ใต้หล้า : ความรัก ครอบครัวและคุณธรรม

-

คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่าดูละครเรื่องใต้หล้า แล้วอิ่มเอมใจ รู้สึกเหมือนว่ากำลังติดตามชีวิตใครคนหนึ่งที่น่าสนใจ และลุ้นให้ผู้นั้นประสบความสำเร็จ เอาชนะอุปสรรคทั้งหลายได้

ใต้หล้า  บทละครโทรทัศน์ที่สร้างสรรค์โดยนักเขียนบทมือดีเจ้าของนามปากกา “เนปาลี” หรือในนามจริงว่าวรรธนา วีรยวรรธน ผู้ที่ฝากผลงานเรื่องเยี่ยมไว้มากมาย อาทิ อุ้มรักเกมลวง, ใบไม้ที่ปลิดปลิว, เมีย 2018 ฯลฯ จึงการันตีขั้นต้นได้ว่าละครโทรทัศน์เรื่องนี้จะต้องเข้มข้นและสื่อพลังบางอย่างสู่ผู้ชมและสังคมไทย ดังที่เธอเคยฝากไว้ในหลายๆ เรื่องก่อนหน้านี้

                ที่น่าสนใจก็คือ ใต้หล้าเป็นละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ทว่าเป็นการเล่าเรื่องครอบครัวอย่างที่ไม่ซ้ำกับแนวคิดเรื่องครอบครัวที่ปรากฏในนวนิยายและละครโทรทัศน์ไทยทั่วไป เพราะใต้หล้าได้สอดแทรกประเด็นปัญหาของสังคมไทยไว้อย่างแนบเนียน  ชวนคิดให้เห็นว่าสภาพชีวิตของคนในครอบครัวไทยปัจจุบัน มิได้เกาะเกี่ยวกันด้วยความรัก ความผูกพันของพ่อแม่ลูกและเครือญาติเท่านั้น หากแต่ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาวุ่นวายชนิดที่สมาชิกในครอบครัวไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ต่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติและพอเพียงเพียงใด หากชีวิตยังคงเป็นชะตากรรมที่มิอาจกำหนดได้ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎหมายและจริยธรรมของสังคม ซึ่งมีอำนาจเหนือการควบคุมของคนในสังคม ดังที่ “ใต้หล้า” ประสบจากการถูกจับเป็น “แพะ” ต้องโทษในเรือนจำ และเขาก็ค้นพบว่าในเรือนจำนั้นก็ยังมีแพะอีกหลายตัวที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา

“เนปาลี” ได้นำเสนอประเด็นที่ละครโทรทัศน์ไม่กล้าแตะ นั่นก็คือประเด็นเรื่องความยุติธรรมในสังคมไทย เมื่อกฎหมายพ่ายแพ้ต่อเงินและผู้มีอิทธิพล ผู้ที่ตกเป็นแพะก็ต้องได้รับกรรมที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น  ในเรือนจำเอง แม้จะกักขังคนทำผิด ทว่าความเหลื่อมล้ำก็ยังย่างกรายไปถึง  เมื่อใต้หล้าต้องเผชิญกับความเลวร้ายและอุปสรรคอันใหญ่เกินตัว เขาก็ได้พบว่าในท่ามกลางอุปสรรคนั้นก็มีมิตรภาพอันงดงาม ใต้หล้าได้เพื่อนสนิทอย่าง “หยาง” นักธุรกิจชาวจีนที่ตกเป็นผู้ต้องหาเพราะไว้ใจคนอื่นมากเกินไป หยางคือผู้มีประสบการณ์และผ่านโลกมามาก  หยางมองใต้หล้าได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เห็นความดีมีคุณธรรมอันเปี่ยมล้นในจิตใจของใต้หล้า และที่สำคัญหยางไม่ลืมบุญคุณที่ใต้หล้าเคยช่วยชีวิตเขาไว้เมื่อครั้งยังต้องโทษอยู่

                ขณะที่หัวใจของใต้หล้ายังคุมแค้นและหาทางเอาคืนศัตรูของเขา ซึ่งมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เขากับ “หิรัญ” ซึ่งละครโทรทัศน์ผูกให้เป็นคู่ขัดแย้งกัน จึงมิใช่เพียงความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “คน” เท่านั้น หากแต่เป็นสัญญะที่สื่อให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคู่ตรงข้ามในสังคมไทยได้อย่างแยบยล นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่างคนจนกับคนรวย, ระหว่างความยุติธรรมกับความอยุติธรรม, ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ หิรัญถูกสร้างให้เป็นตัวละครที่ไม่ใช่นักสู้ เมื่อสู้ไม่ได้ก็ฟ้องพ่อซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า ระบบอุปถัมภ์ที่มีทั้งเงิน อำนาจ และความเลวร้ายทุกชนิด จึงพร้อมจะบดขยี้ให้ใต้หล้าจมดินได้ตลอดเวลา สิ่งที่ใต้หล้ามีและเป็นพลังใจให้เขากล้าต่อสู้กับความอยุติธรรมหลายรูปแบบก็คือ “อากาศ” หญิงคนรักที่เชื่อมั่นในตัวเขา พร้อมที่จะเดินเคียงข้างใต้หล้าในทุกสถานการณ์  “เนปาลี” สร้างให้อากาศเป็นหญิงเข้มแข็งเพราะได้เรียนรู้ถึงการที่แม่ของเธอถูกกดจนไม่มีปากเสียงใดๆ เพียงเพราะเป็น “เมียเก็บ” อากาศจึงพร้อมจะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างมุ่งมั่น

“ใต้หล้า” กับ “อากาศ” เป็นการตั้งชื่อที่สื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของสภาวะสูงกับต่ำ ใต้หล้าที่หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน แม้จะต้องถูกกดทับด้วยปัญหาร้อยแปด แต่ใต้หล้าก็ไม่เคยหายไป ต่างจากอากาศที่ชื่อดูสูงส่ง เหนือผืนแผ่นดิน แต่อากาศกลับเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เสมือนกับที่เธออยู่ในครอบครัวอย่างไม่มีตัวตนและไร้ความหมาย

ละครโทรทัศน์เรื่องใต้หล้า ได้วิพากษ์ระบบความยุติธรรมในสังคมไทย การกดขี่แรงงาน นำเสนอครอบครัวแบบปิตาธิปไตย และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน  ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความยึดมั่นในคุณธรรมอีกด้วย หยางเป็นนักธุรกิจที่ยินดีเป็นเพื่อนคู่คิดของใต้หล้า แม้ว่าวัยจะแตกต่างกันมาก แต่หยางให้เกียรติใต้หล้า เปิดโอกาสให้ใต้หล้าได้ทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม เพื่อสร้างตัวตนให้แก่ใต้หล้าได้มีบทบาทอยู่ในสังคมไทย ใต้หล้าเลือกที่จะใช้เงินก้อนหนึ่งที่หยางมอบให้ตอบแทนเป็นรางวัลที่เคยช่วยเหลือเขาไว้ โดยนำไปเปิดร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูกและยุติธรรม ไม่เอาเปรียบลูกค้า เขามีปณิธานว่าอยากให้คนมีรายได้น้อย ได้มีโอกาสใช้ของดีมีคุณภาพ ความยากจนไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนต้องต่ำลงไปด้วย

การได้ดูละครใต้หล้า จึงทำให้อิ่มใจ ได้ปรัชญาชีวิตที่ผู้เขียนบทแทรกเข้ามา ผ่านปากตัวละคร ผ่านการกระทำของตัวละคร และทำให้คนดูมีความหวัง แม้ตัวละครใต้หล้าจะสิ้นหวังในบางครา แต่ก็ปลุกปลอบใจให้ลุกขึ้นสู้ใหม่ ตัวละครใต้หล้าจึงเป็นเสมือนตัวแทนของสามัญชนที่อยากจะสร้างครอบครัว สร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะเผชิญหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรมทุกรูปแบบ

                ความอิ่มใจอีกประการหนึ่ง คือการได้ดูการแสดงของนักแสดงมากฝีมือที่มาปะทะกันในเรื่อง โดยเฉพาะฉากที่ดวงดาว จารุจินดา ในบทของ “อาม่า” นพพล  โกมารชุน ในบทบาท “หยาง” และรัดเกล้า อามระดิษ ในบทของ “สวย” เมื่อทั้งสามได้พบกัน ผู้ชมจะสัมผัสถึงความอบอุ่นของผู้ใหญ่ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับลูกหลาน อาม่าผู้ยึดมั่นในคุณธรรม กลัวบาป และยึดมั่นในจริยธรรม พร้อมจะให้อภัยและเสียสละ ป้าสวยแม้ในเรื่องจะดูเป็นคนวิตกกังวลในทุกเรื่อง  แต่ก็คือความห่วงใยที่ผู้ใหญ่มีต่อลูกหลาน ส่วนหยางก็คือคนที่ผ่านโลกมาหลายมิติ จึงเป็นคนที่คอยสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้ลูกหลานประสบความสำเร็จ

ขอชื่นชมกับทีมงานทุกคนที่รังสรรค์ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ในห้วงสมัยแห่งความทุกข์ทนของโลก ดูใต้หล้าให้มีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรค และวาดหวังว่าวันหนึ่งจะผ่านพ้นอุปสรรคด้วยความเข้มแข็งดังที่ตัวละครเป็น หวังว่าจะมีละครโทรทัศน์แนวนี้มาเป็น “ขวัญ” และ “ความอิ่มเอม” ให้แก่คนไทยอีกหลายๆ เรื่อง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ”

ภาพ: https://www.facebook.com/one31Thailand

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!