คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ: เรื่องเล่า กลวิธีการเล่าเรื่อง และสัญญะ

-

เสียงบ่นเกี่ยวกับวรรณกรรมรางวัลซีไรต์แทบทุกปี คือ อ่านยาก  อ่านไม่รู้เรื่อง  อ่านแล้วเหนื่อย  ฯลฯ  รวมเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ  ซึ่งทำให้จเด็จ  กำจรเดช  เป็นนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์คนที่ห้า ก็สร้างความรู้สึกทำนองเดียวกัน  งานเขียนในลักษณะต้านโครงเรื่อง (anti-plot) มักทำให้คนอ่านจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะไม่ได้ดำเนินเรื่องตามขนบที่ต้องมีการผูกปมและแก้ปม ซึ่งประกอบด้วยความขัดแย้งและจุดวิกฤติอันพลิกชะตาให้ผกผันก่อนจะคลี่คลายไปสู่จุดจบเรื่อง  เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้อ่านรอบเดียวเอาไม่อยู่เพราะหลงเพลินไปกับเรื่องเล่าที่แทรกมาไม่ขาดระยะ

 

เรื่องสั้น 11  เรื่องในหนังสือเล่มนี้แทบทั้งหมดเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวถึงยาวมาก  มีทั้งเรื่องที่ลงพิมพ์ในนิตยสารมาแล้วและยังไม่เคยลงพิมพ์ที่ไหนเลย  เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวม  วรรณกรรมซีไรต์เล่มใหม่ล่าสุดนี้มีจุดเด่นน่าสนใจ  5-6ประการ  ดังนี้

  1. แสดงพลังของเรื่องเล่า โดยธรรมชาติแล้ว  คนเรามีเรื่องเล่าไหลเวียนอยู่รอบตัว  ลองนึกดูว่าวันหนึ่งๆ เราได้ฟังเรื่องเล่าจากใครต่อใครหลายเรื่อง ยิ่งอ่านสื่อโซเชียลก็ยิ่งรับรู้เรื่องเล่าอีกมากมายจนมึน  เป็นเรื่องจริงบ้าง  เรื่องโกหกบ้าง  เรื่องโม้บ้าง  เรื่องที่คิดสอดคล้องกันบ้าง  เรื่องที่เห็นต่างแล้วตอบโต้กันบ้าง  นี่คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงวิถีใหม่  นิยามของวรรณกรรมแต่เดิมคืองานเขียนที่นักเขียน “เลือก” เรื่องมาเล่า  โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์  นั่นคือกล่าวถึงเหตุและผลที่เกิดขึ้นตามมา  แต่เรื่องสั้นของจเด็จส่วนใหญ่มีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ซ้อนเรื่องเล่า และซ้อนเรื่องเล่า  จนไม่ต้องสปอยล์ผู้อ่านเพราะเล่าเรื่องย่อไม่ถูก เรื่องเล่าที่แทรกอยู่นี้มาจากความฝันบ้าง  มาจากเหตุการณ์ที่เกิดแก่ตัวละครบ้าง มาจากเรื่องที่ตัวละครได้ฟังมาบ้าง ฯลฯ  เรื่องเล่าย่อยๆ แต่ละเรื่องมีสีสันในตัวเองจนอาจทำให้หลงทิศ  ผู้อ่านต้องสกัดเฉพาะประเด็นที่จะช่วยประกอบสร้างเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องหลัก
  2. เล่นกับกลวิธีการเล่าเรื่อง ผู้แต่งใช้กลวิธีเล่าเรื่องหลายแบบเพื่อเน้นความเป็นเรื่องเล่า  ตัวอย่างเช่นเรื่องสั้น “ข่าวว่านกจะมา”  ใช้ผู้เล่าเรื่อง “เขาว่า”  ซึ่งเป็นคำติดปากในชีวิตจริงที่มีนัยของการหลีกเลี่ยงหรือไม่ยืนยันแหล่งที่มาแท้จริงของข้อมูล  อาจได้ฟัง “เขาว่า” มาจริงๆ  หรืออาจไม่อยากบอกว่าตัวเป็นคน “ว่าเอง” จะเป็นแบบไหนก็ตาม ตามหลักเหตุผลแล้ว ความน่าเชื่อถือของข้อมูลน่าจะลดลง  แต่เอาเข้าจริงข้อมูลจาก “เขาว่า” ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้นี้กลับแพร่ไปในวงกว้างจนคนส่วนใหญ่ปักใจเชื่อโดยไม่สนใจว่า “ใครว่า”  บางครั้งผู้ที่เป็นต้นตอของเรื่องอาจถูกสร้างเรื่องให้ใหม่จากลมปากของ “เขาว่า” เสียอีก  ดังที่ตัวละครในเรื่องสั้นนี้กล่าวว่า  “ผมต้องฟังเรื่องตัวเองจากคนอื่น  พวกนั้นรู้เรื่องของเราดีกว่าตัวเราอีก” (หน้า 138)   ยิ่งในยุคของการเสพข่าวสารออนไลน์  ข้อความที่  “เขาว่า”  ได้รับการกดไลค์กดแชร์จนแพร่ไปสู่วงกว้างเป็นเครือข่ายใยแมงมุม  เดิมเราพูดกันว่า “เขาว่าให้เอา 5 หาร”  เพื่อเตือนใจให้ตั้งสติให้ดีก่อนจะเชื่อข้อมูลใด  แต่ในยุคโซเชียลมีเดีย  หาร 5 คงไม่พอเสียแล้ว

การที่ผู้แต่งใช้ผู้เล่าเรื่อง “เขาว่า” จึงน่าจะมีเจตนาชี้ให้เห็นความจริงในความลวงและความลวงในความจริง  เรื่องที่ “เขาว่า” อาจมีความจริงอยู่ไม่น้อย  เช่นเดียวกันเรื่องที่ต้องย้ำบ่อยๆ ว่าเรื่องจริงนะ  ก็มีความลวงอยู่แน่นอน   เมื่อเราอยู่ในโลกที่ความจริงและความลวงชิดใกล้กันขนาดนี้  ก็ต้องใช้ สติ และ สัมปชัญญะ  ให้มากเพื่อแยกให้ออกว่าอะไรจริง  อะไรลวง

  1. สร้างสัญญะในการสื่อความหมาย เรื่องสั้นทั้ง 11  เรื่องเล่าเรื่องของคนและสัตว์ปนกันไป อีกทั้งสัตว์อาจ (คล้ายว่า) เป็นคนหรือสัตว์ชนิดอื่น  เช่น ปลาดุกกลายเป็นนกกระยาง (เรื่อง “นกกระยางโง่ๆ”)   หรือคนอาจเป็นสัตว์ เช่น  ผู้อพยพกลายเป็นนกนางแอ่น ( เรื่อง “ข่าวว่านกจะมา”)  การกล่าวถึงสัตว์ว่าเป็นคน หรือคนเป็นสัตว์ในลักษณะคล้ายภาพลวงตา เพราะนักเขียนต้องการใช้สัตว์เป็นสัญญะเพื่อเสียดเย้ยความเป็นมนุษย์
  2. ใช้แนวเรื่องหลากหลายแทรกปนอยู่ ทั้งเรื่องชีวิตครอบครัว  เรื่องผี  เรื่องผจญภัยในป่าดิบ  เรื่องไซไฟ  เรื่องโลกอนาคต  เรื่องประวัติศาสตร์การเมือง  สงครามในดินแดนอื่น และการเมืองในปัจจุบัน  ฯลฯ  เสมือนบอกกล่าวให้เห็นว่าเรื่องเล่าที่แท้จริงล้วนมีซุ่มเสียงและรสชาติหลากหลาย  อีกทั้งยังไหลเวียนสืบทอดเป็นสัมพันธบทอยู่ในเรื่องเล่าของไทย
  3. ใช้การเล่าเรื่องแบบเหนือจริง ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นทุกเรื่อง  ทั้งเรื่องเหนือจริงแบบนิทาน เช่น เป็ดมีไข่ทองคำ  (เรื่อง “มีเป็ดบนหลังคา”)  เรื่องเหนือจริงแบบนิยาย  เช่น เปรตภูตผี อาถรรพป่าดงดิบ  (เรื่อง “ปลดแร้ว”)  เรื่องเหนือจริงแบบตำนาน  เช่น  ปลาอานนท์ ( เรื่อง “สัปเหร่อรุ่นสอง” ฯ)  เรื่องเหนือจริงแบบสมัยใหม่  เช่น มิติคู่ขนาน  หุ่นยนต์โรบ็อตครองโลกอนาคต  เรื่องข้ามมิติเวลา  ข้ามชาติข้ามภพ  เป็นต้น
  1. ใช้วิธีของเมตาฟิกชั่นที่ผู้แต่งเล่าเบื้องหลังการแต่งหรือกำกับเรื่องที่กำลังแต่ง เช่น เรื่อง “สัปเหร่อรุ่นสอง” : เคล็ดลับทำเรื่องบ้านๆ ให้ฟรุ้งฟริ้งฟามิงโก  แบ่งเป็น 10 หัวเรื่อง  แต่ละหัวเรื่องกล่าวถึงกระบวนการสร้างเรื่องแต่ง  เช่น เปิดเรื่องให้ใหญ่  แอบล้ำยุคลงไปบ้าง  ชื่อและบุคลิกแปลกแต่อย่าประหลาด   เรื่องเหลือเชื่อให้ผ่านปากบุรุษที่ 3 ฯลฯ และมีข้อความบางตอนอธิบายการแต่งเรื่องว่า  “ถ้าเราจะเขียนเรื่องนี้  ลองเปลี่ยนจากฝ่ายถูกกระทำเป็นฝ่ายกระทำบ้าง  แต่จะใช้วิธีไหน…”  และ “พาเรื่องทั้งหมดใส่จรวดจุดระเบิดส่งไปดวงจันทร์   ตอนนี้น่าจะยากที่สุดของเรื่องเล่า  อธิบายว่าเหมือนการผูกเรื่องทั้งหมดเป็นการระดมทุนและกำลังสร้างจรวด  ตอนนี้คือช่วงที่จะจุดระเบิดส่งจรวดขึ้นฟ้า  เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดเดินทางเป็นเส้นตรง  อาจจะสะเปะสะปะไปอื่นแต่มันก็เดินทางมาที่สถานีปล่อยจรวดแห่งนี้  เรื่องเล่าต้องการจรวดสักลูก เพื่อดึงอารมณ์และความรู้สึกทั้งหมดขึ้นไป  มันอาจขึ้นถึงดวงจันทร์หรืออาจตกในชั้นบรรยากาศ  ทิ้งดิ่งลงมาในบทต่อไป” (หน้า 236 และ 246)

การใช้เรื่องเหนือจริงและการกล่าวถึงเบื้องหลังการประกอบสร้างเรื่องเล่าดังกล่าวข้างต้นเป็นกลวิธีของการเล่าเรื่องที่ใช้เพื่อไม่ให้ผู้อ่าน “อิน”  กับเรื่องที่เล่า  จนละเลยสารเนื้อหาและสารความคิดที่ผู้แต่งต้องการสื่อให้รู้

 

กล่าวโดยสรุป หนังสือรวมเรื่องสั้น  คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ  เป็นงานเขียนซึ่งยืนยันความเป็นวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ที่โดดเด่นล้ำหน้าในกลศิลป์ของการเล่าเรื่อง  คนที่อยากรู้ “เรื่อง” และรับ “รส” ต้องอดทนอ่านหน่อย  แต่คนที่ต้องการ “ความคิด” จะพบว่ามีอยู่ทั่วไปทั้งบนบรรทัดและระหว่างบรรทัด


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!