ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน

-

          ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน เป็นผลงานแปลของ “กอบชลีและกันเกรา” แปลจากนวนิยายที่มีชื่อเสียงก้องโลกเรื่อง The Alchemist ของ เปาโล  คูเอลญู  (Paulo Coelho, 1947–ปัจจุบัน)  นักเขียนชาวบราซิล  นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 80 ภาษา  พิมพ์เผยแพร่แล้วกว่า 65 ล้านเล่ม  นวนิยายเรื่องนี้ติดอันดับ  The New York Times bestseller มาเป็นเวลา 7 ปี ติดต่อกัน

 

หนังสือเล่มบางนี้เล่าเรื่องเด็กหนุ่มชาวสเปนผู้ต้องการเป็นนักเดินทางมากกว่าเป็นบาทหลวงดังที่บิดาของเขาต้องการ เขาจึงเลือกเป็นเด็กเลี้ยงฝูงแกะเพื่อจะได้ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ  ต่อมาเขาฝันถึงพีระมิดที่อียิปต์ถึง 2 ครั้ง  เขาจึงปรารถนาจะเดินทางไปตามความฝัน ทั้งที่ลังเลในตอนต้นแต่ลงท้ายเขาก็เดินทางไปตาม “สัญญาณ” ที่ได้รับ  แม้จะมีสิ่งขัดขวางทั้งด้านดีและร้ายจนเกือบทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจ  แต่ในที่สุดเด็กหนุ่มก็เดินทางไปถึงจุดหมาย ระหว่างทางเขาพบขุมทรัพย์แห่งชีวิตหลายอย่างและ ณ สุดปลายฝัน  เขาพบว่าขุมทรัพย์อยู่ไม่ไกลเกินตัวของเขาเลย

เรื่องย่อข้างต้นนี้คงไม่สปอยล์ผู้อ่าน  เพราะสาระของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง  แต่อยู่ที่คำพูดของตัวละครและประสบการณ์ระหว่างการเดินทางของเด็กหนุ่มกับสรรพสิ่ง

เรามักได้ยินคำพูดจากผู้มีประสบการณ์ว่า “จงเดินไปตามความฝันของตนเอง”  เพราะหลายคนมีฝันแต่ไปไม่ถึง  หรือทำความฝันตกหล่นระหว่างทาง  เปาโล คูเอลญู  เขียนนวนิยายเรื่องนี้เมื่อเขาอายุ 41 ปีและใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ก็เขียนจบ  ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าความคิดเชิงปรัชญาของเปาโลในการค้นหาตัวเองได้ตกผลึกจนสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่แหลมคมกระแทกใจ  เปาโลใช้กรอบของเรื่องเล่าถึงการเดินทางผจญภัยของตัวละครเอกซึ่งเป็นแนวนิยมแต่โบราณ  การเดินทางสู่โลกกว้างทำให้เห็นศักยภาพของมนุษย์  พลังของธรรมชาติ  และความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติกับสรรพสิ่ง  ในขณะเดียวกันยังเป็นการเดินทางสู่ข้างในจิตใจที่ทำให้เข้าถึงและเข้าใจตัวตนอีกหลายมิติด้วย

เปาโลเชื่อมั่นว่า  “มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่เพียงหนึ่ง  นั่นคือการสร้างชะตาชีวิตแห่งตน  ทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน และเมื่อเธอต้องการอะไรสักอย่าง  ทั่วทั้งจักรวาลจะดลบันดาลให้เธอสมปรารถนา” (น.36)  ประโยคนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญเพราะแม้ว่าในหนังสือจะกล่าวถึงโชคชะตาหรือชะตาลิขิต  พระหัตถ์พระเป็นเจ้า  อำนาจของพ่อมด แต่แท้ที่จริงแล้วพลังเหล่านั้นเพียง “ส่งสัญญาณ”  และประคับประคองให้เราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  แต่หากเราไม่ลงมือสร้างชะตาชีวิตด้วยตัวของเราเอง  ลิขิตใดก็ไร้ความหมาย   พลังแห่งความมุ่งมั่นของเราจะดึงดูดให้ทุกสิ่งในจักรวาลส่งพลังมาช่วยเหลือให้เราสมปรารถนา ในทางกลับกัน  หากเราท้อแท้หมดหวังขาดพลังใจ  จักรวาลก็จะหันหลังให้เราด้วย

คิดถึงตัวอย่างง่าย ๆ ในปัจจุบัน  พิษเศรษฐกิจและโรคโควิด-19 ทำให้มีคนตกงาน ขาดรายได้  แต่เมื่อคนตกอับคนนั้นพยายามสร้างอาชีพใหม่ตามสติปัญญาของตนเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด  ผู้คนที่ทราบข่าวและยังพอช่วยเหลือได้ต่างก็ช่วยกันสนับสนุนทั้งกำลังใจกำลังทรัพย์เพราะนับถือความเป็นนักสู้ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้แก่เคราะห์กรรม

เปาโลมีความเห็นเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าว่า  เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ  มีสติรู้ตัวในทุกสิ่งที่กระทำ  เปาโลพูดผ่านปากชายขี่อูฐว่า  “เวลาผมกิน  ผมจะไม่คิดอะไรเลยนอกจากกิน  เวลาเดิน  ผมก็จดจ่อกับการเดิน  หากต้องสู้  ไม่ว่าจะตายวันนี้หรือวันไหนๆ ก็ดีเหมือนกัน…เพราะผมไม่ได้อยู่ในอดีตหรือในอนาคต  ผมมีเพียงปัจจุบันเท่านั้น  และปัจจุบันนี่แหละที่ผมสนใจ หากคุณอยู่ในปัจจุบันได้ตลอดเวลา  คุณจะเป็นคนที่มีความสุข  คุณจะรู้ว่าในทะเลทรายมีชีวิต  และบนท้องฟ้ามีดวงดาว และเหตุที่นักรบต่อสู้กันนั้นก็เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์  ชีวิตจะเป็นงานเลี้ยง  เป็นเทศกาลใหญ่ เพราะชีวิตคือช่วงเวลาที่เราอยู่เดี๋ยวนี้เท่านั้น” (หน้า 92)  ดังนั้นช่วงเวลาที่เราอยู่กับปัจจุบันคือช่วงเวลาที่เราได้ชื่นชมชีวิตอย่างแท้จริง ทั้งด้านดีและด้านร้าย   เพราะอดีตอาจทำให้เราเสียดาย  ส่วนอนาคตอาจจะทำให้เราผิดหวัง

ในระหว่างการเดินทางท่องโลก  เราอาจพบสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย  แต่เราต้องไม่ลืมพันธกิจของชีวิต  เคล็ดลับแห่งความสุขคือการรักษาความสมดุลนั้นไว้ เฉกเช่นเด็กเลี้ยงแกะได้เรียนรู้ว่าเขาต้องเดินชมความงามของธรรมชาติและงานศิลปะในปราสาทโดยไม่ทำน้ำมัน ๒ หยดในช้อนหล่นหายไประหว่างความรื่นรมย์นั้น  (น.44)  เมื่อเด็กเลี้ยงแกะโดนหลอกเอาเงินไปหมด  เขาโศกเศร้าจนร้องไห้ต่อว่าพระเจ้า  แต่แล้วเด็กหนุ่มก็กลับมีศรัทธาเมื่อคิดได้ว่าในความหม่นหมอง เขาพบโลกใหม่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยพบพาน “เขารู้สึกว่าเขาอาจมองโลกอย่างเหยื่อขโมยที่น่าสงสาร  หรืออย่างนักผจญภัยที่กำลังค้นหาขุมทรัพย์ก็ได้” (น.54)  ดังนั้นแม้ว่าอุปสรรคเกือบทำให้เด็กเลี้ยงแกะถอดใจไม่อยากเดินทางสู่เป้าหมายปลายฝัน  แต่เขาก็พบคุณค่าของตนเอง  พบศักยภาพของตนในการทำสิ่งที่ไม่เคยทำ  พบว่าความรักไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความฝัน  เพราะความรักที่ไม่ครอบครองกลับเป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังยิ่ง  เขารู้จัก “ภาษาสากล” ที่ทำให้เขาเข้าใจอากัปกิริยาของสัตว์  เสียงลมพัด  แสงอาทิตย์ที่สาดส่อง   ท่าบินของนก  บทสนทนาของทะเลทราย  จนในที่สุดเข้าใจ “จิตของโลก” เพราะสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียวและพูดภาษาเดียวกัน

ผู้เขียนกล่าวถึงหลายสาเหตุที่ทำให้คนหลายคนถอดใจไปไม่ถึงฝั่งฝัน  บางคนกลัวสูญเสียสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว  เช่น เมื่อเด็กเลี้ยงแกะหาเงินได้มากจนสามารถซื้อแกะฝูงใหญ่ และเขาพบคนรัก  จึงคิดอยากกลับบ้านแทนการเดินทางข้ามทะเลทรายไปถึงพีระมิด  หรือพ่อค้าขายเครื่องแก้วเจียระไนที่ต้องการเดินทางไปเมกกะแต่ไม่ยอมทิ้งธุรกิจการค้าที่กำลังรุ่งเรือง  จึงทำได้แต่เพียงเก็บความฝันไว้หล่อเลี้ยงใจ บางคนกลัวความล้มเหลวผิดหวังซึ่งเจ็บปวดกว่าไปไม่ถึงฝัน  เช่น นักเขียนชาวอังกฤษที่เขียนหนังสือถึงการเล่นแร่แปรธาตุ  แต่ไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวความผิดหวัง  หรือแม้แต่พ่อของเด็กเลี้ยงแกะก็มีความฝันที่ไปไม่ถึง  เขาจึงสนับสนุนให้บุตรชายเดินทางตามฝันที่ตัวเขาไม่อาจทำได้

นวนิยายเรื่องนี้ตั้งชื่อว่า The Alchemist แปลว่านักเล่นแร่แปรธาตุ  ตัวเรื่องกล่าวว่าสิ่งที่เป็นข้อค้นพบยิ่งใหญ่ของนักเล่นแร่แปรธาตุ คือ น้ำอมฤต และ ศิลานักปราชญ์    น้ำอมฤต คือ ความเป็นอมตะ เอาชนะความตายซึ่งเป็นธรรมชาติของโลก  ส่วนศิลานักปราชญ์ คือ ความสามารถในการเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำ  ทั้งสองอย่างนี้คือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  และเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  ดังนั้นเด็กหนุ่มจึงบอกว่า “ด้วยเหตุนี้จึงมีศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุ  เพื่อให้แต่ละคนได้ค้นหาขุมทรัพย์ของตนเองและได้พบมัน  แล้วหลังจากนั้นก็อยากเป็นคนที่ดีกว่าที่เคยเป็นมา  ตะกั่วจะทำหน้าที่ของมันตราบจนโลกไม่ต้องการตะกั่วอีก  หลังจากนั้นมันต้องแปรตัวเองเป็นทองคำ  พวกนักเล่นแร่แปรธาตุทำสิ่งนี้  พวกเขาแสดงให้เห็นว่าเมื่อคนเราพยายามจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราก็จะดีขึ้นเช่นกัน” (น.152) และ “…แผ่นดินที่เราอาศัยอยู่จะดีขึ้นหรือเลวลงก็ต่อเมื่อพวกเราดีขึ้นหรือเลวลง  ตอนนั้นเองที่อานุภาพของความรักเข้ามามีบทบาท  เพราะเมื่อเรามีความรัก  เราจะอยากดีกว่าที่เราเป็นอยู่เสมอ” (น.153)

เปาโลเรียกผลงานเรื่องนี้ของเขาว่า “นวนิยายสัญลักษณ์”  ทุกสิ่งที่กล่าวถึงในเรื่องไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์แห่งซาเล็ม  นักเล่นแร่แปรธาตุ  พีระมิด ก้อนหินอูริมทุมมินซึ่งมีสีดำและสีขาว  รวมทั้งนิทานแทรกหลายเรื่อง  ล้วนสื่อความหมายให้เห็นว่าในท่ามกลางความยากลำบาก  อุปสรรคที่บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ  มนุษย์ต้องมีศรัทธาและความมุ่งมั่นที่จะบรรลุความใฝ่ฝันของตนด้วยตนเองเท่านั้น หมอดูยิปซีไม่อาจบอกเด็กหนุ่มถึงวิธีทำความฝันให้เป็นจริง  ก้อนหินอูริมทุมมิมไม่ตอบคำถามว่าเด็กหนุ่มจะพบขุมทรัพย์หรือไม่  ทะเลทราย  ลม และพระอาทิตย์ไม่สามารถแปลงร่างเด็กหนุ่มให้กลายเป็นลมตามคำขอได้  แต่แนะนำให้เขาขอจาก “มือที่ลิขิตทุกสิ่งทุกอย่าง”   ดังนั้น  ความใฝ่ฝันอันไม่น่าจะเป็นไปได้สามารถเป็นได้ด้วยน้ำมือของเราเอง   ดังคำสนทนาระหว่างเด็กเลี้ยงแกะกับชายชรา  กษัตริย์แห่งซาเล็มว่า

“เรื่องโกหกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคืออะไรหรือ”  เด็กหนุ่มถามอย่างแปลกใจ

            “ก็ที่ว่าในบางช่วงชีวิตคนเราจะสูญเสียการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและชีวิตเริ่มถูกกำหนดโดยโชคชะตา  นี่เป็นเรื่องโกหกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก”  (น.32)

 


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!