“ซอสพริกศรีราชา” ที่เรียกกันแบบชาวบ้านว่า “น้ำพริกศรีราชา” ถือกำเนิดจากอำเภอศรีราชานั่นเอง มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถึงกับมีผู้เขียนตำราอาหารที่ทำด้วยซอสพริกศรีราชา
จากคำบอกเล่าของทายาท พล.ต.หญิง เสาวนิต ไตรกิตยานุกูล (จักกะพาก) เล่าถึงตำนานซอสพริกในวัยเด็กที่เคยเป็นลูกมือ คุณย่าเพิ่ม จักกะพาก (ภรรยาของขุนจักกะพากพานิชกิจ) ช่วยเตรียมส่วนผสมและทำน้ำพริกศรีราชาตามสูตรต้นตำรับที่สืบทอดมาจากบิดาของท่านคือคุณทวดกิมซัว ทิมกระจ่าง คุณย่าเล่าให้ฟังว่าคุณทวดกิมซัว ซึ่งเป็นบุตรของหลวงกระจ่างจีนพิสัย (ต้นตระกูล ทิมกระจ่าง) พยายามทดลองส่วนผสมของเครื่องจิ้มที่มีครบทุกรสคือเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด จนได้รสชาติเป็นที่พอใจ สามารถเก็บไว้กินได้เป็นเวลานานโดยไม่บูดเสีย เรียกเครื่องจิ้มชนิดนี้ว่า “น้ำพริกศรีราชา”
ตามปกติทั้งคุณทวดและคุณย่าทำน้ำพริกศรีราชาไว้กินกันเองในครอบครัว แจกกันในหมู่ญาติมิตร ต่อมาคุณย่าได้ถ่ายทอดให้น้องชายต่างมารดาคือคุณปู่สกล ทิมกระจ่าง และบุตรสาวของคุณอาคือ คุณย่าถนอม ทิมกระจ่าง (ภายหลังแต่งงานกับบุตรชายของขุนจักกะพากพานิชกิจ ชื่อ นายดำรง จักกะพาก) บุคคลทั้งสองนี้เองทำให้น้ำพริกศรีราชาแพร่หลายเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ส่วนผสมทำน้ำพริกศรีราชาตามสูตรต้นตำรับที่สืบทอดมาจากคุณทวดกิมซัว ต่อมาคุณย่าถนอม จักกะพาก ได้ตั้งโรงงานที่บ้านในซอยแหลมฟาน ศรีราชา ใช้ตรา “ศรีราชาพานิช” เป็นรายแรกของศรีราชา น้ำพริกศรีราชาจึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คนมาเที่ยวศรีราชาต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก ต่อมาทายาทรุ่นลูกได้ขายตรา “ศรีราชาพานิช” ให้บริษัทไทยเทพรส จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรา “ภูเขาทอง” (Golden Mountain)
ด้านคุณปู่สกล ทิมกระจ่าง แยกไปตั้งโรงงานผลิตน้ำพริกศรีราชา จำหน่ายที่บ้านภรรยาย่านวงเวียนใหญ่ ธนบุรี ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเจดีย์ภูเขาทองวัดสระเกศ กำกับภาษาไทยว่า “ภูเขาทอง” ซึ่งมาจากคำว่า “กิมซัว” แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Grand Mountainในปี 2505 ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากงานแสดงสินค้าไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในปัจจุบันตกทอดมาถึง นายกฤช (เอ้) ทิมกระจ่าง เป็นหลานปู่ ตั้ง หจก. บางกอกซอส ผลิตซอสพริกศรีราชาโดยใช้ตราดั้งเดิมคือภูเขาทอง สำหรับส่งจำหน่ายต่างประเทศ และตราสามภูเขา (รูปภูเขาสามลูก) กำกับภาษาอังกฤษ Three Mountains สำหรับจำหน่ายในประเทศ รสชาติยังคงเหมือนต้นตำรับเช่นกัน
มีอีกยี่ห้อหนึ่งคือน้ำพริกศรีราชาตราเกาะลอยโดย คุณธวัช วิพิศมากูล เรียกกันว่าอาแปะธวัช เริ่มด้วยคุณยายของอาแปะได้สูตรการทำน้ำพริกจากชาวพม่า ซึ่งเข้ามาเป็นคนงานในโรงเลื่อยศรีมหาราชาเมื่ออดีต เริ่มแรกทำกินในครอบครัว พอมีคนรู้จักก็ปันขายบ้าง โดยมากลูกค้าเป็นชาวพม่าที่ทำงานในโรงเลื่อย ตอนนั้นอาแปะยังเป็นเด็กต้องช่วยยายโม่น้ำพริก แรงงานที่ช่วยทำน้ำพริกเป็นลูกๆ หลานๆ ในครอบครัว ต่อมาลูกหลานโตขึ้นก็แยกย้ายกันไปเรียนกรุงเทพฯ เลยต้องหยุดการทำน้ำพริกชั่วคราว
อาแปะกลับมาทำน้ำพริกอีกครั้งเมื่อพ.ศ. 2488 จดทะเบียนครั้งแรกใช้ตราเกาะลอยศรีราชา ต่อมาลูกค้าเดิมรู้ว่าซอสพริกศรีราชาเจ้าเก่ากลับมาผลิตอีก ก็สั่งซื้อมากขึ้น นับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน น้ำพริกตราเกาะลอยน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 70 ปี เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน (domestic industry) ขนาดเล็ก แต่มีชื่อเสียงแบบเล็กพริกขี้หนู เป็นต้นตำรับซึ่งทายาทที่ยังทำสืบทอดอยู่ได้ไม่เปลี่ยนมือ ยังคงรักษาคุณภาพ ขั้นตอนการผลิตตามแบบสูตรดั้งเดิม
นอกจากนั้นยังมีซอสพริกแม่น้ำเงิน ซอสพริกก๋งเษม ซอสพริกโกศล ล้วนแล้วแต่มีขาประจำที่ชื่นชอบรสใครรสมัน ชาวเมืองชลนิยมเติมซอสพริกศรีราชาลงไปในก๋วยเตี๋ยวราดหน้า เกาเหลา ผัดซีอิ๊วหมู/เนื้อ หรือจิ้มขนมจีบ จิ้มกุยช่าย จิ้มไข่เจียว จิ้มอาหารทะเล ใส่ข้าวผัด ฯลฯ แม้แต่ชาวเพชรบุรีก็เป็นนักนิยมซอสศรีราชาอย่างเหนียวแน่น แต่ชาวเพชรฯกินเผ็ดกว่า จึงใส่ผสมกับพริกกะเหรี่ยงดองตำเพิ่มเติม
ในสหรัฐอเมริการู้จักซอสพริกศรีราชาในชื่อ ‘ซอสรสชาติเผ็ดร้อนขวดสีแดงฝาสีเขียว’ หรือ ‘ซอสศรีราชาตราไก่’ ที่ผลิตโดย เดวิด ทราน (David Tran) ชาวเวียดนามเชื้อสายจีนที่อพยพหนีสงครามเวียดนาม เขาริเริ่มผลิตซอสรสชาติเผ็ดร้อนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1980 เพื่อขายในอเมริกา เดวิดยอมรับว่า ซอสของเขามีต้นตำรับมาจากประเทศไทย แต่เขาต้องการผลิตซอสที่มีรสชาติเผ็ดร้อนกว่าเดิม จึงได้ก่อตั้งบริษัทผลิตซอสโดยใช้ชื่อ Huy Fong Foods ตามชื่อเรือขนส่ง ฮุย ฟง ซึ่งเขาอาศัยอพยพจากเวียดนามมายังอเมริกา โดยใช้ตราสัญลักษณ์บนขวดซอสเป็น “ไก่” ที่เป็นสัตว์ประจำนักษัตรปีเกิดของเขา และโทนสีแดงกับเขียวเพื่อสื่อถึงความเป็นพริกสดอย่างเต็มที่ เขาใช้พริกจาลาปิโน่ (พริกพื้นถิ่นของเม็กซิโก) กระเทียม น้ำตาล และวัตถุดิบที่หาได้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ได้ซอสรสชาติเผ็ดร้อน ด้วยกระแสความร้อนแรงของซอสพริกตราไก่ และคนอเมริกันเริ่มหันมาสนใจรสชาติเผ็ดร้อนแบบเอเชีย คนทั้งโลกจึงรู้จักซอสพริกศรีราชาตราไก่มากกว่า และซอสพริกยี่ห้อนี้ก็ขายดิบขายดีจนเดวิด ทรานกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของอเมริกา ประมาณการยอดขายปีละ 200 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันแบรนด์เครื่องปรุงรสยักษ์ใหญ่อย่าง Tabasco, Frank’s Red Hot และ Heinz ถึงกับต้องเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซอสศรีราชาเพื่อแข่งขันในตราของตนเอง
สืบค้นจาก
https://becommon.co/world/thetasteof-sriracha-battle/
https://www.bloomberg.com/news/features/2019-04-06/thaitheparos-sriraja-panich-sriracha-comes-to-the-u-s-market
คอลัมน์ : กินแกล้มเล่า
เรื่องโดย : สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี