The Matrix Trilogy ตั้งคำถามสำคัญผ่านการเลือกแคปซูลสองสีว่าถ้าเลือกได้ คุณจะเลือกใช้ชีวิตที่เผชิญหน้าความจริงในสังคม เผชิญหน้าความเหลื่อมล้ำ สำเหนียกถึงการกดขี่ จะมีความสุขหรือสบายต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา บ้างต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนให้เป็นอิสระจากผู้กดขี่ จะดีหรือเลวร้ายขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา
หรืออยากมีชีวิตในสังคมอีกแบบในโลกอีกใบที่ไม่ต้องต่อสู้ ไม่สำเหนียกถึงการกดขี่หรือความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ ไม่ต้องหาความหมายของชีวิต ใช้ชีวิตสำราญไปวันๆ ตามที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่ากำหนดบทบาทและสถานภาพมาให้ โดยหารู้ไม่ว่าชีวิตจริงของตนเองนั้นหลับใหลไปกับการรับใช้ผู้กดขี่ (หรือ the machines)
แน่นอนว่า หนังไม่ได้เล่าอย่างเป็นกลาง เพราะตัวละครนีโอหรือพระเอกของเรื่องเลือกกินแคปซูลสีแดงเพื่อเผชิญความเจ็บปวดของการมีชีวิตที่แท้จริง เขาและทรินิตี้คือตัวแทนของการต่อสู้เพื่อ free will และไม่เชื่อว่าชีวิตของเราจะถูกกำหนดโดยโชคชะตา
และราคาของการยอมรับความจริงว่ามีการกดขี่เกิดขึ้นจริงๆ รวมถึงราคาของการสู้เพื่อปลดปล่อยผู้คนให้มีอิสรภาพกับเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตก็แลกกับความลำบากและความตาย แต่นั้นก็เพื่ออนาคตของผู้คนอีกมากมายที่ไขว่คว้าหาความหมายในการมีชีวิตผ่านการมีเสรีภาพ
The Matrix Trilogy เป็นไตรภาคหนังไซไฟแอคชั่นที่ผสมผสานหลักปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ได้อย่างกลมกล่อม เข้าถึงง่าย แต่ก็ท้าทายด้วยการทิ้งหลายประเด็นในหนังให้คนไปตั้งคำถามหรือตีความ
ความสำเร็จนอกจากเรื่องราวซึ่งจัดได้ว่าสดใหม่ในช่วงเวลานั้น ยังมีงานวิชวลที่ใหม่และสร้างสรรค์มากมาย ฉากนีโอแอ่นหลบกระสุนและ bullet time ผ่านมาหลายปียังกลายเป็น meme ที่ไม่เคยล้าสมัย การออกแบบฉากแอคชั่นโดยหยวนวูปิงก็โดดเด่นมาก
ในตอนจบของภาค 3 นับว่าปิดฉากได้สมบูรณ์แบบจนไม่เหลือเงื่อนงำให้ทำต่อไปแล้ว แต่การคืนชีพของหนังในตำนานที่ทยอยสร้างขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ไม่ว่าจะเป็น Terminator, Jurassic Park, Scream ฯลฯ ก็ให้สัญญาณเป็นนัยๆ ว่าถึงเวลาแห่งการคืนชีพของ The Matrix แต่การคืนชีพของ The matrix ก็แทบจะเป็นสูตรเดียวกับหนังในตำนานเรื่องอื่นๆ คือการเล่าเรื่องเดิมในเส้นทางใหม่ อาศัยนักแสดงในตำนานกลับมาในหนังเพื่อประคองกลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่
หนังตำนานบางเรื่องแม้ปลุกให้คืนชีพกี่หนก็ไปต่อไม่รอด เช่น Terminator ส่วนหนึ่งเพราะความตันของเนื้อหา ไม่ว่าจะปรับอย่างไรมันก็ยังคงเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ไม่น่าตื่นเต้นอีกแล้ว แต่บางเรื่องก็สามารถหาที่ทางให้ตัวเองไปต่อได้เช่น Jurassic Park, Scream ฯลฯ
ส่วน The Matrix Resurrections นั้นได้ผลลัพธ์ปานกลาง คือมีศักยภาพที่เกือบจะสร้างอะไรใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือโครงเรื่อง แต่สุดท้ายหนังก็พาคนดูไปได้ไม่ไกลแล้ววกเข้าสู่วงจรเดิม
===
The Matrix Resurrections เปิดตัว คีอานู รีฟส์ ในลุคส์ผมยาวไว้หนวดเคราราวกับเดินออกมาจากหนัง John Wick แต่เป็นเวอร์ชั่นหนุ่มใหญ่ในวงการ IT มีบุคลิกซื่อๆชื่อโธมัส แอนเดอร์สัน เขาเป็นนักออกแบบเกมดังระดับโลก แล้วเกมที่ทำให้เขาดังก็คือเกมชื่อ The Matrix
The Matrix เป็นเกมฮิตที่สร้างมาสามภาค ขายดีทั่วโลก แล้วทางบริษัทต้องการทำภาคต่อ ฉากหนึ่งในเกมที่ดังคือ Bullet time บทสนทนาของตัวละครมีทั้งการล้อเลียนและแซะตัวเองในช่วงแรกของหนัง แล้วยังมีการนำฟุตเทจจากไตรภาคมาให้ตัวละครในหนังภาคนี้พูดถึงในแง่ทั้งหมดเหล่านั้นคือ ‘ส่วนหนึ่งของเกมชื่อ The Matrix’
โธมัสมีปัญหาสุขภาพจิต หลังจากงานฉลองความสำเร็จของเกมบนดาดฟ้าของตึกแล้วเขาจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย จึงไปรักษาและได้ยามากิน แต่ต้องไปพบนักบำบัดอยู่เรื่อยๆ
เขาพบกับทิฟฟานี่ คุณแม่ลูกสองซึ่งแวะมาดื่มกาแฟที่ร้านประจำของเขาเสมอ เขามีทีท่าอยากรู้จักเธอแต่ก็ไม่กล้าเข้าไปทัก เขารู้สึกคุ้นเคยกับเธอแต่ก็นึกไม่ออกว่ารู้จักจากไหน
ชีวิตของโธมัสวนเวียนแค่นี้ ประชุมการออกแบบเกมกับคนในบริษัท ไปรับยาและบำบัดทางจิต แวะร้านอาหารแล้วเจอทิฟฟานี่ ฯลฯ จนวันหนึ่งก็มีคนส่งข้อความหาเขาและเรียกเขาว่านีโอ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับตัวละครในเกมที่เขาออกแบบ ยื่นแคปซูลสีแดงให้เขาเลือกเพื่อตื่นมาพบความจริง
ความจริงที่ว่าเขาไม่ใช่โธมัส แอนเดอร์สัน แต่คือนีโอที่ถูกจักรกลคืนชีพให้หลังเหตุการณ์ในภาค 3 แล้วรักษาไว้ในเครื่องเพื่อสูบพลังจากเขาในขณะที่หลับใหล เช่นเดียวกับ ทิฟฟานี่ ซึ่งไม่ใช่แค่ความจริงเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ ทรินิตี้ ก็ยังมีชีวิตอยู่ในสภาพเดียวกับเขาเช่นกัน
===
The Matrix Resurrections เล่นกับการรับรู้ ‘จริง/ไม่จริง’อีกครั้ง
ในตอนต้นถือว่าหนังภาคใหม่นี้หาทางฉีกแนวจากไตรภาคก่อนๆได้ในส่วนล้อเล่นกับตัวเอง เช่น การหยิบยกฟุตเทจในภาคเก่าๆมาแล้วกัดแซะ ‘ความเป็น The Matrix’ ในแง่ธุรกิจและกระแสอันโด่งดังใน pop culture
ส่วนต่างที่น่าจะเรียกว่าอัพเกรดจากภาคก่อนมากขึ้น คือ การควบคุมให้อยู่ในความจริงเสมือน โดยทำให้นีโอ ‘เชื่อว่าความต้องการค้นหาความจริง’ คือ ‘อาการป่วย’ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเสมือนการพยายามทำให้ผู้เรียกร้องอิสระเสรีภาพกลายเป็นความไม่ปกติที่ต้องเยียวยา
และส่วนขยายที่อธิบายเพิ่มเติมซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลดี คือการอธิบายว่าเพราะอะไรนีโอและทรินิตี้จึงยังมีชีวิตอยู่ มันคือระบบนิเวศที่แม้ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ (จักรกล/ผู้นำ) แค่ไหนก็ยังต้องพึ่งพา (มนุษย์/ประชากร) เพราะพลังงานสำคัญที่ผลักดันในตัวมนุษย์ก็คือความรักและความเจ็บปวด คือการอยู่ร่วมกันและการพลัดพรากจากคนที่เรารัก ดังนั้นนีโอคนเดียวจึงไม่ได้มีศักยภาพมากพอเท่ากับมีทั้งเขาและทรินิตี้ด้วยกัน เป็นการพูดถึงความรักที่มีพลังและโรแมนติกดี
แต่ความล้มเหลวคือหนังเล่าเรื่องไม่สนุก ฉากแอคชั่นรกไป ได้นักแสดงใหม่ไฟแรงหลายคนแต่ไม่สามารถทำให้พวกเขาเปล่งกระกายโดดเด่นในหนังได้เลย เช่น เจสสิก้า เฮนวิค ซึ่งมีแค่ผมสีฟ้าที่น่าจดจำ แต่เสน่ห์ของเธอถูกดึงออกมาน้อยมากหากเทียบกับผลงานก่อนๆ เช่น ซีรีส์ Iron Fist หรือยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่ 2 ซึ่งเคยเด่นมากในหนังเรื่องอื่น เช่นซีรีส์ Watchmen ทั้งที่ในเรื่องนี้ได้บทสำคัญแบบมอร์เฟียส
แถมเมื่อหลุดจากการจิกกัดล้อ ‘ความ The Matrix’ ไปเข้าพล็อตต่อสู้กับจักรกลก็น่าเบื่อเต็มที เช่น ย้ำการโปรแคปซูลแดง/เผชิญหน้าความจริง/สู้เพื่อ free will ฯลฯ เพราะมันคือประเด็นที่ช้ำมากแล้วในยุคปัจจุบันและก็เหมือนพายเรือวนในอ่างเดิมๆของไตรภาคก่อน
หากจะต่างเล็กน้อยก็แค่สนับสนุนให้เห็นว่าการต่อสู้นั้นสร้างความสงบสุขจริงในระยะหนึ่งแต่ไม่ถาวร มันคือวัฏจักรซึ่งคนรุ่นถัดๆ ไปยังต้องสู้ต่อเพราะในสังคมก็มีฝ่ายที่ต้องการรูปแบบสังคมซึ่งยกอำนาจความเป็นเจ้าของในทุกสิ่งให้แก่ผู้มีอำนาจ ไม่ต้องการให้ประชากรมีเสรีภาพมากเกินไป
คิดเล่นๆว่าคงน่าสนุกกว่าถ้า Matrix ทำใหม่จะเป็นหนังลองสำรวจคนเลือกแคปซูลฟ้า ว่าด้วยคนที่ต่อสู้เพื่อรักษาโครงสร้างสังคมแบบประชากรไม่ต้องการ free will พวกเขาพอใจให้มีคนควบคุมบงการทุกอย่างให้ ชอบทำตามคำสั่งมากกว่าได้เลือก และไม่ชอบการมีเสรีภาพหรืออิสรภาพในชีวิตเท่าความมั่นคง
เหมือนที่ตัวร้ายในหนังบอกว่า “ไม่ใช่ทุกคนต้องการ truth หรือ free will” เพราะพวกเขาไม่อยากลืมตาเจอความจริงว่าชีวิตต้องต่อสู้ ต้องลำบาก พวกเขาขอแค่การใช้ชีวิตแบบสุขสบายอย่างรู้สึกมั่นคงและคงเส้นคงวาไปได้เรื่อยๆ เท่านั้นก็พอ
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ / เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)