การบีบนวดคลายเส้นเพื่อบำบัดบรรเทาอาการปวดเมื่อยและโรคลมชนิดต่างๆ เป็นมรดกภูมิปัญญาที่บรรพชนได้บอกเล่าและบันทึกเป็นตำราสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนปัจจุบัน ตำราการนวดแผนไทยโบราณปรากฏในหนังสือสมุดไทยมีเก็บรักษาไว้ตามวัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกว้างขวางคือ จารึกตำรา “แผนนวด” วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน ซึ่งจารึกสรรพวิทยาการนวดแผนไทยพร้อมผังรายละเอียดการนวดไว้ถึง 60 ภาพ แสดงจุดคลายเส้นต่างๆ นับร้อยจุด
นั่นเป็นเรื่องตำราไทยโบราณที่เกี่ยวกับการบีบๆ นวดๆ แต่กระผมเชื่อว่ากระบวนการบีบนวดเพื่อคลายความปวดเมื่อยเป็นเทคนิคที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวและสำนักเรียนตามวัดวาอารามต่างๆ มาหลายร้อยปีแล้ว สมัยเมื่อยังไม่มีโรงเรียนสมัยใหม่ เด็กชายจะต้องไปอาศัยกินอยู่หลับนอนและเล่าเรียนหนังสือที่วัด แต่ละวัดที่เป็นสำนักเรียนมักมี “พระผู้เฒ่า” เป็นเจ้าสำนักหรือครูใหญ่ ส่วนศิษย์ทั้งหลายก็ต้องมีหน้าที่ปรนนิบัติดูแลครูอาจารย์ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) อธิบายถึงหน้าที่ของศิษย์ไว้ใน “โบราณศึกษา” ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ รัตนโกสินทรศก 115 ว่า
44 สิ่งที่ศิษย์จะต้องทำให้แก่ครูนั้น ยังมีอิกคือน้ำร้อน (น้ำชา) น้ำบ้วนปาก แลจีบพับผ้าสบงจีวรวางเก็บตามที่ด้วย
ฯลฯ
46 เมื่ออาจารย์ฉันแล้ว จงล้างทำชำระเช็ดถูให้สอาดเก็บไว้ตามที่ แล้วหาหมากฝาดๆ ตะบันถวาย (คำสอนนี้ว่าด้วยนักเรียนอยู่ประจำ แลท่านอาจารย์แต่ก่อนนั้น ให้เปนเราเดี๋ยวนี้เข้าใจได้ว่า อายุท่านตั้ง 70 ปี 80 ปี 90 ปีเปนแท้)
ภารกิจประจำที่ศิษย์ต้องปรนนิบัติอาจารย์คือ “บีบนวด” อย่างหนึ่ง
47 แล้วจึงนวดฟั้นอาจารย์ การนวดทีแรกนั้น จับฝ่าเท้าก่อนแล้วมาตามแฆ่งแลเรื่อยมาถึงขา แล้วเอาศอกปักตรงลงกลางฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง ว่าแก้ลมที่แน่นในทรวงอกให้หาย
48 การนวดต้นขาน่าแฆ่งนั้น ว่าเปนการเจริญกำลัง แลแก้ลมทั้งปวงด้วย แต่เกลียวเส้นข้างนั้น แก้จุกเสียดต้องลุกขึ้นเหนี่ยว (จะย่างเท้ายันตะโพกขวามือเหนี่ยวแขนซ้ายผ่านอกสอดมาใต้รักแร้นั้นหรือกะไร) ให้ค่อยๆ หน่วง ด้วยว่าแน่นทรวงสว่าง แลใจฅอเบิกบานดี
49 ให้นวดไคลตามสันหลัง แล้วเรื่อยมาตามต้นฅอแก้เส้นเอ็นหดย่นย่อให้คลี่กระจายแตกออกไปได้ ตลอดถึงเส้นเหนี่ยวหัวใจ เส้นกระไสเส้นสันดานเส้นปัตคาด ทำให้สท้านร้อนหนาว แลจุกอกให้คลื่นเหียนหาย
50 ค่อยๆ ไคลนวดไปแก้เส้นอาเจียน แลลมหาวเรอคลื่นเหียนลมวิงเวียน ลมมืดหน้ามัวตา ลมแสบในอกลมพัดลำไส้แลลมกล่อนมีอาการให้รุ่มร้อน ลมกลุ้มวิญญาณ ให้ค่อยนวดฟั้นไปกว่าท่านจะหลับ
กระผมคัดลอกตามอักขรวิธีต้นฉบับซึ่งท่านผู้อ่านอาจไม่คุ้น จะเห็นว่าท่านสอนเทคนิควิธีนวดพื้นฐานให้ศิษย์ปรนนิบัติครูอาจารย์ จึงอาจกล่าวได้ว่าศิษย์วัดครั้งกระโน้นทุกคนมีความรู้วิชานวดแผนไทยและนวดเป็น วิธีนวดตามที่ว่านั้น หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ) ท่านอธิบายขยายความมาจากหนังสือแบบเรียนโบราณมณีจินดา หรือประถม ก กา หัดอ่าน ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ไว้ ดังนี้
๏ ฉันแล้วเสร็จสรรพ เช็ดล้างลำดับ ไว้วางกับที่
เภสัชตะบัน ที่อันดีๆ หมากฝาดอันมี ที่ดีตำถวาย
๏ แล้วนวดบาทา นวดแข้งนวดขา ให้ท่านสบาย
ปักศอกตรงลง ฝ่าตีนขวาซ้าย แก้ลมทั้งหลาย คลายแน่นในทรวง
๏ นวดให้ได้แรง ต้นขาหน้าแข้ง แก้ลมทั้งปวง
เกลียวเส้นข้างจง จดลงเหนี่ยวหน่วง สว่างแน่นในทรวง ดวงจิตต์คลี่บาน
๏ นวดหลังต้น ฅ เส้นเอ็นย่นย่ ให้คลี่แตกฉาน
เส้นเหนี่ยวหัวใจ กระสายสันดาน ปัสสะคาตสะค้าน จุกอกให้เหียน
๏ ค่อยนวดค่อยคลำ ขยี้ขยำ แก้เส้นอาเจียน
ลมหาวลมเรอ ลมชะเออลมเหียน ลมวิงลมเวียน มืดหน้ามัวตา
วิธีนวดตามที่กล่าวในโบราณศึกษาและแบบเรียนมณีจินดาเป็นการอธิบายเบื้องต้นสำหรับศิษย์นำไปนวดฟั้นอาจารย์ ส่วนตำราอย่างพิสดารนั้นปรากฏในจารึกตำราแผนนวดวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งท่านจำแนกเป็น “แผนนวดคว่ำ” คือนวดด้านหลัง และ “แผนนวดหงาย” คือนวดด้านหน้า บอกจุดกดจุดนวดบำบัดบรรเทาอาการไว้อย่างละเอียด
วันนี้มีสถานบริการนวดแผนไทยเกิดขึ้นมากมายเป็นอาชีพหนึ่งอันเนื่องมาจากภูมิปัญญาบรรพชน แต่จะมีสถานบริการใดบ้างที่ยังรักษาเทคนิคพื้นฐานจากแบบเรียนดั้งเดิม
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรอนันต์