‘ครูเพ็ญศรี’ เรื่อง ‘ล้อเลียน’ ในสังคมไทยสมัยใหม่

-

‘ครูเพ็ญศรี’ เป็นตัวละครหนึ่งในชุดละครสั้นตลกหกฉาก และได้ต่อยอดความสำเร็จในชื่อใหม่ว่าหกฉากครับจารย์ ซึ่งเสนอฉายทางโทรทัศน์มาเป็นเวลาหลายปี ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากมาย ปัจจุบันมีการตัดคลิปสั้นๆ เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ คนไทยเลยได้ชมเรื่องราวของครูเพ็ญศรีผ่านคลิปสั้นเกือบทุกวัน และมีการดูย้อนหลังผ่านสื่อต่างๆ อีกด้วย

ความโด่งดังของตัวละครครูเพ็ญศรี มาจากนักแสดงตลกชื่อดัง คนไทยรู้จักกันดีในนาม ‘ตุ๊กกี้’ สุดารัตน์ บุตรพรม นักแสดงในสังกัดบริษัทเวิร์คพอยท์ จำกัด (มหาชน) ความนิยมในตัวนักแสดงคนนี้มีมากเพียงใด ก็ดูได้จากการที่ทางบริษัทโปรโมตด้วยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘เจ้าหญิงตุ๊กกี้’ โดยมีเธอเป็นนักแสดงนำ แถมเอาชื่อของเธอไปเป็นชื่อภาพยนตร์เพื่อให้เกิดผลทางการตลาด

ปัจจัยที่ทำให้ครูเพ็ญศรีได้รับความนิยมน่าจะมาจากการสร้างบุคลิกลักษณะตัวละครให้เกิดการจดจำ โดยการแต่งตัวที่ดูตลก ผิดแผกไปจากชีวิตประจำวัน ติดกิฟต์หลายตัว ทำผมฟูพองแบบโอเวอร์และแต่งตัวอย่างมีเอกลักษณ์

หากพิจารณาดีๆ การแต่งกายของครูเพ็ญศรีก็เป็นการล้อเลียนครูระดับมัธยมศึกษาที่มักแต่งกายด้วยผ้าไทย ทำผมเรียบร้อย แบบของเสื้อผ้าอยู่ในกรอบความคิด ‘สุภาพ’ ครูเพ็ญศรีถูกสร้างให้มีลักษณะเหมือนครูไทยจำนวนมาก แต่เสริมความโอเว่อร์เพื่อให้เป็นที่จดจำ ดูขบขัน และชวนติดตามยิ่งขึ้น

ส่วนเนื้อหาในตลกหกฉาก ชุดครูเพ็ญศรีเล่าเรื่องภายในห้องเรียนวิชาต่างๆ ซึ่งครูเพ็ญศรีก็สอนได้หลายวิชา ไม่ต่างจากครูไทยในสังคมไทยปัจจุบันที่มีข่าวทำนองนี้อยู่เนืองๆ และก็ต้องทำตัวให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่สอนด้วย  ทว่าเนื้อหาในแต่ละตอนมักนำเสนอให้ครูเพ็ญศรีเป็นคนตลก เชื่อมั่นในตัวเองสูง ตะแบงเถียงแบบไม่มีเหตุผล ชอบชักแม่น้ำทั้งห้าว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก มักไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม  แต่ดูเหมือนว่านักเรียนในห้องเรียนก็เข้าใจครูเพ็ญศรี พร้อมให้อภัย และพร้อมเรียนรู้ใหม่ในทุกตอน ทั้งที่ ‘คนดู’ และ ‘นักเรียนในเรื่อง’ ต่างก็รู้ว่าครูเพ็ญศรีเป็นฝ่ายผิด 

กลายเป็นว่า ชัยชนะของครูเพ็ญศรีที่ (พยายามเอาชนะเด็ก) ในแต่ละตอน กลายเป็นเรื่องขบขันของคนดูทั้งประเทศ 

ความตลกของครูเพ็ญศรีถูกสร้างให้ผิดไปจากกรอบมาตรฐานครูที่สังคมไทยคาดหวังอย่างสิ้นเชิง เหมือนเป็นการกระชากครูดีศรีสังคมมาล้อเลียน ครูที่ควรเป็นแบบฉบับกลายเป็นตัวตลกที่ถูกล้อเลียน หมดความศรัทธาเชื่อถือไปโดยปริยาย

ย้อนไปหลายสิบปี ในหมู่เด็กๆ มีการเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ที่ตนใกล้ชิด เรียกว่าการเล่นโดยใช้ ‘บทบาทสมมติ’  เช่น เล่นพ่อแม่ เป็นการจำลองครอบครัวในกลุ่มเด็กๆ ที่เล่นด้วยกัน เล่น ครู/นักเรียน โดยเป็นการจำลองแบบห้องเรียน คนที่เล่นเป็นครู มักเป็นคนที่ถ่ายทอดความเจ้าระเบียบ ดุ แต่ก็ใจดีด้วย การเล่นก็จะสลับกันเป็นครูหรือนักเรียน การเล่นแบบบทบาทสมมติกลายเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยพัฒนาการของการศึกษาและสังคมมาจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการบันทึกไว้ในวิชาคติชนวิทยาว่าเป็นการเล่นแบบหนึ่งในสังคม เมื่อสังคมพัฒนาไป บทบาทสมมติที่ถูกนำมาเล่นก็อาจเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น การเล่นบทบาทสมมติเป็นตำรวจจับผู้ร้าย การประกวดร้องเพลง การประกวดนางงาม

ในนิทานมุกตลกของไทย บุคคลที่ถูกนำมาล้อ มักเป็นบุคคลที่อยู่ ‘สูง’ กว่าปกติ หรือสูงกว่าผู้เล่าผู้ฟังในสังคมนั้นๆ  นิทานพื้นถิ่นของทุกภูมิภาคมักนิยมล้อเรื่อง ‘พระ ว่าเป็นคนตะกละ ทุศีล มีบุคลิกภาพและการกระทำที่ไม่น่านับถือ โง่กว่าเด็กวัด จนถูกเด็กวัดหลอกให้ทำอะไรที่ดูด้อยค่าในสายตาของผู้ฟัง กระทำเรื่องขบขันต่างๆ นานา ในขณะที่ชีวิตจริง พระคือบุคคลสูงส่ง ซึ่งไม่ควรนำมาล้อเลียน และมีนิทานจำนวนมากที่แฝงมุกตลกเรื่องเพศ เช่น นิทานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระกับสีกา โดยเฉพาะแม่ชีในวัด การล้อเลียนบุคคลชั้นสูง ยังรวมถึงบุพการี ญาติผู้ใหญ่ที่น่านับถือ เล่าผ่านนิทานมุกตลก เช่น เรื่องความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างแม่ยาย-ลูกเขย พ่อตา-ลูกสะใภ้ ฯลฯ ที่สำคัญมีการนำบุคคลชั้นปกครองมาล้อเลียนในนิทานที่แพร่หลายไปทั่วอย่างเช่นเรื่องศรีธนญชัย ซึ่งกษัตริย์ตกเป็นเบี้ยล่างทางปัญญาของขุนนางที่ต่ำต้อยกว่า

มีผู้วิเคราะห์ว่าการล้อเลียนบุคคลชั้นสูงผ่านนิทานมุกตลกนั้น เป็นการ ‘เตือนสติ’ หรือเป็น ‘ข้อห้าม’ ให้คนชั้นสูงต้องระมัดระวัง ไม่ทำตัวด่างพล้อยดังเช่นที่เกิดในนิทาน ซึ่งถือว่าเป็นการ ‘ควบคุมสังคม’ ในสังคมสมัยโบราณ

ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาทในสังคมโลก สิ่งที่ชนชั้นปกครองหรือนักการเมืองหวาดกลัวอย่างยิ่งก็คือการถูกล้อ ถูกเปิดโปง ถูกเสียดสีในสื่อที่เรียกว่า ‘การ์ตูนการเมือง’ เพราะเมื่อชนชั้นปกครองถูกนำมาวาดเป็นการ์ตูน ก็ย่อมมีผลบั่นทอนความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ หากยังถูกเปิดโปงหรือตีแผ่แง่มุมในด้านลบ ก็ยิ่งทำให้ผู้รับสารหมดศรัทธาได้

จึงมีคำกล่าวในทำนองว่า เรื่องเล่าหรือสื่อที่น่ากลัว ก้าวร้าวและรุนแรงที่สุดคือเรื่อง ‘ตลกขบขัน’ นั่นเอง แม้ความรุนแรงจะถูกพลิกแพลงเป็นความตลกขบขัน แต่กลับมีพลังมาก ดังมีปรากฏการณ์ที่นักการเมืองถูกนำมาล้อเลียนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

กรณีอาชีพครูถูกนำมาล้อเลียนในเรื่องตลกหกฉาก/หกฉากครับจารย์ชุดครูเพ็ญศรี ซึ่งเป็นเสมือนการนำเสนอบทบาทสมมติของครู เลียนแบบการละเล่น ครู/นักเรียน นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะชี้ให้เห็นว่าครูมิใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้อีกต่อไป แต่ครูเพ็ญศรีก็มิได้มีบทบาทในด้านการควบคุมสังคมเหมือนนิทาน เพราะมีสื่อโซเชียลได้ตีแผ่พฤติกรรมด้านร้ายของครูอยู่เนืองๆ ครูเพ็ญศรีจึงทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนว่าครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเด็กๆ แม้ไม่ทันสังคมบ้าง สอนผิด สอนถูกบ้าง แต่ก็คือบุคคลสำคัญในวิถีชีวิตของนักเรียน ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่มีครูอยู่หน้าห้อง 

แต่อีกไม่นาน เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น เราอาจมีเอไอเป็นครูแทน เมื่อนั้นครูเพ็ญศรีก็จะกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องเล่าชวนหัว และเป็นบุคคลในตำนานไว้เล่าให้ลูกหลานฟังในวันหน้า


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!