กว่าจะเป็นเพชรน้ำงาม: ศรราม น้ำเพชร

-

คงไม่เกินจริงถ้าจะกล่าวว่า ศรราม น้ำเพชร หรือ ‘แบงค์’ ศรราม เอนกลาภ เกิดมาเพื่อเป็นพระเอกลิเกโดยเฉพาะ ด้วยรูปร่างหน้าตาและทักษะที่ครบเครื่องสำหรับการเป็นพระเอก ไม่ว่าจะร้อง รำ แสดง ประกอบกับสายเลือดลิเกเข้มข้นที่ไหลเวียนในร่างซึ่งได้จากพ่อ ‘มนต์รัก เอนกลาภ’ อดีตพระเอกลิเก และแม่ ‘ดวงแก้ว ลูกท่าเรือ’ อดีตนางเอกลิเกชื่อดัง ศรรามจึงเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น เพราะฉายแววศิลปินตั้งแต่เล็ก เริ่มแสดงครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 4 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็แสดงเป็นพระเอกในคณะลิเกเด็ก ศรรามต้องผ่านการฝึกฝนครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านบทพิสูจน์ความอดอันหนักหนากว่าจะได้ฉายา “พระเอกลิเกเงินล้าน” และจากวันนั้นจวบจนวันนี้เขาไม่เคยหยุดแสดงลิเกเลย และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของลิเกรุ่นใหม่ อุปสรรค ชัยชนะ และพันธกิจที่จะรันวงการลิเกให้รุ่งเรืองและคงอยู่สืบไป

 

 

ก้าวสู่โลกของลิเก

“ครอบครัวของแบงค์ทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นลิเกกันหมด คุณแม่เป็นนางเอกลิเกที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในยุคนั้น แต่พอประกาศแต่งงานกับคุณพ่อ ความนิยมจึงตก งานแสดงหดหายจนแทบไม่เหลือ” ศรรามย้อนเล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก

“ตอนนั้นพ่อกับแม่ดิ้นรนกันมาก เปิดร้านอาหารแต่ไม่ประสบความสำเร็จ พ่อเกือบจะไปขายแรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น แบงค์ยังเล็กมากแต่พอจำความได้ ตอนนั้นพี่ ‘เอ’ ไชยา มิตรชัย ชวนพ่อกับแม่ให้ไปเล่นร่วมวงเขา พอเล่นได้สักพักแม่เริ่มมีงานกลับเข้ามา คนยอมรับมากขึ้น สถานการณ์ในครอบครัวคลี่คลายลงบ้าง จนแบงค์อายุได้ 4 ขวบ แม่ถามว่าไม่อยากลองออกไปเล่นลิเกดูเหรอ เพราะพี่ ‘เฮ็น’ น้ำเพชร เอนกลาภ พี่สาวเล่นตั้งแต่ 2 ขวบเลย แต่แบงค์ไม่ได้สนใจ เราเล่นตัวไม่รับปากทันที บิดซ้ายบิดขวา จนแม่บอกว่าแค่แต่งตัวนิดหน่อยออกไปร้องกลอนฉากเดียว แล้วเดี๋ยวจะได้สตางค์มาซื้อของเล่นนะ คำว่าของเล่นนี่แหละครับจุดประกายเลย โอเค ยอมเล่น อันที่จริงถึงแบงค์ไม่สนใจแต่เราซึมซับโดยไม่รู้ตัว เราเห็นแม่แสดงตลอด พอวิ่งเล่นเหนื่อยๆ ก็มานั่งดูลิเกข้างฉาก บวกกับสายเลือด จึงแสดงได้เอง พ่อที่แอบดูอยู่เห็นแววในตัวลูกชาย จึงเกิดไอเดียทำคณะลิเกเด็ก จับลูกๆ หลานๆ เพื่อนลิเกด้วยกันมาแสดง เกิดเป็นคณะ ‘ศรราม น้ำเพชร’

“คณะศรราม น้ำเพชรเริ่มจากชนะเลิศประกวดลิเกที่อยุธยา งานจ้างแรกคืองานวันลอยกระทง จากนั้นได้บันทึก VCD ของบริษัท Rose Media Entertainment เรื่องที่สร้างชื่อเสียงคือ ยุพราชม้าทอง แบงค์เล่นเป็นม้าทอง เราตัวเล็กๆ คนก็เอ็นดู เด็กตัวน้อยๆ เล่นลิเกได้ด้วย แล้วช่วงนั้นไม่ค่อยมีคณะลิเกเด็ก คู่แข่งจึงไม่เยอะ”

 

 

เราถามพระเอกลิเกหนุ่มถึงการฝึกฝนในวัยที่ยังเป็นแค่เด็กน้อย ซึ่งไม่น่าจดจ่อกับสิ่งใดเป็นเวลานานได้ง่ายๆ  “ทุกเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เด็กทุกคนมารวมตัวที่บ้านหลังเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน ฝึกซ้อมด้วยกัน เย็นก็กินข้าว ค่ำก็ฝึกซ้อม เด็กๆ พากันนั่งล้อมวงฝึกร้องฝึกรำตั้งแต่พื้นฐาน พอมองย้อนหลังก็เพิ่งรู้สึกว่าเราฝึกหนักเหมือนกันนะ แต่ตอนเด็กแบงค์ไม่รู้สึก เพราะเราสนุกที่ได้อยู่กับเพื่อน 20 กว่าคน แบงค์ออกจะโรคจิตนิดๆ คือชอบเห็นพี่ๆ เหนื่อย เพราะเราไม่เหนื่อย เราเป็นเด็กบ้าพลัง พอพี่ๆ เหนื่อย เราก็แกล้งบอกพ่อว่าเอาอีกๆ พ่อก็ชอบใจ (ฮ่า) เวลามีงานแสดง เด็กแต่ละคนต้องจดกลอนซึ่งเป็นบทของตัวเอง ของแบงค์แม่จดไว้ให้ มีคนช่วยอ่านช่วยท่องให้ฟัง เราก็จำ จริงๆ แบงค์อ่านหนังสือออกตั้งแต่ 4 ขวบแล้ว เราอ่านได้เร็ว และความจำดีด้วย จึงไม่มีปัญหาเรื่องจำบท”

เราถามถึงการแบ่งเวลา เพราะทั้งเรียนและแสดงลิเกด้วย “ต้องขอบคุณคุณครูโรงเรียนจิรศาสตร์วิทยาครับ ที่ให้ทุนการศึกษาแบงค์กับพี่เฮ็น และยังเข้าใจ พร้อมสนับสนุนด้วย แบงค์แสดงลิเกเลิกดึก กว่าจะนอนก็เกือบเช้า เดินหลับตาเข้าโรงเรียนก็ว่าได้ ถ้าวันไหนไม่ไหวจริงๆ คุณครูก็ปูที่นอนให้ กลางวันก็ปลุกมากินข้าว จนเพื่อนอิจฉากัน เราทำงานหนักก็จริงแต่ไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะแรงสนับสนุนจากทั้งครูและเพื่อนๆ ทำให้เราเรียนจนจบได้ครับ”

 

 

สิ่งที่ต้องแลก

ศรรามเริ่มขึ้นเวทีครั้งแรกตอน 4 ขวบ และเล่นลิเกจริงจังตั้งแต่ 7 ขวบ การแสดงซึ่งใช้ร่างกายต่อเนื่องทุกวันนับสิบปีย่อมส่งผลต่อสุขภาพของเขาอย่างแน่นอน “แบงค์ร้องลิเกตลอดตั้งแต่ 7 ขวบจนอายุ 15 ปี ปัญหาของแบงค์ไม่ใช่แค่เสียงเปลี่ยน แต่เส้นเสียงบวมด้วยครับ ช่วงหนึ่งแบงค์เสียงแห้งจนต้องไปหาหมอ หมอบอกให้หยุดใช้เสียงหนึ่งปี เราคิดในใจ หยุดแล้วจะเอาอะไรกินล่ะ (ฮ่า) เราหยุดไม่ได้เพราะไม่ใช่แค่แบงค์คนเดียว แต่เราเป็นคณะร่วมร้อยกว่าชีวิต ถ้าเราหยุดก็กระทบทุกชีวิต ทำอะไรต้องนึกถึงส่วนร่วมเป็นหลัก ส่วนตัวไว้ทีหลัง เราจึงหยุด ไม่ได้แม้ไม่มีเสียงก็ต้องเล่น แบงค์จึงใช้วิธีปรับการร้อง ไม่เค้นเสียงเกินไป หรือปรับคีย์ช่วย เราไม่จำเป็นต้องใส่ลูกเล่นมาก แค่เปล่งเสียงให้ชัดก็พอ แฟนๆ รู้ว่าเราไม่สบาย แต่เราเล่นเต็มที่นะ เขาก็ให้กำลังใจกันล้นหลามครับ”

การที่ต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็ก พระเอกลิเกหนุ่มจึงอดเที่ยวเล่นกับเพื่อนตามวัย “เคยเสียดายครับ เราอยากไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่กับเพื่อนเหมือนกัน แต่เราได้เที่ยววัดเป็นหลัก เพราะลิเกแสดงในวัด (ฮ่า) แต่แบงค์ก็ไม่สูญเสียวัยเด็กขนาดนั้น เพราะเรายังเล่นกับเพื่อนที่โรงลิเก วิ่งเล่นตามงานวัด เหนื่อยก็มานั่งแต่งหน้า เพียงแค่เรามีประสบการณ์ทำงานก่อน ได้เจอปัญหาก่อน จึงมีความคิดโตกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันหน่อย เลยมักเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆ”

 

 

ก่อร่างสร้างชื่อ

กว่าจะเป็นพระเอกลิเกเงินล้าน ย่อมต้องเริ่มจากศูนย์มาก่อน “ช่วงแรกคณะศรราม น้ำเพชรไม่มีรถส่วนตัว ต้องอาศัยรถรับจ้าง ตอนเย็นก่อนแสดงพ่อจะเรียกเด็กๆ รวมตัวแต่งหน้า แต่งเสร็จพากันขึ้นรถสองแถวไปแสดง พอมีรายได้มากขึ้นจึงซื้อรถทัวร์รถบัส ยังมีเรื่องฟ้าฝนที่เป็นอุปสรรค บางทีแสดงอยู่พายุเข้า นักแสดงก็ต้องรอบนเวทีให้ฝนซาแล้วแสดงต่อจนจบ หรือบางครั้งวัดที่จ้างอยู่ลึกอยู่ไกลก็เดินทางลำบากกว่าจะถึง แต่โชคดียังไม่เคยเจอกรณีไปแล้วไม่มีผู้ชม เมื่อก่อนตอนแบงค์อายุ 7-19 ปี ค่าตัวให้คุณพ่อเก็บหมด แต่พอโตขึ้นหน่อยพ่อก็จ่ายให้ เริ่มจาก 3,000 บาท เป็น 5,000 บาท ตอนนี้ 7,500 บาทครับ

“ถ้าถามว่ารักอาชีพลิเกตั้งแต่ตอนไหน แบงค์ตอบชัดๆ ไม่ได้ แต่ลิเกคือตัวแบงค์ เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ลิเกหลอมรวมอยู่ในตัวแบงค์ที่ประกอบด้วยพรสวรรค์จากสายเลือดและพรแสวงที่ผ่านการเคี่ยวกรำจากพ่อ รู้สึกตัวอีกทีเราก็รักอาชีพนี้มากๆ มีรถ มีบ้าน ก็เพราะลิเก”

 

 

สำหรับคนภายนอกอาจไม่รู้ลึกถึงความยากของการเป็นลิเก ซึ่งศรรามกล่าวว่า ไม่เพียงแค่จดจำบท ยังมีเรื่องของการรำที่ต้องยึดถือความถูกต้อง “เวลาแสดงต้องรับ-ส่งอารมณ์ เข้าถึงบทบาทได้ทุกคน เพราะถ้าเล่นดีแค่คนเดียว การแสดงก็ไม่สมบูรณ์ คณะของแบงค์จึงเน้นเรื่องซ้อม บทพูดต้องแม่น เสริมแต่งได้นิดหน่อยตามสถานการณ์ ส่วนการรำการร้อง ลิเกมีหลักที่สืบทอดกันมา เราต้องยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้อง แน่นอนว่าสามารถประยุกต์ได้ แต่เราต้องแม่นวิชาพื้นฐานดั้งเดิมก่อน ไม่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นการอนุรักษ์กลับกลายเป็นทำลายเสียมากกว่า”

มีเวทีไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม เราถามพระเอกลิเกหนุ่ม “เป็นการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรม งานมหกรรมร่วมใจรวมใจสร้างชาติ โชว์สั้นๆ เกือบสองชั่วโมง เรื่องที่แสดงคือขุนช้างขุนแผน ตอนศึกมังคะยอ แบงค์เล่นเป็นเจ้าฟ้าเมืองพม่า มีฉากยกทัพแล้วต้องรำ แต่แบงค์ไม่เคยรำแบบนี้ จึงอยากให้อาจารย์ที่กรมศิลป์ช่วยฝึกสอน พยายามติดต่อแล้วแต่ไม่ได้ จนพรุ่งนี้ต้องแสดงเรายังไม่ได้ฝึกเลย แบงค์ตัดสินใจไม่รอ เปิดยูทูบแล้วแกะท่ารำเอง ถามว่ายากไหม สำหรับแบงค์คือยากมาก เราฝึกคนเดียวในห้อง ใช้เวลาแค่คืนเดียวแล้วไปเล่นจริง พ่อหรือใครก็ไม่เคยได้ดู แต่พอแสดงเสร็จทั้งพ่อและแม่ประทับใจ แววตาเขาเป็นปลื้ม หายเหนื่อยเลยครับ ดีใจที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แฟนๆ ที่ดูก็ชื่นชอบ”.

ในการเป็นนักแสดงไม่ว่าจะมีสภาพจิตใจอย่างไรก็ต้องโชว์ต่อไปให้ได้ “แบงค์เคยมีช่วงเครียดกับความรักแล้วต้องออกไปแสดง ทั้งที่เล่นลิเกมาหลายปี อยู่ดีๆ ก็เขินคนดู ตั้งคำถามว่าเขามาดูอะไรกัน รู้สึกไม่ได้แล้ว ต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นเราจะพาวงล่ม หลังจากนั้นทุกครั้งที่จิตใจอ่อนแอแต่ต้องขึ้นเวที แบงค์พยายามโฟกัสกับบทบาท ไม่ให้มีจังหวะแวบคิดเรื่องอื่น ต้องควบคุมตัวเองให้ได้”

 

 

ลิเกในยุคโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ช่วงสองปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อทุกอาชีพถ้วนหน้า คณะลิเกก็เช่นกัน การห้ามรวมกลุ่มส่งผลต่องานจ้าง คณะศรราม น้ำเพชรจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อประคองคณะให้อยู่รอดได้ “เราโดนผลกระทบเต็มร้อยเลย ด้วยมาตรการห้ามรวมกลุ่มที่คุมเข้มในช่วงแรกทำให้เราไม่สามารถแสดงได้ เพราะแค่ทีมงานก็มีร้อยกว่าชีวิตเกินจำนวนที่รัฐกำหนด จนผ่านมาระลอกหลังซึ่งผ่อนคลายมาตรการลง สามารถรวมกลุ่มได้จำนวนหนึ่ง แบงค์คุยกับพ่อว่าลองแสดงแล้วเปิดให้ดูออนไลน์ผ่านไลฟ์ในเฟซบุ๊กไหม ถ่ายทำด้วยกล้องตัวใหญ่ 3 ตัวไปเลย ให้คนดูเห็นชัดๆ จะได้เข้าถึงอารมณ์ ให้คุณภาพมากกว่าการถ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วงแรกมีการถกเถียงกันพอสมควรว่าทำเป็นไลฟ์แบบปิดแล้วเก็บค่าเข้าชมดีไหม สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเปิดให้ดูฟรีไปเลย คนดูจะได้แชร์ต่อๆ กัน เพราะปกติคนดูลิเกก็ไม่เสียสตางค์อะไรอยู่แล้ว ปรากฏว่ายอดคนดูสูงถึง 6,000-7,000 คน มียอดแชร์ 3,000-4,000 ครั้ง ยอดไลก์อีกเป็นหมื่น คุณพ่อดีใจมาก ส่วนเราก็ดีใจไม่ต่างเพราะสิ่งที่คาดคิดเป็นดังหวัง ขอบคุณแม่ๆ แฟนคลับที่พยายามปรับตัวไปกับเรา เดี๋ยวนี้เล่นเฟซบุ๊กคล่องไม่ต้องพึ่งลูกหลานแล้วครับ (ฮ่า)

“ส่วนรายได้ของนักแสดงนั้นเราจะมีเลขบัญชีขึ้นตอนไลฟ์ แล้วแต่แรงสนับสนุนของแฟนคลับเลยครับว่าจะให้เท่าไหร่ จำนวนเงินทั้งหมดที่ได้แบ่งกันในคณะ แม้รายได้ของแต่ละคนอาจน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่ทุกคนเข้าใจและยอมรับ อย่างน้อยดีกว่าไม่มีเลย

 

 

“ถึงแม้สถานการณ์ตอนนี้จะกลับมารับงานจ้างได้บ้างแล้ว แต่เราก็ยังไลฟ์สดผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ ทว่าใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายแทน คุณภาพอาจลดลงบ้าง ที่ยังต้องไลฟ์เพราะคนดูเรียกร้อง กลายเป็นว่าวันไหนแสดงแล้วไม่ไลฟ์คนทักเข้ามาเพียบ อยากดู คิดถึง เราเองก็โหยหาการอ่านคอมเมนต์ที่แฟนๆ ส่งกำลังใจมาให้เหมือนกัน การที่เราปรับตัวแสดงลิเกออนไลน์นี้ก็ทำให้เห็นทิศทางในอนาคต ลิเกยุคดิจิทัลอาจไม่จำเป็นต้องไปเล่นตามวัดอีก เราแสดงในสตูดิโอแล้วเผยแพร่ออนไลน์ อย่างไรก็ตามเสน่ห์ย่อมไม่เท่าการชมสด เพราะทุกครั้งเวลาแสดงจบ แบงค์จะลงไปขอบคุณแฟนคลับ ถ่ายรูป พูดคุยกัน สมมติลิเกจบเที่ยงคืน แบงค์ให้เวลาแฟนคลับหลังจากนั้น 1-2 ชั่วโมงเลย เฉพาะวันที่ไม่สบายจริงๆ ถึงขอตัวกลับเร็ว แต่ส่วนใหญ่คืออยู่คุยจนเพลิน กลับบ้านนอนตอนตี4-5”

 

 

จุดเปลี่ยนชีวิต

ปีที่ผ่านมาเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่แก่ศรราม น้ำเพชร และคณะ คือการที่คุณพ่อ มนตร์รัก เอนกลาภ เสาหลักของคณะเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง นำมาซึ่งความโศกเศร้าและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของศรราม “สมัยก่อนแบงค์กับพ่อเหมือนลิ้นกับฟัน เราเจอกันทุกวันแต่แทบไม่ได้คุยกัน ในหนึ่งเดือนนับได้เลยว่าคุยกี่ครั้ง ช่วงวัยรุ่นแบงค์ค่อนข้างหัวรั้น อธิบายแล้วไม่เชื่อก็ไม่พูดต่อ มาช่วงหลังเหมือนถอยกันคนละก้าว ไม่ได้คุยกันมากแต่รู้ว่ารัก ที่ผ่านมาพ่อทำหน้าที่คุมวง คุมทีมงาน พอพ่อไม่อยู่แล้วเหลือแค่แม่ พี่สาว และแบงค์ เราเคว้งเหมือนกัน แต่ต้องตั้งสติไว้ จะอ่อนแอให้ลูกน้องเห็นไม่ได้ เพราะถ้าเราเป๋คนข้างหลังจะวางใจได้ยังไง ตอนนี้แบงค์ขึ้นมาดูแลคณะเต็มตัว ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เรายังหากินไปได้อีก 5-10 ปี ทุกคืนที่แสดงเราจึงเต็มที่กว่าเดิม เกินร้อยเลยด้วยซ้ำ ทุกครั้งที่รำ ร้อง เล่น ก็นึกถึงพ่ออยู่เสมอ ถ้าพ่อยังอยู่เขาน่าจะทำแบบนี้ ถ้าพ่อดูอยู่เขาน่าจะชอบแบบนี้ พ่อไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ในความทรงจำของแบงค์ ไม่ว่าจะร้องหรือรำก็ได้มาจากคำสอนของพ่อ”

ในยามที่จิตใจอ่อนแอพระเอกลิเกหนุ่มมักใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อจัดการความรู้สึก “แบงค์ชอบร้องไห้คนเดียว ไม่ร้องให้ใครเห็น แต่ก็ยากที่จะร้องออกมา เป็นคนไม่ค่อยร้องไห้ครับ ค่อนข้างทนแรงกดดันได้สูง และคิดบวก เพราะความคิดลบไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ถ้าแบงค์เครียดงานจะออกมาไม่ดี แล้วกระทบคนอื่น ท้อได้เหนื่อยได้แต่แค่แป๊บเดียว พอพูดว่าเหนื่อยก็หายแล้ว วันแย่ๆ เดี๋ยวก็ผ่านไป เหมือนเราเติบโตมาเพื่อกลายเป็นคนฟื้นตัวเร็ว”

 

 

 ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

เป้าหมายของศรราม น้ำเพชร คงเป็นอื่นไม่ได้นอกจากการพาคณะให้อยู่รอดและเจริญรุ่งเรือง “แบงค์วางเป้าหมายอย่างน้อยๆ ต้องอยู่ให้ได้อีก 10 ปี ถ้าแฟนคลับยังไม่เลิกรักไปเสียก่อน ในช่วง 10 ปีนี้รุ่นหลานๆ ของแบงค์จะโตเป็นหนุ่มพอดี สามารถรับช่วงคณะลิเกต่อ ทั้งนี้ในฐานะผู้ที่สืบทอดรุ่นปัจจุบันแบงค์อยากสานฝันของพ่อ พ่ออยากทำเวทีให้มีระบบไฮดรอลิก เวทีหมุนได้ ก็ต้องเก็บตังค์พยายามทำให้สำเร็จ

“นอกจากนั้นยังมีงานวงการบันเทิง ถ้าโชคดีปี 2565 คงได้เริ่มลุยงานใหม่ๆ เช่น การแสดงละคร ด้านธุรกิจส่วนตัว ปีนี้แบงค์เปิดร้านสุกี้บุฟเฟต์ที่จังหวัดอยุธยา ถ้าไปได้ดีคงมีขยายสาขา เราอยากทำธุรกิจเพราะมองว่าลิเกไม่ใช่งานที่มั่นคง ขึ้นอยู่กับกระแสคนรักคนชอบ ถ้าสมมติวันหนึ่งเราทำเรื่องที่แฟนๆ ไม่พอใจ แล้วไม่สนับสนุนเราต่อ เจ้าภาพไม่จ้าง เราก็ไม่มีงานทำ

“แบงค์อยากให้ลิเกไทยไปไกลกว่านี้ครับ เหมือนโขนหรือมโนราห์ มีการจดทะเบียนเป็นมรดกชาติ อยากให้ลิเกไปถึงจุดนั้น ต้องทำให้ได้ครับ”

 

 

บทเรียนชีวิตที่อยากแชร์

สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่เรียนรู้ ซึ่งศรรามอยากบอกต่อแก่ผู้อื่น

“ข้อแรก พ่อมักสอนเสมอตั้งแต่เด็กคือ ‘อย่าไปอิจฉาใครนะ’ เขาเขียนไว้บนกระจกบานใหญ่ เพราะความอิจฉาเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ยิ่งเห็นคนอื่นมีความสุข ความสำเร็จ เรายิ่งทุกข์ระทมถ้าใจเราริษยา

“ข้อสอง คำพ่อสอนอีกเหมือนกัน คือ ‘แสดงวันนี้ให้ดีแล้วพรุ่งนี้จะมีงานต่อ’ พรุ่งนี้คือผลของวันนี้ ดังนั้นจงทำวันนี้ให้ดีที่สุด เล่นให้ดีทุกวันเพื่อเราจะได้มีงานแสดงต่อไปเรื่อยๆ

“ข้อสุดท้าย คือ ‘กล้าที่จะผิดพลาด กล้าที่จะเรียนรู้’ มาจากประสบการณ์ของแบงค์เอง สองปีที่ผ่านมาแบงค์ผิดพลาดเรื่องการลงทุน การใช้เงิน หมดไปเยอะจนพ่อเครียด ยอมรับว่ามาจากความดื้อรั้นของตัวเอง แบงค์อยากพาคณะลิเกไปเล่นที่อเมริกา จนได้ติดต่อกับคนที่นั่น คุยรายละเอียดกัน เขาบอกมีค่าเช่า 700,000 บาทที่ต้องจ่ายก่อนนะ แบงค์ก็โอเคโอนเลย ไม่ปรึกษาใครด้วย พอเขาได้เงินเราเสร็จก็เชิดหายเลย เจตนาแบงค์คืออยากเอาลิเกไปเผยแพร่จริงๆ ไม่ได้เอาเปรียบใคร ทำไมต้องมาเจอแบบนี้ ก็เป็นบทเรียนครับ โชคดีที่เงินในบัญชีมีแค่นั้น ไม่อย่างนั้นอาจหมดมากกว่านี้ เป็นบทเรียนให้เราต้องรอบคอบมากขึ้น และไม่ไว้ใจใครง่ายๆ”

เราสนทนากับศรรามมาถึงช่วงสุดท้าย ด้วยคำถามก่อนจากกัน ความสุขในวันนี้ของศรราม น้ำเพชรคืออะไร เจ้าตัวตอบว่า “การทำให้แฟนคลับมีความสุข การทำให้ทีมงานทุกคนไม่ลำบาก ถึงตัวเองจะเหนื่อยก็ไม่เป็นไร ไม่ได้พูดเพื่อให้ตัวเองดูดี แต่เรายินดีที่จะทำเพื่อทุกคน” ความสุข ความหวัง ความรับผิดชอบ คือสิ่งที่พระเอกลิเกร่างบางคนนี้แบกภาระไว้ แม้จะเหนื่อยล้าแต่ไม่เคยย่อท้อ

 


 

 

โรงแรมศาลาอรุณ

47-49 ซอยท่าเตียน, ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร, กรุงเทพฯ10200

Tel: 02 622 2932 , 083 988 8735
Website: www.salaarun.com
Facebook: Sala Arun Bangkok
IG : arunresidence.group
Line ID : arunresidence

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!