หมัดๆ มวยๆ

-

หมัดๆ มวยๆ

มวยไทย เป็นกีฬาการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก สถานที่แข่งขันสมัยโบราณเรียกว่าสังเวียน (สัง+เวียน) หมายถึงขอบเขตที่กำหนดสำหรับการต่อสู้ ซึ่งคู่ต่อสู้จะต้องวนเวียนอยู่เฉพาะบริเวณที่กำหนด ก่อนการแข่งขันต้องมีการ ‘เปรียบมวย’ จับคู่มวยที่มีขนาดร่างกายไล่เลี่ยพอฟัดพอเหวี่ยงกันได้ อันเป็นที่มาของคำว่า ได้เปรียบเสียเปรียบ

กีฬามวยเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมไทยมาช้านาน หากมีเทศกาลงานบุญหรืองานฉลองสมโภชที่เป็นงานใหญ่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น งานวัด งานไหว้พระ มหรสพกีฬาที่มักจะจัดให้มีคือ ‘ชกมวย’ ในเมื่อการชกมวยเป็นกีฬายอดนิยม จึงทำให้บรรดาชายชาตรีครั้งกระโน้นต่างฝึกฝนฝึกหัดวิชาหมัดมวย ซึ่งนอกจากจะเป็นวิชาป้องกันตัวยามคับขันแล้ว ยังมีโอกาสเปรียบ ‘มวยงานวัด’ ได้เงินค่าตัวและหากชกชนะก็จะมีชื่อเสียงเป็นที่ยำเกรงของบรรดานักเลงร่วมยุค

นักมวยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์ไทยคงไม่มีใครเกินสมเด็จพระเจ้าเสือ (พระสรรเพชญ์ที่ 8) พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเชี่ยวชาญการหมัดมวยมาตั้งแต่ยังทรงเป็นมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นออกหลวงสรศักดิ์ ทรงเปรียบมวยชกในงานวัดอยู่เนืองๆ ครั้นได้ทรงครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังปลอมพระองค์ไป ‘ชกมวยงานวัด’ ฝีไม้ลายมือหาผู้เสมอมิได้ ความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีว่า

“…ณ บ้านประจันต์ชนบท แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เพลาพรุ่งนี้ชาวบ้านทำการฉลองพระอารามมีการมหรสพงานใหญ่ จึ่งมีพระราชดำรัสว่าแต่เราเป็นเจ้ามาช้านาน มิได้เล่นมวยปล้ำบ้างเลยแลมือก็หนักเหนื่อยเลื่อยล้าช้าอ่อนไป เพลาพรุ่งนี้เราจะไปเล่นสนุกชกมวยลองฝีมือให้สบายใจสักหน่อยหนึ่งเถิด”

ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าเสือก็ ‘ปลอมพระองค์’ เป็นราษฎรสามัญ เสด็จพร้อมด้วยข้าหลวงคนสนิท 4-5 คน ไปยังวัดที่มีงานแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แจ้งแก่คณะกรรมการจัดงานว่ามี ‘มวยกรุง’ คือนักมวยฝีมือจากกรุงศรีอยุธยามาชกชิงเดิมพันด้วย

“…นายสนามจึ่งให้แต่งตัวเข้าทั้งสองฝ่ายแล้วให้ชกกันในกลางสนาม จึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลคนมวยผู้นั้นก็เข้าชกชิงกันแลกัน แลฝีมือทั้งสองฝ่ายนั้นดีทัดกันพอแลกลำกันได้ มิได้เพลี่ยงพล้ำแก่กัน แลกำลังนั้นก็พอก้ำกึ่งกันอยู่ แลคนทั้งหลายซึ่งดูนั้นก็สรรเสริญฝีมือทั้งสองฝ่าย แลให้เสียงฮาติดกันไปทุกนัด แลคนมวยผู้นั้นบุญน้อยวาสนาก็น้อย แลเข้าต่อสู้ด้วยสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าอันกอปรด้วยบุญญาภิสังขารบารมีมาก แลกำลังบุญวาสนานั้นข่มขี่กันอยู่ ครั้นสู้กันไปได้ประมาณกึ่งยกก็หย่อนกำลังลง แลเสียทีเพลี่ยงพล้ำถูกที่สำคัญถนัด เจ็บป่วยถึงสาหัสเป็นหลายนัด ก็แพ้ด้วยบุญญานุภาพในยกนั้น จึ่งนายสนามก็ตกรางวัลให้แก่ผู้ชนะนั้นบาทหนึ่ง ให้ผู้แพ้นั้นสองสลึงตามวิสัยบ้านนอก แลเหล่าข้าหลวงนั้นรับเอาเงินรางวัล จึ่งดำรัสให้ข้าหลวงว่าแก่นายสนามให้จัดคู่มาเปรียบอีก แลนายสนามก็จัดหาคู่มาได้อีกแล้วให้ชกกัน แลคนมวยผู้นั้นทานบุญมิได้ก็แพ้ในกึ่งยก คนทั้งหลายสรรเสริญฝีมือพระหัตถ์มี่ไปแล้วว่ามวงกรุงคนนี้ฝีมือยิ่งนัก แลนายสนามก็ตกรางวัลให้เหมือนหนหลังนั้น แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พาข้าหลวงคืนมาสู่เรือพระที่นั่ง ค่อยสำราญพระราชหฤทัย…

กีฬามวยสมัยอยุธยาตอนปลายน่าจะเฟื่องฟูและมีนักมวยฝีมือดีจำนวนไม่น้อย แม้เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พม่ากวาดต้อนเชลยไทยไปยังกรุงอังวะ หนึ่งในเชลยไทยครั้งนั้นคือ ‘นายขนมต้ม’ ยอดนักชกไทยคนแรกที่ไปสร้างชื่อในต่างแดน ความในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีว่าดังนี้

“ฝ่ายพระเจ้าอังวะยังอยู่ ณะ เมืองย่างกุ้ง ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกษธาตุสำเรจ์แล้ว ให้มีการฉลอง จึ่งขุนนางพม่ากราบทูลว่า คนมวยเมืองไทมีฝีมือดียิ่งนัก จึ่งตรัสสั่งให้จัดหามาได้นายขนมต้มคนหนึ่ง เปนมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้มได้กันแล้ว ก็ให้ชกกันหน้าพระธินั่ง แลนายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึ่งยกก็แพ้ แล้วจัดคนอื่นเข้ามาเปรียบชกอีก นายขนมต้มชกพม่าชกมอญแพ้ถึ่งเก้าคนสิบคนสู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสรีญฝีมือนายขนมต้มว่า ไทมีพิศม์อยู่ทั่วตัว แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้คนเดียวชณะถึ่งเก้าคนสิบคนฉนี้ เพราะจ้าวนายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าจ้าวนายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุทธยา…”

หมัดๆ มวยๆ เป็นมหรสพยอดนิยมสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ปลายคลองสามเสน เมื่อพุทธศักราช 2348 มหรสพสมโภชพระอารามครั้งนั้นมีทั้งละครใน หุ่น ญวนหก โตล่อแก้ว และ ชกมวย ที่พิเศษคือ ‘มวยหญิง’ ดังความในเพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ตอนหนึ่งว่า

“ไทยโยนดาบญวนหกโตล่อแก้ว ทรงแลแล้วให้เปรียบมวยดูสูงหนา

รูปกลมแน่นแบนคล้ายละม้ายตา ครั้นได้บ่าบอกคู่ให้แต่งตัว

ใส่กางเกงเชือกคาดหมัดคาดรัตคด กันเท้าจดเท้าเหน็บค่อยยังชั่ว

ล่ำทะมึนทั้งคู่ดูน่ากลัว จับมงคลใส่หัวเข้าในวง

แกะเอาดินขึ้นขยี้ลงที่กระหม่อม เดินอ้อมราหูจรทำหยิบหย่ง

แล้วกระหยับย้ายมาให้หน้าตรง ตั้งมั่นแหย่ตัวลงเล่ห์เหลี่ยมละคร

ฝ่ายข้างหนึ่งลวงให้ชกยกเข่าปัด ยังเป็นทีมิถนัดก็หลอกหลอน

เขาซ้อมสอบหอบล้มตะแคงนอน ไม่ซ้ำผ่อนให้ลุกขึ้นตั้งเข้ามา

ครั้นเท้าตกชกเฉียดไปริมหู นักเลงดูร้องหุยหัวร่อร่า

หมัดซ้ายซ้ำตำถูกเข้าลูกตา เสียงคนฮาดังได้ยินถึงปลายบาง

ทิ้งรางวัลแล้วร้องเรียกมวยผู้หญิง ดูขันจริงทำแสยะแบะแบย่าง

เอาหมัดสั้นตีถองกันถูกปากคาง เลือดไม่แดงเหมือนน้ำฝางอย่างมือชาย

กอดคอฟัดสลัดล้มลงทั้งคู่ ผ้าบังอยู่จึ่งไม่เห็นเป็นเบี้ยหงาย

ถึงให้ทองก็ควรที่มิเสียดาย จึ่งเรียกเงินท้ายที่นั่งให้รางวัล”

มวยงานวัดจากเพลงยาวสะท้อนพิธีกรรมและความเชื่อของชาวหมัดมวยครั้งกระโน้น นอกจากตัวอย่างจากวรรณคดีและประวัติศาสตร์ที่ยกมาข้างต้น ยังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีและประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศพระบาทของสุนทรภู่ บทละครเรื่องอิเหนาในรัชกาลที่ 2 เป็นต้น


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!