ไทหลงเป็นกลอักษรชนิดหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี ซึ่งเชื่อกันว่าใช้เป็นแบบสอนหนังสือไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงยังไม่แตก
แม้ว่าระยะนี้โรคระบาดร้ายแรงจะแผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก จนรัฐบาลท่านต้องประกาศห้ามการมั่วสุมชุมนุม ทว่ายังมีชาวเราผู้ใคร่ใจในวรรณคดีหอบหนังสือจินดามณีมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับกระผมถึงที่ทำงาน แลหนึ่งในประเด็นที่สนทนากันคือ เรื่องกลอักษร “ไทหลง” ซึ่งสหายชาววรรณคดีตั้งกระทู้ว่า ใครเป็นผู้คิดสูตรการถอดรหัสกลอักษรไทหลง เพราะเขาไปอ่านประชุมลำนำของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) มีข้อความว่า “…มีสูตรที่พระปิฎกโกศล (อ่วม) ทำไว้ในปทานุกรมว่า ดังนี้สำหรับให้จำตัวไทหลง…” ผู้คนก็เลยเข้าใจไทหลงเข้ารกเข้าพงไปว่า พระปิฎกโกศล (อ่วม) พระราชาคณะสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นผู้คิดสูตรสำหรับถอดรหัสกลอักษรไทหลง
กลในจินดามณีแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ กลบท และ กลอักษร กลบทเป็นการวางกลหรือรหัสของถ้อยคำที่ใช้ในคำประพันธ์ ผู้ที่จะถอดรหัสกลบทแต่ละชนิดต้องมีความแม่นยำในฉันทลักษณ์ ส่วนกลอักษรเป็นการวางกลหรือรหัสที่ตัวอักษรต้องมีสูตรเฉพาะสำหรับถอดรหัส เช่น วางรูปอักษรสลับที่อย่าง ฤาษีแปลงสาร ไทนับ อักษรเลขและไทหลง เป็นต้น
กลอักษรเป็นเรื่องซับซ้อน ผู้ที่จะถอนกลได้ต้องรู้วิธีถอดรหัสของกลแต่ละชนิด เช่น กลอักษรเลขใช้ตัวเลขแทนตัวอักษร ซึ่งในจินดามณีมีอยู่ถึง 4 ชนิด บางชนิดใช้ตัวเลขแทนทั้งพยัญชนะและสระ บางชนิดใช้ตัวเลขแทนเฉพาะสระ ไทหลงเป็นการใช้พยัญชนะตัวหนึ่งแทนอีกตัวหนึ่ง มีสูตรสำหรับถอดรหัสเรียกว่าสูตร ก ข้ ใหญ่
กลอักษรชนิดที่ต้องใช้สูตรสำหรับถอดรหัสแบบต่างๆ นับเป็นภูมิปัญญาอันแยบยลของปราชญ์อักษรศาสตร์ไทยที่ใช้ในการสื่อสารยามศึกสงคราม ผู้ที่เล่าเรียนมาจากตำราเดียวกันจึงจะสามารถถอดรหัสอ่านข้อความนั้นได้ หลักเกณฑ์กลอักษรไทหลงท่านแสดงตัวอย่างเป็นโคลง ๔ ไว้ในจินดามณี ดังนี้
๏ หังศลสลวาลวล้หจ ษีวสัวถิ์
สติถาตาลีลันต์ แน่กไส้
จุทรงรโขรกผลัถ เผี้จตฉื่ห
ขือไบอรกพยกใอ้ หายห้ากเม็ตพร ฯ
โคลงบทนี้หากไม่รู้สูตรถอดรหัสก็คงหลงเข้าพงรก โดยมิพักต้องสงสัย แต่ถ้ารู้รหัสก็ถอดกลออกเป็นโคลงได้ว่า
๏ อักษรวรสารสร้อย ศีสวัสดิ์
วนิดานารีรัตน์ แต่งไว้
ยุบลกลโคลงพรัด เพี้ยนชื่อ
คือไทหลงผจงไว้ อาจอ้างเป็นผล ฯ
ตัวอย่างกลอักษรไทหลงดังกล่าวมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้แต่งต้องรู้รหัสโคลงที่ตนแต่งเป็นอย่างดี มิใช่เพิ่งจะมาคิดสูตรได้ในรัชกาลที่ ๕ ดังที่ชาวเราพากันหลงเข้าพงรกไปกันใหญ่ ประเด็นที่น่าตื่นตะลึงคือกวีผู้แต่งโคลงต้นแบบกลอักษรไทหลงคือ “วนิดานารีรัตน์” ท่านเป็นอัจฉริยกวีสตรีสมัยอยุธยา
แม้จะมีหลักฐานว่าจินดามณีเป็นแบบสอนหนังสือไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ยังไม่เคยพบต้นฉบับหนังสือสมุดไทยลายมือเขียนที่มีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาเลย ฉบับลายมือเขียนเก่าที่สุดคือฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๑ เขียนเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ (พุทธศักราช ๒๓๒๕) อันเป็นปีที่สถาปนาพระนคร จินดามณีฉบับนี้มีสูตร ก ข้ ใหญ่ สำหรับถอดรหัสไทหลง โยงเส้นจับคู่อักษรไว้ดังนี้
ก – ง ข – ค ฃ – ฅ ฆ – ฌ จ – ย
ฉ – ช ซ – ฒ ฌ – ฆ ญ – ฑ ฎ – ฐ
ฏ – ณ ด -ถ ต – น ท – บ ธ – ฝ
ป – ม ผ –พ ฟ – ฮ ภ – ฬ ร – ล
ว – ส ศ – ษ ห – อ
ต่อมากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระหนังสือจินดามณีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนิพนธ์สูตร “ตัวแปลไทหลง” ไว้เป็นคำคล้องจอง คือ
๏ กเงา เขาคู ฃูฅา จาเย เฉชำ ซำเฒา เฌาฆา
ญาเฑ เฎฐ ฏณา ดาถ ตนู ทูเบา เธาฝี
ปีเม เผพิ ฟิฮา ภาโฬ โรเล เวสิ หิเอ ฯ
ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการแต่งปทานุกรม พระปิฎกโกศล (อ่วม) ได้นำสูตร ก ข้ ใหญ่ สำหรับการถอดรหัสกลอักษรมาแต่งเป็นคำกลอน ซึ่งหลวงธรรมาภิมณฑ์อ้างถึงในประชุมลำนำเพียง ๓ คำกลอน (ไม่จบ) คือ
กาเหงาเล่นอยู่เขาคูขัน ตนนั้นโบกทงลงร่าร่อน
ชังโฉโอหังสังวาลวอน ฆ่าฌาน ญานฑอน ซ้อนฒ
ไปมา ผ่าพง ธงฝา ไฟฮือ ฬือภา ด เป็น ถ
ฯลฯ
เรื่องราวความเป็นไปของไทหลง ขอยุติลงด้วยประการฉะนี้ ช่วยกันรั้งไทหลง อย่าเพิ่งให้เข้ารกเข้าพง
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์