คงไม่มีช่วงชีวิตไหนที่ทำงานตัวเป็นเกลียวแต่เหลือเงินเก็บน้อยนิดเท่ากับช่วง “first jobber” หรือ 5 ปีแรกของชีวิตการทำงานอีกแล้ว
ค่าแรงเริ่มต้นส่วนใหญ่มักเป็นค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ได้เป็นแค่ขั้นต่ำ แต่ทำท่าจะขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ จำเป็นต้องปรับตัวหลายด้านเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น หากทำงานอยู่ในพื้นที่ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวก การมีรถยนต์ส่วนตัวก็เป็นเรื่องจำเป็น หรือย้ายที่อยู่อาศัยออกมาจากครอบครัวเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน
ช่วงแรกของชีวิตการทำงานจึงเต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายจิปาถะ ค่ากิน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง หากต้องช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัวด้วยก็จะยิ่งเหนื่อยหนัก เช่น ช่วยพ่อแม่ชำระหนี้ ให้เงินพ่อแม่ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งเสียน้องหรือญาติเพื่อการศึกษาต่อ
สิ่งสำคัญของการทำงานตามช่วงแรกในทัศนคติของผมจึงไม่อยู่ที่การเก็บออม เพราะด้วยค่าแรงเริ่มต้นกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ย่อมเป็นไปได้ยากที่เราจะสามารถมีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำ ยกเว้นในกรณีที่มีรายได้สูงตั้งแต่ต้น และเป็นคนที่ฐานะดีมีภาระน้อยอยู่แล้ว
เรื่องของ passive income ด้านต่างๆ เช่น รายได้จากการลงทุน รายได้จากการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงยังถือเป็นเรื่องสุดวิสัยในระยะนี้ เพราะเรายังไม่สามารถสะสมเงินเป็นก้อนพอจะไปลงทุนให้เห็นหน้าเห็นหลังได้ ระยะนี้ผมจึงให้ความสำคัญ active income มากกว่า
เราควรหาลู่ทางว่าเราจะสามารถเพิ่มรายได้โดยเร็วได้อย่างไรบ้าง เราอาจคิดทบทวนถึงการเติบโตในองค์กรเดิม การย้ายงาน หรือแม้กระทั่งหางานพิเศษเสริม ในระยะเริ่มงานนี้การพยายามลดค่าใช้จ่ายอาจทำได้ไม่เต็มที่ ต่างกับการหารายได้เพิ่มซึ่งน่าจะทำได้ง่ายกว่า เพราะเราเองก็ยังมีแรงและมีอายุไม่มาก
เราควรโฟกัสช่วงแรกของชีวิตการทำงานเพื่อให้เราสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เติบโตเร็ว และสร้างรายได้จาก active income จนถึงระดับที่สามารถหายใจได้คล่อง หักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้วก็ยังมีเงินเหลือเก็บเพื่อนำไปใช้ต่อยอด
กว่าเราจะมีเงินก้อนพอให้ลงทุนได้ ก็อาจต้องใช้เวลาสะสมไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ปี สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า ผมแนะนำเสมอว่าสิ่งที่ทำได้ตลอดเลยคือการลงทุนในความรู้ อ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนเป็นประจำ ติดตามข่าวเศรษฐกิจและข้อมูลการเงินการลงทุน
ผมแนะนำว่าให้มีพอร์ตลงทุนเล็กๆ ไว้เพื่อทดลองลงทุนจริงและศึกษาสภาพตลาด ไม่ต้องหวังผลงอกงามเติบโตมากนัก เพราะในระยะแรกที่ยังมีภาระเยอะ สิ่งสำคัญสุดคือการชำระค่าใช้จ่ายให้ครบ เหลือไว้บ้างพอเป็นสภาพคล่อง ยิ่งถ้ามีหนี้ที่ตกทอดมาจากครอบครัว ยิ่งต้องรีบปลดเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้มากเท่าที่จะทำได้
และเมื่อเราเก็บเงินได้พอจนสามารถนำไปลงทุนได้ เงินเก็บนั้นก็จะสร้าง passive income ให้เรามากอย่างเป็นกอบเป็นกำ หากถึงตอนนั้นเราอยากผ่อนปรนตัวเองจาก active income อันหนักหน่วงก็ย่อมทำได้ เพราะมีรายได้จากการลงทุนมาจุนเจือ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เริ่มลดลงแล้ว
การใช้ชีวิตช่วงที่เป็น “เดอะแบก” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
หากวางแผนการทำงานดีๆ วางแผนการเติบโตด้าน active income รวมถึงพัฒนาความรู้เพื่อหา passive income ด้วย เราก็จะมีโอกาสหลุดจากภาวะเดอะแบกได้เร็ว อีกทั้งมีเวลาและโอกาสมาทำอะไรตามที่ใจชอบใจรักได้บ้าง
แต่ถ้าเราไม่วางแผน เราอาจต้องอยู่ในภาวะเดอะแบกไปอีกนาน เนื่องจาก active income ไม่สูง ส่งค่าใช้จ่ายไปก้อนหนี้ก็ไม่ค่อยลด เงินเหลือเก็บแต่ละเดือนก็จำขัดจำเขี่ย และมีให้สะสมไม่มากพอเอาไปลงทุนจนกลายเป็น passive income เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินได้
ผมเองมีคนมาปรึกษาเรื่องเงินๆ ทองๆ อยู่เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจบใหม่ที่จับต้นชนปลายไม่ถูก เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท แต่ค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ มองหาทางไปในชีวิตไม่ออกเลย ไม่รู้จะทำหรือเริ่มต้นอย่างไรดี
ผมจะบอกว่าอย่างแรก ชีวิตเราแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ถ้าเรามีหนี้บ้านต้องช่วยพ่อแม่ก็ค่อยๆ ชำระไป แต่อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่พ่อแม่มีมรดกเป็นมากมายก่ายกองให้ แบบนั้นเราจะยิ่งเครียด และเหนื่อยกับการใช้ชีวิตยิ่งกว่าเดิม
เริ่มด้วยการวางแผนการเงินก่อนเลย
มองภาพตัวเองให้ออกว่าตำแหน่งของเราจะพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง ย้ำเตือนตัวเองไว้เสมอว่า 5 – 10 ปีแรกให้น้ำหนักแก่การสร้าง active income เยอะๆ แม้ทำงานที่เดียวแต่เน้นการเติบโตหรืออาจหารายได้พิเศษจากงานเสริมก็ได้ เร่งการชำระหนี้ให้ลดลงโดยเร็ว เริ่มจากดอกเบี้ยมากไปหาดอกเบี้ยน้อย มีเวลาเหลือก็ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเงินการลงทุน ไม่ต้องรีบ ค่อย ๆ สั่งสมความรู้
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้การใช้ชีวิตไม่ทุกข์ทรมานเกินไปนัก ต่อให้เราต้องรับภาระแบกหนี้ของครอบครัวไว้ แต่ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะปลดหนี้ได้หมดภายใน 5 ปีข้างหน้า แบบนี้เราก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความหวังมากขึ้น เห็นอนาคต รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะสิ้นสุด
สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของชีวิตตนเอง
คนเราต่างก็มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตแตกต่างกันไป หลายคนอาจท้อแท้ที่พอเริ่มทำงานก็ต้องเจอภาวะสารพัดแบก หนี้พ่อ หนี้แม่ แต่หากเราวางแผนดี เราก็จะมีโอกาสหลุดพ้นจากสภาพแบกจนหลังแอ่นนี้ได้ไว แต่ถ้าเราไม่วางแผน เอาแต่ตีตนก่อนไข้ สุดท้ายเราก็ยังต้องแบกอย่างเดิม ซ้ำร้ายไม่รู้จะต้องแบกไปถึงเมื่อไหร่อีกด้วย
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: “ลงทุนศาสตร์”