หน้าร้อนปีนี้ เปิดแอร์อย่างไรถึงจะดี

-

หน้าร้อนปีนี้ เปิดแอร์อย่างไรถึงจะดี

“อากาศร้อนจัด ทำคนไทยเสียชีวิตแล้วเกือบ 40 ราย บางวันอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา แถมดัชนีความร้อนพุ่งสูงกว่า 52 องศา เตือนผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน” รายงานข่าวอันน่าตกใจเกี่ยวกับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติของเมืองไทยในช่วงฤดูร้อน จนทำให้มีผู้คนเจ็บป่วย เป็นตะคริว หน้ามืด อ่อนเพลีย ถึงขั้นเป็นลมแดด ฮีตสโตรก (heat stroke) และอาจเสียชีวิตได้

เดี๋ยวนี้เวลาฟังรายงานสภาพอากาศ นอกจากจะตรวจสอบว่าอุณหภูมิของอากาศนั้นมีค่าเท่าไร สามารถออกไปทำงาน ไปประกอบกิจกรรมกลางแจ้งได้มากน้อยเพียงใดแล้ว ยังต้องเช็กด้วยว่า “ดัชนีความร้อน (heat index)” ในวันนั้นมีค่าเท่าใด อย่างเช่นบางวัน กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส แต่บอกเพิ่มด้วยว่า เราจะรู้สึกร้อนจัด เหมือนอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิ 52 องศา อันเนื่องจากวันนั้นมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงถึง 70%

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะตามปกติร่างกายของคนเราระบายความร้อนไปกับเหงื่อ ที่ระเหยออกทางผิวหนัง แต่ถ้าอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) สูง เหงื่อจะระเหยได้ยาก ลดการระบายความร้อน เกิดอาการร้อนอบอ้าวไม่สบายตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าสภาพร่างกายอ่อนแอ แต่งตัวไม่เหมาะสม ออกกำลังมาก ขาดน้ำ ตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็จะยิ่งรู้สึกร้อนจัด แถมค่านี้ยังคำนวณจากเมื่ออยู่ในร่มเงาด้วย ถ้าเกิดไปเดินหรือทำงานตากแดด ก็อาจต้องคำนวณให้เพิ่มขึ้นไปอีกถึง 8 องศาเซลเซียส จึงควรตรวจสอบค่าดัชนีความร้อนในแต่ละวันด้วย 

สภาพอากาศที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงขึ้นเช่นนี้ นอกจากจะควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัดแล้ว ยังควรดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ อย่างเพียงพอวันละ 8-10 แก้ว ไม่ปล่อยให้ร่างกายกระหายน้ำหรือเกิดอาการขาดน้ำ งดดื่มแอลกอฮอล์ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี พักผ่อนอย่างเพียงพอ และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 

ผลกระทบที่ตามมาในช่วงเวลาฤดูร้อนเช่นนี้ ก็คือการที่ผู้คนจำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศกันมากขึ้น ส่งผลให้แอร์ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงอยู่แล้ว ต้องทำงานหนักเพื่อนำความร้อนภายในห้องออกสู่นอกห้อง อากาศข้างนอกห้องยิ่งมีอุณหภูมิสูงเท่าไร เครื่องแอร์ก็ยิ่งทำงานหนักขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิลงตามที่ผู้ใช้ต้องการ

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เคยทดลองพิสูจน์ว่า การเปิดเครื่องปรับอากาศในขณะที่อากาศร้อน จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่? และพบว่า ถ้าลองเปิดเครื่องแอร์ขนาด 12,000 BTU ตั้งให้เย็น 26 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 35 องศา แล้วเปิดแอร์นาน 1 เดือน (เปิดวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 30 วัน) จะใช้ไฟฟ้า 165.6 หน่วย แต่ถ้าอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้นเป็น 41 องศาเซลเซียส พบว่าเปิดแอร์ 1 เดือน จะใช้ไฟมากถึง 189.6 หน่วย ! นั้นคือ การเปิดแอร์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนขึ้น 6 องศาเซลเซียส อาจทำให้ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 14%

เทคนิคการประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศช่วงหน้าร้อน นอกจากต้องล้างทำความสะอาดกำจัดฝุ่นที่เกาะในเครื่องแอร์และแผ่นกรองแอร์เป็นประจำ, ปิดประตูหน้าต่างภายในห้องให้สนิท ไม่ให้มีลมร้อนผ่านเข้ามา, ไม่รีดผ้าหรือใช้อุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดความร้อนในห้อง เพราะจะเป็นเหตุให้แอร์ทำงานหนักขึ้น, ปิดเครื่องแอร์เมื่อไม่ใช้งาน แต่ก็ไม่ควรปิดๆ เปิดๆ แอร์บ่อย เพราะแอร์จะกินไฟหนักสุดตอนที่เริ่มเปิดเครื่องและสตาร์ตการทำงานของมอเตอร์ในเครื่อง, ตั้งค่าความเร็วลมในส่วนของคอยล์เย็นของแอร์ (ส่วนที่อยู่ในห้อง) ให้ลมแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้อากาศในห้องเย็นเร็วยิ่งขึ้นแล้ว การหาพัดลมตั้งพื้น มาเปิดอีกเครื่องเพื่อเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง แล้วเปลี่ยนจากการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำ เช่น 24-25 องศาเซลเซียส มาเป็น 26-27 องศาขึ้นไป ก็จะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายได้พอกัน และยังช่วยลดค่าไฟฟ้าลงถึง 10% หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืนที่อากาศไม่ได้ร้อนนัก

ในทางตรงกันข้าม มีการเผยแพร่เทคนิคการประหยัดไฟเครื่องปรับอากาศในโลกโซเชียล ที่จริงๆ แล้วกลับไม่ได้ผลหรือไม่เหมาะสมที่จะทำตาม ตัวอย่างเช่น แนะนำให้ทำ “ที่บังแดด” ไว้ข้างบนคอยล์ร้อนของเครื่องแอร์ที่ตั้งไว้นอกบ้าน จะลดค่าไฟลงได้ บางคนเคลมว่าสามารถลดอุณหภูมิอากาศจาก 32 องศา เหลือแค่ 24 องศาได้อย่างรวดเร็ว

หน้าที่ของเครื่องปรับอากาศคือ การดึงเอาความร้อนจากภายในห้องออกมานอกห้อง ดังนั้น วิธีการติดตั้งร่ม หลังคา หรือที่บังแดดไว้บนคอยล์เครื่องปรับอากาศนี้ จึงพอใช้ได้ผลในกรณีที่เครื่องแอร์นั้นเป็นแบบดึงอากาศเข้าด้านของเครื่อง และพ่นลมร้อนออกทางอีกด้านของเครื่อง (ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา) ซึ่งไม่ค่อยกีดขวางการไหลเวียนของอากาศร้อน  และอาจช่วยลดค่าไฟได้บ้าง ตลอดจนการปลูกต้นไม้สูงโดยรอบอาคารบ้านเรือน ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยเพิ่มร่มเงา ลดอุณหภูมิโดยรอบของบ้าน และลดการทำงานหนักของเครื่องปรับอากาศ

แต่ถ้าเครื่องปรับอากาศนั้นมีส่วนคอยล์ร้อนที่ดูดลมเย็นจากด้านข้าง และพ่นลมร้อนออกทางด้านบนของเครื่อง การเอาที่บังแดดไปวางไปด้านบน จะกลายเป็นการกีดขวางการไหลของอากาศ และอากาศร้อนที่ถูกพ่นออกมาก็หมุนวนกลับไปยังเครื่องอีกครั้ง เกิดผลกระทบเชิงลบจากการลดประสิทธิภาพในการระบายอากาศร้อน และลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องแอร์ให้ต่ำลง ซึ่งนอกจากไม่ช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังอาจทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ภาพประกอบ 1 – ตารางค่าดัชนีความร้อนจากหน่วยงาน NOAA ของประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มจากอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส จนถึง 43 องศา ในขณะที่มีความชื้นสูง

ภาพประกอบ 2 – ส่วนคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศ ติดอยู่เต็มผนังอาคารที่พักอาศัย

ภาพประกอบ 3 – คำแนะนำของการไฟฟ้านครหลวง (PEA) เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดค่าไฟฟ้า


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!