แบบเรียนไทยที่ผู้เขียนเคยรับรู้เล่าเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถมมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน” และเพราะดินดีสมเป็นนาสวนนั่นเองที่ทำให้ข้าวกล้าธัญญาหารและพืชผักผลไม้บ้านเราอุดมสมบูรณ์มีคุณภาพ โดยเฉพาะผลไม้มีรสชาติโอชะอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก
พื้นที่ดินดีที่เหมาะสมกับการทำสวนผลไม้บ้านเราแต่เดิมคือที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เหนือเมืองนนทบุรีไล่ลงมาตามริมฝั่งและปริมณฑลคลองบางต่างๆ ไปจนถึงราษฎร์บูรณะ บางพึ่ง แจงร้อน ฯลฯ แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ บริเวณนครชัยศรี และสามพราน แม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ ย่านดำเนินสะดวก บางคนที และอัมพวา แม่น้ำบางปะกง ได้แก่ บริเวณแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา แม่น้ำเพชร ได้แก่ บริเวณบ้านลาดบ้านแหลมและรอบๆ ตัวเมืองเพชรบุรี
ที่ราบลุ่มแม่น้ำสำคัญที่กระผมเอ่ยมาแล้วนั้นเป็นที่รวมของธาตุ สารอินทรีย์ที่เหมาะกับผลไม้สวนแต่ละชนิด ย้อนหลังไปเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว ที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาอุดมไปด้วยเรือกสวน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสวนที่คุณภาพดีที่สุด มีส้มสูกลูกไม้ผลิดอกออกผลสะพรั่ง ผลไม้ชนิดเดียวกันเมื่อปลูกต่างตำบลก็ให้รสชาติที่ต่างกัน ผลไม้ชั้นเลิศมีราคาสูงคือผลไม้ที่ปลูกในตำบลที่เหมาะสม เช่น มะปรางท่าอิฐ ฝรั่งบางเสาธง มังคุดวังหลัง เงาะบางยี่ขัน ลิ้นจี่คลองสาน ส้มบางมด ทุเรียนบางขุนนนท์ เป็นต้น
ส่วนย่านบางกอกที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นศูนย์กลางของส้มสูกลูกไม้คุณภาพดีที่สุดเป็นสวนที่อยู่ใกล้พระนคร เรียกกันว่า “สวนใน” ส่วนสวนที่อยู่หัวเมืองหรือนอกพระนครที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง คือ บางช้าง หรืออัมพวา บริเวณที่เคยเป็นพระราชนิเวศเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เรียกกันว่า “สวนนอก” จึงเกิดเป็นคำคล้องจองเรียกกันมาแต่ครั้งกระโน้นว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง”
จากคุณสมบัติของแร่ธาตุในดินและน้ำที่แตกต่างและเหมาะสม ทำให้ผลไม้ชนิดเดียวกันมีรสต่างกันตามทำเลที่ปลูก จนเป็นเอกลักษณ์ของท้องที่ แม้จะนำพันธุ์ไปปลูกที่ไหนๆ รสชาติที่ได้ก็ไม่กลมกล่อมหอมหวานเหมือนที่ปลูกดั้งเดิม เช่น ส้มโอขาวน้ำผึ้งนครชัยศรี ส้มโอขาวใหญ่อัมพวา ชมพู่เพชร เป็นต้น ผลไม้จากแหล่งกำเนิดเดิมที่ว่ามานี้ รสดีและราคาดี ทำให้เกิดการปลอมเอาผลิตผลจากที่อื่นมาปน เป็นเทคนิคทางการค้าที่ทำให้ส้มสูกลูกไม้ลดคุณค่าลงไป
ผลไม้บ้านเราอุดมสมบูรณ์มาก บางอย่างมีเป็นร้อย ๆ ชนิด เช่น ทุเรียน กล้วย มะม่วง เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีรสชาติแตกต่างกัน วันนี้ผมขอยกตัวอย่างทุเรียน ผลไม้ยอดนิยมจากหนังสือแบบเรียนพรรณพฤกษา ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มาให้อ่านกันเพลิน ๆ
จักร่ำพรรณทุเรียน ชื่อเพี้ยนเปลี่ยนมากสาธารณ์
ทองสุก ทองย้อย ยาน อีกทองหยิบ ยัง ทองทา
ทองคำ ก้านต่อต้นนาง ทองย่น ใหญ่สาขา
กระปุก สุวรรณา กระปุกนาก หลากผิวพรรณ
ทุเรียนตลับทอง สีเรืองรองดูฉายฉัน
ตลับนากผิวมัน สีนากนั้นพรรณหนึ่งมี
ทุเรียนกบแม่เถ้า เป็นต้นเค้าแต่เดิมที
กบเล็บเหยี่ยวปักษี กบเม็ดใน กบกิ่งแขง
ตั้งต้นเหราเดิม ตอนต่อเติมมาปลูกแปลง
เหราใบมัน แสง เป็นมันยับจับนัยนา
ทุเรียนเหราง่อย ดูหง่อยก๋อยไม่แน่นหนา
หนึ่งเรียกชื่อเหรา– พับสมุด สุดมันหวาน
เรียกการะเกดพุ่ม ผลปุ้มลุ่มงามตระการ
การะเกดแดงสำลาน การะเกดเหลืองเรืองรังสี
ฯลฯ
ที่กระผมคัดมานี้ยังไม่ถึงครึ่งนะครับ ท่านยกตัวอย่างมาอีกมากมาย เช่น การะเกดตาเหมือน สาวน้อย สาวชม สาวสวรรค์ แดงโศก แดงเถา ชมพู่ กระเทย แดงตาสา นางหนัก กำปั่น จำปี จำปา สาวหยุด นกกระจิบ ก้านยาว แมลงป่อง ฯลฯ
วันนี้สวนในบางกอกไม่เหลือสภาพสวนให้เห็น ส้มสูกลูกไม้ชั้นเลิศย้ายทำเลปลูกไปเป็นที่ราบเชิงเขาไกลโพ้นจากที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำ รสชาติส้มสูกลูกไม้ก็แปรเปลี่ยนไปตามแร่ธาตุดินน้ำที่ก่อกำเนิด เวลาเปลี่ยนอะไรๆ ก็เปลี่ยน
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์