ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกๆ ท่าน
มีโยมท่านหนึ่งกล่าวว่า ช่วงนี้หลายท่านบอกว่าแย่มากครับ พระอาจารย์ แต่ผมว่าช่วงนี้เศรษฐกิจ good มากครับ
อาตมาก็ถามว่า good ยังไงละโยม
good สะลาธัมมา a good สะลาธัมมา ครับพระอาจารย์ ตายเรียบครับท่าน ตอนนี้ที่ทำงานของผมก็หายใจพะงาบๆ แล้วครับ รอแค่ถอดเครื่องช่วยหายใจเท่านั้นเอง พอพูดถึงเรื่องคนตาย ผมมีความสงสัยมานานแล้วครับ เมื่อเจอหลวงพี่ตัวเป็นๆ ก็ขอถามเลยแล้วกัน หลวงพี่ครับ ทำไมเวลาคนตาย เราต้องกรวดน้ำไปให้ครับ
เจริญพร อืม! ถึงว่าสิ ถ้าเรากรวดกาแฟไป คนตายจะนอนตายตาไม่หลับนะโยม
ก่อนที่จะเข้าเรื่องโควิด ผมสงสัยทำไมต้องกรวดน้ำ
โยม การกรวดน้ำ หรือเทน้ำราดรดลงไป เป็นประเพณีเก่าแก่ของอินเดีย แล้วคนอุษาคเนย์รับเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนา มีความหมายเป็นการตัดอะไรบางอย่างให้ขาดออกจากกัน เช่นบุญกุศลอันเราได้กระทำแล้วนี้ ขออุทิศให้แก่ท่านผู้นั้นผู้นี้ อย่างที่ชาวพุทธ “กรวดน้ำ” หลังจากทำบุญ ระหว่างที่พระท่านเริ่มสวดบทอนุโมทนาที่คุ้นหู “ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ…” ซึ่งแปลได้ว่า “ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น…”
นี่ย่อมหมายถึงการ “ตัด” ส่วนบุญกุศล อุทิศให้แก่บรรดาท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับใน “มหาชาติ” หรือเวสสันดรชาดก ซึ่งพระเวสสันดรทรงหลั่งน้ำ ยกช้างคู่บ้านคู่เมืองให้พราหมณ์ต่างเมือง ยกราชรถให้แก่ผู้มาขอ จนถึงพระราชทานกัณหาชาลีให้เป็นทาสของชูชก และยกพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์ที่เป็นพระอินทร์แปลงมา นั่นก็หมายถึงการมอบให้เป็นสิทธิขาด แบบ “ให้แล้วให้เลย”
หรือในพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเห็นว่ากษัตริย์หงสาวดี “คิดไม่ซื่อ” พระองค์จึงทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วประกาศตัดขาดแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาของพระองค์ มิให้เป็น “สุวรรณปฐพี” เดียวกันกับแผ่นดินของพระเจ้ากรุงหงสาวดีอีกต่อไป
ดังนั้น การกรวดน้ำจึงทำได้ในหลายๆ ลักษณะ เพื่อให้เจ้าแม่ธรณีเป็นสักขีพยานในการกระทำครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและกรวดน้ำเพื่อตัดขาด
เอาละ เมื่อเข้าใจเรื่องกรวดน้ำแล้ว เรามาประเด็นต่อไปนะโยม
ครับ หลวงพี่ มาเรื่องเศรษฐกิจกันต่อ ก็อย่างที่เห็นครับ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ ความปลอดภัย แย่ไปเกือบทุกอย่าง โยมก็ถามอาตมาว่าแล้วหลวงพี่ละครับ
เจริญพร โยม เราอยู่ในโลกเดียวกัน ประเทศเดียวกัน สังคมเดียวกัน ก็ต้องได้รับผลกระทบเหมือนๆ กันนะโยม ประเทศไทยฝุ่นเยอะ พระก็ต้องสูดกันทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้าเวลาบิณฑบาต เรียกได้ว่าสูดฝุ่นเข้าไปแบบเต็มปอด
ช่วงนี้โควิด-19 ระบาด พระอยู่ในประเทศไทย อยู่ในสังคมไทย ก็ไม่อาจหนีพ้นโรคนี้ได้ กระทบถึงขนาดเวลาโยมจะใส่บาตรต้องห่างสองเมตร โยมบางคนถึงกับใช้ไม้ห้อยอาหารใส่บาตร เมื่อเช้าก็เจออีกแล้ว โยมถามว่า หลวงพี่สมปองเต็มบาตรไหมคะ อาตมาต้องรีบตอบเลยว่า อาตมาเต็มบาตรนะโยม แต่บาตรอาตมายังไม่เต็ม เพราะช่วงนี้โควิดระบาด โยมก็ใส่บาตรน้อยลงชนิดน่าใจหาย ประเทศไทยถึงจุดนี้แล้วเหรอ ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันทั้งสังคม ลองไม่ใส่ดูสิ รับรองได้รับเชื้อโควิดแน่เลย
ในสถานการณ์เช่นนี้ โยมทุกท่านต้องมีความรู้รอบตัวถึงจะผ่านช่วงลำบากของชีวิตไปได้ อาตมาขอบอกโยมว่า สามสิ่งที่จะทำให้เราผ่านวิกฤติไปได้คือ
หนึ่ง ความรู้
ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งถ้าเรามีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เราก็จะรู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงว่า โลกของเราเป็นเช่นนี้เอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความรู้ทางโลกทำให้เราเข้าใจกลไกของโลก ระบบเศรษฐกิจ ความเป็นไปของโรค วิธีป้องกัน วิธีรักษา ความรู้ทางธรรมทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของคน ธรรมชาติของจิตว่าย่อมไหลไปสู่ที่ต่ำ ทำอย่างไรเราจึงจะรักษาจิตของเราให้อยู่ในระดับที่มีคุณภาพ
สอง สติปัญญา
โยมทั้งหลาย สติปัญญาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิต เพราะว่าถ้าเรามีสติปัญญา เรื่องยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็ก
ยกตัวอย่างคนที่มีสติปัญญา มีขวดเปล่าหนึ่งขวด หากเขาเอาไปใส่น้ำเปล่า ก็จะมีค่าขวดละ 5 บาท ถ้าเขาเอาไปใส่น้ำหวาน ก็จะมีค่าขวดละ 10 บาท ถ้าเขาเอาไปใส่น้ำผึ้ง ก็จะมีค่าขวดละ 300 บาท ถ้าเขาเอาไปใส่น้ำหอม ก็จะมีค่าขวดละ 10,000 บาท
ดังนั้นสติปัญญาของคนเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง คนที่มีสติปัญญาจะทำจิตให้เหมือนขวดเปล่า จะมีค่ามากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราใส่ลงไป
สาม วินัย
ในสถานการณ์เช่นนี้วินัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องปฏิบัติตนให้เคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนที่อยู่รอบข้าง ถ้าขาดวินัยก็จะเหมือนประเทศอิตาลี ตัวอย่างก็มีให้เห็น เราไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยตนเอง ส่วนตัวอย่างในการควบคุมที่ดีคือ ญี่ปุ่น เกาหลี ที่เขาทำให้เป็นแบบอย่างแล้ว
เห็นไหม โยม เพียงเราเติมความรู้ สติปัญญา และวินัยในการดำเนินชีวิต เราก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้
เจริญพร
คอลัมน์: ธรรมะอมยิ้ม
เรื่อง: พระมหาสมปอง ตาลปตฺโต ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์
all magazine พฤษภาคม 2563