแล้วไม่รู้ตัว พฤติกรรมดื่มของเธอเข้าข่ายเสพติด (alcohol dependence) แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา
แต่หากย้อนมองการเติบโตของแคสซี่ตั้งแต่วัยเด็ก เราก็จะเห็นว่าปัญหาของคนคนหนึ่งอาจถูกหล่อหลอมมาแล้วตั้งแต่เด็ก และแสดงออกชัดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เป็นการหล่อหลอมโดยไม่ได้ตั้งใจจากคนเป็นพ่อแม่ เช่น ปัญหาติดเหล้าของแคสซี่
แคสซี่เริ่มต้นกินเหล้า(เบียร์)ก็เพราะพ่อชวน ทั้งที่เธอยังเป็นแค่นักเรียน หลังจากนั้นเหล้าก็เหมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อ มันทำให้เธอกลายเป็นลูกชายที่พ่ออยากจะมี เพราะพี่ชายของแคสซี่เป็นเกย์ ไม่กินเหล้ากินเบียร์ มีบุคลิกขี้กลัว ตรงข้ามกับนิสัยลุยไหนลุยกันของแคสซี่
“เหล้า” จึงเป็นสื่อกลางที่ดีในการเชื่อมความสัมพันธ์ของพ่อกับแคสซี่ เป็นสื่อกลางที่ทำให้เธอรู้สึกได้ความรักและการยอมรับมากขึ้น
แล้ววันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุร้ายสะเทือนใจรุนแรง แทนที่เธอจะตระหนักว่าเหล้าคือต้นเหตุของปัญหา เธอกลับใช้เหล้าช่วยกลบเกลื่อนอาการทางจิตใจหลังตื่นตระหนก(ที่อาจจะเข้าข่าย PTSD หรือ post-traumatic stress disorder) แล้วก็ใช้เหล้าช่วยบำบัดความวิตกกังวลในชีวิตเรื่อยมา แม้พ่อจะจากไปแล้ว แต่เหล้าก็ยังเป็นสายสัมพันธ์เดียวที่เธอตัดไม่ขาดแล้วโยงสู่อดีตที่เธอคิดถึง
==
อีกประเด็นที่น่าสนใจระหว่างที่แคสซี่หลุดเข้าไปสืบสวนกับอเล็กซ์ในจินตนาการ คือการถูกกระตุกให้หวนทบทวนอดีต
เราจึงได้เห็นว่า ความทรงจำนั้นไม่ใช่ “ความจริง” เสมอไป ต่อให้เรามั่นใจว่าจำได้แม่นแค่ไหนก็ตาม เช่น หลายเหตุการณ์ที่แคสซี่จำได้ในวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสุขสันต์ที่มีแต่เรื่องดีๆ แล้วมีพ่ออยู่ร่วมด้วย แต่เมื่ออเล็กซ์บอกให้นึกใหม่ ลองนึกให้ดีๆ เธอย้อนทบทวนภาพอดีตตอนที่เธอแข่งขันกีฬาในโรงเรียนแล้วดีใจได้ชัยชนะ นั่นคือภาพที่พ่อเมาแล้วเข้าไปวุ่นวายกับการแข่งขันกีฬาในโรงเรียน ผลักเพื่อนของเธอที่วิ่งแข่งด้วยกันล้ม บังคับให้พี่ชายของเธอยอมแพ้ เพียงเพื่อให้เธอเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง
สมองของเธอไม่ได้เลือกจำ “พฤติกรรมเมาสุราแล้วสร้างปัญหาของพ่อ” แต่เลือกจำ “การดีใจของพ่อเมื่อเธอเข้าเส้นชัย”
หรือภาพที่เธอสนิทสนมกับพ่อตอนซ่อมหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวที่เธอไม่ได้จำว่าพ่อของเธอเหยียดหยามพี่ชายของเธอในเชิงว่าไม่แมนพอ พูดยกย่องเธอเสมือนว่าเป็นลูกชายที่พ่ออยากจะมี แล้วไม่ใส่ใจพี่ชายของเธอ เป็นการทำลายการนับถือตัวเอง (self esteem) ของพี่ชายเธอให้ย่อยยับ
สมองของเธอไม่ได้เลือกจำ “พฤติกรรมเลือกปฏิบัติ ลำเอียง รักลูกไม่เท่ากันของพ่อ” แต่เลือกจำ “ความเป็นลูกรักของพ่อ”
ตัวอย่างเหล่านี้บอกเราว่าบางเรื่องถูกลืมเมื่อเวลาผ่านไป สมองของคนเรามักเลือกจำบางเรื่องแล้วตัดทิ้งบางเรื่อง อคติที่ตัวเองมีและวุฒิภาวะในวัยเด็กที่ยังไม่เข้าใจโลกมากพอ (เช่น แคสซี่ที่ไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมของพ่อมีส่วนทำร้ายจิตใจพี่ชายอย่างไร ไม่สามารถสังเกตบาดแผลทางใจของพี่ที่เธอก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น) ล้วนมีส่วนบิดเบือนความจริงในอดีต แล้วค่อยๆ กลายเป็นความทรงจำซึ่งไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
===
The Flight Attendant อาจไม่เด่นด้านสืบสวนเมื่อเทียบกับซีรีส์แนวเดียวกัน แต่ความเบาสมองที่ผสมความน่ารักของ เคลีย์ คูโอโค รวมถึงลูกเล่นเก๋ๆ เช่น การแบ่งจอเล่าเรื่องตอนสืบสวนก็ช่วยพยุงให้สนุกได้จนจบ
ส่วนที่ดีที่สุดคือเหมาะกับคนที่สนใจศึกษาแง่มุมจิตวิทยาผ่านตัวละคร เพราะแคสซี่เป็นตัวอย่างของผู้ป่วยติดสุราที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ใช้เหล้าเป็นยาบำบัดจิตใจจนเกิดปัญหานับไม่ถ้วนก็ยังไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา ในขณะเดียวกันก็นำเสนอพัฒนาการด้านจิตใจที่นำไปสู่การติดเหล้า ตั้งแต่วัยเด็กได้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่าเพราะอะไรสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูจึงทำให้คนคนหนึ่งติดเหล้า
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)
All magazine กุมภาพันธ์ 2564