The 8 show เกมจำลองโลกทุนนิยม

-

The 8 show เกมจำลองโลกทุนนิยม

ความสำเร็จระดับโด่งดังทั่วโลกของ Squid Game น่าจะทำให้ซีรีส์ The 8 show ถูกนำไปเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติตั้งแต่อ่านเรื่องย่อเกี่ยวกับเกมที่คนกลุ่มหนึ่งถูกพามาอยู่ร่วมกันและมีเป้าหมายเป็นเงินรางวัลมหาศาล ทว่าในเกมนั้นๆ ก็มีความรุนแรงถึงตายด้วย

คน 8 คนถูกพามาส่งยังสถานที่ลับแห่งหนึ่ง มีห้องพักเป็นห้องเดี่ยวในตึกสูง 8 ชั้น แต่ละคนไม่รู้จักกัน ผู้มาถึงคนแรกๆ จะต้องเลือกหมายเลขบนบัตรที่วางไว้ตั้งแต่ 1-8 เมื่อเลือกแล้วก็จะได้อยู่ห้องบนชั้นตามหมายเลขบนบัตร เช่น หยิบเบอร์ 8 ก็จะได้ห้องบนชั้น 8

ไม่มีใครรู้ความแตกต่างของแต่ละชั้นในตอนต้น จนเมื่อทั้ง 8 คนมาครบถึงรู้

เกมนี้แก่นคือ ‘เวลา’ ทั้ง 8 คนมีเวลาที่ทางรายการกำหนดให้ใช้ร่วมกัน ขอแค่ใช้ชีวิตตามเวลาที่มีไปเรื่อยๆ ยอดเงินในบัญชีของแต่ละคนก็จะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติโดยไม่ต้องทำอะไร  เมื่อเวลากลางผ่านไปจนหมด รายการก็จบลง แล้วทุกคนก็ออกจากรายการพร้อมด้วยยอดเงินที่เพิ่มขึ้น

ขอเพียงแค่ไม่ตาย มีชีวิตไปเรื่อยๆ เงินในบัญชีของแต่ละคนก็จะเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง แต่ทริคของเกมคือบางกิจกรรมสามารถทำให้เวลากลางเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกคนอยู่ในรายการนี้ได้นานขึ้น นั่นหมายความว่าสามารถสะสมเงินที่เพิ่มไปไม่หยุดยั้ง ได้มากขึ้นเช่นกัน

เมื่อทั้ง 8 คนมาครบ แล้วทำความรู้จักกันจึงได้รู้ว่าแต่ละชั้นแตกต่างกันตรงความหรูหราและสะดวกสบาย ชั้น 8 ที่เป็นชั้นบนสุด เป็นห้องใหญ่ประมาณเพนต์เฮ้าส์ หรูหรากว่าใคร มองเห็นวิวกว้างใหญ ในขณะที่ห้องล่างๆ เป็นห้องเล็กๆ ไม่มีวิวภายนอกสวยๆ ไม่มีแม้แต่กระทั่งห้องส้วม มิหนำซ้ำเวลาอาหารกับเครื่องดื่มมาส่งก็จะผ่านชั้น 8 ก่อน และถ้าคนชั้น 8 ไม่แบ่งปันผ่านลิฟต์ส่งของไปข้างล่าง คนข้างล่างก็จะหมดสิทธิได้อาหารและน้ำ 

ข้อที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ‘อัตราเพิ่มของเงินในบัญชี’นั้นไม่เท่ากัน เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละชั่วโมง คนชั้นบนจะได้เงินเพิ่มมากกว่าคนชั้นล่างโดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมใดๆ 

==

The 8 show เป็นเสมือนการทดลองทางสังคม social experiment จำลองสังคมทุนนิยม ปัญหาของการจัดสรรทรัพยากร ผลกระทบจากกลไกที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรงจากบริบททางสังคมและจากกระบวนการทางจิตวิทยา

  • (ความโลภ) เพียงแค่ปล่อยเวลาให้หมดไป อยู่แบบกินๆ นอนๆ จนครบ 24 ชั่วโมง พวกเขาก็สามารถออกจากเกมไปพร้อมกับเงินก้อนโตโดยไม่มีใครต้องเจ็บตัว แต่ทุกคนต่างก็มีความโลภที่ไม่เท่ากัน เมื่อรู้ทริกในการยืดเวลา พวกเขาก็พยายามหาทางทำให้เวลายืดไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น นำไปสู่การทำงานเพื่อแลกเวลา นำไปสู่การต้องจัดสรรทรัพยากรยังชีพในแต่ละวัน ฯลฯ
  • (การจัดสรรทรัพยากร/ความเท่าเทียม) คำถามมากมายที่ตัวละครถามกันก็เหมือนคำถามในสังคม เช่น  เมื่ออาหารมีปริมาณจำกัด หมายเลข 1 ซึ่งเป็นคนร่างกายไม่สมประกอบและทำงานน้อยกว่าคนอื่น ควรได้รับการจัดสรรอาหารเท่ากับคนอื่นไหม คนทำงานหนักควรได้กินอิ่มกว่าคนทำงานน้อยหรือไม่ ฯลฯ
  • (การไร้ตัวตน ลดทอนการเห็นคนเป็นคน ลดทอน empathy) ทุกคนในเกมต่างก็ไม่รู้จักชื่อของอีกฝ่าย ทุกคนแทนตัวเป็นชื่อห้องตั้งแต่ 1-8 การไม่รู้จักตัวตนทำให้ลดทอนความเป็นคน แต่ละคนจึงกล้าแสดงพฤติกรรมใจร้ายมากขึ้นเพราะไม่ได้ตระหนักว่าคนอื่นก็มีความเป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจที่คล้ายกับตัวเรา มองเห็นแค่ตัวเลขและลักษณะเด่นที่แสดงออกมา
  • (ความเหลื่อมล้ำ):  เป็นปกติที่ทุกสังคมย่อมเกิดชนชั้นคนรวยกับคนจน แต่ความเหลื่อมล้ำจะทำให้ช่องว่างนั้นห่างขึ้น คนจนทำอย่างไรก็ยังจน ถึงออกแรงขยันมากกว่าคนรวยหลายเท่าก็ยังจน ในขณะที่คนรวยระดับบนๆ ของพีระมิดแม้ไม่ต้องทำอะไรก็ยังรวย กลไกของสังคมเช่นนี้จึงถูกจำลองมาเป็นกติกาของเกม คนอยู่ชั้น 8 จะทำงานน้อยหรือทำงานหนักก็ยังได้เงินเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าคนอื่นอยู่ดี ส่วนคนชั้น 1 ถึงจะทำงานหนักแค่ไหนก็ยังได้เงินเพิ่มน้อยกว่าคนอื่น
  • (ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำ) เมื่อคนชั้นบนๆ ที่รวยอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาพัฒนาการกินอยู่พื้นฐานเพราะอาหารดี ห้องน้ำดี เงินที่มีจึงใช้จ่ายไปกับความฟุ่มเฟือยหรือหรูหราในชีวิต ปัญหาเกิดขึ้นคือเมื่อต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน ผ่านในเรื่องที่ตัวละครทั้ง 8 ชั้นสามารถใช้ ‘เวลากลางที่มีของทุกคน’ เพื่อแลกซื้อข้าวของที่ต้องการ คนชั้นล่างๆ ต้องการใช้เงินไปซื้อข้าวของจำเป็นในการดำรงชีพ เช่น ทำห้องส้วมให้ดีขึ้น แต่คนชั้นบนๆ ไม่อยากเสียเงินตรงนั้น ทว่าอยากได้เงินไปใช้แลกความสุขอื่นๆ เช่น บุหรี่ , งานศิลปะ ฯลฯ เมื่อต้องใช้เงินร่วมกันก็เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น นั่นคือปัญหาเดียวกับในโลกความเป็นจริงเมื่อต้องวางแผนจัดสรรภาษีหรือทรัพยากร
  • (อำนาจ) หากคนชั้นล่างรวบรวมคนได้มากจนมีอำนาจเหนือกว่า การต่อรองก็จะง่าย แต่เมื่อชนชั้นบนกุมความได้เปรียบคือมีเงิน มีทรัพยากรเหลือเฟือ ก็ใช้มันเพื่อซื้อคนชั้นรองๆ ไว้ชนชั้นบนจึงสามารถกุมอำนาจได้เพราะและทรัพยากรมากกว่า เมื่อมีอำนาจครอบงำเนื่องจากพวกพ้องคอยสนับสนุน ก็นำไปสู่การ ‘กด’ คนชั้นล่างได้อย่างง่ายดาย

คนชั้นบนหากปราศจาก empathy หรือไม่สนใจคิดถึงความเท่าเทียม พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องแคร์คนข้างล่าง เพราะพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้โดยไม่นำพาความเดือดร้อนของคนข้างล่าง ตราบใดที่ยังสามารถควบคุมกำลังพล (คนสนับสนุนจากชั้นรองๆ), เงินทุน (อยู่เฉยๆ ก็มีเงินที่เพิ่มในบัญชีมากกว่าคนชั้นล่าง) และทรัพยากร (อาหารก็ต้องผ่านจากชั้น 8 ก่อน ฯลฯ) 

บทสรุปที่อาจสะท้อนปัญหาสังคมได้จาก The 8 show คือ ความรุนแรงที่ทวีขึ้นเรื่อยๆในแต่ละ episode ไม่ได้เป็นเพียงการพยายามตอบสนองความต้องการของคนดูหรือภาพสะท้อนกลไกจิตวิทยาของแต่ละคน (เช่น ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ฯลฯ) เท่านั้น

แต่ความรุนแรงยังเป็นทางออกและทางรอดของคนชั้นล่างที่หาทางปลดแอกจากความยากจน ความเจ็บปวด การถูกกดขี่เอาเปรียบ เป็นทางออกและทางรอดเดียวในกรณีที่คนชั้นบนไม่เคยเหลียวแลและไม่แคร์ความทุกข์ของคนที่จนกว่า เป็นผลพวงจากการเพิกเฉยที่จะปรับแก้กลไกอันเหลื่อมล้ำ ไม่เห็นความสำคัญของความเท่าเทียมที่ควรได้รับการปรับปรุง เช่นเดียวกับการปฏิวัติสังคมที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com ) ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!