สำนวนไทยซึ่งมีคำ “แค้น” เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่ยังมีใช้กันอยู่ประปรายในปัจจุบันซึ่งน่าเขียนถึงได้แก่สำนวน “แค้นฝังหุ่น” และ “แค้นคอกา” ฯลฯ
แค้นฝังหุ่น
“แค้น” แปลว่าโกรธ บางครั้งใช้เป็นคำซ้อนว่าโกรธแค้น เพราะคนเราเมื่อโกรธมากก็จะแค้น คือเจ็บใจอยู่ไม่หายแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม จึงคิดหาวิธีที่จะลบรอยแค้นนั้น ส่วนคำ “หุ่น” ในที่นี้หมายถึงรูปตุ๊กตาที่ทำเป็นรูปคนด้วยการปั้นหรือแกะสลักจากวัสดุที่ปั้นได้หรือแกะได้ เช่น ดิน ขี้ผึ้ง ฯลฯ ความโกรธและแค้นมากๆ ที่ก่อให้เกิดการทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์โดยการใช้เวทมนตร์คาถานั้นมีมาแต่โบราณ “แค้นฝังหุ่น” ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งมักจะเป็นฝ่ายหญิงขอให้หมอทางไสยศาสตร์ช่วยทำให้ชายที่ตนรักกลับไปชังผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ฝ่ายชายรักใคร่ พ่อหมอก็จะนำขี้ผึ้งมาเสกคาถาเป่าอาคม แล้วปั้นหุ่นขี้ผึ้งรูปชายและหญิง เขียนชื่อกำกับแล้วมัดด้วยด้ายสายสิญจน์ให้หุ่นทั้งคู่หันหลังชนกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าจะทำให้ชายหญิงรักใคร่กันก็จะปั้นหุ่นแล้วเสกเป่าและมัดให้ทั้งสองหันหน้าเข้าหากัน จากนั้นก็นำไปฝังตามสถานที่ที่เห็นสมควร เช่น ป่าช้า ใต้ที่นอน ฯลฯ
ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ครั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่และครอบครัวถูกกวาดต้อนมาไทย เพราะแพ้สงครามที่มีขุนแผนและพลายงามเป็นนายทัพ พระพันวษาตรัสขอนางสร้อยฟ้าธิดาของเจ้าเมืองให้อยู่กับพระไวย (พลายงาม) ส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็กลับเมือง ขณะอยู่ในไทยบางครั้งนางสร้อยฟ้าต้องทุกข์ระทมใจจนทนไม่ได้เพราะพระไวยและญาติๆ เอ็นดูรักใคร่นางศรีมาลาภรรยาหลวงมากกว่า เพราะพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนที่แสดงออกมา นางจึงให้บ่าวไปหาเถรขวาดราชครูผู้มีเวทมนตร์ขลัง ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในไทยเพื่อคอยช่วยเหลือธิดาของตน เถรขวาดจึงทำพิธีกรรมลงคาถาอาคมปั้นหุ่น ดังกวีได้บรรยายไว้ว่า
๏ ครานั้นเถนขวาดราชครู พิเคราะห์ดูปรีดิ์เปรมเกษมสานต์
หยิบขี้ผึ้งปากผีมามินาน เอาเถ้าพรายมาประสานประสมพลัน
ลงอักษรเสกซ้อมแล้วย้อมถม เป่าด้วยอาคมแล้วจึงปั้น
เป็นสองรูปวางเรียงไว้เคียงกัน ชักยันต์ลงชื่อศรีมาลา
อีกรูปหนึ่งลงชื่อคือพระไวย เอาหลังติดกันไว้ให้ห่างหน้า
ปักหนามแทงตัวทั่วกายา แล้วผูกตราสังมั่นขนันไว้
ซ้ำลงยันต์พันด้วยใบเต่ารั้ง ให้เณรจิ๋วไปฝังป่าช้าใหญ่
แล้วปั้นรูปสร้อยฟ้ากับพระไวย เอาใบรักซ้อนใส่กับเลขยันต์
เถนนั่งบริกรรมแล้วซ้ำเป่า พอต้องสองรูปเข้าก็พลิกผัน
หันหน้าคว้ากอดกันพัลวัน เอาสายสิญจน์เข้ากระสันไว้ตรึงตา
รูปนี้จงฝังไว้ใต้ที่นอน ข้ามวันก็จะร่อนลงมาหา
แล้วเสกแป้งน้ำมันจันทน์ทา ประสมด้วยว่านยาน้ำมันพราย
ในปัจจุบันสำนวน “แค้นฝังหุ่น” ใช้เป็นความเปรียบหมายถึงแค้นที่ฝังอยู่ในใจ อาจไม่ใช่เรื่องชู้สาวก็ได้ แม้วันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ไม่ลืม เช่น ยอดพูดกับแสงเมื่อรู้ว่าสุดตั้งใจขับรถกะบะชนรถมอเตอร์ไซค์ของก้านเต็มเหนี่ยวจนก้านตกลงมาหัวฟาดพื้นตายคาถนนว่า “เจ้าสุดมันแค้นฝังหุ่นจริงๆ ก็เรื่องที่ก้านฟ้องร้องคดีข่มขืนลูกสาวของมัน ทำให้เจ้าสุดต้องติดคุก แม้จะออกจากคุกมาหลายปีแล้วแต่มันก็ยังคงอาฆาตแค้น พอสบโอกาสเหมาะถึงเกิดเหตุร้ายจนได้”
แค้นคอกา
คำว่า “แค้น”ในที่นี้ย่อมาจาก “แค้นคอ” คืออาการที่คนหรือสัตว์กินอาหารแล้วติดคอหรือฝืดคอกลืนไม่สะดวก ส่วน “กา” เป็นนกซึ่งมีลำคอเล็ก จะกินเนื้อสัตว์หรือพืชชิ้นใหญ่ๆ ได้ยากและอาจจะติดคอ ถ้าจะให้กลืนได้สะดวก อาหารของมันก็ต้องเป็นชิ้นเล็กๆ
ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มีการนำ “แค้นคอกา” มาใช้ตอนตรีเศียร[1] รบกับพระรามด้วยความโกรธแค้นที่พญาขรและพญาทูษณ์พี่ชายของตนถูกพระรามสังหาร ดังกลอนที่ว่า “ปากสองว่ากูจะฆ่าจะฟัน ห้ำหั่นมิให้แค้นคอกา” แต่ในที่สุดตรีเศียรก็ตายด้วยศรพระราม
เมื่อมีการนำ “แค้นคอกา” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบมักจะใช้ว่า “สับมิให้แค้นคอกา” ซึ่งหมายถึงการสับหรือฟันร่างกายจนเป็นชิ้นๆ เช่น เมื่อมีข่าวว่าฆาตกรกินเหล้าผสมยาเสพติดแล้วคลั่ง ใช้มีดสับยายของตนเองที่นอนติดเตียงอยู่หลายสิบแผลจนตาย ใครๆ รู้ข่าวก็พากันสาปแช่ง ตาพันพูดกับยายผลว่า “ดูเอาเถอะ นรกชัดๆ ทำได้ยังไง ใจคอมันจะสับซะละเอียดไม่ให้แค้นคอกาเชียวรึ เวรกรรมจริงๆ”
[1]ตรีเศียร เป็นโอรสองค์ที่ 6 ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นน้องร่วมพ่อแม่เดียวกับทศกัณฐ์ ที่ชื่อตรีเศียรเพราะมี 3 หน้า คือหน้าปกติ 1 หน้า และหน้าเล็กที่อยู่ตรงท้ายทอย 2 หน้า
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์