ในบรรดาเดือนบนปฏิทิน เดือนที่นับว่าอากาศร้อนแรงที่สุดต้องยกให้เดือนเมษายน พระอาทิตย์ฉายแสงแรงกล้าจนเหมือนจะฆ่าเชื้อโรคทั้งหลายที่เบียดเบียนให้วอดวาย แถมยังจะเผาผิวเราให้ไหม้ด้วย คงไม่ต่างกับความรักที่แม้ทำให้หัวใจอบอุ่น แต่ขณะเดียวกันก็แผดเผาใจจนเจ็บแสบเกินทน เปลวแดดสีส้มอันร้อนระยิบระยับชวนให้เรานึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ ผลงานของ “กวีวัธน์” รวมเรื่องสั้นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของชายรักชาย อันร้อนแรงแต่เว้าแหว่งและเป็นส่วนเกิน ในเมื่อความรักเป็นสิ่งสากล จึงไม่แปลกที่เรื่องสั้นของเขาจะขุดค้นรอยแผลที่เร้นลึกในใจของคนทุกเพศได้
“คุณมีใช่ไหม หลุมดำที่แอบซ่อนอยู่บางแห่งในใจ ที่ซึ่งเมื่อลงไปแล้วขึ้นมาไม่ได้
คุณมีใช่ไหม หลุมดำที่อยากเปิดมันออกมา เปิดเปลือย แม้จะพบเพียงอดีต เผชิญหน้า และชำระล้างใจ” (บางส่วนจากคำนำ)
เราอยากทำความรู้จักเส้นทางการเป็นนักอ่านจนได้มาเป็นนักเขียนของคุณ
ต้องเล่าย้อนไปว่า พื้นเพเป็นคนกาญจนบุรี พ่อแม่เป็นครู ที่บ้านจึงมีหนังสืออยู่เยอะ เราชอบเอาหนังสือเรียนที่ไม่ใช่วิชาคำนวณ เช่น ภาษาไทย สังคม มาอ่านเล่นล่วงหน้าก่อนครูสอน แต่เริ่มรู้สึกชอบงานที่เป็นฟิกชั่น (fiction) ตอนช่วงมัธยม พอเข้าห้องสมุดประชาชนจึงได้รู้จักงานเขียนของ “ทมยันตี” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านแล้วก็อิน ชอบ พอเราโตขึ้นหน่อยได้เข้าร้านหนังสือ เริ่มรู้จักงานแปล งานเขียนของคุณประภาส ชลศรานนท์ คุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ณ ตอนนั้นเรารู้ตัวแล้วว่าชอบอ่านหนังสือนะ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะทำมาหากินได้ยังไง พอต้องเลือกเรียนจึงฉีกไปเรียนภาพยนตร์ ด้วยความคิดอยากเป็นคนเขียนบท แต่ก็ไม่ตอบโจทย์อย่างที่คิด จนเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การเรียนที่นี่ก็ทำให้ได้กลับอ่านหนังสือจริงจัง ประจวบกับทำงานที่ร้านหนังสือด้วย เหมือนจังหวะทุกอย่างลงตัว เลยลองเขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสาร พอได้ตีพิมพ์ได้รับคำวิจารณ์ก็ชักมันมือ หลังจากนั้นก็หาเวทีส่งผลงานเรื่อยๆ
พอผลงานได้รับการตอบรับที่ดี คุณก็ตัดสินใจแน่วแน่กับทางสายนี้เลยไหม
ไม่นะ เพราะมีช่วงที่เราหยุดเขียนไปนานเลย หยุดจนไม่คิดว่าจะได้กลับมาเขียนอีก เหตุเกิดจากพ่อเราเสียชีวิตกะทันหัน แม่อยากให้กลับมาอยู่กาญจนบุรี เพราะครอบครัวเราเหลือกันไม่กี่คนแล้ว เลยตัดสินใจกลับบ้าน จึงไม่ได้สานต่อความชอบของเรา จนประมาณปี 2561 จู่ๆ พี่จุ๋ม-ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ P.S. ติดต่อมา ถามว่าเรามีงานเขียนบ้างไหม เขาอยากลองทำหนังสือซึ่งแตกต่างจากที่สำนักพิมพ์เคยทำ เราเลยส่งงานเก่าที่เคยเขียนและไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน พี่จุ๋มโอเคเพียงแต่ต้องมาพัฒนาเพิ่มเพื่อจะรวมเล่ม
ได้มาทำงานกับสนพ. P.S. รู้สึกยังไงบ้าง เพราะที่ผ่านมานักเขียนของสำนักพิมพ์นี้แทบจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด
ที่เรากังวลคืองานเราจะอีโรติกเกินไปไหม เราได้ติดตามอ่านงานของสนพ.นี้มา ส่วนมากจะมีแคแรกแตอร์เป็นผู้หญิง ทันโลก มีหัวก้าวหน้า แม้เขียนถึงฉากเซ็กซ์แต่เชิงภาษาก็ไม่ชัดเทียบเท่าของเรา เลยกังวลนิดหน่อยว่ามันจะแรงไปไหม แต่เผอิญว่ามีหนังสือของ “ลูกแก้ว โชติรส” ที่ออกก่อนหน้า เขาเขียนถึงฉากเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมาก ก็ทำให้เราคลายกังวลลงได้
เล่าถึงหนังสือเล่มแรก Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ คุณวางคอนเซ็ปต์หนังสือเล่มนี้ไว้อย่างไร
งานเขียน 7 เรื่องแรกเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2553-58 พูดถึงความรักชาย-ชาย ในบรรยากาศต่างจังหวัด เรามองว่าถ้านำเสนอกลิ่นอายความเป็นต่างจังหวัดน่าจะสนุกดี เพราะถ้าพูดถึงนิยายชายรักชาย มักจะเล่าในบรรยากาศเมืองกรุง จึงอยากลองเล่าถึงความรักชายขอบในบริบทสังคมต่างจังหวัดบ้าง น่าจะทำให้เราเห็นวิธีคิดที่แตกต่างและได้รสชาติใหม่ๆ คนที่วิจารณ์งานเขียนเรามักพูดว่า ความรักในผลงานของเราค่อนข้างเป็นความรักที่อยู่ภายในไม่แสดงออก ภาพจำของคนทั่วไปเกี่ยวกับความรักชาย-ชายจากสื่อคือ ถ้าไม่ตลกก็ฟูมฟาย แสดงอารมณ์ชัดเจนโจ่งแจ้ง แต่งานของเราค่อนข้างไม่แสดงออกชัด น่าจะมาจากสิ่งที่เรารู้สึก คนเป็นเกย์ก็ใช้ชีวิตธรรมดา เรื่อยๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกสุดโต่ง ประกอบอาชีพธรรมดา รับราชการ เป็นพนักงานทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในวงการบันเทิงเท่านั้น
ส่วนชื่อเรื่องมาจากการนั่งคุยกับทางสำนักพิมพ์ จนได้คำว่า “Tangerine” แปลว่าสีส้มอมแดง ส่วนตัวชอบสีส้มอยู่แล้ว ในเล่มมีเขียนถึงส้มประกอบในฉากหนึ่งด้วย จึงคิดว่าเป็นชื่อที่ลงตัวและมีความเชื่อมโยง
เรามีความกังวลหรือเกรงไหมเมื่อต้องเขียนฉากอีโรติกชายรักชาย
ฉากเซ็กซ์หมู่นั้นหลายคนบอกว่ามันดูเตลิด ดูไปไกลเกิน แต่ถ้าลองอ่านดีๆ มันเป็นฉากที่อ่านแล้วรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน และความรู้สึกนี้คือสิ่งที่เราอยากถ่ายทอด แม้ Tangerine จะมีฉากเซ็กซ์ให้เห็นอยู่ แต่ไม่ได้แสดงออกถึงความสุขสมอย่างเดียว ในขณะที่ตัวละครกระทำนั้นมีความเศร้าเจือปน มีความเจ็บปวดตามมา ตอนเขียนคนอาจจะคิดว่าไม่ยาก แต่การจะเขียนให้คนอ่านรับรู้ได้ถึงความอึดอัดนี้ ยากมาก
ฉากเซ็กซ์ใน Tangerine ไม่ใช่เลิฟซีน แต่เป็นฉากเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกเว้าแหว่งในความสัมพันธ์ คุณตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นใช่ไหม
ใช่ จริงๆ ไม่ได้ตั้งเป้านะว่าต้องมีฉากเซ็กซ์ เพราะบางเรื่องก็ไม่มี แต่เป็นความรู้สึกระหว่างเขียน เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน ร่วมรักกัน คนจะมองว่ามันคือความสุข ความเพลิดเพลิน แต่จริงๆ มันมีภาวะการแสดงออกถึงตัวตนข้างในที่อีกฝ่ายอาจไม่ชอบ หรือไม่ได้เป็นอย่างที่คิดอยู่ นี่คือประเด็น เราอยากพูดถึงฉากเหล่านี้ที่ตัวละครกระทำจบไปแล้ว แต่ เฮ้ย ทำไมเราไม่มีความสุขเลยวะ
การเมคเลิฟของตัวละครหลักไม่จำเป็นต้องจบที่รัก ฟิน หรือมีความสุขเสมอไป
ใช่ เหมือนเป็นมุมกลับ นิยายชายรักชายหรือนิยายวาย คนอาจติดภาพว่าดูสีชมพู ดูทุกอย่างปลอดโปร่ง แต่งานของเรากลับถ่ายทอดความอึดอัด ไม่ใช่แค่ตัวละครชายรักชายหรอก ผู้ชายผู้หญิงทั่วไปก็เหมือนกัน มันมีสภาวะเซ็กซ์ไม่ได้มีแค่ความสุขอย่างเดียว มันทิ้งร่องรอยความกระอักกระอ่วน และนี่คือความจริงที่มนุษย์ทุกคนเจอ ในชีวิตหนึ่งคุณย่อมเจอทั้งเซ็กซ์ที่ดี และเซ็กซ์ที่ฉันทำอะไรลงไป
ในเรื่องสั้นของคุณตัวละครมักจบที่ความไม่สมหวัง คุณต้องการบอกสื่อว่าความสัมพันธ์ชายรักชายไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดเช่นนั้นหรือ
คนถามเหมือนกันว่าทำไมดูเหงาทั้งเล่ม ไม่ใช่ว่าตัวเราเป็นคนเศร้า และไม่ใช่ว่าความเศร้าเท่ากับเกย์ เกย์หรือเควียร์ (queer-คำเรียกที่กินความถึงกลุ่มเพศที่สามทั้งหมด) ก็มีทุกรสชาติชีวิตเหมือนกับชายหญิงทั่วไป แต่นี่คืองานเขียนเล่มแรกซึ่งมาจากการเก็บเรื่องราวรอบข้าง และเราน่าจะเขียนแนวนี้ได้ถนัดมือมากกว่างานเขียนแนวสนุกสนาน
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีความเป็นคุณกี่เปอร์เซ็นต์
50% ครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนตัวเป็นคนมูฟออนเร็ว สลัดเรื่องเศร้าแล้วเดินหน้าต่อ ไม่ละล้าละลังเหมือนตัวละคร ส่วนที่เหมือนกันคงเป็นบุคลิกเรื่อยๆ เวลาสนุกก็สนุก เวลาอยากอยู่เฉยๆ ก็อยู่ได้โดยไม่ต้องสุงสิงกับใคร
เรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มมีเรื่องไหนที่ยากจนไม่อาจลืมเลือน หรือเรื่องไหนที่เราประทับใจเป็นพิเศษบ้าง
เรื่อง “ความแปลกหน้า” ซึ่งพูดถึงเซ็กซ์หมู่ค่อนข้างเขียนยาก เพราะสิ่งที่เราพยายามสื่อนั้นย้อนแย้งกับภาพในหัวของใครหลายคนที่คิดว่าเซ็กซ์หมู่ต้องสนุก ตื่นเต้นเร้าใจ แต่เรากำลังตีแผ่ในมุมที่เต็มไปด้วยความอึดอัด เมื่อคนคนแปลกหน้ามารวมกันเยอะๆ แล้วเขาไม่ได้มาทำกิจกรรมปกติอย่างเรียนหนังสือด้วยกัน แต่เขามาร่วมรัก มันมีการเปิดเผยร่างกาย ซึ่งเป็นการเปิดตัวตนมากกว่าระดับปกติ ยากตรงเราจะถ่ายทอดยังไงให้คนอ่านรับรู้บรรยากาศกดดัน ความไม่สุขสมตรงนี้ ตอนที่เขียนได้มีการคุยกับบก. เขาเสนอให้ลองใส่กลิ่นลงไปด้วย ภายใต้บรรยากาศอึดอัด ไม่ได้มีแค่สิ่งที่ตาเห็นเท่านั้นที่สร้างความแปลกหน้า กลิ่นที่เราไม่คุ้นเคยก็สร้างความรู้สึกนั้นได้เช่นกัน พอมาปรับปรุง กลายเป็นเรื่องที่ทางสำนักพิมพ์และหลายๆ คนชอบกันมากที่สุดในเล่ม
แต่สำหรับเรานั้น ชอบที่สุดคงเป็นเรื่อง “ในความเย็นเยียบของความโหยหา” มันมีลักษณะของงาน coming of age ช่วงเวลาที่ไม่แน่ใจว่านี่ใช่ความรู้สึกรักใคร่รึเปล่า เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแล้วทำให้เราเติบโต
มีสารอะไรที่อยากสื่อไปถึงนักอ่านผ่านผลงานเล่มนี้อีกบ้าง
สิ่งที่ต้องการคือ เราอยากให้คนได้เห็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่หลากหลาย แน่นอนว่าเราไม่สามารถถ่ายทอดได้ครบทุกรสชาติของความสัมพันธ์หรอก แต่มีบางรสชาติที่ยังไม่มีใครสะท้อนให้เห็น เช่น ความเป็นเควียร์ต่างจังหวัด ความสัมพันธ์ที่เกิดในยุคก้ำกึ่ง เหมือนจะเปิดเผยแต่ก็ไม่เปิดเผย ภาวะที่พ่อแม่รู้ แต่อย่าแสดงออกมากนะ แตกต่างจากชายรักชายปัจจุบันที่เปิดเผยได้มากกว่า อยากให้เป็นเสมือนบันทึกทางสังคมว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ประมาณนี้
การเขียนถึงความสัมพันธ์ชายรักชายนั้น มีกรอบหรือข้อจำกัดอะไรในการเขียน
ส่วนตัวคิดว่าไม่มีนะ ต้องบอกว่ายุคนี้โชคดีมากที่งานเขียนมีให้เลือกอ่านหลากหลาย คนอ่านก็ค่อนข้างเปิดกว้าง เด็กบางคนอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเก่งกว่าเราอีก โลกเปลี่ยนไป สมัยนี้อัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายขึ้น คนสนใจการค้นหาตัวเอง ฉันเป็นยังไง ฉันชอบแนวไหน แล้วตัวตนเรื่องเพศก็เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากปกปิดเป็นความลับอีกต่อไป เพราะนี่คือความปกติอย่างหนึ่งเหมือนกัน บรรยากาศเหล่านี้มีผลต่องานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ยุคนี้เราสามารถถ่ายทอดได้อย่างอิสระ
เกือบจะเลิกทำงานเขียนไปแล้ว พอได้กลับมาบนเส้นทางนี้อีกรู้สึกอย่างไรบ้าง
มีหลายความรู้สึกมาก ตอนก่อนเล่มนี้จะออกสู่ตลาดจะเกิดความกังวล เราแก้จนสำนักพิมพ์ไม่ให้แก้ กังวลว่านักอ่านจะรู้สึกยังไง จะขายได้ไหม ชายรักชายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องอินเทรนด์สมัยนี้ แต่ก็ไม่ได้อินเทรนด์ไปซะทุกอย่าง ส่วนความรู้สึกหลังจากหนังสือออก พอได้เห็นคนรีวิวซึ่งไม่ใช่คนที่เรารู้จัก เขาเข้ามาทัก มาพูดคุย เฮ้ย สนุก เราไม่รู้หรอกว่าจะทำให้เส้นทางนักเขียนต่อจากนี้โรยด้วยกลีบกุหลาบรึเปล่า เรารู้แค่ว่าเรามีความสุข
3 เล่มในดวงใจของ “กวีวัธน์”
- เจ้าชายน้อย โดย อ็องตวน เดอ แซ็งเตกซูเปรี
เราเป็นคนไม่ค่อยอ่านหนังสือหรือดูหนังซ้ำ นี่คือหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เราอ่านซ้ำ การกลับมาอ่านในแต่ละช่วงวัยก็ได้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
- ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต โดย มิลาน คุนเดอรา
เป็นหนังสือที่เปิดโลกการอ่านของเรา เล่มนี้พูดถึงความสัมพันธ์ ชีวิต และความรู้สึกส่วนลึกของตัวละคร หลังจากอ่านเรื่องนี้เรากลายเป็นคนไม่ยึดติดแนว อ่านอะไรก็ได้
- แกมเก็จ รวมเรื่องสั้นของ “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป)
เป็นผู้ที่เขียนเรื่องเซ็กซ์ได้ครบทุกรส จะอ่านเอาอีโรติก อ่านเชิงบริบทสังคม หรืออ่านเชิงจิตวิทยาก็ได้ มีส่วนผสมที่ค่อนข้างหลากหลาย อ่านตอนเด็กก็เป็นอีกรสชาติ อ่านตอนโตก็อีกรสชาติ