“ผมสุรศักดิ์ ป้องศร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งไทบ้านเดอะซีรีส์ บริหารไทบ้าน สตูดิโอ, เซิ้งมิวสิค กำกับภาพยนตร์ไทบ้าน ภาค 1 ภาค 2.1, 2.2 ไทบ้านxBNK48, หมอปลาวาฬ และเป็นโพรดิวเซอร์สัปเหร่อครับ” ก่อนที่จักรวาลไทบ้านจะโด่งดังและกลายเป็นหนังทำเงินระดับร้อยล้านอย่างทุกวันนี้ สุรศักดิ์เคยถูกมองว่าบ้า ไอเดียของเขาบ้าเกินกว่าจะประสบความสำเร็จได้
ไทบ้านเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘โอม’ อวิรุทธ์ อรรคบุตร ใกล้เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เลยโทร.หาเพื่อนเก่าอย่าง ‘ศักดิ์’ ปรึกษากันว่าจะทำอะไรดีหลังเรียนจบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียการสร้างซีรีส์แนวอีสาน “ตอนนั้นซีรีส์ฮอร์โมนดัง เราก็อยากทำซีรีส์อีสานสไตล์บ้าง ยังไม่มีใครเคยทำด้วย เลยรวมแก๊งเพื่อน ผม โอม กัส (ศุภณัฐ นามวงศ์) จ๊อบ (บุญโชค ศรีคำ) อดีตกลุ่มเยาวชนกล้าลำดวน มาลงขันทำ ผมเป็นเสาหลัก เป็นตัวฟรี เพื่อนๆ ยังรับงานเสริมเล็กๆ น้อยๆ หารายได้ประทังชีวิตอยู่ แต่ผมทำบทไทบ้านอย่างเดียวนาน 2 ปี
“ช่วงเวลา 2 ปีนั้น ผมไม่รับงานเลย ทุ่มเทกับการปั้นโพรเจ็กต์นี้ เราอยากทำให้สุด ผมลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อดำรงชีวิตให้ได้ ใช้เงินเก็บจากการทำงานตั้งแต่ปี 1 ซึ่งแทบไม่เหลือ ยืมตังค์เพื่อนบ้าง พี่บ้าง โทรศัพท์ก็ไม่ใช้ โดนตัด กินข้าววันละมื้อคือมื้อเย็น นมกระป๋องเดียวก็อิ่มแล้ว นอนนิ่งๆ บนเตียง เพื่อจะได้ไม่ใช้พลังงานมาก เดี๋ยวหิว แล้วใช้สมองทำงานเป็นหลัก” เมื่อบทลงตัวแล้ว ก็ถึงเวลาต้องลงมือทำจริง ศักดิ์ก็ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปเจอโอมที่มหาสารคามเพื่อถ่ายทำ
แก๊งเพื่อนผู้ก่อตั้งลงขันกันคนละ 500 – 2,000 บาท แล้วเลือกซีนสำคัญๆ 20-22 ซีน เพื่อถ่ายทำเป็นตัวอย่างไปเสนอขายสปอนเซอร์ พร้อมกับเปิดเพจเฟซบุ๊ก Thaibaan Channel ด้วยงบประมาณอันจำกัด คอนเทนต์ซึ่งทำง่ายที่สุดคือ การโพสต์รูปนักแสดงที่สวมแคแรกเตอร์ในภาพยนตร์ แล้วเขียนแคปชั่น ผู้ติดตามเพจจะรู้จักลักษณะนิสัยตัวละครเหล่านี้ตั้งแต่ภาพยนตร์ยังไม่ออกฉาย ในขณะที่กระแสความนิยมในเพจไทบ้านก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคนกดไลก์ถึง 8 แสนคน แต่กลับไม่มีนายทุนรายใดยอมเป็นสปอนเซอร์ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เลย จนพวกเขาตัดสินใจถ่ายทำตัวอย่างภาพยนตร์เอง แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือภายในหนึ่งวัน มีคนดูมากถึงหนึ่งล้านวิว พวกเขาไม่รอช้าที่จะใช้ความสำเร็จนี้เป็นจุดขายแก่นักลงทุน แม้ศักดิ์จะมีผลงานทำสารคดี สกู๊ปข่าว MV กว่า 100 เพลง หนังสั้นกว่า 600 เรื่อง เคยชนะประกวดหนังสั้นระดับเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ทุน BU Creative เรียนฟรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีนายทุนรายไหนเชื่อมั่นในตัวเขาและโพรเจ็กต์ดังกล่าวเลย สุดท้ายพวกเขาเลยไปขอทุนจากเฮีย ‘โต้ง’สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ นักธุรกิจใหญ่ซึ่งเคยทำงานร่วมกัน เฮียโต้งให้ทุนทำหนัง 2 ล้าน จากยอดที่ตั้งไว้ 4 ล้าน พวกเขาต้องทำให้ได้ด้วยงบประมาณอันจำกัด
ปรากฏการณ์ไทบ้านฟีเวอร์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม “เราคิดแค่อยากทำหนังเข้าโรง ทำเสร็จก็ตื่นเต้น พอได้ฉายในโรงก็ตื่นเต้น แต่พอหนังประสบความสำเร็จแล้วจะทำยังไงต่อวะ นักแสดงและทีมงานบางคนเขาลาออกจากงาน ไม่เรียนต่อ มาอยู่กับเรา เราทิ้งไปไม่ได้ ก็ต้องทำต่อ จนเปิดบริษัท และวางโครงสร้างจักรวาลไทบ้านตั้งแต่ตอนนั้น เราไม่ได้ทำแค่หนัง เรายังเล่าเรื่องผ่านเพลงประจำตัวของตัวละคร ซึ่งสะท้อนมุมมองที่เราไม่มีเวลาเล่าในหนัง คนที่ดูหนังแล้วมาฟังเพลงจะได้อรรถรสมากขึ้น เลยทำมาเรื่อยๆ พร้อมกับการเกิดไทบ้านภาค 2.1, 2.2 และภาคอื่นๆ รวมถึงที่กำลังเป็นกระแสคือสัปเหร่อ
“สัปเหร่อ คือโพรเจ็กต์ที่คิดกันมา 7 ปีแล้ว ตั้งแต่ทำไทบ้าน ภาค 2 ตอนนั้นพล็อตจบที่ใบข้าวตาย เราก็แคสต์ลุงศักดิ์เพื่อมารับบทเป็นสัปเหร่อ แล้วเซียงอยากเจอใบข้าวมากๆ ก็ต้องถอดจิต ซึ่งต้องลงรายละเอียดกับเรื่องนี้มาก ด้วยความที่งานเริ่มเยอะ ต้องบริหารค่าย ต้องดูแลโพรเจ็กต์ต่างๆ ต้องแบ่งเวลาให้ครอบครัวด้วย และยังมีโพรเจ็กต์ส่วนตัวที่ซุ่มทำ เลยโยนโพรเจ็กต์นี้ให้ ‘ต้องเต’ ธิติ ศรีนวล เขาเป็นนักแสดงมาก่อน และฝึกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เขาเคยกำกับร่วมมา 2 เรื่องแล้ว มองว่าถึงเวลาให้เขากำกับเอง ผมก็ขยับไปเป็นโพรดิวเซอร์ ช่วยดูแลเรื่องบท ส่วนการถ่ายทำปล่อยเขาจัดการเลย”
โพรเจ็กต์ส่วนตัวที่สุรศักดิ์กำลังลงทุนลงแรง และเป็นอีกครั้งที่เขาโดนครหาว่า ‘บ้า’ นั่นคือการทำแอปพลิเคชันทำภาพยนตร์ “ระบบนิเวศของวงการหนังไม่เอื้อต่อคนทำงาน ยิ่งทำ ก็ยิ่งใช้ร่างกายเปลือง ทำไปแล้วก็ลุ้นว่ารายได้จะมากหรือน้อย โชคดีก็ได้เยอะ โชคไม่ดีก็ขาดทุน แล้วเราจะอยู่กับสภาพแบบนี้ไปทั้งชีวิตไหวเหรอ ผมจึงมีไอเดีย อยากทำแอปฯ ที่คลิกไม่กี่ครั้งก็ได้หนังของตัวเอง อาจลงทุนแค่ 199 บาท คนทำหนังจะได้มีเวลาไปเรียนรู้ชีวิต ไปทำอย่างอื่น ผมออกแบบมา 5-6 ปีแล้ว อีกประมาณ 4 ปีน่าจะเสร็จ ผมใช้หลักพุทธศาสนาช่วยออกแบบด้วย เพื่อเข้าใจตัวละครที่เป็นมนุษย์”
เราถามผู้ให้กำเนิดจักรวาลไทบ้านว่า อยากบอกอะไรตัวเองในวันที่ไทบ้านยังเป็นแค่ไอเดียในหัว “มึงก็สู้เนอะ ทุกคนมองผมว่าเป็นคนบ้า ผมก็สู้มาเรื่อยๆ จนตอนนี้จักรวาลไทบ้านไปต่อได้ไกลมาก คนยอมรับแล้ว อันที่จริงผมออกแบบไว้ 3 จักรวาลเชื่อมกัน แล้วเอาทุกอย่างมาบรรจบรวมกันในเรื่องเดียว ณ ปัจจุบันเราเดินทางไปได้แค่จักรวาลเดียว”
สุรศักดิ์ฝากถึงคนทำงานที่มีฝันด้วยว่า “พยายามทำให้ถึงที่สุดก่อน ถ้าสุดแล้วไม่ใช่ก็ไม่ต้องเสียดาย คิดอะไรได้ก็อย่ารีรอ ลองทำดูเลย ถ้าผมรีรอป่านนี้คงไม่ได้ทำ แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอา พยายามวางแผนให้ใหญ่ แต่ค่อยๆ ทำ”
ผู้กำกับหนังร้อยล้านกล่าวทิ้งท้ายให้น้องๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน “ใครที่มีฝัน มีอุดมการณ์ มีความคิด เหมือนๆ กับเราก็อยากให้มาจอยกัน มาร่วมมือกัน เราอยากได้คนเก่งมีวิสัยทัศน์ หรือแม้แต่นายทุน สปอนเซอร์ หากคิดอยากเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น อยากเชิญชวนด้วยเช่นกัน เพราะหนังแต่ละเรื่องที่เราทำก็สอดแทรกแง่มุมต่างๆ เช่น การทำนาแบบนักธุรกิจ การสร้างสโตร์ผัก”
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ