สร้อยสะบันงา ศักดินา เชื้อชาติ และธนานุภาพ

-

นวนิยายเรื่องสร้อยสะบันงา ของ “อุมาริการ์” ที่กำลังเผยแพร่เป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ขณะนี้ ได้สร้างกระแสในวงการละครโทรทัศน์หลายอย่าง เป็นละครที่มีเนื้อหาพีเรียดแนวชีวิตครอบครัว แต่เจือกลิ่นอายทางการเมืองและสังคมไทยช่วงหลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 ได้น่าสนใจ

นวนิยายที่มีฉากและบรรยากาศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มักเป็นนวนิยายของนักประพันธ์รุ่นเก่าที่มีประสบการณ์หรือมีชีวิตร่วมสมัยกับบริบททางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านไทย ก็ได้แก่ นวนิยายจากปลายปากกาของหม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ หรือนามปากกา “สีฟ้า” นั่นเอง เช่นเรื่อง อีสา, รวีโชติช่วง, ใครกำหนด, ขมิ้นกับปูน เป็นต้น เมื่อ “อุมาริการ์” เขียนสร้อยสะบันงา โดยใช้บรรยากาศ ฉาก และเรื่องราวในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย

“อุมาริการ์” สร้างเรื่องราวจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายสมบูรณาสิทธิราชย์กับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ชนชั้นเจ้าถูกลดบทบาทลง ชนชั้นกลางเริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เศรษฐีใหม่” ซึ่งก็ได้แก่คนจีน ที่ควบคุมการค้าขายและธุรกิจต่างๆ ในสยาม แต่คนจีนก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทย จึงถูกกีดกันทางกฎหมายและถูกดูแคลนจากชนชั้นเจ้านายว่าต่ำต้อย มีสายเลือดที่ไม่ควรได้รับการยกย่อง

เหตุการณ์ทางการเมืองนี้เป็นปฐมบทของชีวิตคนไทยจำนวนมากในสังคมสยามช่วงนั้น ชนชั้นเจ้าซึ่งค้นเคยกับระบบศักดินา มีบรรดาศักดิ์และผลประโยชน์จากรัฐในระบบราชการ ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย ทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่

“สร้อยสะบันงา” เป็นชื่อของตัวละครเอกฝ่ายหญิง มีชื่อเล่นว่างาม เป็นตัวละครที่มีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบ งามผู้มีความงามสมชื่อ ชายใดเห็นก็ต้องตาต้องใจ และหลงรัก แต่หัวใจของงามกลับอยู่ที่เทียน แซ่ลี้ หนุ่มชาวจีน ผู้ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นรังเกียจ ชีวิตของงามต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงสารพัด แต่ความเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของงาม ล้วนเกิดจากปัจจัยทางสังคม

พ่อของงามคือหนึ่งในคณะทำงานการเมืองใต้ดิน ใช้วิธีการเขียนบทความทางการเมือง ปลุกสำนึกคนในสังคมต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสยาม แต่เขาต้องถูกจับ ทั้งที่โดยชาติกำเนิด ฐานะเป็นคนชั้นสูง เป็นข้าราชการที่มิยอมสยบให้แก่ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ เขาจึงเป็นภัยทางการเมืองของคณะผู้ปกครอง จนถูกจับเป็นนักโทษการเมือง แต่ก็ยังส่งต้นฉบับบทความเผยแพร่ความคิดทางการเมืองมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โดยใช้นามปากกา การถูกจับกุมคุมขังทำให้ลูกเมียต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก งามต้องเผชิญชะตากรรมหลายอย่าง มีเพียงเทียน แซ่ลี้ หนุ่มชาวจีนที่เป็นกำลังใจให้เธอ ชีวิตที่พบแต่ความลำบาก นำไปสู่ข้อสรุปแก่งามว่าเธอต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีสังคมแบบ “ผู้ดี” ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบใหม่ในสังคมสยาม

เทียน แซ่ลี้คือพระเอกของเรื่อง ที่ “อุมาริการ์” สร้างให้เป็นลูกจีน อยู่ในครอบครัวพ่อค้า มีฐานะดี เขาเป็นคนมีปัญญาดี เรียนหนังสือเก่ง มีคุณธรรม แต่กลับเป็นลูกชังของแม่ใหญ่ เทียนจึงไม่ได้รับความยุติธรรมจากครอบครัว ซ้ำร้ายยังถูกดูแคลนจากคนในชั้นชนศักดินาดั้งเดิมว่าเป็น “ลูกเจ๊ก” ไร้ศักดิ์ศรี เป็นผู้ดีใหม่ที่มีแต่เงิน เทียนเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในบริบทสังคมแบบ “ธนานุภาพ” ซึ่งถืออำนาจเงินเป็นใหญ่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อเขาไม่ได้

เกิดในครอบครัวศักดินา หนำซ้ำยังมีเชื้อชาติจีน เขาจึงถูกกีดกันทางกฎหมายและบทบาททางสังคมต่างๆ เขาเลยเลือกสร้างฐานะและรักษาศักดิ์ศรีของ “คนดี” มิใช่ “คนไทย” ที่ถูกกีดกันโดยใช้เชื้อชาติมาเป็นเกณฑ์

งามเลือกที่จะไปอยู่ในวัง ตามป้าของเธอ ซึ่งเป็นหม่อมอยู่ในวังนั้น ป้าต้องการนำเธอไปเป็นหม่อมคนใหม่ เพื่อแก้แค้นบรรดาหม่อมทั้งหลาย งามต้องต่อสู้กับความอิจฉาริษยา การใช้ชีวิตในกรอบแบบแผนซึ่งชนชั้นศักดินาสืบทอดกันมายาวนาน แต่งามก็เลือกที่จะสู้และต่อปากต่อคำเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นคนของเธอให้ได้

“อุมาริการ์” ชี้ให้เห็นว่าสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมโลก คนที่ปรับตัวได้เท่านั้น จึงจะอยู่รอดและมีความสุข เฉกเช่น พระองค์เจ้าทองพันชั่ง ผู้ภาคภูมิใจในสายโลหิตของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างชนชั้นเจ้านายในอดีต มีวังหรูหรา มีหม่อมหลายคน แต่ก็รักษาเกียรติยศไว้ได้ และเปิดรับโลกภายนอก โดยทำการค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนงามพยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทในสังคมศักดินา โดยยอมเป็นหม่อมของพระองค์เจ้าทองพันชั่ง และหลงใหลในสังคมชั้นสูงไปชั่วขณะ แต่ในที่สุด เธอก็หวนหาสังคมสงบสุขกับคนที่รักมากกว่า ส่วนเทียนคือคนยุคใหม่ ผู้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสร้างฐานะ เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของความเป็นคน ด้วยความมานะบากบั่นของตนเอง โดยมิได้ใช้สายเลือดหรือชาติกำเนิดเป็นบันไดไต่ไปสู่ฐานะที่ดีขึ้น

การที่งามกลับมาใช้ชีวิตกับเทียนในบั้นปลายของชีวิต กลายเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า โลกของสามัญชน ที่เปลี่ยนผ่านจากโลกของศักดินามาสู่โลกของสามัญชนอย่างงาม และเทียนผู้ผ่านโลกในระบอบธนานุภาพ ก็คือโลกของสามัญชนที่ผสานระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว นับเป็นสารที่อุมาริการ์ได้สอดแทรกอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้ อันเป็นสารที่มีคุณค่าและงดงามเป็นอย่างยิ่ง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่อง 3

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!