ไขคำในโรงหมอ

-

ในภาวะการระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ ทั้งไทยและลาวต่างต้องระดมกำลังมารับมืออย่างเร่งด่วน แม้ว่าลาวจะยังไม่พบการระบาดภายในประเทศเช่นเดียวกับพม่า แต่ก็ได้เตรียมพร้อม โดยเริ่มทดลองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝั่งจีน (Sinovac) และฝั่งรัสเซีย (Sputnik V) ดังที่เราอาจได้เห็นข่าวทางสื่อต่างๆ ซึ่งนำเสนอคำเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขลาวมากขึ้น

ໂຮງໝໍ โฮงหมอ คือ โรงพยาบาล คำว่า ໂຮງໝໍ ใช้มาเนิ่นนาน พบในบันทึกภาษาลาวตั้งแต่ยุคโบราณ เป็นคำประสมระหว่าง ໂຮງ กับ ໝໍ ซึ่งสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นที่มีหมอดูแลรักษาผู้ป่วยประจำ ในนครหลวงเวียงจันทน์มี ໂຮງໝໍ ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่ง คือ ໂຮງໝໍມະໂຫສົດ โฮงหมอมะโหสด หรือโรงพยาบาลมโหสถ ชื่อนี้มีที่มาจากมโหสถชาดกในพระพุทธศาสนา เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว และเพิ่งได้รับทุนสนับสนุนจากทางการจีนให้ขยายปรับปรุงเมื่อเร็วๆ นี้

ກວດ กวด คือ การตรวจอาการ คำว่า กวด นี้ยังมีใช้อยู่ในไทย เช่น กวดขัน และคนเก่าคนแก่ทางภาคอีสานก็มักใช้คำว่า กวด แทนคำว่า ตรวจ เมื่อพูดเป็นภาษาปาก คำว่ากวดนี้อาจกร่อนมาจากตรวจ ที่เป็นภาษาเขมรมีควบกล้ำ ซึ่งพอพูดเร็วๆ เข้าจะเหลือเป็นตัว ก คำว่า กวด นี้ยังใช้ประสมกับคำอื่น เช่น ກວດພະຍາດ กวดพะยาด คือ ตรวจโรค ກວດກາ กวดกา คือ ตรวจตราระมัดระวัง

ປັວ ปัว คือ การรักษาพยาบาล คำว่า ປັວ เป็นคำภาษาลาวดั้งเดิมซึ่งไม่มีคำที่คล้ายกันในภาษาไทย นอกจากหมายถึงการรักษาแล้ว ยังหมายความว่า ทำให้ดีขึ้น บรรเทา ทุเลาลง มักใช้คู่กันเป็นคำว่า ປິ່ນປັວ ปิ่นปัว คือการดูแลรักษา ในสำนวนภาษาลาวยังมีวลีว่า ບໍ່ພອປັວ บ่พอปัว คือ รักษาไม่ไหว รักษาไม่หาย มักใช้เป็นคำกระทบกระเทียบเชิงดูถูก ว่านิสัยเช่นนี้แก้ไม่ได้ เช่น ບ້າບໍ່ພອປັວ บ้าบ่พอปัว หมายถึงคนที่เสียจริตจนรักษาไม่ได้แล้ว

ສັກຢາ สักยา คือการฉีดยา ถ้าไปที่โรงพยาบาลในลาว หรือมีคนลาวถามขอสักยา ให้ระวังอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการสักน้ำมัน หรือสักลายเพื่อแฟชั่นหรือลงเลขยันต์ เพราะคำว่า ສັກຢາ ในที่นี้ หมายถึงการฉีดยาหรือฉีดวัคซีนตามปกติทางการแพทย์นั่นเอง

ປາດ ปาด หมายถึง การผ่าตัด แม้ว่าจะมีคำภาษาลาวด้านการแพทย์คำอื่นที่ถูกนำมาใช้แบบผิดๆ แต่คำว่า ປາດ นั้นเป็นคำที่ใช้จริง เช่น ຫ້ອງປາດ คือห้องผ่าตัด ປາດນິ່ວ คือผ่าตัดนิ่ว

จะเห็นได้ว่าคำภาษาลาวที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขนั้นส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียว จึงทำให้คนเข้าใจได้ง่าย แตกต่างจากในภาษาไทยที่นำมาจากคำบาลีสันสกฤต


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All magazine กุมภาพันธ์ 2564

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!