เต-ตะวัน วิหครัตน์: เสน่ห์ความเป็นไทย

-

เราได้ยินชื่อของ เต-ตะวัน วิหครัตน์ ครั้งแรกจากกระแสคู่จิ้น เต-นิว ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ แต่ด้วยความที่ไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์ของเขา จึงรับรู้เพียงว่าเขาคือนักแสดงรุ่นใหม่ขวัญใจวัยรุ่นที่มีแฟนคลับติดตามจำนวนไม่น้อย

เราได้ยินชื่อของเขาอีกครั้งจากการเป็นพิธีกรรายการอาหารไทย “เสน่ห์ห้องเครื่อง” คู่กับ กอล์ฟ เทยเที่ยวไทย ซึ่งมีกระแสอยู่ในโลกออนไลน์ คราวนี้เราลองกดเข้าไปดูรายการตามคำแนะนำของน้องในกองบรรณาธิการ รายการมีความยาว 15 นาทีกว่า พิธีกรแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุค นำเสนออาหารไทยหนึ่งเมนู พร้อมปรุงให้เห็นกรรมวิธี ระหว่างนั้นพิธีกรก็สอดแทรกเกร็ดความรู้คู่สำรับและนอกสำรับ ในเวลาเพียงสั้นๆ ของรายการ เราพบว่าเต-ตะวัน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในด้านวัฒนธรรมไทยอยู่พอดู เขาทำให้เราทึ่งด้วยการต่อบทร้อยกรองที่พิธีกรคู่ท่องขึ้นมาอย่างกะทันหันได้ รวมถึงการใช้สำนวนสุภาษิตไทยที่เด็กรุ่นใหม่ไม่น่าจะรู้จักได้อย่างคล่องปาก ยังไม่นับความรู้รอบตัวอื่นๆ ที่สร้างความประหลาดใจให้เราอีกมาก สมกับที่น้องกองบรรณาธิการผู้แนะนำให้เราเปิดดูรายการนี้ กล่าวว่า “เต-ตะวันไม่เหมือนใคร”

เมื่อเรามองหาคนที่จะมาขึ้นปกเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีวันสำคัญคือวันภาษาไทยแห่งชาติ คงไม่มีใครเหมาะไปกว่านักแสดงหนุ่มหัวใจไทยอย่างพ่อหนุ่มเตเป็นแน่ เราได้สนทนาถึงสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนของเขา สิ่งที่พบเจอมา และสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อเข้าสู่วงการบันเทิง

 

๑.

เตเข้าวงการบันเทิงโดยไปเข้าตาแมวมอง สมัยที่เขาเป็นจุฬาคฑากรหรือดรัมเมเยอร์ ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จึงถูกชักชวนให้ไปลองแคสติ้ง (casting) งาน และมีผลงานแรกคือการเป็นพิธีกรรายการเพลง “Five Live Fresh” ของค่าย GMM แม้ตั้งใจว่างานบันเทิงจะเป็นแค่งานเสริมรายได้ระหว่างเรียน เพราะรู้นิสัยตัวเองดีว่าไม่เหมาะกับงานด้านนี้ แต่เมื่อรายการยุติลง เขาก็ได้โอกาสชิมลางงานแสดงซีรีส์ นอกจากจะเป็นที่รู้จักจากผลงานแสดง จนเกิดเป็นคู่จิ้น เต-นิว อันโด่งดังแล้วนั้น เตยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีการใช้สำนวนภาษาแตกต่างจากนักแสดงรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาเล่าว่ามาจากการอบรมของคุณปู่คุณย่าซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูเขาในวัยเด็ก

“คุณย่าจะเป็นหลักในการเลี้ยงดู แต่คุณปู่ก็คอยไปรับไปส่งหลานที่โรงเรียน หลานสามคนคุณปู่ไม่ให้กลับบ้านเองเลย ค่อนข้างหวง เด็กๆ ผมจึงไม่ได้เถลไถล เรียนเสร็จก็กลับบ้านเลย แล้วคุณปู่ยังคอยสอนการบ้านให้ เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยสอนบทเรียนของม.ปลายได้ดี ส่วนคุณย่าเป็นแนวนักเขียน ชอบหาหนังสือให้อ่าน จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่อ่านจบคือหนังสือพุทธประวัติสำหรับเด็ก เล่มค่อนข้างหนาทีเดียว แต่ไม่รู้ทำไมตอนนั้นชอบจนอ่านหลายรอบมาก ถ้าเป็นนิยาย เล่มแรกที่อ่านจบคือ ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก นอกนั้นก็มีอ่านนิตยสารต่างๆ เช่น ต่วย’ตูน รีดเดอร์ส ไดเจสท์ แล้วก็หนังสือของคุณดำรง พุฒตาล ที่เกี่ยวกับสัตว์โลก ผมชื่นชอบเรื่องชีวิตสัตว์ สมัยเด็กจะดูทีวีแค่สามช่อง ได้แก่ National Geographic, Animal Planet, Discovery Channel ไม่เคยดูการ์ตูนเหมือนเด็กคนอื่นเลย มาอ่านการ์ตูนครั้งแรกตอนเข้ามัธยมฯ แล้ว เพื่อนก็งงนะเราไปอยู่ไหนมา คือไม่มีเพื่อนคุยเรื่องชีวิตสัตว์โลกกับเราไง ก็เลยต้องศึกษาเรื่องที่เด็กส่วนใหญ่สนใจจะได้คุยกับเขาได้ (ฮ่า)”

ตอนไหนที่มีคนเริ่มทักว่าเตใช้สำนวนภาษาต่างจากเพื่อน “จริงๆ ก็ทักบ้างตั้งแต่มัธยมฯ แต่กลุ่มผมค่อนข้างเนิร์ดนิดๆ เลยไม่ค่อยว่าอะไร แต่มาทักเยอะสมัยทำงานพิธีกร ที่คำพูดของเราออกสู่สาธารณะและมีคนฟังมากขึ้น เพื่อนที่แกรมมี่จะชอบถามว่าทำไมเรามีวิธีพูด วิธีเขียนที่ไม่เหมือนคนอื่น เขาเป็นแนวเด็กกิจกรรมไม่ชินภาษาหนังสือ ก็งงว่าเราพูดอะไรออกมา ผมคงได้อิทธิพลจากย่าที่ปลูกฝังให้เราอ่านหนังสือเยอะ เลยมีคลังคำ มีสำนวนจากนักเขียนหลายๆ ท่านอยู่ในหัว จึงติดเอามาพูดมาเขียน”

 

 

เคยพิมพ์ข้อความด้วยภาษาวิบัติบ้างไหม เราสงสัย นักแสดงหนุ่มหัวเราะนำก่อนจะตอบคำถาม “ไม่ค่อยครับ เรียกว่าแทบไม่มีเลยดีกว่า ถ้าจะพิมพ์ก็เพื่อกวนเพื่อน เพิ่มอรรถรสให้บริบทนั้นๆ อย่างคำว่า ‘ครับ’ บางคนอาจพิมพ์ ‘คับ’ ไม่มี ร เรือ แต่ผมไม่ได้เลย เราต้องมี ร เรือ หรือคำที่มีการันต์ เพื่อนคนอื่นอาจตัดการันต์ทิ้งเพื่อความรวดเร็วในการพิมพ์ ‘แบบฟอร์ม’ บางคนจะเหลือแค่ ‘แบบฟอม’ หรือคำว่า ‘พิมพ์’ ที่ตัด พ พาน การันต์กันเยอะ เราไม่ได้ ต้องมีตัวการันต์ครบ

“ผมค่อนข้างอินและให้คุณค่าแก่การใช้ภาษาไทยด้วย หลักๆ มาจากคุณย่าเข้มงวดเรื่องนี้ เราเลยติดมา โรงเรียนประถมของคุณย่าเป็นเอกอุด้านภาษาไทย สมัยเรียนประถมผมเคยสอบ National Test ได้คะแนนภาษาไทยเต็ม และเคยไปประกวดอ่านบทร้อยแก้ว ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จำได้ว่าคำที่รู้สึกยากมากในตอนนั้นคือ ‘อาราธนา’ ตอนผมมาเป็นพิธีกร คุณย่าจะคอยเตือนให้ผมพูด ร เรือ ล ลิง ให้ชัด ผมติดพูดเร็ว เขาก็จะเตือนว่าต้องพูดให้ช้า เดี๋ยวเด็กที่ดูติดไปทำแบบผิดๆ และสำนวนสุภาษิตที่เคยสอนไว้ก็ให้เอามาใช้ เด็กรุ่นใหม่จะได้รู้จัก ผมกับย่านิสัยเหมือนกันอยู่อย่าง ถ้ามีปัญหาหรือความในใจอะไรจะชอบใช้วิธีเขียนมากกว่าพูด เพราะรู้สึกว่าเราไม่สามารถสื่อสิ่งที่คิดอย่างครบถ้วนด้วยการพูด ดังนั้นคุณย่ามักมีจดหมายเขียนถึงผม เปิดมาเป็นสำนวนสุภาษิตที่รวบรวมมาให้ ผมก็จะแชร์ต่อในทวิตเตอร์”

 

“เพราะภาษาไทยมีดีเทลเยอะ พอไม่แน่ใจผมจะเสิร์ช กูเกิลก่อน จริงๆ ก็ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวเองนะ ในการตรวจสอบ”

 

แล้วถ้าเจอคนพิมพ์ภาษาวิบัติหรือพิมพ์ผิด เช่น คะ ค่ะ ได้ทักท้วงเขาไหม เราถาม “อย่างการตัดตัวการันต์ เราเข้าใจได้ว่าเพื่อความรวดเร็วในการพิมพ์ ก็ไม่ได้ใส่ใจ เราแค่บ้าเองที่ต้องพิมพ์ครบ แต่บางคำอย่าง นะคะ นะค่ะ ก็รู้สึกโมโหลูกตานะ ยิ่งไปอยู่ในข้อความที่ค่อนข้างทางการแล้วดันมาพิมพ์ คะ ค่ะ ผิด ยิ่งน่าโมโห แต่ก็ไม่ได้ทักเขา เป็นแค่ความรู้สึกในใจเรา

“ในโทรศัพท์มือถือของผมจะตั้งให้ตรวจสอบการสะกด มันเป็นนิสัยที่บางครั้งเราไม่แน่ใจว่าคำนี้เขียนยังไง เพราะภาษาไทยมีดีเทลเยอะ พอไม่แน่ใจผมจะเสิร์ชกูเกิลก่อน จริงๆ ก็ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวเองนะในการตรวจสอบ”

 

๒.

เมื่อความโดดเด่นด้านภาษาไทยเป็นที่ประจักษ์และไปเข้าตาผู้ใหญ่ ผนวกกับความชื่นชอบการท่องเที่ยว และถ่ายรูป หนุ่มเตจึงได้รับโอกาสให้เป็นพิธีกรรายการ “เตร็ดเตร่ Fest กับ เต ตะวัน” ที่พาไปชมเทศกาลงานประเพณีไทยในจังหวัดต่างๆ

“ผู้ใหญ่คงเห็นว่าเราเป็นเด็กเจนวายหัวใจเจนเอ็กซ์ผสมเบบี้บูม จะให้ไปทำรายการวัยรุ่นแฟชั่นจ๋า ก็ทำไม่ไหว ผมไม่ได้ชอบแต่งตัวขนาดนั้น และผมเป็นคนบ้าข้อมูลด้วย น่าจะเหมาะกับรายการท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ให้ได้เล่ามากกว่า ตอนที่ผมเป็นพิธีกร ‘Five Live Fresh’ ผมมีปัญหาตรงติดสคริปต์ เพื่อนคนอื่นจะรู้วิธีอ่าน คือจำเป็นภาพใหญ่แล้วปล่อยให้รื่นไหลไปตามธรรมชาติ แต่ผมจำแบบท่องเลย เราไม่ปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ช่วงแรกๆ ของการทำงานจึงไม่มีความสุข เหมือนจับทางไม่ได้ พอได้มาทำ ‘เตร็ดเตร่’ รายการไม่มีสคริปต์ แค่บอกว่าจะไปเทศกาลนี้นะ ไปศึกษาข้อมูลมา จากนั้นลงไปสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วเล่าให้คนดูฟัง ผมเลยได้เรียนรู้ที่จะปล่อยตัวให้เป็นธรรมชาติเวลาดำเนินรายการมากขึ้น และความบ้าข้อมูลของผมก็ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์”

 

 

ประสบการณ์ที่พบเจอจากการดำเนินรายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของเขา “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ประเพณีส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด เราเลยเข้าใจวิธีคิดและความเชื่อของคนต่างจังหวัดมากขึ้น ประเพณีหลายอย่างมีรากเหง้าจากความเชื่อศาสนา เช่น งานบวช พอเพิ่มพิธีกรรมบางอย่างก็เป็นกุศโลบายให้คนในชุมชนได้มารวมตัวพบปะสังสรรค์ ประเพณีต่างๆ จึงเกิดจากศาสนารวมเข้ากับวิถีชีวิต แต่ประเพณีหลายอย่างก็ล้าสมัยไปแล้ว ที่ยังอยู่เพราะต้องการอนุรักษ์ไว้เท่านั้น อย่างตอนนี้เรามีโซเชียลมีเดีย คนอาจจะรวมตัวกันได้โดยไม่ต้องใช้งานบุญ พอได้ทำงานนี้เราก็เข้าใจที่มาและเข้าใจการเปลี่ยนไปของโลกมากขึ้น”

ประเพณีชิงเปรต ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดขึ้นในวันสารทเดือนสิบ วัตถุประสงค์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตชน หรือบรรพบุรษผู้ล่วงลับ ที่จะถูกปล่อยตัวจากอบายภูมิขึ้นมารับส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลาน คือประเพณีที่เตประทับใจมากที่สุด เขากล่าวว่า เป็นประเพณีที่มีกุศโลบายคล้ายกับประเพณีสงกรานต์ คือญาติพี่น้องซึ่งอยู่ต่างถิ่นได้ใช้โอกาสนี้กลับบ้านเกิด มีความเชื่อทางศาสนาผสมผสานด้วย และมีกิจกรรมสนุกสนาน จัดเป็นประเพณีที่ครบเครื่อง ที่สำคัญคนในพื้นที่ก็ยังภาคภูมิใจกับประเพณีดังกล่าวเป็นอย่างมาก

แล้วถ้าวันหนึ่งประเพณีเหล่านี้เลือนหายไปตามกาลเวลา เขาจะอาลัยอารณ์หรือไม่ เราสงสัย “ผมยังไม่สามารถสรุปความคิดตัวเองในตอนนี้ได้ว่ารู้สึกยังไง เพราะประเพณีโบราณบางอย่างนั้น มาวันนี้ก็เกิดข้อถกเถียงถึงความเหมาะสม ยกตัวอย่าง ลอยกระทง จุดมุ่งหมายแท้จริงคือขอบคุณธรรมชาติ แต่ปัจจุบันลอยกระทางกลายเป็นเทศกาลที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแทน ยิ่งนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาร่วมเทศกาลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ยิ่งเป็นการทำลายธรรมชาติมากขึ้น เลยยังไม่มีข้อสรุปทางความคิด แต่ผมว่าอาจต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสม”

 

๓.

จากรายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เขาพลิกบทบาทเป็นพิธีกรรายการอาหารไทย “เสน่ห์ห้องเครื่อง” คู่กับ กอล์ฟ เทยเที่ยวไทย ในบทคุณหญิงย่าและพ่อเตหลานชายสุดเด๋อ นำเสนอตำรับอาหารไทย วิธีการทำ พร้อมบอกเล่าภูมิปัญญากว่าจะมาเป็นอาหารแต่ละชนิด เมื่อเราถามถึงการทำงานในรายการนี้ เตเริ่มต้นเล่าด้วยสีหน้าแววตาเป็นประกาย สัมผัสได้ว่าเขาสนุกและมีความสุขกับงานนี้จริงๆ

“เรื่องนี้ต้องขอเล่าเลยครับ ในกลุ่มพิธีกรรายการเทยเที่ยวไทย เช่น พี่ป๋อมแป๋ม เราคุ้นเคยเพราะเขาชอบมาเล่นกับเรา พี่ก็อตจิก็เคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการที่เราทำ แต่คนเดียวที่ไม่เคยร่วมงานด้วยและแทบไม่เคยคุยคือพี่กอล์ฟ แล้วพี่กอล์ฟค่อนข้างเงียบๆ ต่างจากคนส่วนใหญ่ใน GMM คล้ายกับผมในกลุ่มเพื่อน จำได้ว่าถ่ายทำวันแรกผมเกร็งมาก ถามพี่กอล์ฟกินข้าวยังครับ กินแล้วจ้ะ จบบทสนทนา แล้วจะทำรายการด้วยกันยังไงเนี่ย แต่สิ่งที่ผมกับพี่กอล์ฟมีเหมือนกันคือความเป็นเด็กเนิร์ด พอเริ่มถ่ายทำกลายเป็นว่าทุกอย่างไหลลื่น เหมือนเราเจอคนประเภทเดียวกัน คุยกันถูกคอ พี่กอล์ฟเขามีความรู้รอบตัวเยอะ ผมก็ชอบซักชอบถาม แล้วพี่เขาตอบได้หมด ยิ่งคุยสนุก รายการนี้ไม่มีสคริปต์ ทุกอย่างที่เราคุยกันนั้นออกมาเองโดยไม่ได้เตรียม”

แม้แต่การท่องบทกลอนและต่อบทกันระหว่างเตกับพี่กอล์ฟด้วยหรือ เราถามย้ำ “นั่นไม่มีอยู่ในสคริปต์นะครับ สคริปต์จะบอกคร่าวๆ แค่ว่าพี่กอล์ฟจะให้เตไปเด็ดดอกไม้นะ แค่ให้เรารู้ว่าในฉากเราต้องทำอะไรบ้าง แต่เรื่องที่เราคุยกันสัพเพเหระเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นเลย เหมือนผมกับพี่กอล์ฟได้โจทย์ว่าเราจะทำแกงเขียวหวาน ต่างคนต่างไปทำการบ้าน แล้ววันถ่ายก็เอาข้อมูลที่หามาถกกัน ผมเลยได้ฝึกการทำงานโดยไม่ยึดติดกับสคริปต์ยิ่งขึ้น ตอนนี้เรากล้าพูด กล้าเป็นตัวเอง รู้จักการดำเนินรายการให้ไหลรื่นไปตามคอนเทนต์ ผมจึงสนุกกับรายการนี้มาก เป็นหนึ่งในรายการที่ทำแล้วแฮปปี้ที่สุด”

 

 

ถามถึงเมนูที่ประทับใจ เตเลือกมาสองเมนู เมนูแรกคือ “น้ำพริกสี่ภาค” เขาเล่าว่าคุณย่ามีฝีมือในการทำน้ำพริก ตอนเด็กๆ มักกินน้ำพริกเป็นประจำ จึงคิดถึงน้ำพริกรสมือของย่าจากเมนูนี้ ส่วนอีกเมนูคือ “แกงรัญจวน” ที่มาจากผัดเนื้อซึ่งเหลือจากการเลี้ยงข้าราชบริพารในวัง แล้วปรุงเป็นอาหารจานใหม่โดยใส่กะปิเป็นส่วนผสม แสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยโบราณในการดัดแปลงอาหารที่เหลือ กลายเป็นเมนูใหม่ที่ดูน่ากินไม่น้อยลงเลย

 

“ผมเองได้รับการปลูกฝังจากคุณปู่คุณย่า ถ้าเขาไม่สอน เราก็ไม่มีทางรู้ เช่นเดียวกัน ถ้าผมไม่ได้พูด ไม่ได้ถ่ายทอด น้องๆ เด็กๆ เขาก็ไม่รู้ ไม่สนใจ แล้ววันหนึ่งประเพณีหรือภูมิปัญญาโบราณก็จะเลือนหายไป ตามกาลเวลา”

 

เราถามเขาต่อว่าเมื่อทำรายการเชิงสืบสานวัฒนธรรมไทยเช่นนี้ ได้มี “ชาวบ้าน” (ชื่อเรียกแฟนคลับของหนุ่มเต)ตามไปเที่ยวหรือชิมอาหารแบบเขาไหม นักแสดงหนุ่มตอบรับว่ามี และยินดีที่คนดูให้ความสนใจ “เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่คนดูสนใจจนอยากตามรอย เพราะถ้าอยากรักษาประเพณีวัฒนธรรมไทยไว้ ก็ต้องอาศัยการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยกตัวอย่างผมเองได้รับการปลูกฝังจากคุณปู่คุณย่า ถ้าเขาไม่สอน เราก็ไม่มีทางรู้ เช่นเดียวกัน ถ้าผมไม่ได้พูด ไม่ได้ถ่ายทอด น้องๆ เด็กๆ เขาก็ไม่รู้ ไม่สนใจ แล้ววันหนึ่งประเพณีหรือภูมิปัญญาโบราณก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา ถ้าอยากรักษาไว้ นี่คือหนึ่งในวิธีที่ดี”

 

 

 

๔.

นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านภาษาไทย ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเต-ตะวัน ก็ไม่ได้ด้อย ได้รับเลือกเป็น Brand Ambassador ของสถาบันสอนภาษา เป็นที่น่าชื่นชมว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนไทยก็สามารถเก่งได้ทั้งสองภาษาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

“ถ้าเทียบกับคนที่เรียนอินเตอร์ ผมก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่ถ้าในกลุ่มเด็กที่เรียนโรงเรียนไทยคงพอได้อยู่ ส่วนใหญ่การฝึกภาษาของผมมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมเรียนโรงเรียนรัฐบาลปกติที่แข็งสายวิทยาศาสตร์มากกว่าภาษา แต่ด้วยนิสัยบ้าข้อมูลอย่างที่บอก พอศึกษาอะไรก็ชอบเสิร์ชกูเกิล แล้วข้อมูลหลายๆ อย่าง เว็บไซต์ต่างประเทศค่อนข้างเจาะลึกและรวดเร็วกว่า ทีนี้พอเราอยากรู้มากๆ ก็ต้องพยายามอ่าน หรืออย่างตอนที่เริ่มอ่านการ์ตูน เราอยากรู้ตอนต่อไปเร็วๆ ก็ต้องอ่านในเว็บฯ ที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่ใช่สายที่ชอบดูหนังดูซีรีส์ ผมเป็นพวกชอบอ่านแล้วถ้าอยากรู้ลึกๆ ก็ต้องแปลให้ได้ทุกคำ ไฟในการศึกษามาจากเรื่องที่ชอบ นอกจากนี้ยังพยายามหัดพูดกับเพื่อนที่เก่งภาษา แต่ต้องเป็นเพื่อนที่สนิทจริงๆ ถึงจะกล้า”

ด้วยนิสัยขี้อายมาก ที่เจ้าตัวเล่าว่าแค่ครูสั่งให้ออกไปพรีเซนต์งานหน้าห้องก็ขาสั่นแล้ว สมัยเป็นจุฬาคฑากรอาการขาสั่นเมื่อตื่นเต้นก็ยังไม่หาย ถึงจะรู้ตัวแต่ก็ควบคุมร่างกายไม่ได้ เขาจึงคิดว่างานในวงการบันเทิงไม่เหมาะกับคนไม่ชอบแสดงออกอย่างเขา แต่แม้จะขัดความรู้สึกแค่ไหน เขาก็สามารถปรับตัว และล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 7 ของการทำงาน

“ตอนนี้ผมรู้สึกเป็นเป็ดมาก เราทำงานหลายๆ ด้าน ไม่ได้โฟกัสที่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างเต็มที่ แต่ผมชอบแบบนี้นะ หลากหลายดี เราไม่เบื่อด้วย ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ผมแฮปปี้กับแบบนี้

 

“วงการบันเทิงยังสอนผมมากๆ อีกว่า คนเรามีความเก่งในแบบของตัวเอง ไม่เฉพาะเด็กเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับ ”

 

“6-7 ปีในวงการถ้าให้มองย้อนกลับไปจากวันแรก ผมเปลี่ยนไปเยอะมากครับ ถ้าเพื่อนสมัยเรียนมาดูรายการไม่มีทางเชื่อเลยว่าเราจะทำแบบนี้ได้ เดิมผมเป็นคนประเภท introvert (บุคลิกเก็บตัว มีความสุขกับกิจกรรมที่ทำคนเดียว) สมัยประถมมีเพื่อนแค่สองคน แล้วไม่คุยกับใครเลย ปัจจุบันกลายเป็นมีนิสัย extrovert (บุคลิกกล้าแสดงออก ชอบพบปะผู้คน) มากขึ้น สามารถคุยกับใครก็ได้ หน้าที่การงานมีผลในการเปลี่ยนแปลงเราอย่างมาก จากที่เคยเป็นเด็กโลกแคบ แค่คนสูบบุหรี่ก็มองว่าเป็นเด็กไม่ดีแล้ว ไม่มีทางคบเพื่อนแบบที่คบอยู่ตอนนี้เลย แต่พอเราได้เรียนรู้มากขึ้น เริ่มเปิดใจยอมรับความต่างของคน วงการบันเทิงยังสอนผมมากๆ อีกว่า คนเรามีความเก่งในแบบของตัวเอง ไม่เฉพาะเด็กเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับ และน่าเสียดายที่บางความสามารถก็ยังไม่ได้รับการชื่นชมในประเทศไทย

วันนี้รู้สึกตัวเองโชคดีมากที่ได้มาทำงานวงการบันเทิง เตสรุปความคิด


สถานที่ถ่ายแบบ

โรงแรม Oakwood Suites Bangkok

ที่อยู่ : 20 ซอยสุขุมวิท 24 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

เบอร์โทรศัพท์ : 02-059 2888

Email : reservations.suites-bangkok@oakwood.com

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

4 ความคิดเห็น

  1. การได้อ่านบทความนี้ทำให้ยิ่งคิดถึงการได้พูดคุยกับน้องเตในสถานที่่ต่างๆ น้องเป็นคนที่มีเรื่องคุยมากมายและการได้ฟังน้องพูดคุยได้ถกเถียงข้อมูลรอบตัวเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมากครับ

  2. ขอบคุณที่นำเสนอบทความดีๆให้เราได้อ่านและรู้จักคุณตะวันมากยิ่งขึ้นค่ะ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!