ละครโทรทัศน์ไทย จาก ‘ความซาบซึ้ง’ สู่ ‘ความเข้าใจ’

-

นับตั้งแต่เริ่มมีศิลปะการแสดงที่มีชื่อว่า ‘ละครโทรทัศน์’ ในปี 2499 จนถึงวันนี้ก็กว่ากึ่งศตวรรษ ละครโทรทัศน์ไทยมีพัฒนาการมาโดยตลอดตามบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก ตลอดจนถึงพัฒนาไปตามความทันสมัยของสื่อ

จากรูปแบบการจัดแสดงละครโทรทัศน์แบบที่แสดงสด มีการบอกบท มาถึงยุคอนาล็อก และถึงยุคดิจิทัล ละครโทรทัศน์มีการเผยแพร่ผ่านหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น คนดูมีตัวเลือกมากขึ้น และความนิยมของละครโทรทัศน์แต่ละเรื่อง ก็ใช้ระบบเรตติ้งในการชี้วัดว่าละครเรื่องไหนได้รับความนิยมมากกว่ากัน


ทุกยุคสมัยที่ผ่านมา บุคลากรในกลุ่มผู้ผลิตละครโทรทัศน์ ล้วนต้องปรับตัวและปรับผลงานของตนให้เป็นไปตามกระแส เพื่อช่วงชิงความนิยมให้ได้มากที่สุด ประการสำคัญคือ ละครโทรทัศน์กลายเป็นช่องทางของธุรกิจ สินค้าและบริการ ซึ่งต้องนำเสนอโฆษณาในรายการละครโทรทัศน์ เหตุนี้เอง ทำให้ละครโทรทัศน์หลายๆ เรื่องต้องผลิตเพื่อตอบสนองสินค้าและบริการที่เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่

แต่ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ละครโทรทัศน์ถึงยุคผันผวนและต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะละครโทรทัศน์กลายเป็นสินค้าข้ามพรมแดน เกิดความนิยมละครโทรทัศน์จากต่างประเทศ และในขณะเดียวกัน ก็เกิดแนวคิดในการผลิตละครโทรทัศน์เพื่อส่งออกอีกด้วย ละครโทรทัศน์ถูกพูดถึงในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย


หากพิจารณาในแง่ผู้เสพชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของละครโทรทัศน์แล้ว ผู้ผลิตสื่อละครโทรทัศน์มิอาจละเลยได้ เพราะก่อนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น มักนำเสนอให้ผู้ชมชาวไทยได้เสพกันก่อน ละครที่มีกระแสนิยม เป็นที่พูดถึงในสังคมไทย มักจะได้รับการคัดเลือกไปเสนอฉายยังต่างประเทศ

ผู้เสพละครโทรทัศน์ของแต่ละแพลตฟอร์ม มีความแตกต่างกันไป การวิเคราะห์ผู้เสพได้ก็จะทำให้ละครโทรทัศน์ประสบความสำเร็จ ช่อง 3 ช่องวัน ช่อง 7 ช่อง 8 เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ ล้วนมีรสนิยมและความชอบส่วนตัวต่างกันไป การรักษาฐานผู้ชมไว้ได้มากและยาวนานที่สุด ก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมมากและยาวนานที่สุดเป็นเงาตามตัว

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า ‘ผู้เสพในสังคมไทย’ มีแนวโน้ม ‘เปลี่ยนไป’ อย่างมีนัยสำคัญ ก็คือ การเปลี่ยนจากการชมละครเพื่อ ‘ความซาบซึ้ง’ ไปสู่ ‘ความเข้าใจ’

จากพุทธศักราช 2499 จนถึงพุทธศักราช 2530 เป็นช่วงแห่งการลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลาน การผลิตละครโทรทัศน์อยู่ที่กระแสความนิยม หากผู้ชมนิยมละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาอย่างไร ก็จะผลิตแนวเนื้อหานั้น ต่อมาการผลิตละครโทรทัศน์เริ่มมีการขายดารา เพราะดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้า กระแสการสร้างดารา และการดูดารา ตลอดจนการสร้างความนิยมต่อตัวดารา ทำให้ผู้เสพให้ความสนใจกับดารานำที่ตนชื่นชอบ ไม่ว่าดาราผู้นั้นจะแสดงอย่างไร แฟนคลับก็ตามเชียร์และกล่าวขวัญถึง ตามมาด้วยการโชว์ตัวดารา การปรากฏตัวในงานอีเวนต์ต่างๆ กลายเป็นปัจจัยหลัก ถึงกับมีการถามกันว่าหากดาราคนนั้นดังหรือไม่ดัง ก็วัดกันที่การเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้ามากกว่าฝีมือการแสดง แม้ว่าละครโทรทัศน์เรื่องนั้นจะมีการผลิตซ้ำเป็นรอบที่เท่าไรก็ตาม แต่หากเป็นดารานักแสดงที่ตนชื่นชอบ แฟนคลับก็ยังติดตามดู โดยไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ เรียกว่าเป็นยุคแห่งการเสพละครโทรทัศน์ เพื่อ ‘ความซาบซึ้ง’ พร้อมจะซึมซับ ชื่นชมเนื้อหา อารมณ์สะเทือนใจ และการแสดงของดารา ความสวย ความหล่อ ฉากที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม เสื้อผ้าที่กลายเป็นแฟชั่นในเวลานั้นๆ 


แต่หลังจากที่ซีรีส์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเกาหลีได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเริ่มแรกนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์ ทำให้เกิดมีการเปรียบเทียบการแสดงและศิลปะการนำเสนอระหว่างละครโทรทัศน์ไทยกับละครโทรทัศน์เกาหลี บางคนถึงกับเรียนภาษาเกาหลีเพื่อต้องการเข้าใจภาษาที่เจรจาโต้ตอบกันในละคร นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ละครโทรทัศน์ไทย ทั้งในแง่ด้อยค่าและปกป้องความเป็นละครไทย กลายเป็นกระแสปรากฏในสื่อโซเชียลต่างๆ ยิ่งต่อมา เราสามารถดูละครโทรทัศน์ต่างประเทศผ่านช่องทางแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การตั้งคำถามกับละครโทรทัศน์ไทยก็ยิ่งมีตามมา

ประเด็นหนึ่งที่เริ่มเป็นที่พูดถึงก็คือ การสร้าง ‘ความสมจริง’ ในละครโทรทัศน์ ซึ่งผู้เสพมิได้ต้องการเพียงความซาบซึ้งดังแต่ก่อน หากแต่ต้องการเนื้อหาทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคม มีละครโทรทัศน์ของผู้ผลิตจำนวนมากที่ต้องการให้เห็นอาชีพและชีวิตประจำวันของตัวละคร เริ่มมีการนำเสนออาชีพทนายความ แพทย์ ทหาร ตำรวจ นักเล่นหุ้น ไลฟ์โค้ช เนื้อหาของละครก็จะเกี่ยวพันกับอาชีพของตัวละครด้วย

ความจริงที่นำเสนออย่างสมจริงในละครโทรทัศน์ กลายเป็นกระแสที่มีการพูดถึง และแม้แต่ละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซี อย่างเรื่องนาคี ก็มีการค้นคว้าของผู้เสพนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลเกี่ยวกับความเชื่อ คติชน เนื้อหา การวิพากษ์วิจารณ์ การตัดบทสนทนาไปเป็นไวรัลสอนใจให้ข้อคิด ละครโทรทัศน์เรื่องเพลิงพระนางก็เกิดกระแสการขุดเรื่องราวประวัติศาสตร์ของราชวงศ์คองบองของพม่ามาเทียบกับเนื้อหาในละครอย่างคึกคัก

ต่อเมื่อมีละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ทำให้เกิดกระแสความสนใจประวัติศาสตร์สมัยอยุธยากันอย่างกว้างขวาง และแม้แต่อาหารที่ตัวละครทำในละคร ก็ถูกนำมาเผยแพร่สูตรอาหารของแต่ละคนกันอย่างน่าสนใจ

ในละครของช่องไทยพีบีเอส ได้สร้างละครอิงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เช่น จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี, บุษบาลุยไฟ ละครโทรทัศน์หลายเรื่องจากช่องนี้ ก็เพิ่มสีสันการค้นคว้าหาข้อมูลและโต้เถียงข้อมูลต่างๆ ล่าสุดละครโทรทัศน์เรื่องพรหมลิขิต ได้สร้างคนดูที่เป็น ‘กูรู’ ด้านประวัติศาสตร์ขึ้นมากมาย ดังจะเห็นได้จากคืนใดมีฉากเกี่ยวกับเนื้อหาในประวัติศาสตร์ เนื้อหานั้นจะถูกหยิบยกมาพูดถึงและขยายข้อมูลแลกเปลี่ยนกันในค่ำคืนนั้นเลย

กล่าวได้ว่ากระแสการรับรู้ของผู้เสพ และกระบวนการสร้างความรู้ผ่านละครโทรทัศน์ และความต้องการเสพละครที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับความจริงเหล่านี้ กลายเป็นแนวโน้มที่ผู้เสพไทยได้เปลี่ยนจาก ‘ความซาบซึ้ง’ มาเป็น ‘ความเข้าใจ’ อย่างน่าสนใจที่สุด และเป็นแนวโน้มที่ผู้ผลิตจะละเลยมิได้ และนี่เป็นยุคที่อาจเรียกได้ว่า คนดูมีส่วนในกระบวนสร้างเสพละครโทรทัศน์ไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนไทย


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!