Squid Game เกมเค้นคน

-

คนแต่ละคนถูกปลูกฝังสำนึกผิดชอบชั่วดีมาคนละแบบ มีการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่แตกต่างกันไป

หากเป็นช่วงชีวิตที่ยังต้องเรียนหนังสือหรือทำมาหากิน ศีลธรรมหรือกรอบสำนึกดีชั่วที่เราถูกหล่อหลอมในวัยเด็กก็ยังคงเข้มแข็งมากพอที่จะทำให้เราใช้ชีวิตแบบไม่ขัดกับสามัญสำนึกตัวเองจนเกินไป แต่ระหว่างการเติบโตก็อาจมีทางแยกศีลธรรม (moral dilemma) ที่ต้องเลือกและสร้างความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับเราอยู่เป็นระยะ มีสถานการณ์ที่ท้าทายมาตรฐานจริยธรรมประจำตัวเรา

แล้วเมื่อเจอสถานการณ์ที่บีบคั้นมากขึ้น เราจะยังเป็นคนดีคนเดิมแค่ไหน?

ซีรี่ส์หรือหนังที่จำลองการเอาชีวิตรอดคือแก่นหลัก เช่น The Walking Dead จินตนาการถึงโลกที่มีซอมบี้ อารยธรรมถูกทำลาย เงินทองไม่มีความหมาย ตำแหน่งหรือยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนไร้ค่า ศีลธรรมหรือจริยธรรมไม่ได้ช่วยให้เอาตัวรอด และมีสถานการณ์ที่กดดันให้ลดมาตรฐานศีลธรรมในตัวลง เช่น จะช่วยคนแปลกหน้าเพื่อแลกกับการเสี่ยงให้ตัวเองหรือพวกพ้องเดือดร้อนหรือไม่ ฯลฯ

ภาวะใจร้ายหรือเห็นแก่ตัวของตัวละครไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะจิตใจชั่วร้าย แต่เพราะเป้าประสงค์ (purpose) ของการมีชีวิตถูกตัดทิ้งจนเหมือนมนุษย์ยุคหินสมัยโบราณที่ชีวิตส่วนใหญ่สนใจแต่ ‘เอาชีวิตรอด’ เป็นการดิ้นรนหากมิใช่เพื่อตัวเองก็เพื่อคนที่พวกเขาต้องการปกป้อง

จำนวนวันที่เอาตัวรอดได้มากขึ้นเรื่อยๆของบางคนแลกกับการกัดกร่อนความเห็นอกเห็นใจ เริ่มเพิกเฉยต่อเหยื่อ เริ่มเย็นชาเมื่อเห็นคนเจ็บปวดใกล้ตาย  จนถูกตั้งคำถามว่าเราควรรักษาคุณค่าของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แค่ไหน ถ้ามันจะทำให้โอกาสมีชีวิตลดน้อยลง สมดุลของการมีชีวิตควรอยู่ตรงไหนระหว่างการมีชีวิตรอดกับการเป็นคนดี หากต้องมีชีวิตยืนยาวแต่ไร้ความเป็นมนุษย์ในแง่มนุษยธรรม เราจะยังพอใจกับการคงอยู่ของชีวิตหรือไม่

ศีลธรรมคือสิ่งที่ปลูกฝังได้แต่ก็ไม่ได้คงทนถาวร คำว่า ‘คนดี’ ที่อิงตามหลักศีลธรรมอาจถูกทำให้เสียจากปัจจัยทางสถานการณ์ (situational factor) กลายเป็นคนทำเรื่องเลวร้าย และอาจไม่ใช่ทำเพราะความโลภหรือความอิจฉาริษยา แต่ศีลธรรมถูกทำให้เสื่อมจากความรักและความกลัว

 

 

ใน Squid Game ก็เช่นกัน นี่คือซีรี่ส์แนว survival game

เป็นเกมการแข่งขันที่คนจำนวนหนึ่งได้รับคัดเลือกจากคุณสมบัติของการเป็นลูกหนี้ก้อนโตจนเจ้าตัวไม่มีปัญญาหามาจ่ายคืนได้ พวกเขามีสิทธิเลือกแต่แรกว่าจะอยากได้โอกาสคว้าเงินรางวัลก้อนโตหรือไม่ (แต่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินมา) หากตกลงก็โทร.ไปตามเบอร์ในนามบัตร จากนั้นจะถูกทำให้สลบแล้วพาไปทิ้งไว้บนเกาะร้าง

เมื่อลืมตาตื่น ทุกคนจะมีหมายเลขติดตัว เจ้าหน้าที่แจ้งกติกาให้ทราบว่าถ้าสามารถชนะเกมอย่างต่อเนื่องจนถึงเกมสุดท้ายก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติโดยมีเงินรางวัลที่สูงขึ้นเรื่อยๆหลังจบแต่ละเกมรวมแล้วถึงหมื่นล้านวอน แต่ถ้าแพ้ในเกมหรือไม่สามารถผ่านด่านทันเวลาก็จะถูกฆ่าทิ้ง

ถ้าชนะได้เงิน ถ้าแพ้คือตาย หลายคนจึงเลือกไม่เล่นเกมนี้ ซึ่งเจ้าของเกมก็ให้อิสระในการเลือกตั้งแต่แรก ทว่าหลายคนก็ยังยืนยันว่าจะเล่นต่อ บางคนปฏิเสธในคราวแรก แต่พอกลับไปใช้ชีวิตในสังคมก็ขอกลับมาเสี่ยงตายเล่นเกมเพื่อเงินรางวัลที่ล่อใจ

เงินรางวัลที่สะสมหลังจบแต่ละเกมจะถูกหย่อนลงกล่องรูปหมูตัวใหญ่ที่ห้อยอยู่บนเพดานโถงกลาง หมูมักเป็นสัญลักษณ์ของความตะกละตะกลาม/หิวโหย แล้วการที่กล่องหมูถูกออกแบบให้มีลักษณะโปร่งใสจนผู้เล่นมองเห็นเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับกระตุ้นความต้องการเงินก้อนนั้นกลับไปใช้ชีวิต  คือแรงจูงใจที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนอยู่ตรงหน้า

ดังนั้นต่อให้มีชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ผู้เล่นทั้ง 456 คนก็อยากจะได้โอกาสที่เกมนี้มอบให้ เพราะพวกเขามองไม่เห็นโอกาสที่สังคมปกติมีให้คนแบบพวกเขา อย่างน้อยหากชนะเกมกลับไป ตัวเองหรือคนที่รักก็จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้

 

 

ข้อดีของ Squid Game คือการทำให้เกมเข้าใจง่ายจึงสื่อสารเข้าถึงคนดูส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเอเชียหรือตะวันตก เล่นสีสันโทนพาสเทลขัดแย้งกับความรุนแรงระดับเลือดสาดเลยสะดุดตา แล้วยังเป็นส่วนผสมของ nostalgia ที่ดัดแปลงเกมจากการละเล่นในวัยเด็ก เช่น ชักเย่อ  ลูกแก้ว ฯลฯ ยิ่งทำให้คนดูรุ่น Gen X หรือ Y อินตามได้ง่าย

สิ่งที่ซับซ้อนมากกว่าเกมคือการออกแบบตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เล่นเกม พวกเขามีโปรไฟล์ร่วมกันแบบ ‘เป็นหนี้ มีสภาพเป็นไอ้ขี้แพ้ในโลกจริงและไม่มีปัญญาจะหาเงินมาใช้หนี้’ แต่มี mentality ภายในที่ต่างกัน มีระบบศีลธรรมที่ต่างกันคนละแบบ และมีแรงผลักดันที่จะเอาชนะไม่เหมือนกัน

เช่น ตัวละครร้ายสุดโต่งคือพร้อมจะฆ่าคนตายแม้นอกเกมเพื่อลดคู่แข่ง ซึ่งชัดเจนว่าแรงผลักดันคือ ‘ความโลภ’ แต่ก็มีตัวละครที่เก็บกด ‘ความรู้สึกละอายใจ’มาเล่นเกม เนื่องจากทำให้แม่ผิดหวังแล้วยังโกหกแม่มาตลอด ซ้ำร้ายยังก่อหนี้ให้แม่ไม่รู้ตัว  จึงมุ่งมั่นจะชนะให้ได้โดยไม่สนว่าตัวเองจะเลวร้ายลงเพียงใด ไม่ใช่หวังร่ำรวยแต่เพื่อให้แม่ภูมิใจและไม่สร้างภาระหนี้ให้แม่ต้องแบกต่อ

หรือตัวละครผู้เปี่ยมด้วย ‘สำนึกรับผิดชอบครอบครัว’ และต้องการเงินก้อนโตไปสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้น้องที่ยังเป็นเด็ก ก็พร้อมจะหาเงินมาให้ได้มากพอโดยไม่สนว่าตัวเองต้องเจ็บหรือคนอื่นต้องพลอยเจ็บด้วย

ผู้เล่นเกมส่วนใหญ่เป็นเหมือนหมากที่สร้างสีสันให้สนุก แต่แทบไม่ถูกสถานการณ์มาทำให้ตัวตนเปลี่ยนแปลง เราแทบไม่เห็นพัฒนาการของตัวละครเหล่านั้น ยกเว้นซองกีฮุน

 

 

คนดูหลายคนบ่นว่า ซองกีฮุนหรือผู้เล่นเกมหมายเลข 456  ดูไม่สมกับการเป็นพระเอกเพราะไม่เท่ ไม่เอาไหนตั้งแต่ก่อนเล่นเกมจนถึงตอนจบ แต่หากลองนึกให้ดี นี่คือตัวละครที่มีบทบาทแนบเนียนสมจริงคนหนึ่ง ทั้งในแง่ความเป็นตัวละครสีเทาและพัฒนาการของตัวละคร

ตัวละครส่วนใหญ่ใน Squid Game คือตัวละครที่ถูกออกแบบให้มี‘หน้าที่’ขับเคลื่อนเรื่องราว เป็นตัวละครแบนๆมีมิติเดียวดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น บางคนมาเพื่อเป็นตัวโกงสุดลิ่มทิ่มประตู บางคนก็เป็นตัวละครประเภทพาซื่อสุดๆเพื่อสร้างดราม่าในฉากสำคัญ

แต่ซองกีฮุนคือตัวละครสีเทาที่ใกล้เคียงคนทั่วไป แล้วจะมองว่าเขาเป็นคนแบบไหนก็ขึ้นกับว่ามองด้วยสายตาของใคร

ในสายตาภรรยา ซองกีฮุนคือคนที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวเพราะวันที่เธอคลอดลูก เขาก็ไม่ยอมมาอยู่เคียงข้าง หรือในสายตาคนนอกก็อาจมองเขาเป็นผีพนัน แต่หากมองผ่านสายตาเพื่อนร่วมงานที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่ นี่คือคนดีที่สุดคนหนึ่ง

และหากมองทะลุความกระเสือกกระสนหาเงินก็จะพบความรักลูกสาวมาก แต่จุดอ่อนของซองกีฮุนคือรักเพื่อนและติดการพนัน แล้ววันคลอดลูกสาวที่ภรรยาตำหนิว่าว่าเขาแล้งน้ำใจนั้น นั่นเป็นเพราะเขาต้องออกไปต่อสู้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานจนกระทั่งเพื่อนเสียชีวิต

เขาอาจเป็นคนที่ไม่เอาไหนหากตัดสินด้วยการติดพนันแล้วสร้างแต่หนี้ซ้ำๆ แต่เขาก็ปรารถนาจะเป็นพ่อที่ดี ทว่าโทษสมบัติด้านอื่นในตัวที่ถูกหล่อหลอมมาทำให้เขาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ความรักลูกอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เขาทำหน้าที่พ่อที่ดีอย่างที่ตั้งเป้า

เช่นเดียวกับการแข่งเกม คุณสมบัติของเขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ชนะไม่ว่าจะในแง่บุ๋นหรือบู๊ แต่อย่าลืมว่าเกมใน Squid Game คล้ายโจทย์ในชีวิตจริงอยู่อย่าง คือไม่ใช่งานที่ต้องใช้แค่แรงกายหรือความฉลาด แต่ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่นที่จะช่วยให้ชนะอีก เช่น ประสบการณ์ (เล่นชักเย่อ) หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน(อ่านกระจก) ฯลฯ ดังนั้นหากเราตัดสินปัญหาตรงหน้าเพียงฉาบฉวยก็อาจพ่ายแพ้ต่อเกมได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ซองกีฮุนไม่ใช่คนที่จะเมินเฉยเมื่อเห็นคนชราหรือผู้หญิงต้องถูกทิ้งๆขว้างๆแล้วรอความตาย โอกาสผสมดวงจึงมีส่วนผลักดันให้เขาเข้ารอบลึก เราเลยเห็นพัฒนาการของเขา เช่นการต่อสู้กับสำนึกผิดชอบชั่วดีในเกมลูกแก้ว หรือต้องตัดสินใจที่จะฆ่าหรือไม่ฆ่าคนนอกเกมเพื่อช่วยตัวเองกับคนที่เขาปกป้อง

เกมแต่ละเกมค่อยๆเค้นความเป็นคนในตัวเขาบนทางสองแพร่งที่ยากแก่การตัดสินใจ

ซองกีฮุนจึงเหมือนคนธรรมดาแบบเราๆ ที่ตั้งต้นด้วยจิตใจดีแต่ก็พร้อมจะถูกสถานการณ์ทำให้เสีย สุดแต่ว่าในแต่ละช่วงชีวิตนั้นมี ‘คนหรือตัวช่วย’ เตือนสติให้ยังเป็นคนที่ดีอย่างที่เคยเป็นได้แค่ไหนเมื่อเจอสถานการณ์บีบคั้น

บทสรุปตอนท้ายของซองกีฮุนก็คงคล้ายกับการหวนกลับไปเล่นพนันในฉากต้นเรื่อง  คือการเตือนสติว่าคนเราล้วนมีสำนึกผิดชอบชั่วดีแต่ก็มีจุดเปราะบางทางศีลธรรม ประกอบด้วยชิ้นส่วนชีวิตด้านดีที่น่าชื่นชมพร้อมผลักดันให้พบความสำเร็จ แต่ก็ประกอบด้วยชิ้นส่วนด้านเลวที่สามารถทำให้ชีวิตพังด้วยวงจรเดิมซ้ำๆ หากไม่รู้เท่าทัน


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

(www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!