ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน
ได้ปลาทุกวัน รักกันก็ปันกันไป
หาปลามานมนาน หาปลามาบานตะไท
จนแม้ใครใคร รู้น้ำใจไมตรีปรีดา
แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มาถึงขมึงทึงมา
สองคนถึงครา แย่งหัวปลาหางปลากันเกรียว
ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเจียว
ตาอยู่มาเดี๋ยวเดียว คว้าพุงเพรียว ๆ ไปกิน
นั่นเป็นคำร้องเพลงตาอินกะตานา แต่งโดยศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ใส่ทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ขับร้องคือ วัฒนา ศโรภาส และ ผจงพิศ พุฒพล บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ กระผมเชื่อว่าชาวเราน่าจะคุ้นเคยกับเพลงนี้มานานโข
เนื้อหาสาระของเพลงนี้นำมาจากนิทานสุภาษิตหรือนิทานชาวบ้าน เรื่องย่อๆ มีว่าตาอินกะตานาเป็นเพื่อนกัน อาชีพที่สองเฒ่าดำเนินเป็นกิจวัตรมาช้านานคือหาปลา ได้มากน้อยเท่าใดก็แบ่งปันกันเรื่อยมา จนวันหนึ่งทอดแหได้ปลาตัวโตมาเพียงตัวเดียว เกิดปัญหาขึ้นเมื่อไม่รู้จะแบ่งอย่างไรโดยไม่ให้ใครเสียเปรียบ สองเฒ่าโต้เถียงกันอยู่พักใหญ่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ขณะนั้นตาอยู่ซึ่งแอบได้ยินข้อพิพาทก็เสนอตัวเป็นคนกลางผู้ตัดสิน ด้วยการแบ่งปลาออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว กับ ส่วนหาง ให้ตาอินกะตานา และส่วนกลางตัว ตาอยู่เอาไปเองในฐานะตุลาการผู้ตัดสิน
การสอนด้วยนิทานสุภาษิต หรือยกนิทานเป็นอุทาหรณ์เป็นวิธีที่ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย แต่น่าจะเหมาะกับวัยเด็กซึ่งยังเป็น “ไม้อ่อนดัดง่าย” มากกว่าชายชราอย่างกระผมซึ่งเป็น “ไม้แก่ดัดยาก” เหมือนอย่างในโคลงโลกนิติที่ว่า “ดัดก็หักแหลกแล้ ห่อนรื้อโดยตาม”
การใช้นิทานสอนคติในการดำเนินชีวิตมีอยู่ทุกชาติทุกภาษาและมีมานานนับพันปี ที่แพร่หลายในภูมิภาคตะวันตก เช่น นิทานอีสป ส่วนในภูมิภาคตะวันออกน่าจะแพร่หลายมาแต่ก่อนพุทธกาล และพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ “นิทาน” ในรูปของ “ชาดก” เป็นวิธีสอนข้อธรรมอย่างหนึ่ง
หลักการทางพระพุทธศาสนาจำแนกการสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็น ๙ อย่าง เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” ซึ่งประกอบด้วย
1. สุตตะ ได้แก่พระสูตรทั้งหลายและพระไตรปิฎก
2. เคยยะ ได้แก่ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน
3. เวยยากรณะ ได้แก่ไวยากรณ์คือความที่เป็นร้อยแก้วทั้งหมด
4. คาถา ได้แก่ความที่เป็นร้อยกรองทั้งหมด
5. อุทานะ ได้แก่บทพุทธอุทาน 82 สูตร
6. อิติวุตตกะ ได้แก่บทที่เป็นอิติวุตตกะ 110 สูตร
7. ชาตกะ ได้แก่นิทานชาดก 550 เรื่อง
8. อัพภูตธรรม ได้แก่ธรรมที่อัศจรรย์ต่างๆ
9. เวทัลละ ได้แก่การถามตอบ เช่น เทศน์ปุจฉาวิสัชนา
ชาดก คือเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เรียกว่า “นิบาตชาดก” มีทั้งหมด 547 เรื่อง ชาดกแต่ละเรื่องเป็นการสอนคติธรรมโดยการยกเรื่องราวในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ในรูปของนิทานมาเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งบุคคลในเรื่องมีทั้งเทวดา มนุษย์ อมนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ละเรื่องมักแสดงออกในลักษณะ “บุคลาธิษฐาน” เช่นสัตว์ต่างๆ สื่อสารกันด้วยภาษามนุษย์ แสดงพฤติวิสัยเหมือนมนุษย์
นิทานตาอินกะตานาและตาอยู่ก็น่าจะมีต้นเค้ามาจากนิทานชาดกเรื่อง ทัพพบุปผชาดก นิบาตชาดกชาติลำดับที่ 400 ซึ่งตัวละครสำคัญของเรื่อง คือ สุนัขจิ้งจอก นาม ดอกหญ้าแพรก (ทัพพบุปผ = ดอกหญ้าแพรก หมายถึงสีกายของจิ้งจอกตัวนั้น) เรื่องย่อมีว่า
ยังมีจิ้งจอกดอกหญ้าแพรกกับภรรยาอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง อยู่มานางสุนัขจิ้งจอกตั้งครรภ์เกิดอาการแพ้ท้องต้องการจะกินปลาตะเพียนสด จึงแจ้งความประสงค์แก่สามี
“ณ ขณะนั้นนาก 2 ตัว คือนากผู้เที่ยวไปในน้ำลึกตัว 1 นากผู้เที่ยวไปตามฝั่งตัว 1 เที่ยวแสวงหาปลาทั้งหลายไปตามที่นั้นๆ ในนากทั้ง 2 นั้น นากผู้เที่ยวไปในน้ำลึกได้เห็นปลาตะเพียนใหญ่ จึงดำน้ำลงไปโดยเร็ว คาบหางปลานั้นไว้ได้ แต่ปลามีกำลังมาก จึงสลัดหลุดไปเสีย เขาจึงหารือกับนากผู้เที่ยวไปตามฝั่งว่า ปลาใหญ่เราได้มา จักเพียงพอแม้แก่เราทั้ง 2 เพราะฉะนั้นท่านจงมาเป็นเพื่อนร่วมคิดของเราเถิด…ฯลฯ…ครั้งนั้นนาก 2 สหาย ได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หาปลาตะเพียนมาได้วางไว้บนบก ทำให้ถึงตายแล้ว ได้ทำความเกี่ยงกันว่า ท่านจงแบ่งเถิด ท่านจงแบ่งเถิด ไม่อาจเพื่อจะแบ่งกันได้ จำเป็นต้องเจ่าเฝ้าปลาอยู่ ทันใดนั้นสัตว์สิงคาลพอมาถึงที่นั้นเข้า นากทั้ง 2 ครั้นได้เห็นเข้าก็ดีใจจึงทำความต้อนรับ แล้วกล่าวว่า แน่ะสหายชื่อทัพพบุปผ ข้าพเจ้าทั้ง ๒ พร้อมใจกันหาปลานี้มาได้ แต่ข้าพเจ้าทั้ง 2 ไม่อาจเพื่อจะแบ่งกันได้ ความเกี่ยงโต้เถียงกันก็ทวีมากขึ้นไป เพราะฉะนั้นขอท่านจงทำให้มีส่วนเท่ากัน แล้วแจกให้ข้าพเจ้าทั้ง 2…”
จิ้งจอกดอกหญ้าแพรกอ้างกับนากทั้ง 2 ว่า เคยเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีในนามีข้าวมาก่อน คราวนี้เป็นคดีในน้ำมีปลา จึงจัดการแบ่งปลาออกเป็น 3 ส่วน “นากผู้เที่ยวไปตามฝั่งจงคาบเอาท่อนหางไป ท่อนหัวจงมีแก่นากผู้เที่ยวไปในน้ำลึก ส่วนท่อนกลางจักมีแก่เราผู้พิพากษา ท่านทั้ง 2 อย่าทำการทะเลาะให้เกิดบาดหมางเลย จงกินท่อนหางและท่อนหัวตามที่เราแบ่งให้นั้นเถิด”
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดาได้เห็นพฤติการณ์ของนากตาอิน นากตานา และจิ้งจอกตาอยู่ ตามชาดกที่ยกเป็นอุทาหรณ์ นั่นแลเป็นที่มาของนิทานสุภาษิตเรื่องนี้
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์